• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ไฮเทค

คำว่า การแพทย์ไฮเทค หมายถึง การแพทย์ยุคใหม่ที่มีบริการตรวจรักษาโดยเน้นเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะมีประโยชน์มากมาย และยังทำให้การตรวจวินิจฉัยแม่นยำและรวดเร็วขึ้น

นวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือตรวจพิเศษสำหรับอวัยวะต่างๆ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ให้บริการอย่างหุ่นยนต์ช่วยจัดยา

การพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนนำความเจริญมาสู่วงการแพทย์ แต่ผู้ใช้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสมรรถภาพเครื่องมือ วิธีการ ข้อบ่งชี้ (ที่จำเป็น) ในการใช้ ข้อดีข้อเสียในการใช้ เพราะหากใช้แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้ไม่หมด รู้ไม่จริง ก็อาจเกิดโทษได้

ปัจจุบันมีการพัฒนาและผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ออกมาขายกันมาก หลายๆ ประเทศต้องพยายามตามให้ทันเทคโนโลยี ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย มีการใช้งบประมาณรัฐไปกับสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนก็มีการแข่งขันกันนำเสนอเครื่องมืออุปกรณ์ไฮเทคเพื่อเป็นจุดขาย

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเราอาจพึ่งเทคโนโลยีมากเกินไป จนทำให้แพทย์บางท่านละเลยความเป็นแพทย์จริงๆ ไปหรือไม่ เพราะการตรวจวินิจฉัยส่วนใหญ่มักเน้นไปที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจเอกซเรย์ การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการตรวจดูอวัยวะต่างๆ ด้วยเครื่องมือพิเศษ มากกว่าเน้นทักษะการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการตรวจรักษาผู้ป่วย

มีผู้ป่วยหลายคนเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันแพทย์คุยกับผู้ป่วยน้อยลง สัมผัสตัวผู้ป่วยเพื่อตรวจร่างกายน้อยลง บางคนบอกว่าเข้าห้องตรวจนั่งไม่ถึงนาที แพทย์ซักถามไม่กี่ประโยคก็ส่งไปตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจพิเศษต่างๆ มากมาย แล้วรอฟังผล ถ้ายังไม่ได้คำตอบก็ส่งตรวจอย่างอื่นอีกจนกว่าจะพบสาเหตุของโรค

จริงอยู่ที่เทคโนโลยีการตรวจพิเศษต่างๆ จะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น แต่ควรใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ควรเหวี่ยงแหเพื่อรักษาโรค และไม่ควรใช้ด้วยเจตนาที่ไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆ (อีกนัยหนึ่งคือ เจตนาเพื่อผลประโยชน์กับตัวแพทย์เอง) และควรตระหนักว่าการตรวจพิเศษต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลเสียได้ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ ความผิดพลาดในการตรวจ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยเองนั้น ควรพยายามอธิบายอาการให้ละเอียด หากสงสัยเรื่องการตรวจพิเศษต่างๆ ก็ให้สอบถามแพทย์ถึงความจำเป็นในการตรวจ รวมถึงข้อดีข้อเสียเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะตัวผู้ป่วยมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่

มีตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่ง มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่เป็นๆ หายๆ คราวนี้เป็นมา ๑ สัปดาห์ ซักถามได้ความว่า เคยมีอาการแบบนี้แล้วไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทางเดินอาหาร แพทย์สอบถามอาการแล้วบอกว่าต้องส่องกล้องเพื่อตรวจดูกระเพาะและลำไส้ สงสัยว่าจะมีการอักเสบ เมื่อส่องกล้องดูแล้วก็พบว่ากระเพาะอาหารอักเสบ ได้ยามากิน อาการก็หายไปช่วงหนึ่งแล้วกลับมาเป็นอีก

เมื่อซักประวัติโดยละเอียดพบว่า ผู้ป่วยคนนี้กินยาประจำคือ ยาโรคกระเพาะ และยังมียาอื่นๆ รวมทั้งยาสมุนไพรซึ่งเป็นยาระงับอาการปวดหลัง เพราะมักจะปวดหลังเป็นประจำจนบางครั้งต้องซื้อยาแก้ปวดมากินเป็นระยะๆ เมื่อซักถามลักษณะสีและเม็ดยา ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ

สอบถามผู้ป่วยว่า ได้บอกแพทย์เรื่องยาแก้ปวดที่ใช้อยู่หรือไม่ ผู้ป่วยตอบว่า “แพทย์ไม่ได้ถามก็เลยไม่ได้บอก” สรุปแล้วก็เลยได้ไปส่องกล้อง โดยการสอดท่อเข้าทางปากเพื่อดูกระเพาะอาหารและสอดท่อเข้าทางทวารหนักเพื่อดูลำไส้

กรณีนี้ การรักษาคือ การหยุดยาแก้ปวดแก้อักเสบที่เคยใช้อยู่ อาการก็จะทุเลาและหายได้เอง หรือใช้ยารักษาอาการกระเพาะอักเสบก็ช่วยให้หายเร็วขึ้น ส่วนอาการปวดหลังก็ให้ระมัดระวังเรื่องท่าทาง การนั่ง การทรงตัว หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ปวดหลัง ฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง ใช้ยาทายานวดบรรเทาปวดก็เพียงพอ และยังไม่เสี่ยงต่อยาที่อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบอีกด้วย

เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้วงการแพทย์มีการพัฒนาขึ้น โรงพยาบาลต่างๆ ก็พยายามก้าวให้ทันเทคโนโลยี แต่เมื่อก้าวให้ทันก็ต้องใช้ให้เป็น ใช้อย่างรู้จริง และไม่ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี

สิ่งสำคัญคือต้องรักษา “หัวใจของความเป็นแพทย์” เอาไว้ นั่นคือ การรักษาโดยยึดประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยให้มากขึ้น เพราะหากเราเน้นความเป็นแพทย์แบบไฮเทคมากไปแล้ว อนาคตอาจมีการพัฒนาหุ่นยนต์แพทย์ขึ้นมาแทนแพทย์จริงๆ ก็เป็นได้
 

ข้อมูลสื่อ

384-042
นิตยสารหมอชาวบ้าน 384
มกราคม 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์