• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความสุขกับสุขภาพ

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ความสุขกับสุขภาพ

คำเกริ่น
 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้จัดทำสมุดบันทึกประจำวัน (ไดอารี) โดยใช้ชื่อว่า "กรุ่นกลีบความสุข ๒๕๕๑" ในเล่มมีภาพวาดดอกไม้หลากชนิดอันงดงาม และมีบทความเกี่ยวกับความสุข เดือนละ ๑ บท

ผมมีโอกาสเขียนบทประจำเดือนพฤศจิกายน โดยใช้ชื่อว่า "ความสุขกับสุขภาพ" จึงขอนำมาเผยแพร่ในบอกเล่าเก้าสิบฉบับนี้ครับ คำว่า "สุขภาพ" ไม่ได้หมายถึงเพียงความปราศ-จากโรคหรือการไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงการมีร่างกายแข็งแรง คล่อง แคล่ว กระฉับกระเฉง การมีจิตใจเข้มแข็ง ร่าเริง เบิกบาน สงบเย็น การอยู่ร่วมกับผู้อื่นทั้งในครอบครัวและสังคมด้วยดี มีความกลมเกลียว เอื้ออาทรต่อกัน ตลอดจนการมีสติและปัญญาอันสมบูรณ์ มองเห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง รู้เท่าทันตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม มีคุณธรรมและจริยธรรม

นั่นคือ ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต อันได้แก่มิติทาง ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ (ปัญญา) สุขภาพตามความหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของความสุขและคุณภาพชีวิตของมนุษย์นั่นเอง ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับปัจจัยอันหลากหลาย ทั้งในตัวบุคคล หรือมนุษย์ (เช่น พันธุกรรม จิตใจ ความรู้ ความเชื่อ บุคลิกภาพ พฤติกรรม เป็นต้น) และสิ่งแวดล้อม (เช่น ที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง เสื้อผ้า อาหาร น้ำ ยารักษาโรค บริการทางการแพทย์ เชื้อโรค พืช สัตว์ สารเคมี มลพิษ ระบบเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา ค่านิยม กฎหมาย เป็นต้น )

ปัจจัยเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลได้ทุกมิติ เช่น ระบบเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองที่ด้อยพัฒนา ส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจน ด้อยการศึกษา ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงงานอพยพ การแตกสลายของครอบครัวและชุมชน แหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี ปัญหายาเสพติด ความเครียด การเสพบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในที่สุดก็ส่งผลต่อการเกิดโรคทางกาย เช่น อุบัติเหตุจราจร เอดส์ โรคที่เกิดจากบุหรี่ และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ความยากจนและความด้อยการศึกษายังส่งผลให้ประชาชนขาดความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเอง มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย การเสพสิ่งเสพติดให้โทษ การใช้ยาอย่างผิดๆ เป็นต้น   รวมทั้งการเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ ทำให้เกิดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม (เช่น โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ตับแข็ง เป็นต้น) และโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง) ก็ขาดการดูแลอย่างถูกต้อง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายตามมา

เมื่อสุขภาพร่างกายเสื่อมทรุด ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจ (เกิดความเครียด ท้อแท้ ซึมเศร้า วิตกกังวล) และการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ การหารายได้ การการคบค้าสมาคม การสร้างภาระต่อครอบครัวและสังคม การเจ็บป่วยหรือการเสียสุขภาพ เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ของบุคคล ครอบครัว และสังคมในระดับมหภาค ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกันสร้างเสริมสุขภาพและความสุขของประชาชน โดยการผลักดันนโยบายและมาตรการในการพัฒนาปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม ศาสนา ค่านิยม กฎหมาย เป็นต้น) ให้เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน

ในระดับจุลภาคซึ่งหมายถึงระดับบุคคลและครอบครัว จะต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจและจิตวิญญาณ (ปัญญา) ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างความสุขของบุคคล ครอบครัว และสังคม

การมีสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้นย่อม เป็นสิ่งที่ดี และลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจและสังคม ทุกคนควรเรียนรู้วิธีการดูแลตนเองและพฤติกรรมสุขภาพ (เช่น การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การบริหารจิต การหลีกเลี่ยงสิ่งอันตรายให้โทษ) เพื่อป้องกันโรคที่ป้องกันได้ เช่น โรคจากบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคจากพฤติกรรม เป็นต้น

แต่การมีสุขภาพร่างกายที่ดี เช่น เด็กและวัยหนุ่มสาวมักจะมีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความสุขเสมอไป และอาจมีความทุกข์มากมายถ้าหากยังขาดสุขภาพทางจิตใจและจิตวิญญาณ

ตรงกันข้าม ผู้ที่เจ็บป่วย หรือพิการทางร่างกายก็ใช่ว่าจะมีความสุขไม่ได้ การเจ็บป่วยทางร่างกายบางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือความเสื่อมของร่างกายเมื่ออายุมาก หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุที่เป็นการกระทำของผู้อื่น ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของตัวเรา ถ้าหากรู้จักดูแลตนเองและแสวงหาความช่วยเหลืออย่างถูกต้องจริงจัง ก็อาจช่วยให้ร่างกายทำหน้าที่ได้เช่นคนปกติ เช่น ผู้พิการสามารถใช้อุปกรณ์ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายออกไปทำงานในสังคมได้ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความ     ดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ก็สามารถใช้ยาและวิธีบำบัดต่างๆ เพื่อควบคุมโรค และชะลอการเกิด    ภาวะแทรกซ้อน ก็ทำให้มีสุขภาพร่างกายดีพอที่จะสร้างงานที่มีคุณค่าต่อตัวเองและสังคมได้

เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าบุคคลได้รับการฝึกฝนด้านจิตใจ และจิตวิญญาณ (ปัญญา) ให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งการปฏิบัติตามแก่นธรรมของศาสนา จนมีสติและปัญญาสมบูรณ์ ก็จะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณค่าต่อสังคม ไม่ว่าร่างกายจะแข็งแรงหรือไม่ก็ตาม ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย (เช่น มะเร็ง เอดส์) รวมทั้งผู้พิการจำนวนมากที่มีจิตใจและจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง สามารถมีความสุขตลอดจนช่วงชีวิตที่เหลือ และเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าอันน่าสรรเสริญยิ่ง 

 


 

ข้อมูลสื่อ

346-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 346
กุมภาพันธ์ 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ