• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เทคนิคโยคะ อนามัยช่องคอและจมูก

กวี คงภักดีพงษ์  สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
เทคนิคโยคะอื่นๆ อนามัยในช่องคอและจมูก

นอกจากอาสนะ ปราณยามะ ซึ่งเป็นเทคนิคหลักของโยคะที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีเทคนิคโยคะอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ในทางบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการชำระล้างกระบวนการจัดปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงที่เราจะกล่าวถึงต่อไป

ชลเนติ (หรือตามตำราดั้งเดิมควรจะเรียกว่า ชลกะปาละภาติ)
ตำราดั้งเดิมอธิบายวิธีการไว้ ๒ แบบดังนี้
วยุทกรรม กะปาละภาติ รินน้ำใส่อุ้งมือ ยกอุ้งมือขึ้นจรดริมฝีปากบน น้ำสัมผัสปริ่มๆ ที่จมูก สูดน้ำเข้าทาง จมูก ปล่อยให้น้ำไหลผ่านพื้นจมูกลงสู่ปาก แล้วบ้วน  ออกทางปาก ทำ ๒ ถึง ๓ ครั้ง (น้ำ ๒ - ๓ อุ้งมือ) จะทำ ได้ดีขึ้น หากก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย ข้อควรระวัง   คือ ขณะทำให้กดลิ้นไก่และลดขากรรไกรลงต่ำ เพื่อทำให้พื้นของจมูกเทลาด ทำให้น้ำไหลลงโดยสะดวก เป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ให้น้ำไปรบกวนตุ่มรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานจมูก

สิทกรรม กะปาละภาติ บ้วนปากด้วยน้ำ ๑ - ๒ ครั้งก่อน จากนั้น อมน้ำเต็มปาก กดลิ้นไก่และลดขากรรไกรลงต่ำ ก้มศีรษะลง หายใจออกทางจมูก พร้อมๆ กับดันน้ำไปที่คอ โดยดันโคนลิ้นไปที่เพดานปาก ทำคล้ายกำลังออกเสียง ก ไก่ น้ำจะไหลออกมาทางจมูก

ชลเนติ ที่ปรับให้เข้ากับยุคปัจจุบัน สำหรับผู้เริ่มฝึก อาจใช้กาที่ออกแบบเป็นการเฉพาะ (กาเนติ) ก้มศีรษะ เอียงไปทางด้านข้าง สอดปากของกาเนติที่รูจมูกที่อยู่ด้านบน ค่อยๆ รินน้ำ ซึ่งจะไหลเข้าทางรูจมูกบน ออกทางรูจมูกล่าง ตลอดเวลาให้อ้าปากและหายใจทางปาก น้ำอาจจะไหลเข้าทางปากบ้าง ก็บ้วนทิ้งไป แล้วทำสลับ โดยหันรูจมูกอีกข้างขึ้นบน
    
คำแนะนำเรื่องน้ำที่ใช้ชำระล้างจมูก ทั้ง ๓ วิธี
ใช้น้ำสุกอุ่น ผสมเกลือเล็กน้อย พอมีรสชาติปะแล่มๆ เพื่อลดความรู้สึกระคายเคือง ขณะเดียวกัน เกลือก็ช่วยทำความสะอาดได้ด้วย เมื่อมีความชำนาญ ผู้ฝึกอาจใช้น้ำสะอาดโดยใส่เกลือน้อยลงๆ จนไม่ใส่เลย ความอุ่นของน้ำน้อยลงๆ จนท้ายสุดเป็นอุณหภูมิปกติ ทั้งนี้ ขึ้นกับความรู้สึกสบายของผู้ฝึกเป็นสำคัญ

หลักการก็คือ ไม่เพียงแต่เป็นการทำความสะอาดจมูก แต่ยังเป็นการปรับสภาพของน้ำมูก เยื่อบุ ให้ทนทานต่ออุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ให้ทนทานต่อสภาพอากาศภายนอกที่หลากหลาย จมูกที่มีความสามารถในการจัดปรับได้ดี ย่อมสามารถจัดปรับวงจรของหลอดเลือดฝอยภายในต่อสภาพแวดล้อม ภายนอกที่ไม่ค่อยสมดุลนักได้อย่างสอดคล้อง

สูตระเนติ (ตามตำราดั้งเดิม)
ในตำราโบราณระบุถึงการใช้ด้ายที่ทำจากฝ้ายมา ควั่นเป็นเกลียว ยาวราว ๑ ฟุตครึ่ง นำปลายด้ายด้านหนึ่ง (ราวครึ่งฟุต) จุ่มลงในขี้ผึ้ง เมื่อเย็นแล้วก็จะเป็น   เส้น โดยยังมีความอ่อนตัว ส่วนที่เหลือราว ๑ ฟุตยังเป็นด้ายฝ้ายที่ไม่มีขี้ผึ้งเคลือบ เรียกว่าสูตระเนติหรือเนติ นำมาถูขัดเนื้อเยื่อที่โพรงจมูก

นำปลายสูตระเนติด้านที่เคลือบขี้ผึ้งสอดเข้ารูจมูก ข้างหนึ่ง ให้เส้นสูตระเนติผ่านไปตามพื้นโพรงจมูก กดลิ้นไก่ลง จนเมื่อปลายเส้นสูตระเนติสัมผัสคอด้านใน   อ้าปาก ใช้นิ้วชี้+นิ้วกลาง ล้วงเข้าไปคีบเอาปลายเส้น   สูตระเนติออกมาทางปาก โดยที่ปลายอีกข้างยังคาที่รู จมูก ใช้มือ ๒ ข้าง จับ ๒ ปลายของเส้นสูตระเนติแล้วสีเข้า ออกสลับกันสัก ๑๐-๑๕ ครั้ง จากนั้นดึงเส้น     สูตระเนติออกมาทางปาก ล้างให้สะอาด แล้วทำกับรู จมูกอีกข้างหนึ่ง

นี่เป็นวิธีขัดถูเนื้อเยื่อโพรงจมูกอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถทนทานต่อฝุ่นละออง ทุกวันนี้ เราใช้สายยางทางการแพทย์ rubber catheters แทน ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่เล็กให้เลือกมากมาย ที่นิยมใช้กันคือ   เบอร์ ๕ และ เบอร์ ๖ (แบบอังกฤษ) ซึ่งสามารถทำ ความสะอาด รวมทั้งต้มฆ่าเชื้อได้ 
    
วาตะ กรรมะ กะปาละภาติ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ กะปาละภาติ)
คือการขับอากาศอย่างเร็ว ถี่ ออกทางจมูก โดยไม่ใส่ใจกับการหายใจเข้า โดยปกติการเป่าจมูกดูเหมือน จะเป็นสาเหตุของอาการเยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง ไซนัส ผนังจมูกเบี้ยว  ยิ่งหากทำในขณะที่จมูกอักเสบ คัดจมูก ทำให้การขับของเสียออกจากจมูกเป็นไปได้ลำบาก ทำให้ของเสียแทรกเข้าไปตามโพรงจมูกส่วนที่ลึกลง ยิ่งกระจายการอักเสบไปยังส่วนที่ทำความสะอาดได้ลำบาก มากขึ้น  และหากมีการเป่าลมขณะคัดจมูกข้างหนึ่ง หากทำบ่อยๆ ก็จะทำให้ผนังจมูกเบี้ยว

การทำกะปาละภาติ ทำกับรูจมูกเปิดโล่ง ทำหลังจากล้างโพรงจมูกด้วยวิธีที่กล่าวมาก่อนข้างต้น เป็นการ ขับอากาศออกโดยแขม่วกล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนกลางและหน้าท้องส่วนล่าง ขณะทำจะพบว่ากล้ามเนื้อหูรูดที่ ทวารก็จะขมิบขึ้นตามจังหวะ ซึ่งผู้ฝึกควรใส่ใจกล้ามเนื้อ บริเวณนี้ด้วย รวมทั้งอาจตั้งใจขมิบ ซึ่งเป็นการพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกะบังลมที่บริเวณอุ้งเชิงกราน อันส่งผลให้การหายใจออกเป็นไปได้ดีขึ้น  เมื่อแขม่ว กล้ามเนื้อหน้าท้องแล้ว ก็ให้คลายในทันที ไม่ต้องใส่ใจลมหายใจเข้า มันจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยผู้ฝึกจะทำการแขม่วกล้ามเนื้อหน้าท้องในครั้งที่สองทันที ต่อจากการคลาย ทำแบบนี้สม่ำเสมอต่อเนื่องประมาณ ๑๐ ถึง ๒๐ ครั้ง ความเร็วในการแขม่วท้องคือ ๒ ครั้งต่อวินาที  ทรวงอกจะนิ่งไม่มีการขยายตัวออก อันจะเป็น การหน่วงลมหายใจออกไว้ในปอดซึ่งไม่ใช่สภาวะที่เราต้องการ มีบ้างบางรายที่ไม่คุ้นเคย อาจขยายทรวงอกไปพร้อมๆ กับตอนแขม่วท้อง ส่งผลให้กะบังลมแบนออกข้าง แทนที่จะโค้งขึ้นด้านบนเต็มที่ ช่องปอดขยายตัว ออกด้านข้าง ทำให้แรงลมเบี่ยงเบนออกทางข้างลำตัว ทำให้ลมพุ่งขึ้นบนได้ไม่เต็มที่ จึงน่าที่จะกำกับทรวงอกให้นิ่ง ตอนแขม่วท้องกะบังลมส่วนกลางจะถูดันขึ้นเต็มที่ ลมจะเคลื่อนขึ้นตรง และมีกำลังขับออกอย่างแรง ทำ ความสะอาดทางเดินหายใจได้เต็มประสิทธิภาพ

ดูเหมือนกะปาละภาติจะเน้นการขับอากาศออกอย่าง แรง เกิดแรงดูดตามรอยแยกของผนังจมูก เกิดแรงดูดตาม ช่องโพรงจมูกต่างๆ ช่วยขจัดสิ่งอุดตัน ของเสียที่เกาะเคลือบอยู่ออก ตามชื่อของมัน คือทำให้เกิดความสว่าง (บาติ) ของกะโหลกศีรษะ (กะปาละ-กะบาล) ซึ่งในที่นี้เน้น ที่บริเวณหน้าผาก ดังนั้น กะปาละภาติจึงเป็นเทคนิคที่ทำ ความสะอาด ทำให้โล่งที่บริเวณหน้าผาก ช่องโพรงจมูก

เราแนะนำให้ทำอุทธิยานะ ๒ - ๓ ครั้ง คั่นกลางระหว่างที่ทำชลเนติกับกะปาละภาติ อุทธิยานะทำให้เกิดสูญญากาศ เกิดแรงดูดตามผนังโพรงจมูก ซึ่งช่วยดูดละอองน้ำที่อาจคั่งค้างจากชลเนติออกมา พอเราทำกะปาละภาติ ผลที่ได้รับก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ 

 


 

ข้อมูลสื่อ

343-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 343
พฤศจิกายน 2550
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์