นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ลมหายใจ : ระฆังแห่งสติ
ฉบับนี้คุณหมอสมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ได้เขียนเรื่อง "หายใจช้า" โดยได้แนะนำวิธีฝึกหายใจเข้า-ออกช้าๆ ไม่เกินนาทีละ ๑๐ ครั้ง ทำวันละ ๑๕ นาทีจะมีผลดีต่อสุขภาพ เช่น คลายเครียด ลดความดันเลือด เป็นต้น
การใช้ลมหายใจในการส่งเสริมสุขภาพตนเองนั้น ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวตะวันออกมาแต่โบราณกาล ที่รู้จักกันดีก็คือ การทำสมาธิโดยใช้ลมหายใจ (อานาปานสติ) การฝึกชี่กง รำมวยจีน (ไทเก้ก) โยคะ ซึ่งเป็นการผสมกลมกลืนของการเคลื่อนไหวร่างกาย ลมหายใจ และสติสัมปชัญญะ
ในปัจจุบันมีคนสนใจหันมาฝึกสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น เพราะทำแล้วรู้สึกสุขภาพกายและใจดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสุขภายในมากขึ้น แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากที่มีความสนใจในสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ติดขัดที่วันๆ วุ่นวายจนไม่อาจเจียดเวลาลงมือ ปฏิบัติ บ้างก็รู้สึกว่าเป็นวิธีการที่ยุ่งยากเกินกว่าจะฝึกได้ จึงไม่ได้ลงมือกระทำเสียที
บางคนสนใจปลีกตัวไปฝึกสมาธิที่วัด หรือสถาน-ปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว ในวันหยุดหรือในโอกาสที่มีการจัดอบรมฝึกสมาธิหมู่ ช่วงเวลาที่ปลีกตัวจากงานประจำไปตั้งใจฝึก ก็รู้สึกดีมีความสุขสงบ แต่เมื่อกลับมาอยู่ในบ้านและที่ทำงานก็วุ่นวาย เครียด ไม่มีความสุข ต้องหาโอกาสไป "ปลีกวิเวก" อยู่ร่ำไป ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความคิดว่าการหาความสงบ ทางใจนั้น ต้องไปอยู่ป่าอยู่วัดเท่านั้น การอยู่บ้านในที่ทำงานย่อมวุ่นวายใจเป็นธรรมดา
จริงๆ แล้ว เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน หากปล่อยให้วุ่นวายใจอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมมีความเครียด ความทุกข์ สะสมไปเรื่อยๆ จนอาจ ก่อให้เกิดโรคทางกายต่างๆ เช่น โรคกระเพาะ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องผูก ท้องเดิน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง โรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานกำเริบ เป็นหวัดง่าย เป็นต้น ทางการแพทย์เรียกโรคเหล่านี้ว่า "โรคกายที่เกิดจากความเครียด (psychosomatic dissordersr)"
นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเครียด วุ่นวายใจ ย่อมขาดสุขภาพจิตที่ดี ทำให้ทุกข์ใจ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ต้องพึ่งยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือหันไปติดเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ที่สำคัญก็คือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการอยู่ร่วม กับผู้อื่น เช่น ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกับผู้คนในบ้านและในที่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น
ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุด ต้องฝึกทำใจให้สงบท่าม กลางความวุ่นวายในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด นั่นคือ รู้จักใช้ลมหายใจ (ดึงสมาธิ สติสัมปชัญญะ) ให้เกิดขึ้นขณะทำกิจวัตรต่างๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องเผชิญกับความวุ่นวาย ความเครียด ความหนักอกหนักใจ ความพอใจ ความไม่สบายใจต่างๆ ซึ่งมักจะโผล่มาเป็นช่วงๆ
การฝึกสมาธิ จึงต้องฝึกในบรรยากาศให้ความวุ่นวาย อาจารย์นายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์ แพทย์อาวุโสที่หันมาเผยแพร่ธรรมะ มีการสอนเทคนิคการฝึกสมาธิท่ามกลางความวุ่นวายแบบง่ายๆ กล่าวคือเริ่มแรก ให้ผู้ฝึกทำสมาธิแบบหลับตาจนใจสงบก่อน ต่อไปก็ให้ฝึกสมาธิแบบลืมตา สุดท้ายให้ฝึกท่ามกลางเสียงรบกวน (เช่น เปิดเสียงวิทยุ ทีวี) นับว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการสร้างให้คนเราเกิดกับคุ้นชินในการทำใจให้สงบท่ามกลางความวุ่นวาย ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน ส่วนใหญ่
สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องการบริหารจิต (ลมหายใจ-สมาธิ-สติสัมปชัญญะ) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสงบสุข ท่ามกลางความวุ่นวายนั้น ถ้าหากไม่สามารถเจียดเวลาทำสมาธิ ฝึกชี่กง รำมวยจีน หรือโยคะ ขอแนะนำให้ใช้วิธีฝึกหายใจช้าๆ ลึกๆ แบบที่คุณหมอสมเกียรติแนะนำในฉบับนี้ หรือแบบอื่นใดก็ได้ (ที่ลองทำแล้วรู้สึกว่าดี) แต่ต้องฝึกทำในชีวิตประจำวัน
เริ่มตั้งแต่หลังตื่นนอน ตอนเช้าก็ให้หายใจเข้า-ออก ช้าๆ ลึกๆ (หายใจเข้าท้องพอง-หายใจออกท้องยุบ) พร้อมกับยิ้มน้อยๆ สร้างความสดชื่นให้กับตัวเอง หลังจากนั้นก็หมั่นทำเป็นครั้งคราว ในการทำกิจกรรมต่างๆ (เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน อาบน้ำ) ขณะนั่ง รอ ขณะมีความเครียด ความไม่พอใจ หรือคิดโต้แย้งกับ ผู้อื่นด้วยอารมณ์ ขณะหงุดหงิดเมื่อรถติดไฟแดง เป็นต้น
หากทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนเกิดความเคยชินในที่สุดก็จะรู้สึกว่า "ลมหายใจคือระฆังแห่งสติสัมปชัญญะ" ที่สามารถดลบันดาลความสุขสงบภายในจิตใจ ให้เกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต "เวลาแลเห็นไฟแดง ควรยิ้มเข้าไว้และขอบใจ ไฟแดงถือเอาว่าเป็นสัญญาณของพระโพธิสัตว์ ที่ช่วยให้เราเกิดความระลึกได้ ให้ถือเอาไฟแดงเป็นดังระฆังที่คอยติเตือนสติ" อย่าไปคิดว่าไฟแดงเป็นศัตรู ที่มากั้นไม่ให้เราได้ไปถึงจุดหมายอย่างรวดเร็ว ขอให้ถือว่าไฟแดงเป็นมิตรช่วยไม่ให้เราเร่งรีบ ช่วยเตือนให้เรากลับมาหาขณะปัจจุบันให้เราได้เผชิญกับชีวิตในชั่วขณะนี้อย่างมีความสุขและอย่างสงบ
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ "ปัจจุบันเวลาประเสริฐสุด" ของท่านติช นัท ฮันห์ พระเซ็นอาวุโสชาว เวียดนาม ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสติของโลกปัจจุบัน
ขอแนะนำให้ผู้สนใจลองหาอ่านดู
- อ่าน 8,626 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้