กวี คงภักดีพงษ์ สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
เทคนิคโยคะอื่นๆกับอนามัยในช่องคอ
ต่อมทอนซิลทั้ง ๒ ข้าง คล้ายยามยืนเฝ้าข้างละคน เมื่อต่อมทอนซิลติดเชื้อ การอักเสบจะกระจายไปยังกล้ามเนื้อทั่วบริเวณคอช่องคอ
อายุรเวทเรียกช่องคอว่า สัตตบาท หมายถึง จัตุรัส ที่เปิดไปสู่ถนน ๗ สาย (สัตตะหมายถึง ๗ และ บาทก็คือทางเท้าหรือทางเดิน) อันได้แก่ รูจมูก ๒ รู ทางเดินไป สู่หูส่วนกลาง ๒ ช่อง หลอดอาหาร หลอดลม และปาก
ช่องที่ออกไปสู่ปากมีต่อมทอนซิลคอยปกป้องทั้ง ๒ ข้าง คล้ายยามยืนเฝ้าข้างละคน ฐานของช่องคอประกอบด้วยกล้ามเนื้อหลายๆ ชั้นทับซ้อนไขว้กัน กล้ามเนื้อเหล่านี้ทำหน้าที่เปิดปากและทำหน้าที่เคี้ยว มีหลอดเลือดแดงนำสารอาหารมาหล่อเลี้ยง มีหลอดเลือดดำรับของเสียกลับไป โชคไม่ดีที่ความ เป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ทำให้เรากินแต่อาหารต้มสุก อาหารที่อ่อนนุ่ม แทบจะไม่ต้องเคี้ยวอย่างแรง ไม่ต้องขบกัดเลย
ดังนั้น กล้ามเนื้อบริเวณนี้จึงไม่มีโอกาสทำงานเต็มศักยภาพ เมื่อต่อมทอนซิลติดเชื้อ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเวลานาน การอักเสบจะกระจายไปยังกล้ามเนื้อทั่วบริเวณนี้ เกิดความรู้สึกแปลกๆ กล้ามเนื้อที่อักเสบนี้จะขวางการไหลเวียนของเลือด ทอนซิลไม่ได้รับสาร อาหารตามที่มันควรจะได้รับ ยิ่งเมื่อการอักเสบเรื้อรังก็ยิ่งทำให้ขาดเลือดหนักลงไปอีก ทำให้ความต้านทานของเนื้อเยื่อบริเวณนี้ลดลง ก็ยิ่งติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
นี่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายเพราะทอนซิลเป็นยามจริงๆ มันทำหน้าที่ปกป้องทั้งช่องหลอดลมและช่องทางเดินอาหาร หากการติดเชื้อยังดำเนินต่อเนื่อง ก็จะกระจายไปถึงเนื้อเยื่อ adnexa ที่อยู่ใกล้เคียง ลามไปยังช่องหูส่วนกลาง ทำให้น้ำมูกไหล หูอื้อ และมีเสียงในศีรษะ เนื้อเยื่อที่เกาะติดกัน จะขวางไม่ให้ลมผ่านไปยังช่องหู อันจำเป็นต่อการรักษาความกดดันของหูตอนกลางทั้ง ๒ ข้างให้เท่ากัน ซึ่งโดยปกติจะมีการจัดปรับสมดุลทุกครั้งที่มีการกลืนอาหาร และหากการอักเสบลามไปถึงช่องหูส่วนกลาง ก็เกิดหนอง และหากหนองนั้นไม่มีทางออก ก็ส่งผลทำให้เป็นหูน้ำหนวก
จากคำอธิบายข้างต้น สรุปได้ว่าเราจะต้องดูแลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณทอนซิลได้อย่างเพียงพอ ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องคอ โยคะมีเทคนิคที่เหมาะต่อการนี้คือ ชิวหาพันธะและสิงหะมุทรา
ชิวหาพันธะ หรือการล็อกลิ้น
ยกลิ้นขึ้นชิดเพดานปากให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่โคนลิ้นไปจนสุดปลายลิ้นเลย ให้ลิ้นแนบติดกับเพดานปากทั้งส่วนเพดานแข็งและเพดานอ่อนให้มากที่สุด ใส่ใจที่แรงกดของโคนลิ้นกับเพดานอ่อน ตอนทำแรกๆ กลไกการตอบสนองอัตโนมัติอาจทำให้เรามีการไอบ้าง แต่แล้วมันก็หายไป ลองดึงลิ้นเข้าไปทางด้านในให้ลิ้นสัมผัสกับขอบของโคนฟัน จากนั้นเปิดปากให้กว้างที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เกิดแรงดึงที่เอ็นใต้ลิ้น ส่วนสำคัญที่สุดคือการรับรู้แรงดึงที่ฐานกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอ รวมถึงคอส่วนบน
พึงสังเกตว่าชิวหาพันธะเอื้อต่อการฝึกจาลันดะ-พันธะ เพราะกลไกการทำงานที่ใกล้กัน ไปในทิศทางเดียวกัน เรายังสามารถทำชิวหาพันธะอย่างแน่นมากได้โดยไม่ต้องเปิดปาก ในปราณายามะจะทำชิวหาพันธะ แบบไม่เปิดปาก แรงกดระหว่างโคนลิ้นและเพดานอ่อนนี้เอง ที่ทำให้การกดล็อกสมบูรณ์ เป็นการล็อก ๓ ส่วนสำคัญ ได้แก่ กล้ามเนื้อที่ช่องคอ เพดานอ่อน และโคนลิ้น เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณช่องคอแทบทั้งหมด
สิงหะมุทรา
อ้าปากกว้างแลบลิ้นออกมาให้ได้มากที่สุด ตั้งใจจะนำปลายลิ้นไปแตะปลายคาง ขณะเดียวกัน สายตาเพ่งไว้ที่หว่างคิ้ว
โดยทั่วไป เราฝึกสิงหะมุทราไปพร้อมๆ กับสิงหะ-อาสนะ คือไขว้ข้อเท้า ให้ส้นเท้ายันกับปุ่มที่ฐานกระดูกสะโพกทั้ง ๒ ข้าง นั่งคุกเข่า มือวางบนเข่า กางนิ้วมือทั้งสิบ และเกร็งตึงทั่วร่างกาย สิงหะมุทราเอื้อต่อจาลันดะพันธะหรือการล็อกคาง
สิงหะมุทราเป็นส่วนหนึ่งในสิงหะอาสนะ แต่ก็สามารถแยกฝึกเพื่อการดูแลเฉพาะกล้ามเนื้อช่องคอดังที่ กล่าวข้างต้นก็ได้ การทำสิงหะมุทรา ทำให้ผู้ฝึกได้รับประสบการณ์ในการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอ ดังนั้น เราจึงมักฝึกทั้งชิวหาพันธะและสิงหะมุทราควบคู่กันไป ไม่เพียงเป็นการบริหารกล้ามเนื้อช่องคอเท่านั้น ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อยึดติดกันอีกด้วย
กรณีของอาการทอนซิลอักเสบ เราแนะนำให้กวาด คอด้วยน้ำผึ้งผสมขมิ้น เกลือหิน (rock salt) และผงสมอ (myrobalan powder) ขมิ้นช่วยสมานแผล เกลือหินช่วยให้การดูดซึมของเสียออกจากทอนซิลเป็นไปได้ดีขึ้น สมอเป็นยาสมาน และน้ำผึ้งช่วยลดอาการอักเสบ
กวาดจากล่างขึ้นบน บ้วนออกทางปาก แล้วกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ จากนั้นกลั้วคอด้วยน้ำอุ่น และปิดท้ายด้วยการทำชิวหาพันธะและสิงหะมุทรา
ฝึกชิวหาพันธะและสิงหะมุทราสลับกัน ในแต่ละเทคนิคทำค้างไว้สัก ๓ วินาที กล่าวคือ ทำชิวหาพันธะ ๓ วินาที แล้วทำสิงหะมุทรา ๓ วินาที ตอนเริ่มต้นฝึก ทำ ๓ รอบ ผู้ที่ชอบสามารถทำได้ถึง ๖ รอบ ช่วยพัฒนา กล้ามเนื้อบริเวณคอ
- อ่าน 4,734 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้