• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้

ประเวศ วะสี
ร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลก ธรรมสัญจร สู่มูลนิธิพุทธฉือจี้
๑๕
จันทพงษ์ วะสี

คณะเดินทางเยี่ยมชมดูงานมูลนิธิพุทธฉือจี้* กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยผู้ดูงาน  ๓๒ ท่าน และอาสาสมัครอีก ๘ ท่าน นัดพบกันที่สนามบินดอนเมืองตั้งแต่ ๑๐.๓๐ น. เพื่อทำความรู้จักและกินอาหารกลางวันก่อนออกเดินทางเวลาบ่าย

เราสองคนเดินทางแยกจากกลุ่มคณะเดินทาง ในตอนค่ำวันพุธที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เนื่องจากมีรายการที่ไม่อยากพลาดในเวลาเช้า เที่ยวบิน TG636 ออกจากดอนเมืองเวลา ๑๘.๑๕ น. ถึงไทเปเวลา ๒๒.๔๕ น. ใช้เวลาบิน     ๓ ชั่วโมงครึ่ง เวลาไต้หวันเร็วกว่าเวลาไทย ๑ ชั่วโมง ผู้โดยสารเที่ยวบินนี้เต็มเกือบทุกที่นั่ง          ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ทั้งจีนไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่รวมทั้งฮ่องกง  กว่าจะผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและรับกระเป๋า จึงใช้เวลาร่วมชั่วโมง คุณยงเกียรติ และคุณกรุณา มารอรับที่สนามบินเจียงไคเช็ค และจัดรถคันใหญ่ตกแต่งสวยงามนั่งสบาย นำเข้าพักที่โรงแรมซิงไถ่ หรือ Gala Hotel ทั้งสองท่านให้ความรู้เกี่ยวกับมูลนิธิฯ งานของอาสาสมัคร และการเดินทาง พร้อมทั้งนัดหมายวันรุ่งขึ้น ซึ่งเริ่มรายการตั้งแต่เช้าตรู่
      
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
เช้าวันนี้รายการแรกคือ ไปเยี่ยมชมสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย (Da Ai หรือ Great Love) ซึ่งเป็นสถานีที่ดำเนินการโดยมูลนิธิฯ ออกอากาศรายการที่เป็นสาระตลอด ๒๔  ชั่วโมง รายจ่ายครึ่งหนึ่งของสถานีโทรทัศน์ได้รับเงินสนับสนุนจากกิจกรรมแปรรูปขยะเหลือใช้ นอกนั้นได้จากการบริจาคผ่านมูลนิธิฯ ที่สถานีโทรทัศน์ พวกเราได้รับถุงผ้าสีน้ำเงินมีหมายเลขสำหรับใส่รองเท้าของแต่ละคน และได้รับมอบของขวัญประจำตัวคือ ถุงเท้าพิเศษเป็นผ้ายืดสีน้ำเงิน และมีปุ่มพลาสติกเล็กๆ อยู่ด้านฝ่าเท้า ถุงเท้าหรือรองเท้าผ้านี้ใช้สวมภายในอาคารเพื่อลดฝุ่นและกันลื่น

 เนื่องจากเป็นวาระโอกาสครบ ๔๐ ปีของมูลนิธิฯ ผู้แทนสถานีจึงนำชมนิทรรศการ กิจกรรมของมูลนิธิฯ นับแต่เริ่มต้นโดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน (Dhamma Master Cheng Yen) และสานุศิษย์ที่เป็นแม่บ้าน ๓๐ คน เริ่มก่อตั้งโดยเก็บเงินวันละเล็กน้อยเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยในการกุศลสงเคราะห์ผู้ยากไร้ เชิญชวนอาสาสมัครผู้มีจิตใจประดุจพระโพธิสัตว์เพิ่มขึ้น สมาชิกบริจาคเงินเป็นประจำตามฐานะ และทำงานอาสาสมัครให้ทั้งแรงกายและชีวิตจิตใจ ด้วยความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของท่านอาจารย์ผู้สมถะและปัญญาเป็นเลิศ บุกเบิกจากอารามหลังเล็กในเมืองกันดาร ทำการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ขาดแคลน ได้เห็นว่าความขัดสนจนยาก เกิดจาก การเจ็บป่วยและขาดการศึกษา เป็นวงจรอุบาทว์ของความจน ความเจ็บ และความโง่เขลา ซึ่งต้อง แก้ไขช่วยเหลือไปพร้อมกัน ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจึงตั้งปณิธานที่จะสงเคราะห์ให้ครบทุกด้าน ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ท่านได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และได้รับศรัทธาบริจาคจากชาวไต้หวันที่ทำธุรกิจรุ่งเรืองและร่ำรวยทั้งในเกาะไต้หวันเองและจีนโพ้นทะเล จนสามารถก่อตั้งโรงพยาบาล โรงเรียนพยาบาล โรงเรียนแพทย์ซึ่งรวมเทคนิคการแพทย์และสาธารณสุข โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม
ท่านอาจารย์เน้นเรื่องความรัก ความนอบน้อม ความเมตตากรุณา ให้อภัย ในเวลาต่อมาขยายกิจการต่อยอดจนถึงทำการกุศลสงเคราะห์ทั่วโลกโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา เผยแพร่งานของมูลนิธิฯ และก่อตั้งสาขาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

การทำงานเป็นไปตามหลักพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง ทำงานด้วยใจและใช้สมอง เน้นความประณีต ใส่ใจติดตามความรู้วิทยาการทันสมัย และเผยแพร่ผลงาน ทั้งนี้โดยยึดหลักสัจจะ (Truth) ความดี (Goodness) และความงาม (Beauty)  เริ่มจากการให้ในสิ่งที่ขาด เพิ่มการแพทย์ เติมการศึกษา สร้างจิตสำนึกให้ปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายงานที่เป็นพืชพันธุ์ ของความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมโลก เจ้าหน้าที่ได้นำชมห้องต่างๆ รวมทั้งห้องส่งทันสมัยที่โฆษกสาวสวยกำลังเตรียมตัวแต่งผมแต่งหน้าก่อนออกรายการข่าวที่มีเป็นประจำ โทรทัศน์สถานีนี้สามารถรับผ่านจานดาวเทียมได้ทั่วโลก

ห้องนักข่าว เป็นห้องใหญ่ มีโต๊ะทำงานหลายตัว ออกแบบเป็นโต๊ะ ๖ เหลี่ยม นั่งได้ ๖ คน ใช้สายสำหรับคอมพิวเตอร์ร่วมกันจากศูนย์กลาง แต่ละคนมีจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงหน้า ทุกคนจึงต้องหันหน้าเข้าหากัน โต๊ะแบบนี้ประหยัดเนื้อที่ห้องทำงาน และสร้างบรรยากาศเป็นมิตร ไม่มีใครหันหลังให้ใคร ก่อนออกจากสถานี เจ้าหน้าที่นำชมภาพเขียนขนาดใหญ่ เป็นรูปปลาคาร์ปหลากสีร่วมร้อยตัว ว่ายวนในท่าต่างกัน ผู้วาดภาพเป็นจิตรกรไร้แขน ใช้ปากคาบพู่กันวาดรูปปลาที่ดูเหมือนมีชีวิต และหลากหลายเป็นธรรมชาติ

ตอนสาย ไปเยี่ยมศูนย์วัฒนธรรมของมูลนิธิฯ เริ่มประทับใจกับวัฒนธรรมต้อนรับและอำลาโดยการเข้าแถวปรบมือร้องเพลง อาคารแสดงกิจกรรมตกแต่งเรียบง่าย แต่ทุกจุดมีมุมวางต้นไม้ประดับ หรือดอกไม้ ดูพอเหมาะพอดี เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน ทุกคนได้รับแจกชามคนละใบ และตะเกียบคนละคู่ ให้ตักอาหารเองตามขนาดกระเพาะ พร้อมคำแนะนำจากคุณเมตตาว่า อย่าให้เหลือ ข้าว ผัดผัก เต้าหู้ และแกงจืดรสชาติดี ตามด้วยผลไม้หลังอาหารคาว ทั้งหมดเป็นอาหารเจ

บ่ายเราไปโรงพยาบาลซินเตี้ยน (Xindian Tzu Chi Hospital) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสาขาที่ไทเป เดินชมกิจการโรงพยาบาล หลังจากนั้นเข้าห้องประชุม อาสาสมัครแต่งชุดกี่เพ้าสีน้ำเงินขลิบแดงให้การต้อนรับ แพทย์หลายท่านเล่าถึงงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจัดทำศูนย์ข้อมูลธนาคารไขกระดูก ซึ่งเชื่อมโยงช่วยเหลือคนไข้หลายประเทศ รวมทั้งคนไข้โรคเลือดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

เย็นขึ้นเครื่องบิน Transasia เที่ยวบิน GE029 จาก Sung Shan Airport ถึงฮวาเหลียน มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ มาดูแลต้อนรับ ๒ ท่าน เป็นหนุ่ม ใหญ่ ๑ ท่าน และสาวสวย ๑ ท่าน ทั้ง ๒ ท่านอยู่กับพวกเราตลอดเวลา ได้ทราบว่าผู้ต้อนรับหญิงมีลูกอ่อนต้องดูแล แต่ก็มาทำหน้าที่ไม่บกพร่อง
เราแวะกินอาหารเย็นแบบบุฟเฟ่ต์เจ แล้วจึงเข้าพักที่โรงแรมฮวาเหลียนเสน่ห์นคร (Hualian Charming City Hotel) พร้อมรับทราบกำหนด การสำหรับวันรุ่งขึ้น
    
วันศุกร์ที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙
เช้าวันศุกร์ ตื่นเช้าด้วยความรู้สึกสดชื่น เพราะได้เข้านอนไม่ดึกและไม่ต้องตื่นแต่ก่อนรุ่ง  หลายท่านวิ่งออกกำลังกายไปจนถึงแม่น้ำ บางท่านใช้บริการ Fitness ที่ชั้น B2 ของโรงแรม วันนี้เป็นวันเดียวของการเดินทางที่ไม่ต้องจัดกระเป๋าและขนของ หลังจากอาหารเช้า (มื้อเดียวของวัน) ที่ไม่ใช่อาหารเจ เดินทางไปยังอาณาบริเวณของสำนักงานใหญ่มูลนิธิพุทธฉือจี้ อาคารหลายหลังประกอบด้วยสมณาราม หอจิตนิ่ง พิพิธภัณฑ์  โรงพยาบาล โรงเรียนพยาบาล โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม

หอจิตนิ่ง (Still Thoughts Hall) สวยงามมาก สัญลักษณ์คือ ดอกบัว ที่นั่งออกแบบพิเศษ    ปรับให้นั่งปฏิบัติบูชาแบบพุทธหรือแบบคริสต์ได้ ไม้แกะสลักฝีมือประณีต ถุงเท้าประจำตัวได้ใช้ประโยชน์หลายสถานที่

มื้อกลางวัน จัดให้นั่งกินในห้องประชุมของโรงพยาบาล เป็นอาหารกล่องบรรจุในกล่องเก็บความร้อน อาหารเจหลายอย่าง ปริมาณมาก ต้องใช้ความพยายามที่จะกินให้เกลี้ยงแต่ไม่สำเร็จ หลังอาหารกลางวัน เป็นการสอนชงชา และดีดกู่เจิ้ง โดยมาดามของ President มหาวิทยาลัย ก่อนที่ผู้แทนโรงพยาบาลจะพาคณะฯ ชมห้องต่างๆ ของโรงพยาบาล ที่น่าสนใจคือบริการ day care สำหรับผู้สูงอายุ ที่ลูกหลานนำมาฝากไว้ตอนเช้า และรับกลับตอนเย็น ผู้ชราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีอาสาสมัครดูแล จัดหาอาหาร แนะนำการออกกำลังกายและงานอดิเรก

ห้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจัดเป็นห้องแยก ในชั้นนี้จัดสวนไว้ที่ลานกลางแจ้ง ผู้ดูแลสามารถเข็นเตียงคนไข้ออกมาตามทาง ให้ได้เห็นท้องฟ้า ต้นไม้ และรับอากาศปลอดโปร่ง มีห้องสำหรับสงบจิตก่อนจากไปในวาระสุดท้ายของชีวิตสำหรับชาวพุทธและชาวคริสต์

คุณสตีเฟน ลิน ผู้อำนวยการด้านจริยธรรมของโรงเรียนแพทย์ได้นำชมห้องอาจารย์ใหญ่  ซึ่งมีผู้ศรัทธาบริจาคร่างกายจำนวนมาก นักศึกษาแพทย์ต้องเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของอาจารย์ใหญ่    ผู้อุทิศร่างให้ศึกษา รู้จักกับญาติอาจารย์ใหญ่ และให้ความเคารพท่านอาจารย์ผู้ไม่เคยดุว่า เมื่อศึกษาเสร็จสิ้น ต้องเย็บปิดร่างให้เรียบร้อย ห่อผ้า เก็บในโลง ก่อนทำพิธีทางศาสนา เมื่อเผาศพ       แล้ว ทางโรงเรียนเก็บอัฐิไว้ในกล่องพลาสติกรูปสมณารามและใส่ในช่องจารึกชื่อ

นอกจากนี้ ยังมีร่างของผู้อุทิศที่เก็บในห้องอุณหภูมิต่ำ สำหรับนำมาใช้เรียนการผ่าตัด ห้องเรียนผ่าตัดเป็นห้องโถงมีเตียงผ่าตัดราว 8 เตียง อาจารย์สามารถสอนทางโทรทัศน์ให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ฝึกหัดลงมือปฏิบัติการผ่าตัดกับร่างไร้ชีวิตได้พร้อมกัน

หลังจากดูงานที่โรงพยาบาลแล้ว ไปยังพิพิธภัณฑ์ ที่นี่มีหนังสือจำนวนมาก และมีร้านค้าเล็กๆ ชายหนุ่มที่ทำหน้าที่เก็บเงินท่าทางเป็นอาสาสมัคร เมื่อเผชิญกับกลุ่มนักช็อปธรรมะไทย ที่มีความสามารถสูงในการซื้อจำนวนมากในเวลาสั้น จึงเกิดอาการงง ใช้เวลาคิดเงินอยู่นาน ส่วนใหญ่ซื้อหนังสือ กระเป๋า ถุงเท้าผ้าสวมกันลื่น กระเป๋า กล่องอาหาร และตะเกียบชนิดพกพา

ราว ๑๕.๐๐ น. ขณะอาสาสมัครกำลังจะเล่าถึงประสบการณ์ พวกเราก็ได้รับรู้ถึงอาการเขย่าของพื้นดิน นานสัก ๑ นาที น้องอ๊อฟ หนุ่มน้อยในกลุ่มชอบมากกับปรากฏการณ์นี้ ผู้ต้อนรับเล่าว่าแผ่นดินไหวในไต้หวันเกิดเกือบทุกวัน ปีละกว่า ๓๐๐ ครั้ง ส่วนใหญ่ไหวน้อยๆ  แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คือ กลางเกาะไต้หวัน เมื่อ ๒๑ กันยายน ค.ศ.๑๙๙๙ เรียกว่า ๙๒๑     ความรุนแรงเกิน ๗ ริกเตอร์ บ้านเรือนพังทลาย ผู้คนล้มตายนับพัน ชาวฉือจี้ได้ออกไปช่วยเหลือ    ผู้ประสบภัยพิบัติ
สำหรับครั้งนี้ ศูนย์กลางอยู่ห่างฮวาเหลียนราว ๗ กิโลเมตร ความแรง ๕ ริกเตอร์

อาสาสมัครได้เล่าเรื่องความประทับใจในการดูแล ช่วยเหลือคนไข้ และคนชรา คุณหมอโกมาตรอยากฟังระบบจัดการแต่ก็ต้องติดตามเรื่องที่ผู้เล่าประทับใจแต่ผู้ฟังรู้สึกว่าฉายซ้ำ ก่อนจากกันผู้แทนมูลนิธิฯ มอบของขวัญเป็นพวงกุญแจ

ตอนเย็น อดีต President ของมหาวิทยาลัยและคุณ Stephen มาร่วมกินอาหารเย็นที่ภัตตาคาร อาหารบุฟเฟ่ต์เจ ทั้งสองท่านมีครอบครัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่อาสาสมัครมาร่วมงานกับมูลนิธิฯในฐานะผู้บริหารฯ
    
วันเสาร์ที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙
เช้าวันเสาร์ ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไปร่วม morning conference กับท่านอาจารย์เจิ้งเหยียน ที่ห้องประชุม ได้รับคำบอกเล่าว่า อาจารย์จะประชุมทุกเช้า เพื่อรับฟังรายงานกิจการด้านต่างๆ ของมูลนิธิฯ และให้คำแนะนำสั้นๆ ภายในห้องประชุมมีเบาะให้ผู้เข้าประชุมนั่งกับพื้น ผู้สูงอายุนั่งแถวหลังใช้เบาะซ้อนกัน ช่วยให้ไม่ต้องนั่งพับขา ด้านในถัดจากเก้าอี้นั่งของท่านอาจารย์

ด้านขวามือเป็นหญิงสาวผู้กำลังเตรียมตัวก่อนเข้าบวช ใช้เวลาปฏิบัติตนในวัดก่อนตัดสินใจ  ๕ ปี ยังไม่โกนผม แต่งกายสีเทาชุดนักบวช
ด้านซ้ายเป็นกลุ่มภิกษุณี แต่งกายด้วยเสื้อคลุมยาวจรดพื้น สีเทา ปลงผม
ด้านหน้าเป็นกลุ่มอาสาสมัครและผู้มาร่วมประชุม มีเก้าอี้เล็กราว ๑๐ ตัววางทางด้านขวามือ

สำหรับผู้ที่ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ คณะเรามีคุณหมอวิรุฬห์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้แทน กล่าวด้วยภาษาจีนกลาง อาจารย์ประเวศ พูดภาษาไทย รายการในเช้า     วันนี้เป็น Teleconference จากโรงพยาบาลของมูลนิธิฯ ที่ไทเป ต้าหลิน และจากสิงคโปร์

หลังจากนั้น พวกเราได้ชมกิจการในบริเวณ สมณาราม เริ่มจากห้องโถงแรกที่เป็นอาคารตั้งต้น บูชาพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ พระโพธิสัตว์ พระศากยมุนี และเจ้าแม่กวนอิม ชมบริเวณสนามนอกอาคารที่มีรูปปั้นต่างๆ มีรูปปั้นของท่านอาจารย์และคณะผู้ร่วมงานมูลนิธิฯอยู่ด้วย

ใกล้ ๑๑.๐๐ น. ทางอาสาสมัครเชิญให้ฟัง คุณ Stephen Hwong ซึ่งเป็น CEO ของมูลนิธิกล่าวบรรยาย และชักชวนให้ขยายงานของมูลนิธิฯ ในประเทศไทย คุณหว่อง เป็นนักกฎหมาย ทำงานในอเมริกาหลายปี มีครอบครัวและทรัพย์สินอยู่ที่ LA     

ท่านนี้ทำหน้าที่เป็น CEO  และผู้แทนของท่านอาจารย์ในการบริหารจัดการและเดินทางไปทำกิจกรรมตามสถานที่ ต่างๆ ทั่วโลก คุณหว่องนัดเลี้ยงอาหารเย็นที่สำนักงานมูลนิธิฯ ที่ไทเป  ก่อนอาหารกลางวัน ท่านอาจารย์ มามอบของขวัญเป็นกำไลลูกประคำเรืองแสงสีเขียว อ่อน มีรูปและชื่อบทสวดมนต์ในลูกแก้วตรงกลาง ให้แผ่นใบโพธิ์สีทองกับเหรียญใส่ซองสีแดง ๒ ซอง (อั้งเปา) และเข็มกลัดครบรอบ ๔๐ ปี ของมูลนิธิฯ สีเงิน ขนาดเล็ก เป็นรูปใบโพธิ์และเลขศูนย์

อาหารกลางวันวันนี้ จัดทำโดยภิกษุณีและผู้ปฏิบัติธรรม พวกเราและอาสาสมัครนั่งเก้าอี้รอบโต๊ะกลม มีอาหารหลายอย่างเกินความคาดหมาย ใช้ตะเกียบกลางคีบอาหาร นับเป็นสุขลักษณะที่ดี สับปะรดหวานฉ่ำ ชามตรงกลางเป็นแกงจืดข้าวโพดต้มซึ่งผู้ร่วมโต๊ะชวนให้ตักขึ้นมาแทะบอกว่าท่านอาจารย์ร่วมปลูกในไร่ของวัด
หลังอาหาร ชมการทำงานฝีมือของชาววัด ดูการหล่อเทียนและทำเป็นรูปดอกบัวสวยงาม งานฝีมือเหล่านี้ ชาววัดต้องขยันทำเพื่อแลกอาหาร เงินที่นำมาใช้เลี้ยงชีพต้องหาเอง แยกจากเงินบริจาคของมูลนิธิฯ

ถ้าขี้เกียจไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ...... No work, No meal
บ่าย ขึ้นรถไฟจากสถานีฮวาเหลียนกลับไทเปใช้เวลาราว ๒ ชั่วโมง รถไฟตรงเวลา เราลงที่สถานี Sung Shan ก่อนถึงไทเป เพื่อไปเยี่ยมสำนักงานอาสาสมัคร ซึ่งคุณหว่องโทรศัพท์มาให้จัดเตรียมการรับรองและเลี้ยงอาหารเย็น ให้เรียบร้อยใน ๒๔ ชั่วโมง คุณหมอแม็ค จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมาดูงานด้านศัลยกรรมตกแต่งที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไต้หวันและคุณหมอ เบลล์ ภรรยา มาร่วมงานด้วย

หลังอาหารเย็น จึงได้กลับโรงแรม San Want ซึ่งอยู่กลางเมืองไทเป ใกล้ตึก ๑๐๑ ซึ่งเป็นตึกสูงสุดของไต้หวันคืนนี้เป็นโอกาสให้ผู้ที่นอนดึกได้ชมไทเปอีกแง่มุมหนึ่ง ต่างจากที่ได้พบกับความสะอาด สงบ และจิตสงเคราะห์มา ๓ วัน ๓ คืน
      
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙
เช้าวันอาทิตย์ วันนี้เป็นวันสุดท้าย ทุกคนเตรียมกระเป๋ากลับบ้านและฝากไว้ที่โรงแรม     รายการเช้าเป็นการศึกษากิจกรรมจัดเตรียมและแปรรูปขยะ บริเวณกว้างขวาง เริ่มจากดูนิทรรศการของมูลนิธิฯ ในโอกาสครบ ๔๐ ปี รับเลี้ยงขนมและน้ำชา ชมการแยกชนิดของขยะ การแยกชนิดกระดาษ ผู้ทำงานมีตั้งแต่เด็กวัยอนุบาล วัยหนุ่มสาว และวัยชรา คุณลัดดาชี้ให้ดู  คอนโดใกล้กันว่าเป็นบ้านหลาน

ต่อจากนั้นไปกินอาหารกลางวันที่ภัตตาคารชื่อดัง เป็นอาหารเจหรูหรามีมากกว่า ๑๐๐ ชนิด ทั้งคาวหวาน ก๋วยเตี๋ยว ซุป ติ่มซำ ค่าอาหารคนละ ๔๘๕ NTD เงินไทยราว ๗๐๐ บาท อาหารมื้อนี้นับเป็น highlight อาหารเจที่คุณส้มไม่ยอมให้พลาด พวกเราเดินเวียนเทียนกันคนละหลายรอบ      ทางพนักงานเสิร์ฟชื่นชมลูกค้าชาวไทย ถึงขนาดตาม chef ให้มาดูและรับความภาคภูมิใจในฝีมือ คุณหมอวิฑิตมีความคิดว่า น่าจะทำร้านอาหารเจอร่อยมากเช่นนี้ที่เมืองไทย โดยเชิญชาวฉือจี้จากไต้หวันมาเปิด course สอน  ความคิดดีๆ นี้ได้รับการสนับสนุนจากนักกินหลายท่าน

ตอนบ่าย คณะพรรคย้ายไปประชุมที่บ้านคุณโล กรรมการมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ซึ่งมาต้อนรับและดูแลตลอดเกือบทุกวัน คุณหมออำพล ขอให้แต่ละท่านเล่าถึงความรู้สึกในการดูงาน     และสิ่งดีๆ ที่จะทำในอนาคต ภรรยาคุณโลจัดอาหารเลี้ยง ทั้งอาหารว่างและผลไม้ ตบท้ายด้วยอาหารเย็น  ตอน ๑๗.๐๐ น.

คณะผู้เดินทางทุกท่านล้วนมีศักยภาพที่จะทำงานใหญ่ได้สำเร็จ ท่านคณบดีทั้งสาม คือ      อาจารย์ปิยะสกล อาจารย์รัชตะ  อาจารย์วิรุฬห์ พร้อมทั้งอาจารย์ปรีชา อาจารย์โฉมชบา มีความประทับใจในกิจกรรมของโรงเรียนแพทย์พุทธฉือจี้หลายเรื่อง และปรึกษากันที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับนักศึกษาแพทย์ ภาพที่อาสาสมัครล้างเท้าผู้ชราก็เป็นภาพหนึ่งที่ทำให้เกิดปิ๊งไอเดียที่รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาอาจนำมาใช้เพิ่มเรตติ้ง

คู่ที่สนทนาได้อรรถรส คือคุณหมอประเสริฐ กับ คุณหมอโกมาตร,  ถ้าจะติดตามข่าวสารต้องถาม คุณหมอสุรเชษฐ์ซึ่งมีที่นั่งคู่กับคุณหมอชูชัย จากโรงพยาบาลชุมชนคือ คุณหมอวิฑิต หมอวิชัย หมอสุวัฒน์ หมอสุภัทร ซึ่งล้วนมีโครงการที่กำลังทำ คุณหมอธงชัย จากโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เชิญอาสาสมัครฉือจี้ไปร่วมประชุมที่ราชบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพขบวนการรับรองโรงพยาบาล ถ้าดร.เรวดีไปตรวจเยี่ยมรับรอง HA จะได้เห็นผลงาน
หมอศิริวัฒน์บอกว่าการบ้านเก่ายังไม่เสร็จแต่ก็ดีใจที่ได้การบ้านใหม่
หมอสุพัตรา ได้แนวทางการทำงานปฐมภูมิในชุมชนอย่างมุ่งมั่นอดทนต่อไป
คุณมุทิตาแห่งมูลนิธิพูนพลัง และคุณพ่อวิจารณ์ที่ทำงานการจัด การความรู้ (จากคนเล็กๆ) ปวารณา ตัวที่จะนำ KM ไปช่วยถ้าท่านใดต้องการ
คุณหมอสงวนรับทราบว่าโรง-พยาบาลพุทธฉือจี้ได้รับงบประมาณจัดสรรจากระบบประกันสังคม
คุณหมออำพลช่วยให้คำแนะนำและเป็นไกด์ได้ดีเนื่องจากมาเป็นครั้งที่สอง
คุณหมออุกฤษฏ์ทำหน้าที่ผู้ประสานงานชั้นเยี่ยมทั้งก่อน หลัง และขณะเดินทาง
คุณปิติพรหอบของที่ระลึกหลายชิ้นนำไปมอบให้แต่ละแห่ง
ดร.ปุย คุณหมอกฤษฎา หมอสมนึก หมอประทีปมีงานที่ต้องรับภาระในอนาคต
คุณอรจิตต์ช่วยพวกเราได้มากทั้งด้านภาษาจีนและกิจกรรมอาสาสมัคร
ท่านอธิการบดีวรากรณ์บอกว่าได้วัตถุดิบอาหารสมองมากมาย
ในกลุ่มอาสาสมัครจากไทย คุณยงเกียรติได้รับมอบงานใหญ่จากท่านอาจารย์ และถูกคุณ    หว่อง CEO เร่งรัด, เสียงนุ่มคุ้นหูที่สุดในการเดินทางครั้งนี้คือ เสียงแปลของคุณสุชน, ผู้ที่ชอบไมค์และพูดแล้วเราชอบฟัง คือคุณเมตตา
ชอบไม่แพ้กัน คือ คุณส้ม, คุณลัดดา ประธานมูลนิธิฯ ของไทยงามด้วยวัยและมารยาท เช่นเดียวกับคุณกรุณาและคุณฐิติมา
ท่านที่นิ่งและยิ้มตลอดเวลาแต่ก็ยื่นมือมาช่วยทุกทีที่ต้องการ คือ คุณวิวัฒน์
หมอฉือจี้ไทย ๒ ท่าน คือ หมอวัชราผู้มีเสียงหัวเราะเบิกบานมาก, และหมอวิรวิชย์หนุ่มหล่อหมอเด็ก
อาสาสมัครที่สดใสวัยเยาว์และงดงามระดับดารา คือ น้องหญิงบัณฑิตหมาดๆ จากมหา-วิทยาลัยเกษตรศาสตร์, อาสาสมัครที่พูดน้อยที่สุด แต่งานหนักตลอดทริป คือ คุณเฉิน
อาจารย์ประเวศ อยากทำหนังสือเล่าเรื่องการเดินทางครั้งนี้ และขอบทความข้อเขียนจากสมาชิกทุกท่าน
สิ่งที่ประทับใจ คือ ความสุภาพอ่อนน้อม ผู้ให้ต้องขอบคุณผู้รับที่ให้โอกาสได้ทำกุศล ได้เห็นการทำงานของอาสาสมัคร ที่สละแรงกาย กำลังทรัพย์ ทำงานด้วยความสุข และชักชวน          อาสาสมัครเพิ่มขึ้น
ศูนย์กลางของศรัทธา คือ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ภิกษุณีวัย ๗๐ ปีที่รูปร่างโปร่งบาง      เดินราวกับปลิวท่าทางสงบสำรวม วาจาไพเราะจับใจ ทรงความรู้ ใช้วิทยาการทันสมัย และสามารถหาผู้ช่วยคณะทำงานด้านต่างๆ (commission) ที่มีความสามารถมาร่วมสานงานต่อ อาสาสมัครไม่นำเงินบริจาคไปใช้เรื่องส่วนตน แม้จะเป็นการทำงานให้มูลนิธิฯ การเดินทางต่างๆ ใช้เงินตนเอง ทำให้เกิดระบบการเงินที่โปร่งใส ผู้บริจาคเชื่อใจ อาสาสมัครและกรรมการทำงานด้วยใจ ด้วยสมอง      ด้วยปัญญา ทำอย่างประณีต งดงาม และปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทย กิจกรรมดีๆ ก็มีอยู่ ขาดแต่ความต่อเนื่องเชื่อมโยง องค์กรหลายแห่งแยกประโยชน์ส่วนตนและวงศ์ญาติจากกิจกรรมสาธารณกุศลไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริจาคเสื่อมศรัทธา การได้สมาคมกับกลุ่มคณะเดินทาง อาสาสมัครจากประเทศไทย และอาสาสมัครไต้หวันที่มาดูแลทั้งที่ไทเปและฮวาเหลียนหลายท่าน รวมทั้งคุณหมอแม็คและคุณหมอเบลล์ ได้เห็นแต่ใบหน้าที่มี        รอยยิ้ม แววตาแจ่มใส กระตือรือร้น สนใจช่วยเหลือแนะนำเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา ๔ คืน ๕ วัน      ทำให้ได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของเวลาในการศึกษาดูงานครั้งนี้ อยากนำตัวอย่างดีๆ มาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพองค์กรและวัฒนธรรมแบบไทยๆ ในแบบคิดแล้วทำเลย
     ด้วยความสำนึกบุญคุณกัลยาณมิตรทุกท่าน...กั่นเอิ้น
     (ยังมีต่อ)
หมายเหตุ : ขออภัยในความผิดพลาดเรื่องชื่อของผู้มาต้อนรับที่ไต้หวัน

ข้อมูลสื่อ

345-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 345
มกราคม 2551
ศ.นพ.ประเวศ วะสี