• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เดิน ๓ ที่ มี ๓ ข้อคิด

เดินกลางลมหนาว
               ลมหนาวเหน็บแนบหน้า        สองขาสู้พาก้าวไป
หนทางยังยาวไกล            ใจแจ้งสุขทุกย่างก้าว
               สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
               ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๐ น.
               หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี

เดินกลางสายฝน
               เดินไปกลางสายฝน        ปนเหงื่ออาบฉาบกายรู้
ยากนักพักแรงสู้            ด้นดั้นสู่สุดปลายทาง
               สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
               ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๑๕ น.
               หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี


        เมื่อมีโอกาสไปพักแรมที่ต่างจังหวัด ในยามเช้าผมมักนิยมเดินออกกำลังกายที่สวนสุขภาพ หรือแหล่งพักผ่อนสาธารณะ หากไม่มีหรือที่พักอยู่ไกลก็จะเดินอยู่ในบริเวณที่โล่งรอบๆ ที่พัก
        ผมจะเดินเร็วๆ นาน ๓๐-๔๐ นาที ได้ระยะทางอย่างน้อย ๑ กิโลเมตรต่อทุกๆ ๑๐ นาที นอกจากได้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกแล้ว ยังได้เจริญสมาธิและสติด้วยวิธีต่างๆ เช่น การนับตามจังหวะก้าว (อาทิ กำหนด “ซ้าย-ขวา-ซ้าย” นับ “๑-๒-๑” นับ “๑ ถึง ๑๐” นับ “๑ ถึง ๑๐๐” นับ “๑ ถึง ๖ ต่อการหายใจเข้าหรือออก ๑ ครั้ง) ท่องหรือบริกรรมอยู่ในใจ (อาทิ ท่องบทสวด “ภารสุตคาถา” หายใจเข้าท่อง “สะ-อาด-ส-งบ-ส-ว่าง” (๖ คำ ๑ คำต่อ ๑ ก้าว) หายใจออกท่อง “หยุด-เย็น-ยอม-วาง-ว่าง-ว้าง” (๑ คำต่อ ๑ ก้าว) ท่องบทกวีเกี่ยวกับการเจริญสติ) ก็ทำให้เกิดความเย็นสงบและความสุขสดชื่น
        บ่อยครั้งการเดินก็ได้ข้อคิดที่กลั่นกรองออกมาเป็นบทกาพย์ต่างๆ
        ผมมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดอุดรธานีหลายครั้ง ทุกครั้งจะตื่นเช้าออกไปเดินที่ “หนองประจักษ์” ซึ่งเป็นสวนสุขภาพขนาดใหญ่ที่ทางเทศบาลสร้างไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชน
        เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีกลาย ผมเดินท่ามกลางลมหนาวเย็น และต้นเดือนตุลาคมปีนี้ก็เดินท่ามกลางสายฝนปรอยๆ แม้เจอกับภูมิอากาศที่แปรปรวน ก็ยังฝืนเดินจนครบ ๒ รอบ (รอบละ ๓ กิโลเมตรเศษ)
        เปรียบเหมือนเส้นทางชีวิต เมื่อเผชิญอุปสรรคหรือความยากลำบากก็จงอย่าท้อถอย มีสติแจ้งในเป้าหมายชีวิตและกิจที่พึงกระทำในแต่ละช่วงจังหวะชีวิต รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา เอาชนะอุปสรรคแต่ละครั้ง ยืนหยัดก้าวไปสู่เป้าหมายชีวิต ขณะเดียวกันก็จงรู้สึกชื่นชมพอใจกับกิจที่ทำแต่ละครั้ง ที่ประสบผลสำเร็จ (แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย) หรือได้เรียนรู้ (แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ)
        เมื่อไปพักแรมที่นครราชสีมา (เมื่อต้นเดือนตุลาคมปีนี้) ได้เดินรอบ “สวนน้ำบุ่งตาหลั่ว” ที่อยู่ใกล้ที่พัก เป็นพื้นที่ที่ทางค่ายทหารได้มอบให้ทางเทศบาลพัฒนาเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ (พอๆ กับหนองประจักษ์)
        เมื่อเดินได้สักครู่ใหญ่ ผมก็เริ่มกำหนดรู้ก้าวแต่ละก้าว เรียก “ก้าวขวาเป็นขวา ก้าวซ้ายเป็นซ้าย” ตามที่เราทุกคนเรียกกัน แต่สักพักผมก็จงใจแกล้ง เรียกตรงข้ามกัน เรียก “ก้าวขวาเป็นซ้าย ก้าวซ้ายเป็นขวา” ก็เกิดกาพย์บทที่ชื่อว่า “ถอนสมมุติ”
        วิธีนี้เป็นการลดละการยึดติดในสิ่งต่างๆ (รวมทั้งกรอบความคิด ความเชื่อ ความเคยชิน ตำแหน่ง ฐานะ ค่านิยม) ซึ่งเป็นภาษา การบัญญัติ การให้คุณค่า อันเป็นที่ยอมรับหรือนิยมกันเฉพาะของสังคม/ชุมชนหนึ่งๆ หรือแต่ละยุคสมัยหนึ่งๆ ซึ่งอาจไม่เป็นที่ยอมรับหรือนิยมสำหรับสังคม/ชุมชนอื่น หรือยุคสมัยอื่น จึงไม่ใช่ความจริงอันสมบูรณ์ หากแต่เป็นความจริงอันสมมุติ (หรือสิ่งสมมุติ)
        อาทิ ภาษาของแต่ละชนชาติ ก็เรียกแตกต่างกัน อย่างคำว่า “ขวา” ฝรั่งเรียก “Right” “ซ้าย” ฝรั่งเรียกว่า “Left” จีนกับแขกก็เรียกต่างกันไป สิ่งที่ถูกเรียก เช่น “ขาขวา” นั้นเป็นความจริงอันสมบูรณ์ แต่ภาษาที่เรียกนั้นเป็นความจริงอันสมมุติ
        อย่างการให้คุณค่าเรื่อง “วันเกิด” ฝรั่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อครบรอบคล้ายวันเกิดของใครคนหนึ่ง คนใกล้ชิดจะต้องให้ความสำคัญ หากลืมไปก็อาจกลายเป็นเรื่องไม่พอใจใหญ่โต แต่คนเอเชียไม่ได้ให้คุณค่ามันมากนัก
        ผู้ที่เป็นแพทย์หรืออาจารย์บางคนถือเอา “หัวโขน” นี้เป็นสำคัญ หากใครไม่เรียก “คุณหมอ” หรือ “อาจารย์” นำหน้าชื่อ ก็จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟว่าไม่ให้เกียรติ
        หากยึดใน “สิ่งสมมุติ” ก็มักจะเกิดความหงุดหงิด ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ หาก “ถอนสมมุติ” ได้ก็มักจะพบแต่ความเบาสบาย สุขใจ พอใจ
        จึงต้องฝึก “ถอนสมมุติ” อยู่เนืองๆ
        สุดท้ายคือ ข้อคิดที่ได้จากการเดินบนชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อกลางเดือนตุลาคมปีนี้ ที่มีชื่อว่า “คลื่นแห่งอนิจจัง”
        การได้สัมผัสคลื่นทะเลที่ซัดสาดเข้ามาที่ริมฝั่งที่เราก้าวเดินไปทีละก้าว ได้มองเห็นคลื่นน้ำที่เกิด-ดับมาเป็นระลอก และสัมผัสคลื่นลมที่พัดมาเป็นจังหวะๆ ก็ทำให้มองเห็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง)
        การเห็นอนิจจังของสรรพสิ่ง ย่อมเกิดจิตที่ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ย่อมเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ อย่างใจที่เป็นกลางย่อมพบกับความสำเร็จและความเย็นสงบในที่สุด
 

ข้อมูลสื่อ

379-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 379
พฤศจิกายน 2553
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ