• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดื่มน้ำมังคุดหวังรักษาโรค... อันตรายโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและใช้ยาต้านมะเร็ง

อย.เตือน อย่าดื่มน้ำมังคุดเพื่อหวังรักษาโรค นอกจากไม่หายแล้วอาจทำให้ทรุดหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาคูมาดิน ยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ยิ่งต้องระวัง เพราะมีน้ำตาลผสมในปริมาณสูง อย่าหลงเชื่อโฆษณาว่าจะรักษาโรคได้ อย.ไม่เคยขึ้นทะเบียนน้ำมังคุดเป็นยา วิธีที่ดีที่สุดคือผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายว่า พบผู้ป่วยหญิง อายุ ๘๑ ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ เหนื่อย เพลียหลังตรวจร่างกายพบรอยจ้ำเลือดทั่วตัว ต่อมามีอาการท้องเสีย ถ่ายมีมูก ส่งตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเลือดปนในอุจจาระ ซักถามผู้ป่วยพบว่าดื่มน้ำมังคุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่ารักษาโรคปวดขา วันละ ๑ ช้อนโต๊ะประมาณเกือบ ๑ เดือน อาการปวดขาหาย หลังหยุดดื่ม ๒-๓ วัน มีอาการปวดทั่วตัว ขยับไม่ได้ ทุรนทุราย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะไตบกพร่อง และคาดว่าน้ำมังคุดยี่ห้อดังกล่าวอาจมีสารสตีรอยด์ผสมอยู่ โดยจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์หาสตีรอยด์ และสิ่งปนเปื้อนอื่นต่อไป

มังคุดมีสารแซนโทน (xanthones) เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต ต้านมะเร็ง และแก้แพ้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังขาดข้อมูลการทดลองทางคลินิกสนับสนุนว่าการบริโภคมังคุดสามารถมีฤทธิ์รักษาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เคยมีรายงานในวารสารทางการแพทย์ พบผู้ป่วยชาย อายุ ๕๘ ปีดื่มน้ำมังคุดทุกวัน เป็นเวลา ๑๒ เดือน เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแล็กติกคั่ง ในขณะนี้ ถึงแม้ยังไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษในมนุษย์ และยังไม่พบรายงานการแพ้ที่มีผลถึงชีวิต แต่พบอาการไม่พึงประสงค์ได้หลากหลาย

ในแต่ละคน เช่น ผิวหนังบวม แดง ผื่น คัน ปวดข้อชั่วคราวหรือเล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีอาการแพ้ทั่วไปถ่ายเหลว ลำไส้แปรปรวน และท้องผูก ที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาคูมาดินยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวะการสร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีการผสมน้ำตาลจำนวนมากในผลิตภัณฑ์ ผู้ที่กำลังได้รับยารักษาโรคอื่นๆ เนื่องจากยังไม่ทราบถึงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างน้ำมังคุดกับยาที่ได้รับ และไม่ควรปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้เคยออกคำเตือนผู้ขายผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดที่โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ ในขณะที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิผล นอกจากนี้น้ำมังคุดบางยี่ห้ออาจมีปริมาณสารสำคัญไม่เหมือนที่ระบุไว้บนฉลาก หรือบางครั้งอาจมีสารอื่นเจือปน และที่สำคัญยังไม่มีการทดสอบการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา อาหาร สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่น

นพ.พิพัฒน์กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงโดยเฉพาะการหวังผลในการบำบัดรักษา หรือบรรเทาอาการของโรค อาจทำให้เสียเงินและเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ หากได้รับอันตรายจากการบริโภคน้ำมังคุด สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. โทรศัพท์ และโทรสาร ๐ ๒๕๙๐ ๗๒๕๓  หรือร้องเรียนที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

376-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
กองบรรณาธิการ