• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๘๒
เป็นหญิงอายุ ๓๒ ปี ที่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนไทยทุกแขนงในวันที่ ๒๑ และ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ เพราะในวันที่ ๒๑ มกราคม ประมาณ ๐๔.๓๐ น. เธออุ้มลูกชายซึ่งเพิ่งคลอดได้ ๕ วัน ปีนอ่างล้างจานด้านหลังระเบียงห้องพักผู้ป่วยบนชั้นที่ ๑๓ ของอาคาร ๗๒ พรรษามหาราชินี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กรุงเทพมหานคร แล้วกระโดดลงมากระแทกกับพื้นชั้นล่าง เสียชีวิตทั้งแม่และลูกจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้ป่วยเดินทางมาผ่าคลอดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ที่โรงพยาบาลดังกล่าว แต่ปรากฏว่าลูกมีปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำ และร่างกายแคระแกร็นผิดปกติ แพทย์จึงให้ทั้งคู่นอนพักฟื้นอยู่ที่หอทารกแรกเกิดชั้น ๑๓ ของอาคารดังกล่าว

ช่วงดึกของคืนวันที่ ๒๐ ต่อถึงเช้ามืดของวันที่ ๒๑ มกราคม ผู้ป่วยรายอื่นสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยเกิดความเครียดอุ้มลูกชายเดินไปมาทั้งคืน แต่ไม่มีใครเอะใจ กระทั่งช่วงเวลา ๐๔.๓๐ น. ผู้ป่วยได้อุ้มลูกชายปีนอ่างล้างจานด้านหลังระเบียงห้องพัก แล้วกระโดดลงมาฆ่าตัวตายพร้อมลูก

สามีผู้ป่วยทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่อู่รถแห่งหนึ่งเล่าว่า ภรรยาเคยทำงานอยู่โรงพิมพ์ย่านสาทร เมื่อทราบว่าภรรยาตั้งครรภ์จึงให้ออกจากงานมาอยู่บ้าน โดยตนเลี้ยงดูภรรยาอย่างดี ไม่เคยมีปัญหาทะเลาะกัน เงินทองก็ไม่ขัดสน จึงไม่ทราบว่าภรรยาคิดสั้นเพราะเรื่องใด ช่วงที่ภรรยาคลอด ได้เดินทางไปเยี่ยมทุกวัน วันละ ๓ เวลา คืนวันเกิดเหตุได้อยู่กับภรรยาจนถึง ๑๙.๐๐ น. ภรรยาก็ไม่มีสีหน้าเคร่งเครียดหรือพูดว่าอยากฆ่าตัวตาย ยังอุ้มลูกให้กินนมตามปกติ เพียงแต่บ่นว่าลูกไม่กินนม กลัวลูกจะไม่รอดเพราะตัวเล็ก ตนจึงให้กำลังใจ และบอกว่าในวันรุ่งขึ้นจะมารับกลับบ้าน ไม่คิดว่าจะตัดสินใจคิดสั้น

ส่วนมารดาของผู้ป่วยกล่าวว่า หลังคลอดตนก็เดินทางไปเยี่ยมทุกวัน ก่อนเกิดเหตุก็ไปเยี่ยม เห็นลูกสาวมีสีหน้ายิ้มแย้มปกติทุกอย่าง เพียงแต่ตนสังเกตเห็นว่าเวลาที่ลูกสาวอุ้มลูกมาให้นม จะพูดเบาๆ ว่า “ทำไมตัวเล็กจัง ลูกจะโตหรือเปล่านะ” ซึ่งตนก็ให้กำลังใจลูกสาวว่า หลานชายปลอดภัยแล้ว หมอบอกว่ากลับบ้านได้และตนจะช่วยเลี้ยงดูเอง ถ้าไม่กินนมลูก ก็จะซื้อนมผงชงให้กิน เรืองค่ารักษาพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร

นายแพทย์ประพาสน์ รัชตะสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ แถลงข่าวว่า ตรวจสอบประวัติการฝากครรภ์แล้ว พบว่าผู้ป่วยรายนี้มาเข้าตรวจครบตามที่แพทย์นัด และไม่พบสิ่งผิดปกติทั้งแม่และลูก กระทั่งคลอดก็เป็นไปตามกำหนด โดยเด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนัก ๒,๐๔๐ กรัม (เด็กแรกคลอดทั่วไปมีน้ำหนักประมาณ ๓,๐๐๐ กรัม) ซึ่งถือว่าตัวเล็กกว่าเด็กโดยเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป แพทย์จึงนำเข้าตู้อบเหมือนเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยเป็นเวลา ๓ วัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงก่อน ซึ่งสามารถนำออกจากโรงพยาบาลได้ในวันที่ ๒๒ มกราคม ส่วนแม่นั้นแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว เพียงแต่ยังต้องอยู่โรงพยาบาลให้นมลูก ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากเด็กได้ดื่มนมแม่และดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์นั้น ทางโรงพยาบาลมีจิตแพทย์คอยดูแล หากพบว่ามีลักษณะทางจิตปรากฏ โรงพยาบาลจะส่งให้จิตแพทย์ดูแลด้วย แต่ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการบ่งชี้มาก่อน สาเหตุการฆ่าตัวตายจะมาจากอะไรนั้น คงต้องรอผลการสอบสวนของตำรวจ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งร่วมแถลงข่าวด้วย กล่าวว่า หญิงหลังคลอดจะมีอาการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนใหญ่จะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด และวิตกกังวล มักเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด และอาการจะดีขึ้นเองภายในไม่เกิน ๒ สัปดาห์ หรือในรายที่รุนแรงอาจจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะเศร้ามาก วิตกกังวลเกินเหตุ มีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายอาจคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ และมักเกิดหลังคลอดประมาณ ๒-๔ สัปดาห์

นายแพทย์เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งร่วมแถลงข่าวกล่าวว่า ตามปกติครอบครัวมักให้ความสำคัญในช่วงระยะก่อนคลอด โดยกังวลว่าจะเกิดปัญหาขณะคลอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดจนถึงระยะหลังคลอด โดยเฉพาะด้านจิตใจหญิงหลังคลอด ให้สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะซึมเศร้า เช่น ตื่นตระหนก วิตกกังวลตลอดเวลา ร้องไห้บ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกหมดหวัง ชีวิตไม่มีค่า ไม่รู้สึกผูกพันหรือรู้สึกใดๆ กับลูก รู้สึกว่าไม่สบาย เช่น เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดหัว รู้สึกว่านอนไม่พอ อยากนอนตลอดเวลา แต่นอนไม่หลับ หากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากแม่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะมีอาการตัดสินใจผิดไปจากปกติ นำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตายได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สื่อต่างๆ ประโคมข่าวเรื่อง “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้าภายในเวลา ๖ สัปดาห์หลังคลอด และพบได้ประมาณร้อยละ ๒๐ ของผู้ป่วยหลังคลอด (ไม่ใช่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดังคำแถลงข่าวของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ที่กล่าวไว้ข้างต้น)

เนื่องจากหลังคลอด ฮอร์โมนบางชนิด เช่น เอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน จะลดระดับลงทันที ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน แสดงออกด้วยอาการต่างๆ เช่น โกรธง่าย ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล ซึม เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ บ่นมาก ซึ่งถ้าเป็นน้อย และหายเองในไม่กี่วันอาจเรียกว่า “ภาวะเซ็งหลังคลอด” (Postpartum blues) แต่ถ้าเป็นมากจนเกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ท้อแท้ อยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น จะเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” (postpartum depression) ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายหรือลุกลามเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจอื่นๆ กลายเป็นโรคจิตเรื้อรังต่อไป

การที่สื่อต่างๆ และนักวิชาการมุ่งความสนใจไปที่ “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” จนคล้ายกับว่า ผู้ป่วยรายนี้ “ฆ่าตัวตายพร้อมลูก” เป็นเรื่อธรรมดา หรือเป็นเรื่องสุดวิสัย ที่ไม่อาจป้องกันหรือรักษาได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปอาจเกิดความเข้าใจผิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องสุดวิสัยจริงๆ แต่ถ้าเราดูจากเนื้อข่าวที่ปรากฏ มีสิ่งที่น่าสังเกตหลายประการ เช่น

๑. ในคืนวันเกิดเหตุ ผู้ป่วยรายอื่นสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยเกิดความเครียดอุ้มลูกชายเดินไปมาตลอดทั้งคืน จนกระทั่งช่วงเวลา ๐๔.๓๐ น. ผู้ป่วยได้อุ้มลูกชายปีนอ่างล้างจานหลังระเบียงห้องพัก แล้วกระโดดลงมาฆ่าตัวตายพร้อมลูก การที่ผู้ป่วยอุ้มลูกชายเดินไปมาในหอผู้ป่วยตลอดคืน จนเป็นที่สังเกตเห็นของผู้ป่วยรายอื่น แต่ไม่เป็นที่สังเกตเห็นของพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเลยหรือ หรือเป็นเพราะไม่มีพยาบาลในหอผู้ป่วยนั้น (ในช่วงเวลานั้น โดยทั่วไปจะไม่มีแพทย์ประจำหอผู้ป่วย) หรือพยาบาลสังเกตเห็น แต่ไม่เอะใจ เช่นเดียวกับผู้ป่วยอื่นๆ เพราะช่วงที่ผู้ป่วยอุ้มลูกเดินไปมาตลอดคืนนั้น เป็นช่วงที่สังเกตเห็นง่ายที่สุด และเป็นสิ่งผิดปกติอย่างแน่นอน ซึ่งถ้ามีผู้เข้าไปคุย รับฟังปัญหาและความรู้สึกของผู้ป่วยในช่วงนั้นอย่างเอาใจใส่ และช่วยหาทางแก้ไข การฆ่าตัวตายพร้อมลูกย่อมไม่เกิดขึ้น

๒. ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลถึง ๕ วัน แพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย ไม่สังเกตเห็นความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยบ้างเลยหรือ
โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก แพทย์มักจะมีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยน้อยมาก การตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในหอผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่จะทำกันวันละ ๑-๒ ครั้ง แต่ละครั้งอาจใช้เวลาเพียง ๑-๒ นาที ซึ่งเวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการดู “ฟอร์มปรอท” (แบบบันทึกไข้ ชีพจร ความดันเลือด การหายใจ น้ำเข้า–น้ำออก ผลเลือด ผลปัสสาวะ ฯลฯ) จนอาจเหลือเวลาคุยกับผู้ป่วยเพียงครึ่งนาที โอกาสที่จะรับฟังปัญหา ความรู้สึก และความไม่สบายใจของผู้ป่วยจึงมีน้อยมาก และถ้าผู้ป่วยมีปัญหา ก็มักจะได้รับคำตอบแบบ “ขอไปที” ว่า “ไม่เป็นไรหรอกแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น หรือหมอให้ยาไว้แล้ว” เป็นต้น แล้วก็เดินไปดูผู้ป่วยเตียงอื่น

พยาบาลซึ่งอยู่ประจำในหอผู้ป่วยตลอดเวลา (โดยเปลี่ยนเวรกันทุก ๖-๘ ชั่วโมง) จึงมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมากกว่าและสำคัญกว่าแพทย์ โดยเฉพาะในด้านจิตใจและความเป็นอยู่ทั่วไป ถ้าพยาบาลมัวแต่สนใจกับการนั่งทำงานที่โต๊ะ (ที่เคาน์เตอร์พยาบาล) โดยไม่เดินไปพูดคุยกับผู้ป่วย ย่อมไม่ทราบปัญหาของผู้ป่วย และผู้ป่วยย่อมรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะญาติเข้าเยี่ยมได้เป็นบางเวลาเท่านั้น อีกทั้งผู้ป่วยและญาติก็ไม่ค่อยกล้านำปัญหามาบอกที่เคาน์เตอร์พยาบาลด้วย

ในหอผู้ป่วยรวม ดังเช่นกรณีนี้ ผู้ป่วยจึงอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า (พยาบาลและผู้ป่วยอื่น) ซึ่งคงไม่มีใครพร้อมจะรับฟังปัญหาและความอัดอั้นตันใจของผู้ป่วยเกี่ยวกับการที่ลูกตัวเล็กและตัวเหลือง ผู้ป่วยก็คงเป็นเช่นเดียวกับผู้ป่วยโดยทั่วไป ที่เกรงใจหมอและพยาบาล จึงไม่กล้าบอกเล่าปัญหาและความคับข้องใจของตน ปล่อยให้ปัญหาและความคับข้องใจเหล่านั้น กัดกินใจจนคิดสั้นได้

๓. เด็กตัวเล็ก ทำไมต้องผ่าคลอด มีข้อบ่งชี้อะไรหรือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นการผ่าคลอดก่อนกำหนด ทำให้เด็กตัวเล็กและมีภาวะตัวเหลืองมากกว่าเด็กคลอดครบกำหนด จนทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวล เกิดอาการซึมเศร้า

อนึ่ง หลังการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะเกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังผ่าตัด (postoperative depression) หรือบางคนอาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเป็น โรคจิตหลังผ่าตัด (postoperative psychosis) ในผู้ป่วยรายนี้ การผ่าตัดอาจเป็นปัจจัยเสริมให้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดรุนแรงขึ้น

๔. ผู้ป่วยหลังผ่าท้องคลอด คงจะเจ็บแผลพอสมควร การอุ้มลูกเดินไปมา ปีนอ่างล้างจานและระเบียงหลังห้องพักผู้ป่วย คงจะทุลักทุเลและใช้เวลาพอสมควร และน่าจะมีเสียงดังผิดปกติโดยเฉพาะในยามดึกสงัด แต่ทำไมพยาบาลที่อยู่เวรในวันนั้น (ถ้ามีพยาบาลอยู่เวรในวันนั้น) จึงไม่ได้ยินเสียงดังกล่าว

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ให้ไว้ข้างต้นอาจไม่ถูกต้อง เพราะผู้เขียนไม่สามารถขอข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ แต่อยากให้โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้อง ได้นำไปพิจารณา และทำการศึกษาถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขในกรณีนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำไปเผยแพร่ให้แพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลอื่นได้ดำเนินการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ “ผู้ป่วยฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล” เกิดขึ้นอีก

เพราะผู้ป่วยที่สมัครใจและยอมตนมาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ย่อมเชื่อถือศรัทธาในโรงพยาบาล รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ในโรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลจึงมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันและดูแลผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้อยู่รอดปลอดภัย และไม่เกิด “การฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล” ได้

การรักษาคน จึงต้องรักษาทั้งด้าน กาย ใจ จิตวิญญาณ และสังคมของผู้ป่วยด้วย การมุ่งรักษาแต่เรื่องทางกาย (การคลอดและภาวะเด็กตัวเล็กตัวเหลือง) จนลืมเรื่องทางใจ น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งนี้

 

ข้อมูลสื่อ

384-038
นิตยสารหมอชาวบ้าน 384
มกราคม 2554
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์