• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาป้องกันกระเพาะอาหารอักเสบ จำเป็นหรือไม่?


        ปัจจุบันการรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารนิยมใช้ยาลดกรดตัวใหม่ล่าสุดที่มีสรรพคุณสูงมากจนทำให้ตลอดเวลาแทบจะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร
       ยาตัวใหม่เหล่านี้มีราคาแพง การใช้ยาราคาแพงต้องพิจารณาให้ดีถึงความคุ้มค่า เพราะยาตัวใหม่เหล่านี้ไม่ใช่ป้องกันการอักเสบของกระเพาะอาหารที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ
ผู้ป่วยที่ได้รับยาอย่างต่อเนื่องและพร่ำเพรื่อ มักจะเป็นผู้ที่กินยาแอสไพริน (ขนาดต่ำ) หรือยาต้านการอักเสบต่างๆ เพราะกลัวว่าเวลากินยาเหล่านี้แล้ว กระเพาะจะอักเสบ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า ทำไมจึงมีเพียง ๓ ใน ๑๐ รายเท่านั้นที่ใช้ยาต้านการอักเสบ (ที่ไม่ใช่สตีรอยด์) แล้วเกิดกระเพาะอาหารอักเสบ ในขณะที่ ๗ ใน ๑๐ คนไม่เป็นอะไร สิ่งนี้จึงสะท้อนว่ายาป้องกันกระเพาะอาหารอักเสบที่มีราคาแพงนั้นจำเป็นหรือไม่
        กลไกการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหาร ขึ้นอยู่กับสมดุลของปัจจัยคุกคามคือกรดและเอนไซม์เพ็ปซิน กับปัจจัยที่ช่วยป้องกันคือด่างและเยื่อเมือกในกระเพาะ ซึ่งยาพวกแอสไพรินและยาต้านการอักเสบจะทำให้เยื่อเมือกอ่อนแอลง
        ที่ผ่านมาแอสไพรินเป็นยาหลักสำหรับการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ และต้องใช้แอสไพรินขนาดสูงมาก วันละ ๓,๖๐๐ มิลลิกรัม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่เกิดปัญหาอะไร มีเพียงส่วนน้อยที่ยาไปทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะ ซึ่งรักษาได้ด้วยยาลดกรดแบบธรรมดาก็ได้ผลดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาห้ามการหลั่งกรดที่มีราคาแพงเหมือนในปัจจุบัน
        การใช้ยาห้ามการหลั่งกรดบางครั้งก็ใช้กันผิดๆ ทั้งขนาดและระยะเวลา เพราะยากลุ่มนี้ใช้เพียงไม่กี่วันในการรักษากระเพาะอาหารอักเสบ และใช้ ๑-๒ เดือนเพื่อรักษาแผลกระเพาะอาหาร แต่พบว่าส่วนใหญ่ใช้แบบไม่กำหนดระยะเวลา เรียกว่าเมื่อได้ยาแอสไพริน (ส่วนมากใช้ขนาดต่ำมากวันละ ๘๑ มิลลิกรัม) ก็จะได้ยากลุ่มนี้คู่ไปด้วย (ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงต่อกระเพาะอาหารอักเสบมีเพียง ๓ ใน ๑๐ ราย และอัตราตายประมาณ ๑ ใน ๑๐๐,๐๐๐ รายเท่านั้น)
        ผู้เขียนต้องการนำเสนอทรรศนะอีกมุมมองหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง ในประเด็นด้านสาธารณสุขก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงพยาบาลรัฐมีปัญหาหนี้สิน แต่ถ้าพิจารณาดูการสั่งยาของแพทย์ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เมื่อไปใช้บริการที่โรงพยาบาลของรัฐแต่ละครั้งก็จะได้ยา (ที่ค่อนข้างดีมาก บางอย่างก็เป็นยานอกราคาแพง) โดยได้มาถุงใหญ่ หลายชนิดและกินได้หลายเดือน
        มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยายังไม่ทันหมดก็กลับไปพบแพทย์ก่อนวันนัด และก็จะได้ยาจำนวนมากกลับมาอีก หลายครั้งต้องนำยาไปทิ้งเพราะจำไม่ได้ว่ายาชุดไหนเก่าชุดไหนใหม่ กลัวว่าจะเป็นยาหมดอายุ จากนั้นกลับไปรับยาที่โรงพยาบาลตามนัดรอบใหม่อีก
        จะเห็นว่างบประมาณของประเทศหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านยาจำนวนมาก การใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจัดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนช่วยให้เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายยาอย่างฟุ่มเฟือย อนาคตก็จะเกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
        สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก แต่ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำได้เพียงแค่ระบบประกันสังคม ปัจจุบันประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอีกไม่กี่ปีอาจจะต้องคืนเงินให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจไม่มีเงินพอที่จะจ่ายคืน
        สำหรับประเทศไทย แต่ละรัฐบาลเน้นนโยบายประชานิยม ด้วยการนำเงินกู้ซึ่งเป็นเงินในอนาคตมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ระบบการจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ดีพอ ในทรรศนะของผู้เขียนคาดว่าอีกไม่กี่ปีอาจจะต้องยกเลิกระบบประกันสุขภาพของรัฐทุกรูปแบบ เพราะงบประมาณไม่พอ เมื่อถึงวันนั้นก็คงต้องตัวใครตัวมัน วิกฤติด้านต่างๆ ของประเทศก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
        วันนี้จึงอยากถามว่า “คุณเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในอนาคตหรือไม่”
 

ข้อมูลสื่อ

379-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 379
พฤศจิกายน 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์