• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัตถุประสงค์การทำหนังสือยินยอมรับการรักษา

ความยินยอมรักษาของผู้ป่วยจะแสดงออกด้วยวาจา พฤติกรรมการแสดงออก หรือทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่การรักษาบางอย่างจำเป็นที่จะต้องมีการบันทึกข้อมูลการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ที่ให้การรักษา เช่น กรณีต้องรับการผ่าตัดจากแพทย์ที่มีความซับซ้อน หรือมีความเสี่ยง เนื้อหาในหนังสือยินยอมฯ จะระบุข้อมูลวิธีการรักษาที่แพทย์จะดำเนินการ ผลการรักษาที่คาดว่าจะได้รับ ข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งแพทย์หรือผู้ให้การรักษามีหน้าที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แพทย์จะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่ามีสิทธิปฏิเสธวิธีการรักษาที่เสนอ หรือเลือกวิธีการรักษาอื่นก็ได้

ดังนี้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะทำความเข้าใจและลงชื่อในหนังสือยินยอมรับการรักษา (consent form) ของผู้ป่วยนั้น จะต้องผ่านกระบวนการสื่อสาร พูดคุยกับแพทย์ที่ให้การรักษาโดยตรง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก แม้ว่าบางกรณีพยาบาลสามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ก็ตาม แพทย์ที่ปฏิบัติงานจะต้องได้รับการฝึกอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วย ญาติ เพื่อสร้างความไว้วางใจกัน สร้างเสริมสัมพันธภาพอันดีระหว่างกัน สิ่งนี้น่าจะช่วยลดปัญหาข้อพิพาทหรือการฟ้องร้องทางการแพทย์ได้

ปัญหาความกังวลเรื่องแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนที่เลี่ยงการผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่เคยปฏิบัติ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่งของโรงพยาบาลชุมชน จำนวน ๑๘๗ แห่ง ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๑ พบว่ามีแนวโน้มที่แพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนจะปฏิเสธการผ่าตัดไส้ติ่งให้แก่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)) ทำให้ผู้ป่วยต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลจังหวัดแทนมากขึ้น

ปัญหานี้เกิดจากการสร้างกระแสของคนบางกลุ่ม ที่ต้องการให้แพทย์เกิดความวิตกกังวลว่า มีโอกาสถูกฟ้องดำเนินคดีอาญามากขึ้น ปัญหาลักษณะนี้เรียกว่า "การแพทย์แบบป้องกันตัว" (defensive medicine) ตามที่แพทยสมาคมโลกระบุไว้ เช่น แพทย์ไม่ยอมทำการรักษาพยาบาลตามควร หรือแพทย์ลังเลที่จะรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง (higher risk patient) บางกรณีมีการสั่งตรวจและรักษาเกินจำเป็น จนสร้างภาระให้แก่ผู้ป่วยและระบบสาธารณสุข แพทยสมาคมโลกจึงเสนอแนะให้มีการระงับข้อพิพาทวิธีอื่น ให้การศึกษาแก่แพทย์เรื่องการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ครบถ้วนก่อนให้การรักษา และสนับสนุนให้แพทย์ทำประกันตนเองจากการฟ้องเรียกค่าชดเชยทางแพ่ง

บริการทางการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์
(humanized health care) ใช้การสื่อสารพูดคุยระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยด้วยความจริงใจและปรารถนาดี น่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่เหมาะสมมากที่สุด นอกเหนือจากแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หรือออกกฎหมายใหม่เพื่อชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ 


 

ข้อมูลสื่อ

376-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์