• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาจารย์นวลจันทร์ โพทา

หมอชาวบ้านดำเนินการมาด้วยปฏิปทาว่าจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองและของกันและกัน โดยไม่ต้องเสียเงินหรือเสียเงินน้อยที่สุด อาจถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ได้อย่างหนึ่ง ในการนี้ผู้คนมากหลายมีส่วนร่วม ทั้งนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติการ อาสาสมัคร ผู้บริจาค คงจะก่อศรัทธาให้คนไม่ใช่น้อยว่ามีคนที่ทำเพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์มีจริง ใช่จะมีแต่ผู้แสวงประโยชน์ตนเท่านั้นไม่
 

 

อาจารย์นวลจันทร์ โพทา เป็นผู้มีจาคะสูงมากยาวนานและต่อเนื่อง ท่านสละทั้งแรงกาย แรงสมอง เวลาและเงิน เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นมาอย่างสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างของคนที่เห็นว่ากำไรของตนคือความสุขของผู้อื่น โลกที่ถลำเข้าไปสู่ระบบวัตถุนิยม-บริโภคนิยม-เงินนิยม ทำให้คนมุ่งประโยชน์ตนเป็นใหญ่ แก่งแย่ง แข่งขัน แตกแยก รุนแรง จนโลกป่วยหนัก และมีวิกฤติการณ์ทางอารยธรรม จนดำเนินต่อไปตามวิถีเดิมไม่ได้ จะต้องถึงจุดเปลี่ยนทางอารยธรรม (civilization turning point) ที่มนุษย์จะต้องมีจิตสำนึกใหม่ เห็นมนุษย์ทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกันว่า "เราคือทั้งหมด ทั้งหมดคือเรา" จึงจะเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสรรพธรรมชาติ

อาจารย์นวลจันทร์ โพทา
เป็นตัวอย่างของคนที่มีจิตสำนึกใหม่

ขอให้อาจารย์นวลจันทร์มีอายุวัฒนะและมีความสุข เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนมนุษย์เกิดจิตสำนึกใหม่กันมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเยียวยาโลกให้กลับคืนสู่สุขภาวะ

 

ข้อมูลสื่อ

376-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553