• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จากงานประจำสู่งานวิจัย เปิดตัว ๓๙ งานวิจัยดีเด่น

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่าย R2R เปิดตัว ๓๙ งานวิจัยเด่น ในงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "จากงานประจำสู่งานวิจัย ครั้งที่ ๓" ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ พิธีเปิดวันที่ ๑๔ กรกฎาคม โดย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และวันที่ ๑๖ กรกฎาคม มอบรางวัลโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานพัฒนาเครือข่ายวิจัยในรูปแบบงานวิจัยจากงานประจำ สวรส. กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดนักวิจัยใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงมีการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย R2R ในวงการสุขภาพไทย โดยหวังผลลัพธ์ให้เกิด "เครือข่ายที่มีชีวิต" ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีพัฒนางานประจำระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยตรง ทั้งโดยผ่านเวทีเสมือน เช่น ชุมชนออนไลน์ต่างๆ และผ่านการติดต่อพบปะกันโดยตรงในอนาคต ไม่ต้องรอการจัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำปี

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า จากการดำเนินการในแผนงานพัฒนาเครือข่ายวิจัยในรูปแบบ R2R ช่วง ๒ ปีกว่าที่ผ่านมา พบว่าบุคลากรในระบบสุขภาพมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนางานประจำของตนให้ดีขึ้น และขยายวงกว้างขวางมากขึ้นเช่นกัน จนมีคนกล่าวว่าการทำวิจัยจากงานประจำกลายเป็นแฟชั่นในวงการสาธารณสุขไปแล้ว

นอกจากนั้น คาดว่าอีกไม่นานทัศนคติต่อการทำงานวิจัยจะเปลี่ยนไป จากที่หลายคนรู้สึกว่ายุ่งยาก เป็นงานวิชาการ และไม่อยากเกี่ยวข้อง เพราะจากงานวิจัยที่ได้รางวัลในแต่ละปีเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นี่คือการปรับโฉมหน้างานวิจัยที่หันมามองในประเด็นปัญหาใกล้ตัวที่พบเจอจากการทำงานประจำแล้วนำไปขบคิด ค้นคว้า หาคำตอบ และนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานได้จริง ทำให้สร้างคนสาธารณสุขเป็นนักวิจัย เป็นนักวิชาการ และเป็นนักปฏิบัติได้ในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้าไปวิจัยหรือชี้แนะให้เท่านั้น

ทั้งนี้ กระแสดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในหน่วยงานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนสถานีอนามัย เนื่องจากผู้บริหารหน่วยงานเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพงาน และพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชนที่ดีขึ้น
ผลงาน R2R ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในครั้งนี้ จำนวน ๓๙ เรื่อง แบ่งออกเป็นระดับบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ โรงเรียนแพทย์และหน่วยงานบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีคิดและกระบวนการทำวิจัยเพื่อพัฒนางานดังกล่าวตามห้องย่อยต่างๆ ด้วย สำหรับตัวอย่างงานวิจัยบางส่วนที่ได้รับรางวัลดีเด่น มีดังนี้


ระดับบริการ "ปฐมภูมิ"
ลูกไม้ชื่อ "เบาหวาน" หล่นไกลต้น

ทีมวิจัย : อังศุมาลิน มั่งคั่ง และคณะ โรงพยาบาลปากพลี จังหวัดนครนายก
มีรูปแบบกิจกรรมสอดคล้องกับบริบทของชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานจากปัจจัยทางพันธุกรรม ทำให้กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น และนำมาซึ่งวัฒนธรรมสุขภาพที่ยั่งยืน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของผู้ให้บริการ


ระดับบริการ "ทุติยภูมิ"
มาตรฐานเครื่องมือวัดความรู้สึกที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
นักวิจัย : โสภา ตั้งทีฆกูล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี
แม้การประดิษฐ์เครื่องมือตรวจวัดความรู้สึกที่เท้า (Monofilament) ขึ้นใช้เองจะมีการทำกันอย่างกว้างขวางในรูปแบบต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่ผลิตโดยโรงงานก็หาได้ไม่ยากนักในปัจจุบัน แต่งานชิ้นนี้ได้ให้ความสำคัญกับการทดสอบมาตรฐานของเครื่องมือนี้อย่างเป็นระบบ โดยการใช้เครื่องชั่งน้ำหนักแบบตัวเลขขนาดเล็กซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายมาทดสอบแรงกดของอุปกรณ์ทั้งที่มีอยู่เดิมหรือที่ประดิษฐ์ขึ้น ว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (๑๐ กรัม) หรือไม่


ระดับบริการ "ตติยภูมิ"
เม็ดกระดุมน้อยๆ ช่วยฝึกกล้ามเนื้อตา

นักวิจัย : ฉันทะนา เสมียนรัมย์  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
อาการตาเขที่มีขนาดมุมเขน้อยนั้นดีขึ้นได้ ด้วยการฝึกเพ่งมองปลายปากกาทุกวัน ติดต่อกัน ๑ เดือน และใช้เครื่องฝึกกล้ามเนื้อตาที่ต้องต่อคิวใช้ในโรงพยาบาล และนี่คือผลงานที่ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ด้วยการใช้กระดุมช่วยทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อตาและลดอาการตาเขได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยวัยเด็กสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ด้วยตนเอง และสามารถให้ผู้ป่วยฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องได้เองที่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดความแออัดในโรงพยาบาล


ระดับบริการ "มหาวิทยาลัย/โรงเรียนแพทย์"
ทำชุดทดสอบเม็ดเลือดแดงใช้เอง ๖ ปี ประหยัด ๒๕ ล้านบาท

ทีมวิจัย : อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ และคณะ  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เลือดที่ได้รับบริจาคมานั้น จำเป็นต้องตรวจสอบก่อนนำไปใช้ โดยชุดทดสอบซึ่งเป็นเจลสำเร็จรูปจากต่างประเทศ มีราคาแพงประมาณ ๒๐-๒๕ บาทต่อ ๑ การทดสอบ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาชุดทดสอบขึ้นใช้เอง จนสามารถพัฒนาชุดทดสอบ gel test ได้ ๓ ชนิด สามารถตรวจหาหมู่เลือดและแอนติเจนในระบบอาร์เอช ได้ผลตรงกับวิธีมาตรฐาน มีอายุการใช้งานได้นานถึง ๑ ปี และสามารถยืดระยะเวลาแห้งของเจลก่อนและหลังใช้งานได้นานขึ้น ชุดทดสอบนี้ได้ทำการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และได้ถูกผลิตขึ้นประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ชุดต่อปี หรือประมาณ ๑,๕๐๐๐,๐๐๐ ชุด ใน ๖ ปีที่ผ่านมาสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง ๒๕ ล้านบาท

การเผยแพร่แนวคิดเรื่องการทำงานประจำสู่งานวิจัยถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ทำงานวิจัยอย่างมุ่งมั่น ให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานเพื่อพัฒนาวงการสาธารณสุขไทยอีกทางหนึ่งด้วย
 

 

ข้อมูลสื่อ

376-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
รายงานพิเศษ
กองบรรณาธิการ