• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตรวจอัลตราซาวนด์ "ตับ"

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๙

(จากกรณีศึกษา ใน "คู่มือการดูแลสุขภาพครอบครัว" สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓)

          หญิงไทยอายุ ๔๒ ปี มาขอตรวจสุขภาพโดยเฉพาะตับ เพราะเคยตรวจพบเมื่อหลายปีก่อนว่ามีเชื้อตับอักเสบบี ครอบครัวไม่มีประวัติมะเร็งตับหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ไม่เคยเจ็บป่วยรุนแรง ไม่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ปัจจุบันอยู่กับสามีและบุตร ๒ คน อายุ ๑๘ และ๑๖ ปีครอบครัวอบอุ่นดี

          ผู้ป่วย : "หมอค่ะ"  พี่ขอตรวจให้ละเอียดเลยนะคะเอาทุกอย่างเลยค่ะ (ผู้ป่วยไม่ควรพูดเช่นนี้  เพราะถ้าเจอแพทย์ที่ "บ้าจี้" หรือโรงพยาบาลที่ชอบ "หาเงิน" จากการตรวจสุขภาพ อาจจะต้องเจ็บตัวอย่างมากและอาจหมดเงินเป็นแสนๆได้) 

          แพทย์ : "ได้ค่ะ ว่าแต่พี่กลัวจะเป็นอะไรหรือค่ะ"

          ผู้ป่วย : "กลัวอย่างว่า...น่ะค่ะ หมอ"

          แพทย์ : "หมายถึง...มะเร็งหรือค่ะ"

          ผู้ป่วย : "ค่ะ มันจะเป็นไปได้ไหมคะหมอ เพราะพี่มีเชื้อตับอักเสบบี... นี่พี่ก็ไปตรวจอัลตราซาวด์ตับมาเเล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน หมอเขาว่าปกติ พี่ก็ยังไม่มั่นใจ"

          แพทย์ : "แล้วพี่ไปตรวจอะไรเพิ่มเติมอีกไหมค่ะ"

          ผู้ป่วย : "ก็ตรวจเลือดดูหน้าที่ตับ ส่วนเบาหวานไขมันนี่ไม่มีค่ะ พี่ดูแลเรื่องนั้นอยู่แล้วไม่เป็นไรหรอกค่ะ"

          แพทย์ : "ดูพี่เป็นห่วงสุขภาพเยอะเหมือนกันนะค่ะ...เคยเห็นใครเป็นอะไรหรือเปล่า"

          ผู้ป่วย : "ค่ะ เจ้านายอายุมากกว่าพี่ไม่กี่ปี ทำงานแข็งขันมาตลอด อยู่ดีๆ ก็เป็นมะเร็งตับ อยู่ได้ ๒ เดือนก็เสีย เพิ่งเผาไปเมื่อวานเองค่ะ เขาเคยคุยกับพี่เรื่องตับอักเสบบีที่เขาเป็นเหมือนกัน แต่เขาเป็นผู้ชายนะค่ะเรื่องสุรา-บุหรี่ก็มีบ้าง...พี่คงไม่เป็นใช่ไหมคะหมอ ยังอยากอยู่กับลูกไปนานๆ"

          แพทย์ : "เดี๋ยวหมอจะตรวจให้นะคะ แต่เท่าที่ฟังประวัติและจากผลการตรวจสุขภาพของพี่ทุกปี ก็ดูปกติมาตลอด โอกาสที่จะมีอะไรผิดปกติมากๆคงน้อยค่ะ"

          ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมีความเข้าใจผิดในวงกว้าง (รวมทั้งในหมู่แพทย์) ว่า  การตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (เเล็บ) เช่น ตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ เอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้า (เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ) คลื่นเสียงสะท้อน (เช่น อัลตราซาวนด์ท้อง/ตับ/ไต) เป็นการ...

          ๑. ป้องกันโรค ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการตรวจแล็บเกือบทั้งหมด เป็นการตรวจหาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือ โรคเกิดขึ้นแล้วจึงจะตรวจพบ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้านบาท ยกเว้นการตรวจ "ผังพันธุ์" (genome) ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้านบาท อาจพบ "เชื้อพันธุ์" (gene) ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคในอนาคต แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการที่จะกำจัด "เชื้อพันธุ์" นั้นๆ ให้หมดไปจากร่างกายได้ ดังนั้นถึงจะรู้ว่าตนมี "เชื้อพันธุ์" นั้น ก็ไม่สามารถป้องกันโรคที่อาจเกิดจาก "เชื้อพันธุ์" นั้นได้

          ในกรณีผู้ป่วยข้างตน แม้ว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ แต่ใช่ว่าคนทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้วจะต้องเป็นโรคตับอักเสบ หรือมะเร็งตับ มีเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่เกิดเป็นมะเร็งตับ การไปตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (ที่ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ) จึงทำให้เกิด "โรคประสาท" (กลัวว่าจะเป็นมะเร็งตับ ทั้งที่ตับของตนยังเป็นปกติ จากการตรวจเลือดทุกปี)  จึงต้องไปตรวจซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะแม้ว่าจะเพิ่งไปตรวจเลือด และอัลตราซาวนด์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าตับปกติ ก็ยังไม่แน่ใจ (และอาจต้องไปตรวจในที่อื่นๆอีกเพราะความกลัวที่ฝังใจอยู่)

          ถ้าจะตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ต้องตรวจหาประวัติทางด้านพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ทำงานหามรุ่งหามค่ำ กินของดิบๆ สุกๆ หรือไม่สะอาด สำส่อน อยู่อาศัยในที่แออัด/สกปรก/มีมลพิษมาก ชอบเครียด-กลัว-เกลียด-โกรธ-ห่วงกังวลง่าย ซึ่งแพทย์ที่ตรวจจะไม่สามารถรู้พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีเท่ากับคนที่ไปตรวจสุขภาพ และถึงแพทย์จะถามประวัติเหล่านี้ (ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ถามเพราะไม่มีเวลา หรือกลัวว่าจะเป็นการละลาบละล้วงมากเกินไป) คนที่ไปตรวจสุขภาพก็อาจจะอาย และไม่กล้าตอบตามที่เป็นจริงได้  การตรวจสุขภาพเกือบทั้งหมด จึงไม่ทราบพฤติกรรมเสี่ยงของคนที่ไปตรวจสุขภาพ และไม่สามารถทำให้คนที่ไปตรวจสุขภาพ ลด-ละ-เลิก พฤติกรรมเสี่ยงของตน เพื่อจะได้ไม่เกิดโรคในอนาคต
          ๒. รักษาโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งได้ผลดีในบางโรค เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรก และได้ผลเสียในบางโรค เช่น กรณีผู้ป่วยข้างต้นที่พบว่าเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิด “โรคประสาท” ตามมาและอาจ “ประสาท” ไปตลอดชีวิตก็ได้ ถ้ายังฝังใจกับความกลัวมะเร็งอยู่
          โรคจำนวนมากที่ยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และถ้าพยายามรักษาอาจทำให้ทุกข์ทรมานมากกว่าการไม่ได้รับการรักษา และอาจทำให้อายุสั้นกว่าการไม่รักษา (ดังตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๗ ในหมอชาวบ้าน ฉบับ ๓๗๘ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓) การไปตรวจสุขภาพเพื่อเสาะหาโรคเหล่านั้น ย่อมจะทำให้เกิดผลเสียแก่บุคคลนั้นและครอบครัวอย่างมากมาย
           การตรวจสุขภาพเพื่อหาโรคสำหรับรักษาแต่เนิ่นๆ จึงควรตรวจเฉพาะโรคที่จะรักษาแล้วได้ผลดีเท่านั้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะรู้ได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น
          กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อแม่ พี่ น้องหรือบุคคลในสายเลือดเดียวกันเป็นเบาหวานหรือความดันเลือดสูง ควรจะตรวจเรื่องเบาหวานและความดันเลือดเป็นประจำ อาจจะบ่อยกว่าปีละครั้ง โดยเฉพาะถ้ามีอาการ (เช่น อ้วนขึ้น หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ) หรือมีอายุเข้าเกณฑ์ที่อาจจะเป็นเบาหวาน หรือความดันเลือดสูงได้ง่าย (เช่น อายุมากกว่า ๓o-๔๐ ปี เป็นต้น)
          พฤติกรรม ผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ควรจะตรวจการทำงานของตับหรือปอด-หลอดลมบ่อยๆ โดยเฉพาะถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ไอ หรือมีเสมหะโดยเฉพาะตอนตื่นนอน เป็นต้น แต่อันที่จริงแล้วที่ดีกว่าการตรวจสุขภาพดูตับ/ปอด เพื่อดูว่าตับ/ปอดเริ่มเสียหรือยัง แล้วจึงจะหยุดสุรา/บุหรี่ ควรจะหยุดสุรา/บุหรี่ไปเลยจะดีกว่ามาก โดยไม่ต้องเจ็บตัวและเสียเงินค่าตรวจสุขภาพด้วย นอกจากนั้นยังประหยัดเงินค่าสุรา-บุหรี่ ได้อีกด้วย
          การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งที่ให้ “โทษ” มากกว่าให้ “ประโยชน์” แก่ประชาชนและสังคม ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และภาวะเศรษฐกิจ-สังคมด้วย
การตรวจสุขภาพที่จะให้ประโยชน์มากกว่าโทษ คือ
๑. การตรวจสุขภาพเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรค และปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นสามารถที่จะแก้ไขได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ไปขอตรวจสุขภาพจะรู้ดีกว่าแพทย์ และไม่ยอมบอกความจริงเหล่านั้นให้แพทย์ทราบ การตรวจสุขภาพจึงไม่ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรค
๒. การตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาโรคที่เริ่มเป็น หรือเป็นได้ไม่นาน และโรคนั้นๆ ต้องสามารถรักษาได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่รักษาได้มักมีปัจจัยเสี่ยงและมีอาการ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและมีอาการ จึงควรไปตรวจสุขภาพ ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาตรวจสุขภาพประจำปี เพราะอาจจะช้าเกินไป
 

 

ข้อมูลสื่อ

380-048
นิตยสารหมอชาวบ้าน 380
ธันวาคม 2553
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์