• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคสะเก็ดเงิน มักไม่หายขาด

                    

ทั่วโลกพบโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ได้ประมาณร้อยละ ๒ ของประชากร เป็นในชายและหญิงเท่ากัน
"สะเก็ดเงิน" เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีหลายรูปแบบ คือ
► ปื้นนูนหนาขนาดใหญ่ และเป็นเรื้อรัง พบได้บ่อย ปื้นมีขอบเขตชัดเจน สีออกชมพูถึงแดง มีสะเก็ดสีเงินปกคลุม พบที่ข้อศอก ข้อเข่า แขนขา และหลังด้านล่าง

► รูปหยดน้ำ พบบ่อยที่สุดในเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นปื้นนูนขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า ๑ เซนติเมตรจำนวนมากตามลำตัว แขนขา อาจพบหลังการเจ็บคอ

► ผื่นบริเวณซอกพับ พบผื่นที่ขาหนีบ รักแร้ และใต้ราวนม

► ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นชนิดนี้อาจหนามาก และทำให้ฝ่ามือ ฝ่าเท้าแตก และเจ็บ

► ตุ่มหนองทั่วร่างกาย มักรู้สึกไม่สบาย มีไข้ และเจ็บผิวหนัง

► ผื่นแดงทั่วร่างกาย คือมีผิวหนังอักเสบแดงร้อยละ ๙๐ ของร่างกายขึ้นไป อาจพบโรคสะเก็ดเงินเป็นที่หนังศีรษะ โดยเฉพาะตามแนวไรผม และยังพบโรคสะเก็ดเงินของเล็บ ลักษณะคือเล็บมีหลุมเล็กๆ เล็บหนาผิดรูปร่าง บางรายพบว่าเนื้อใต้เล็บมีจุดสีเหลือง และอาจพบเล็บเผยอ 

นอกจากนี้ พบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ ๕-๓๐ อาจพบโรคสะเก็ดเงินของข้อร่วมด้วย มักเป็นที่ข้อนิ้วส่วนปลาย 

โรคสะเก็ดเงินอาจกำเริบได้จากปัจจัยหลายอย่าง
เช่น ยาบางตัว ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน และการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยเอดส์
การรักษาโรคสะเก็ดเงินมักเริ่มตามลำดับจากการใช้ยาทา การฉีดสารสตีรอยด์เข้ารอยโรค การฉายรังสียูวี และการให้ยากิน

                             


ยาทา
ที่ใช้มีหลายตัว นิยมใช้ในรูปขี้ผึ้งถ้าใช้ในบริเวณกว้าง ใช้ในรูปโลชันและครีมเมื่อทารอยโรคที่หนังศีรษะที่มีเส้นผม และใช้ในรูปครีมเมื่อทาที่ซอกพับ นิยมใช้ยาทาสตีรอยด์เพราะทาง่าย ราคาถูก ที่บริเวณใบหน้า หรือซอกพับอาจต้องใช้สตีรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อน เมื่อทาไปนานๆ ฤทธิ์ของยาอาจน้อยลง
► ยาทาแคลซิโพไทรออล (calcipotriol) เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินดี ๓ มักระคายเคืองผิวหนัง จึงไม่นิยมทาใบหน้าและซอกพับ

► ยาทากลุ่มน้ำมันดิน (coal tar) มีกลิ่นเหม็นเหมือนยางมะตอย เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า ทำให้ผิวระคายเคือง รูขุมขนอักเสบ

► ยาทากลุ่มกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ใช้ในรูปครีม หรือขี้ผึ้ง ช่วยละลายขุยได้ดี แต่ถ้าถูกดูดซึมมากอาจทำให้เกิดอาการได้ยินเสียงในหู มึนศีรษะ

► ยาทาไดทรานอล (dithranol) อาจทำให้ผิวระคายเคือง และทำให้ผิวหนัง เส้นผม เสื้อผ้ามีสีเปลี่ยน จึงมักทายาระยะสั้นโดยค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาที่ทายาทิ้งไว้

การฉีดสตีรอยด์เข้าไปในปื้นโรคสะเก็ดเงิน นิยมใช้ในโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาและมีขุยมาก 

นอกจากนั้น ยังมีการฉายแสง (phototherapy) เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน ใช้กรณีที่มีรอยโรคกระจายเป็นบริเวณกว้าง


ยากินที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน เช่น
► ยาเอซิเทรติน (acitretin) ทำให้ทารกในครรภ์พิการ ผู้ป่วยหญิงที่รับยาตัวนี้ต้องหยุดยาอย่างน้อย ๓ ปีจึงกลับมาตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ข้อแทรกซ้อนอื่นๆ คือ ปากแห้ง ผิวแห้ง ตาแห้ง ไขมันในเลือดสูง และเป็นพิษต่อตับ

► ยาเมโทรเทร็กเซต (methotrexate) ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา สตรีมีครรภ์ ในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ในโรคติดเชื้อ (เช่น วัณโรค เป็นโรคตับ และโรคไต)

► ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine) ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ยาตัวนี้มีผลแทรกซ้อนสูงคือ ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของไต ปวดศีรษะ

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องยอมรับความจริงว่าโรคนี้ไม่หายขาด และใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้โดยไม่เครียด เพราะความเครียดทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ ต้องระวังผลแทรกซ้อนจากการใช้ยา ในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมากและเรื้อรังอาจต้องปรึกษาอายุรแพทย์ร่วมด้วย เพราะอาจมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก จึงควรมองว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นแค่โรคผิวหนัง แต่เป็นโรคทุกระบบของร่างกาย
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรตรวจหาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และควรงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ควรกินอาหารตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ


 

ข้อมูลสื่อ

376-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร