• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนแล้วเสียสุขภาพจิต

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการศึกษาเล่าเรียนจะต้องมุ่งที่การพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีความเจริญทั้งทางด้านความรู้ความสามารถรวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม เรียกว่าต้องพัฒนาทั้งไอคิว และอีคิว
        ไอคิว = IQ = Intelligence Quotient คือ ระดับสติปัญญาความรู้ความสามารถ
        อีคิว = EQ = Emotional Quotient คือ ความฉลาดทางอารมณ์ มีการจัดการอารมณ์เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างสร้างสรรค์และมีความสุข
        ส่วนสาเหตุที่ผู้เขียนตั้งประเด็นว่า เรียนแล้วเสียสุขภาพจิตนั้น เพราะมีผู้ปกครองหลายท่านรวมถึงนักเรียนนักศึกษาได้มาปรึกษาถึงปัญหาสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากการเรียน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเรียนหนัก เรียนไม่รู้เรื่อง การบ้านมากไป แข่งขันกันมากเกินไป ทำข้อสอบไม่ได้ทั้งที่เตรียมตัวมาดี บางคนเรียนเก่งมากแต่ตอบข้อสอบไม่ได้หรือได้คะแนนไม่ดีตามที่หวัง
        เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงอดีต เคยมีเพื่อนๆ ที่ค่อนข้างขี้เกียจหลายคน มักจะพูดว่า
 ใดใดในโลกล้วน    อนิจจัง
คนไม่อ่านหนังสือยัง        สอบได้
คนอ่านหัวแทบพัง            สอบตก
เป็นเช่นนี้แล้วไซร้            อย่าได้อ่านมัน

         สมัยนั้นฟังแล้วก็ขำ แต่มาสมัยนี้ขำไม่ออก เพราะเริ่มรับรู้แล้วว่ามีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่สนับสนุนให้เด็กขี้เกียจ แต่ประเด็นที่ติดใจคือ คนอ่านหนังสือหัวแทบพังแต่ยังสอบตก หรือคนที่ขยันแต่กลับสอบตก กลุ่มนี้แหละที่เรียนแล้วเสียสุขภาพจิต หรือเรียนแล้วอาจจะบ้า ทั้งๆ ที่บ้าเรียน
         ถ้าเรื่องของเรื่องเกิดจากตัวเด็กเองก็ไม่ติดใจอะไร เพราะเด็กบางคนอาจขยัน แต่ไม่ค่อยฉลาดเลยทำให้งงข้อสอบ แต่ที่สงสัยคือเด็กที่เสียสุขภาพจิตจากการเรียนส่วนใหญ่ไม่โง่ ตรงกันข้ามมักเป็นเด็กที่เคยเรียนดีมาก่อน บางคนก็ขยันสม่ำเสมอ แล้วทำไมจึงเกิดเรื่องเช่นนี้
         เป็นไปได้หรือไม่ว่าปัญหาอาจอยู่ที่ปัจจัยภายนอกอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเด็กเอง เช่น ครูอาจารย์สอนไม่เก่ง ถ่ายทอดไม่เข้าใจ สอนไม่ตรงหลักสูตร หลักสูตรไม่เหมาะสม ข้อสอบที่ออกไม่ได้วัดความรู้ความสามารถตามหลักสูตรหรือสิ่งที่เป็นความรู้ทั่วไป หรือจะเป็นข้อสอบที่ออกเพื่อให้เด็กส่วนใหญ่ทำไม่ได้ (ทำได้เฉพาะเด็กตัวเอง) สิ่งนี้มักเกิดเมื่อมีการสอบแข่งขันที่ใช้ข้อสอบรวม
         จากประสบการณ์ผู้เขียนที่เคยเป็นทั้งนักเรียนและครู เคยผ่านการสอบของโรงเรียนและของประเทศมามากมาย พอจะจำแนกวิธีการสอนและข้อสอบออกเป็น ๓ ประเภท คือ ตามหลักสูตร ตามหลักการ และตามหลักกู
          การสอน “ตามหลักสูตร” ถ้าตรงและไม่ผิดพลาดอะไร มักไม่ค่อยสร้างปัญหาให้กับเด็ก แต่เวลาสอบถ้าออกข้อสอบตามหลักสูตรครูบางท่านก็อ้างว่าน้อยไป เด็กควรเรียนรู้อย่างอื่นด้วย จึงออกนอกหลักสูตรบ้าง (ซึ่งบางครั้งก็มากเกินไป) ประเด็นนี้อาจเกิดปัญหาได้ถ้าข้อสอบนั้นออกโดยไม่อิงกับอะไรเลย เกินกว่าที่เด็กส่วนใหญ่หรือแม้แต่ครูที่สอนวิชานั้นบางคนยังทำไม่ได้
         ประเภท “ตามหลักการ” ก็คือตามตำราหรือเอกสารอ้างอิง หากเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ถ้าใครไม่รู้ก็จัดว่าอ่อน ก็แล้วกันไป แต่ปัญหานั้นมักเกิดจากการใช้ตำราและเอกสารอ้างอิงที่ไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น มีข้อสอบถามว่า สัดส่วนอาหารที่ควรบริโภคระหว่าง แป้ง : ไขมัน : โปรตีน คืออะไร โดยมีคำตอบให้เลือกคือ 
         ก. ๖๐ : ๓๐ : ๑๐      
         ข. ๕๐ : ๓๐ : ๒๐    
         ค. ๗๐ : ๒๐ : ๑๐    
         ง. ๘๐ : ๑๐ : ๑๐ 
         คำตอบนั้นตำราหลายเล่มเขียนไว้ไม่ตรงกัน แต่ถ้าอ้างอิงตามตำรามาตรฐานของนักศึกษาแพทย์ที่นิยมใช้กันเล่มหนึ่ง บอกว่า แป้ง ๔๕-๖๕  ไขมัน ๒๐-๓๕ โปรตีน ๑๐-๓๕ เด็กที่ท่องตำรานี้ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกตอบข้อใดระหว่างข้อ ก. กับ ข้อ ข. (เพราะถูกทั้งคู่) ข้อสอบนี้เคยเป็นหนึ่งในข้อสอบสำหรับนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศมาแล้ว
          สุดท้ายคือ “ตามหลักกู” อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา เพราะขาดความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่กลับใช้กันมาก ครูแต่ละคนสอนวิชาเดียวกัน บางครั้งยังสอนไม่เหมือนกัน เมื่อเด็กจากที่ต่างๆ มาสอบรวมกันจึงเกิดปัญหา ข้อสอบบางข้อต่อให้เปิดตำรายังตอบไม่ได้ หรือเอาไปให้ครูที่สอนวิชานั้นบางคนยังตอบไม่ถูกหรือตอบไม่ตรงกัน แล้วข้อสอบอย่างนี้ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการพิจารณาข้อสอบมาได้อย่างไร
         ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า ผู้ที่มีส่วนในการปฏิรูปการศึกษาจะหันมาสนใจกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้และคงจะมีแนวทางแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
    
 

ข้อมูลสื่อ

383-042
นิตยสารหมอชาวบ้าน 383
มีนาคม 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์