• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแก้ปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีนของไทย (ตอนที่ ๒)

เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีนของคนไทยทั่วประเทศที่อยู่สภาพวิกฤติ โดยเฉพาะประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบปัญหามากที่สุด คือมีอัตราการใช้เกลือเสริมไอโอดีนเพียงร้อยละ ๓๕ (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๔๙)

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เสริมไอโอดีนในเครื่องปรุง ๔ ประเภท ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ทำให้ผู้ผลิตน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ จะต้องใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นวัตถุดิบในการผลิต

กระทรวงสาธารณสุขยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนนโยบาย “เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า” (Universal Salt Iodization : USI) นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน กำหนดแนวทางควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติตั้งเป้า ๗๖,๐๐๐ หมู่บ้าน ครอบคลุม ๗๕ จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีมาตรการเสริมที่สำคัญ เช่น การเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มในโรงเรียนและหมู่บ้านที่ห่างไกล การจ่ายยาเม็ดหรือวิตามินเสริมไอโอดีนให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตลอดการตั้งครรภ์ และช่วงให้นมลูกเป็นเวลา ๖ เดือน การบริโภคไข่ที่มีไอโอดีน เพราะเป็นอาหารหลักที่คนไทยนิยมบริโภค

การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง คุณภาพเกลือบริโภคและอาหารที่ต้องมีสารไอโอดีน กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเร่งรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เรื่องความสำคัญในการบริโภคเกลือผสมไอโอดีน และผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปี เหมือนกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีน

รัฐบาลควรประสานงานกับคนในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ และควรจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตเกลือรายเล็ก อุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อใส่สารไอโอดีนในเกลือ กระทรวงสาธารณสุขควรประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งออกประกาศตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.๒๕๒๕ เพื่อให้มีการเสริมไอโอดีนในอาหารสัตว์ และออกมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้อาหารเสริมไอโอดีนในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อและสุกร
 

ข้อมูลสื่อ

384-029
นิตยสารหมอชาวบ้าน 384
มกราคม 2554
ไพศาล ลิ้มสถิตย์