• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคผิวหนังหลายชนิดไม่หายขาด...ถ้ายอมรับความจริงได้ ชีวิตจะสบายขึ้น

        

ตามที่มีข่าวว่า น.ส.เคล่า มาร์เทลล์ นางงามรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกาประจำปีนี้ ประกาศจะต่อสู้และรณรงค์ต่อโรคศีรษะล้านซึ่งเธอป่วยตั้งแต่เด็ก ด้วยการใช้สถานภาพดังกล่าว และการยอมรับตัวเองให้ผู้คนตระหนักต่อภัยของโรคดังกล่าว


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม (alopecia areata) มักพบในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โรคนี้พบได้บ่อย ประมาณว่าตลอดทั้งช่วงชีวิตแต่ละคนมีโอกาสร้อยละ ๒ ที่จะเป็นโรคนี้

ปัจจุบันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือยีน ๘ ตำแหน่ง ตัวที่สำคัญที่สุดคือยีน ULBP3 ยีนกลุ่มนี้นอกจากทำให้ผมร่วงแล้วยังเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ คือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ ซึ่งเป็นชนิดที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
 

ผมร่วงแบบเป็นหย่อมนี้ปกติมีขนาดกว้าง ๑-๓ เซนติเมตร อาจแลดูคล้ายเหรียญบาท หนังศีรษะจะเรียบปกติ ไม่มีอาการบวมแดง หรือมีสะเก็ด และไม่มีแผลเป็น บางครั้งผมอาจร่วงหมดศีรษะเรียกว่า อะโลพีเซีย โททัลลิส (alopecia totalis) ยิ่งไปกว่านั้นขนบริเวณอื่นก็อาจร่วงด้วย เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนบริเวณอวัยวะเพศ ถ้าผมและขนร่วงหมดทั้งตัวเรียกว่า อะโลพีเซีย ยูนิเวอซัลลิส (alopecia universalis)


พบว่าโรคนี้อาจเป็นซ้ำได้ และความเครียดบางครั้งก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสาเหตุของผมร่วงก็มีหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็รักษาให้หายขาดได้ เช่นผมร่วงจากการติดเชื้อ
นพ.ประวิตรให้ความเห็นว่า การรักษาผมร่วงแบบเป็นหย่อมอาจค่อนข้างยาก ในบางรายอาจเป็นซ้ำซากทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งอาจยิ่งทำให้ผมร่วงมากขึ้น โรคผมร่วงมีความสัมพันธ์กับจิตใจโดยโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อมอยู่ในกลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังโดยตัวเองอยู่แล้ว แต่ปัจจัยทางอารมณ์และความเครียดกระตุ้นให้โรคกำเริบ และยังอยู่ในกลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วยเพราะมีลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ

โรคผิวหนังเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดหลายชนิด ไปจนถึงกลุ่มโรคจิตที่มีอาการทางผิวหนังเช่น โรคจิตหลงผิดคิดว่ามีแมลงไชชอน  เหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับจิตใจทั้งในแง่ความเครียดทำให้โรคกำเริบ และลักษณะของโรคที่ไม่น่าดูก็ส่งเสริมให้เกิดความเครียดขึ้นไปอีก
โรคผิวหนังที่เข้าข่ายว่าสัมพันธ์กับจิตใจ เช่น โรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม โรคสะเก็ดเงิน โรคด่างขาว และแม้เรื่องความสวยความงาม เช่น ฝ้า ก็มีผลทางจิตใจมาเกี่ยวข้อง


พบว่าผู้ป่วยโรคกลุ่มนี้บางรายเสียเวลาและทุ่มเทเงินทองในการรักษาโรคที่ไม่หายขาดมากเกินไป บางครั้งใช้ยาหลายขนานจนเกิดผลแทรกซ้อนจากยา ดังนั้น การยอมรับสภาพความเป็นจริงและใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องรักษาโรคให้หายขาดได้ จะสามารถทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขมากขึ้น
 
 

ข้อมูลสื่อ

376-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
กองบรรณาธิการ