กวี คงภักดีพงษ์ สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
โยคะบำบัด บทที่ ๔ (ต่อ)
เทคนิคโยคะอื่นๆ อนามัยในช่องคอและจมูก อนามัยของระบบย่อยอาหาร
โยคะมีเทคนิคเพื่อการชำระและปรับสภาพของกระเพาะอาหาร ได้แก่
๑) ตันตะ เดาติ เป็นการล้างกระเพาะอาหารด้วยสายยาง
๒) วาสตระ เดาติ เป็นการทำความสะอาด และนวดผนังกระเพาะอาหาร ด้วยผ้า
๓) วามัน เดาติ เป็นการตั้งใจอาเจียน
๔) คชกรณี หรือ กุญชรกริยา เป็นการขับของเสียออกจากกระเพาะอาหาร
ในที่นี้เราจะกล่าวตามแต่ละหัวข้ออย่างละเอียด เพื่อท่านผู้อ่านจะสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง
๑) ตันตะ เดาติ
ใช้สายยาง เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดนิ้วก้อย ยาว ๙๐ เซนติเมตร ทำการฆ่าเชื้อให้สะอาดก่อนใช้ ในอดีต โยคีใช้รากของต้นไทร โดยจะเกลาผิวให้เรียบ แช่น้ำ ๑ คืน เพื่อให้นุ่มและยืดหยุ่น หรือใช้ก้านกล้วยซึ่งจะอังไฟ ทำให้อ่อนพอแก่การใช้งาน หากไม่มีก็ใช้เชือกนุ่มๆ ในขนาดเดียวกัน เริ่มด้วยการดื่มน้ำเกลืออุ่นให้มากที่สุด (ราว ๒ ลิตร) จากนั้นสอดท่อยางทางปาก ค่อยๆ กลืนลงไปช้าๆ พักเป็นห้วงๆ ผู้เริ่มฝึกใหม่ อาจรู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน ซึ่งจะค่อยๆ ลดน้อยลงๆ เมื่อฝึกบ่อยขึ้น จนชิน ไปในที่สุด วิธีคลายความรู้สึกอาเจียนคือ อ้าปากกว้าง หายใจ ออกทางปาก ในตอนแรกๆ ขณะรู้สึกอยากอาเจียนนี้ เราอาจอาเจียนน้ำออกมาด้วย ซึ่งก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้อาเจียนออกมาได้เลย เพราะเป้าหมายก็คือให้น้ำออกมานั่นเอง
เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ความรู้สึกอยากอาเจียน หมดไป น้ำจะออกมาก็ต่อเมื่อสายยางลงไปถึงกระเพาะ แล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักของกาลักน้ำ ในระหว่างทำ หากน้ำหยุดไหล อาจเป็นเพราะสายยางงอ หรือปลายสายยางไม่อยู่ในน้ำ ก็ขยับสายยางขึ้นลง เพื่อให้เกิดกาลักน้ำใหม่ เพียงไม่กี่ครั้งก็ชำนาญ ทำได้อย่างสบายๆ
น้ำอุ่นมีคุณสมบัติในการกระตุ้นให้กลไกตอบสนอง ทำงาน ทำให้เกิดการหลั่ง การขับอยู่แล้ว เมื่อสอดสายยางลงตามหลอดอาหาร กลไกตอบสนองของหลอด-อาหาร จะเป็นการกระตุ้นหลอดลมด้วย ช่วยการขับเสมหะจากทรวงอก
เทคนิคนี้จึงมีประโยชน์ไม่เฉพาะกับการชำระทางเดินอาหารเท่านั้น ยังช่วยเรื่องการขับเสมหะด้วย กลไกตอบสนองการอาเจียนทำให้ผนังหลอดลมผ่อนคลาย เอื้อให้การขับเมือกเกิดขึ้น สำหรับผู้เป็นโรคหอบหืด โดยเฉพาะกรณีที่ผนังหลอดลมกระตุก เมือกจับตัวเป็นก้อนอุดท่อทางเดินหายใจ การทำตันตะเดาติจะช่วยคลายอาการดังกล่าวได้ ส่วนผู้ที่เมือกในท้องเหนียวข้นมาก อาจใช้โซดาไบคาร์บอเนตแทนน้ำเกลือ โซดาไบคาร์บอเนตไม่เพียงช่วยเจือจางความเข้มข้นของเมือก กรดคาร์บอนิกยังช่วยกระตุ้นผนังกระเพาะอาหารให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย
๒) วาสตระ เดาติ
ใช้ผ้ามัสลินกว้าง ๒.๕ นิ้ว ยาวประมาณ ๒๒ ฟุต นำผ้ามาทำความสะอาดฆ่าเชื้อเสียก่อน เรามักจะทำวาสตระ เดาติ หลังจากทำตันตะ เดาติ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นกฎตายตัว เริ่มด้วยการทำ ความสะอาดมือ บ้วนปาก จากนั้นนำผ้าที่เตรียม ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางคีบปลายผ้าด้านหนึ่ง เอาเข้าปากไปจนสุดคอ แล้วจึงเริ่มกลืนปลายผ้านั้น เราอาจจะมีความรู้สึกอยาก อาเจียน ซึ่งแก้ได้โดยเอาปลายผ้าชุบนมไว้สักเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้เรากลืนผ้าลงลำคอได้สะดวก ได้ง่ายขึ้น ระหว่างการกลืนผ้า หากมีความรู้สึกจะอาเจียน ให้หยุด พักสักครู่ จนความรู้สึกนั้นจางเสียก่อน จึงเริ่มกลืนผ้าต่อไป
เคล็ดลับคือ การโน้มน้าวใจตนเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะกลืนผ้า ซึ่งจะประหลาดใจเมื่อพบว่า เราสามารถเรียนรู้ที่จะกลืนผ้ายาว ๒๒ ฟุต ได้อย่างราบรื่นและสงบ ภายในการฝึกเพียงไม่กี่วัน เวลาที่ใช้กลืนผ้านี้ไม่ควรเกิน ๑๕ - ๒๐ นาที เพื่อป้องกันไม่ให้หูรูดกระเพาะส่วนปลายเปิดออก อันอาจทำให้ปลายผ้าเคลื่อนผ่านไปยังลำไส้เล็กทำให้ผ้าติดคาอยู่ ซึ่งจะทำให้มีปัญหาตอนดึงผ้ากลับออกมา ยิ่งหากต้องใช้แรงดึงออก ผ้าอาจขาด หรืออาจจะบาดเนื้อเยื่อกระเพาะเกิดเป็นแผลได้ เวลาที่เหมาะในการดึงผ้าออกคือ ๑๘ นาที โดยไม่ต้องคำนึงว่ากลืนผ้าไปยาวแค่ไหนแล้ว ตอนดึงผ้าออกจะทำได้โดยง่ายดาย เพียงออกแรงเล็กน้อย ผ้าก็จะเคลื่อนออกมา ซึ่งจะมีความลื่น อันเกิด จากเมือกตามกระเพาะที่ติดออกมาพร้อมกับผ้า
เมื่อผ้าลงไปยังกระเพาะ มันจะม้วนเป็นก้อนกลมตามจังหวะการบีบตัวคลายตัวสลับกันไปของกระเพาะ ผ้าที่ม้วนตัวเป็นก้อนจะช่วยกระตุ้นผนังกระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นการทำงานของหลอดเลือดฝอยตามผนังกระเพาะ ช่วยเช็ดทำความสะอาดเมือกบุผนังกระเพาะที่มีมากเกินไปออก ผลโดยรวมคือ ผนังกระเพาะอาหารสะอาด เมือกที่เคลือบก็ไม่มากเกินไป และการบีบตัวเป็นริ้วคลื่นของกระเพาะก็เป็นไปด้วยดี ขณะที่ตันตะ เดาติทำได้แค่ล้างเอาเมือกที่ลอยอยู่ในกระเพาะอาหาร ส่วนวาสตระ เดาติสามารถนวดผนังกระเพาะ และชำระเมือกที่เคลือบผนังกระเพาะออกได้
ทั้งตันตะและวาสตระ เดาติ มีคุณประโยชน์ในการปรับสภาพของอาการอาหารไม่ย่อย น้ำย่อยผิดปกติ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า โรคทางเดินหายใจหลายๆ ชนิด รวมทั้งโรคหัวใจมีความเชื่อมโยงกับความผิดปกติของการย่อยของกระเพาะนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีอาการกรดเกินในกระเพาะ เราไม่แนะนำให้ทำเทคนิคเดาติทั้งสองนี้ เนื่องจากการทำเดาติ จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการมากเกินไปสำหรับผู้มีอาการดังกล่าว และกลายเป็นผลเสียในระยะยาว
การใช้โซดาไบคาร์บอเนตจะทำให้สภาพแย่ลง เพราะแม้ตัวมันเองจะช่วยลดความเป็นกรด แต่จะเกิดกาซคาร์บอนิกทุกครั้ง ซึ่งเป็นการรบกวนเมือกบุกระเพาะ และกระตุ้นการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น ดังนั้น โยคะบำบัดไม่แนะนำการใช้ยาลดกรดกรณีโรคแผลกระเพาะอาหาร และโรคกรดเกินในกระเพาะ แต่จะแนะนำให้กินอาหารประเภทโปรตีน เพื่อปรับค่าความเป็นกรด ให้กินพวกไขมันเพื่อช่วยยับยั้งการหลั่งของกรด นม และเนยใสดูจะเหมาะที่สุดในกรณีนี้ รวมถึงการใช้ปัจจัยอื่นๆ มาช่วย ระงับอาการ
- อ่าน 4,468 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้