• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะมีสาเหตุเบื้องต้นจากเพศสัมพันธ์
ปากมดลูกคือบริเวณอวัยวะที่อยู่ถัดจากช่องคลอดเข้าไปด้านใน ก่อนที่จะเข้าสู่โพรงมดลูก
บริเวณปากมดลูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก
      
เนื้องอก  เนื้อร้าย (มะเร็ง)
เนื้อเยื่อปกติของคนเราจะเติบโตโดยมีการควบคุม ของร่างกาย (ไม่ให้โตเกินไป)
เนื้องอกคือเนื้อเยื่อที่ต่างจากเนื้อปกติ เติบโตนอก เหนือการควบคุมของร่างกาย มี ๓ ชนิดคือ เนื้องอกชนิดธรรมดา เนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง และเนื้องอกชนิดกึ่งดีกึ่งร้าย
มะเร็งมีสิทธิ์ที่จะเกิดในเนื้อเยื่ออวัยวะใดของร่าง-กายก็ได้ ถ้าเกิดที่ปากมดลูกก็เรียกว่ามะเร็งปากมดลูก
มะเร็งเป็นเนื้อร้ายที่มีความสามารถในการแพร่กระจายและลุกลามได้
จะเห็นว่าเนื้อเยื่อปกติหรือเนื้องอกธรรมดา ไม่มีความสามารถในการลุกลาม แพร่กระจายไม่ได้ ซึ่งต่างจากมะเร็งที่สามารถแพร่กระจายและลุกลามได้ เช่น   เป็นมะเร็งที่ปากมดลูก ก็ลุกลามไปที่ปอด ตับ ที่อื่นๆ    อีก
      
มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร
ปัจจุบันพบแล้วว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากไวรัสเอชพีวี (HPV - Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด
ไวรัสเอชพีวีติดต่อจากการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็น การสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ และเชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกปกติมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก ในที่สุดก็จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ถ้าเผื่อทิ้งไว้ไม่ได้ตรวจเจอเสียก่อน ใช้เวลาเฉลี่ยโดยประมาณ ๕-๑๐ ปี

ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก จะไม่มีอาการ ถึงแม้ว่า จะเป็นมะเร็งแล้วก็ตาม ถ้าเป็นมะเร็งระยะต้นๆ ก็ไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้หญิงจะต้องรับการตรวจภายในประจำปี ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการ เพราะบางทีอาจจะมีความผิดปกติแล้ว แต่ไม่ทราบคือถ้าตรวจเจอระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกเสียก่อน ชื่อก็บอกว่าระยะก่อนมะเร็ง คือไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าทิ้งไว้จะเป็นมะเร็ง ถ้าตรวจพบระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกเสียก่อน สามารถรักษาหาย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกทีหลัง
      
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกมีหลายอย่าง ได้แก่
๑. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (ช่วงวัยรุ่น)
๒. มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน
๓. สูบบุหรี่
๔. มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
๕. มีคู่เพศสัมพันธ์ หรือมีสามีซึ่งเคยมีภรรยาคนเก่าเป็นมะเร็งปากมดลูก
      
วัยใดบ้างมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก
จากสถิติพบว่าช่วงอายุที่สตรีเป็นมะเร็งปากมดลูก มากที่สุดคือ ช่วงอายุระหว่าง ๔๐-๕๐ ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุน้อยกว่า ๔๐ หรือมากกว่า ๕๐ จะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก

วัย ๔๐-๕๐ ปี เป็นวัยทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ถ้าเจ็บป่วยก็จะมีผลกับครอบครัวด้วย สำหรับโรงพยาบาลรามาธิบดีพบผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกอายุน้อยที่สุดคือ ๑๖ ปี ขณะที่อายุมาก กว่า ๖๐-๗๐ ปีก็พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเช่นกัน
      
อาการแสดงของมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
ปากมดลูกเป็นอวัยวะที่ติดต่อกับภายนอก โดยผ่านทางช่องคลอด และเป็นอวัยวะที่แพทย์สามารถใส่เครื่องมือเข้าไปเห็นได้ อาการที่พบของมะเร็งปากมดลูกก็คือ มีตกขาว ผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกผิดปกติ หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ ถ้าปากมดลูกเป็นมากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานก็จะปวดได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาทอาจจะปวดหลังได้

ถ้าเป็นมากกว่านั้น เช่น มะเร็งปากมดลูกลุกลามและแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปที่ปอด ก็จะมีอาการแสดงของอวัยวะที่ลุกลามไป เช่น ไอมีเลือดปน
ถ้ามะเร็งลุกลามไปที่กระดูกก็จะปวดกระดูกบริเวณที่เป็น การลุกลามไปที่อวัยวะอื่นของมะเร็งคือความประพฤติอย่างหนึ่งของมะเร็ง (ลุกลามและแพร่กระจาย) จากจุดกำเนิดของมะเร็ง (ปากมดลูก) ไปที่อวัยวะอื่นอีกจุดหนึ่งหรือหลายจุด
      
ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าเป็น "ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก"
หลังจากได้รับไวรัสเอชพีวีแล้ว ปากมดลูกไม่ได้เปลี่ยนเป็นมะเร็งทันทีทันใด
ขั้นแรกกลายเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกก่อน คือประมาณ ๕-๑๐ ปีถึงจะกลายเป็นมะเร็ง ผู้หญิงที่เป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะรู้ว่าเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกก็คือการตรวจคัดกรองปากมดลูกประจำปี ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการ และหากพบความผิดปกติ แพทย์ก็จะทราบและรักษาได้ทันที

ถ้าผ่านขั้นตอนระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกและกลายเป็นมะเร็งไปแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการเพราะเป็นน้อยๆ แต่มารับการตรวจภายใน แพทย์ก็เจอมะเร็งได้
สำหรับคนที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองและรอให้มีอาการ จึงจะมาพบแพทย์ ก็อาจมีอาการที่ปรากฏ เช่น ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่น หรืออาการเลือดออกที่จะพบก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะอยู่เฉยๆ เลือดอาจจะไม่ออก แต่มีการกระทบกระเทือนจากเพศสัมพันธ์ก็จะมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ได้

บางคนมีอาการมากกว่านั้นก็คือ อยู่เฉยๆ ก็มีเลือดออก อาการเหล่านี้คืออาการที่แสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติ ผู้หญิงก็จะมาพบแพทย์ แพทย์ตรวจพบความผิดปกติ พบก้อนหรือรอยโรคที่ปากมดลูก  หลังจากนั้นจะต้องตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ มาตรวจ ถ้าผลตรวจชิ้นเนื้อยืนยันก็จะวินิจฉัยได้แน่นอนว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก
      
วัยใดต้องเริ่มไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากไวรัสเอชพีวีที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นวัยใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจะต้องตรวจคัดกรอง เช่น วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์    ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ก็จะต้องเริ่มตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี

ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย แนะนำให้ตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี เมื่ออายุ ๓๕ ปีไปแล้ว
การตรวจทั่วๆ ไปก็คือ จะต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจภายใน โดยใส่เครื่องมือเข้าไป และป้ายเซลล์จากปากมดลูกออกมาทำการตรวจคัดกรอง
ผู้หญิงส่วนหนึ่ง "อาย" ไม่ยอมไปตรวจคดกรองมะเร็งปากมดลูก

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยแนะนำให้ผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอดด้วยตนเอง และ นอน ๑ คืน ทางทีมงานวิจัยมอบอุปกรณ์ ๒ อย่างคือ แผ่นแก้ว (สไลด์) และน้ำยาแช่ พร้อมกับแนะนำให้ผู้หญิงตื่นเช้ามาดึงผ้าอนามัยออก ป้ายบนแผ่นแก้วและนำแผ่นแก้วแช่น้ำยา ปิดขวดและนำส่งทีมงานเพื่อย้อมพิเศษและส่องกล้องจุลทรรศน์  พบว่าวิธีนี้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และขจัดปัญหาเรื่อง "ความอาย" ได้
      
ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก มี ๒ ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกคือ
๑. ป้องกันแบบปฐมภูมิ
นั่นคือการป้องกันไม่ให้ติดไวรัสเอชพีวี
ณ วันนี้มีวัคซีนไวรัสเอชพีวีสำหรับป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ป้องกันได้ประมาณร้อยละ ๗๐ ของมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น
๒. ป้องกันแบบทุติยภูมิ

จะต้องตรวจให้เจอตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง โชคดีที่ธรรมชาติการเป็นมะเร็งปากมดลูกต้องผ่านระยะนี้ก่อน ซึ่งใช้เวลานาน (มะเร็งแต่ละชนิดมีระยะก่อนเป็นมะเร็งยาว-สั้นไม่เท่ากัน)  ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกคือ ๕-๑๐ ปี เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการตรวจคัดกรองได้อย่างดี การตรวจพบระยะก่อนมะเร็งซึ่งเป็นโรคเฉพาะที่ง่ายต่อการรักษา คือรักษาโดยทำลายเฉพาะที่ ไม่ว่าจะเป็นการตัดด้วย มีด ห่วงลวดไฟฟ้า หรือจี้ด้วยความ    เย็น (ทำลายเฉพาะที่) ทำให้หายไปและไม่กลายเป็นมะเร็งในอนาคต
      
รู้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วจะต้องทำอย่างไร
ทำใจยอมรับความจริง และปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ต้องเข้าใจว่าโรคมะเร็งปากมดลูกรักษาได้ โอกาส หายมี ถึงแม้จะเป็นระยะที่ค่อนข้างมากแล้วก็ตาม บางรายหายไปมากกว่า ๑๐ ปีก็ไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำอีก
ข้อดีของการรักษามะเร็งปากมดลูกคือ
๑. คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดอาการที่เป็น
๒. มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่รักษา
ถ้าเป็นมะเร็งแล้วไม่รักษา โดยธรรมชาติของมะเร็ง จะลุกลามและแพร่กระจาย ในกรณีที่รักษาไม่หายขาด ก็จะยืดระยะรอดชีพให้ยาวนานออกไปอีก เช่น จาก ๒ ปี กลายเป็น ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี การได้รับรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เป็นข่าวร้าย และการรับรู้ของคนทั่วไปกับมะเร็งว่าเป็นโรคร้าย เป็นแล้วต้องตายแน่ๆ  แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ มะเร็งบางชนิดรักษาหาย และป้องกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปากมดลูก
      
มะเร็งปากมดลูกรักษาอย่างไร
การรักษามะเร็งปากมดลูกมีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การ ผ่าตัด การฉายแสง ใช้ยาเคมีบำบัด หรือหลายวิธีร่วมกัน
แล้วอะไรคือวิธีที่ดีที่สุด
ตรงนี้ขึ้นกับระยะของโรคในแต่ละคน ว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ ๑ เป็นน้อยๆ วิธีรักษาที่ดีที่สุดก็คือการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นระยะที่ ๒ ระยะที่ ๓ การผ่าตัดจะไม่ได้ผล และจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์จะใช้การฉายแสงร่วมกับเคมีบำบัด แพทย์ผู้รักษาจะบอกได้ว่าแต่ละคนจะใช้วิธีใดดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน  และจะนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็ไม่ได้
      
การรอด การตาย ของมะเร็งปากมดลูก เป็นอย่างไร
จากภาพรวมของประเทศพบว่า โอกาสเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นทันที ขึ้นกับระยะคือ ระยะน้อยๆ โอกาสหายมีมากกว่า แต่ถ้าเป็นระยะมากๆ คือ ระยะที่ ๔ โอกาสหายน้อย
ที่ผ่านมาภาพรวมของประทศไทยก็คือ พบระยะที่ ๑ น้อย แต่พบระยะที่ ๒ มาก ทำให้อัตราการรอดชีวิตไม่ดีเท่าไหร่

ถ้าภาพรวมเป็นระยะที่ ๑ มาก โอกาสรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกราย ใหม่ประมาณ ๖,๐๐๐ คนต่อปี เสียชีวิตเกือบร้อยละ    ๕๐ คือราวๆ เกือบ ๓,๐๐๐ คนต่อปี คิดกันง่ายๆ คือ คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ ๗ คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นมะเร็งนรีเวชที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากที่สุด
       
ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดได้ (ผ่าเพียง ๑ ครั้ง) ได้แก่ การตกเลือด การติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง
การฉายแสง (ระยะเวลา ๑-๒ เดือน) ผลข้างเคียง คือ ผิวแห้ง ปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย
ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มือเท้าชา ซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิดที่เลือกใช้
      
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบในหญิงไทยมากอันดับ ๑ แต่ป้องกันได้ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง
การป้องกันสำคัญที่สุด รองลงมาก็คือการดูแลสุขภาพตนเอง เมื่อเป็นแล้วไม่ต้องตกใจ ให้ตระหนักว่า "มะเร็งปากมดลูก รักษาได้ โอกาสหายมี" และเป็นความจริงด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

346-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 346
กุมภาพันธ์ 2551
รศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์