• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ครีมกันแดด

 นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
ครีมกันแดด

หนทางหนึ่งในการป้องกันผิวสวยจากแสงแดด ต้นเหตุความหมองหม่นบน     ผิวสวย และริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย คือการทาครีมกันแดด โดยเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง

ค่า SPF ที่ว่าคืออะไร
SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor คือ ค่าการกันแดด  ซึ่งแสดงว่าครีมนั้นมีความสามารถในการป้องกันแดดได้ดีเพียงใด 
ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ๒ หมายความว่าเมื่อทาครีมกันแดดตัวนี้แล้ว จะป้องกันผิวไหม้แดดเป็นเวลานาน ๒ เท่าเมื่อเทียบกับตอนที่ไม่ได้ทายา 
สมมุติว่าถ้าไม่ได้ทาครีมกันแดด แล้วออกไปสัมผัสแสงแดดเป็นเวลา ๑๐ นาที จึงเริ่มมีผื่นแดง ซึ่งเป็นอาการของผิวไหม้แดด หากทาครีมกันแดดแล้วต้องใช้เวลานาน ๒ เท่าคือ ๒๐ นาที จึงจะเริ่มไหม้แดด

ดังนั้น ยิ่งค่า SPF ยิ่งสูง ประสิทธิภาพการกันแดด จะสูงขึ้น มีฤทธิ์ป้องกันยาวนานขึ้น  แนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่กันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB โดยทั่วไปควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 หรือมากกว่า แต่ก็ขึ้นกับความเข้มของรังสียูวี และลักษณะผิวด้วย
ครีมกันแดดที่มี SPF 15 จะป้องกันรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผิวได้ร้อยละ ๙๓ ซึ่งเพียงพอที่จะป้องกันแสงแดดในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าต้องเล่นกีฬากลางแจ้งนานๆ หรือมีเหงื่อออกมาก หรือไปว่ายน้ำกลางแดด อาจใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง เช่น SPF 30 และเป็นครีมกันแดดชนิดกันน้ำ (water resistant)                                                            

ควรทาครีมกันแดดมากแค่ไหน และควรทาซ้ำบ่อยเพียงใด
ปริมาณครีมกันแดดที่เพียงพอสำหรับทาผิวหน้า แขน ขา และลำตัวด้านบนอย่างทั่วถึง คือประมาณ  ๑ ฝ่ามือ ควรทาครีมกันแดดให้ทั่วทุกตำแหน่งที่สัมผัสแสงแดด ต้องทาล่วงหน้า ๓๐-๖๐ นาที ก่อนออกไปสัมผัสแสงแดด และควรทาครีมกันแดดซ้ำทุกๆ ๒ ชั่วโมง แต่ถ้าว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ หรือเหงื่อออกมาก ก็ต้องทาครีมกันแดดซ้ำบ่อยขึ้น เช่น ทุก ๑ ชั่วโมง และควรเลือกครีมกันแดดชนิดที่กันน้ำ

ทาครีมกันแดดแล้วแสบตามาก จะทำอย่างไร
คำถามนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เล่นกอล์ฟ หรือเล่นกีฬากลางแจ้งนานๆ ที่ต้องทาครีมกันแดดหนาๆ บางครั้งเหงื่อไหลเข้าตาจะแสบตาจนน้ำตาไหล
การทาครีมกันแดดที่ใบหน้านั้นไม่ควรทาชิดดวงตา เกินไป ให้เว้นระยะไว้สักครึ่งนิ้ว และควรมีผ้าซับใบหน้า เวลาที่เหงื่อออกมากๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและรอบตา เพราะถ้าเหงื่อออกจะละลายครีมกันแดดมาเข้าตา ทำให้แสบตามาก 
บางคนเลือกที่จะทาครีมกันแดดที่หน้าผากบางๆ หรือใช้หมวกป้องกันแสงแดดร่วมด้วย  การใส่หมวกป้องกันแดดให้ได้ผลดีนั้น หมวกควรมีขอบหรือปีกกว้างขนาด ๔ นิ้วรอบศีรษะ 

ทาครีมกันแดดแล้วขัดขวางการเล่นกีฬาจริงหรือ                                                                                       
การทาครีมกันแดดบางครั้งอาจทำให้เล่นกีฬาไม่ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งมีผลมาจากเนื้อครีมกันแดดทำให้มือลื่น จับอุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้ปิงปอง ไม้แบดมินตัน ไม้กอล์ฟ ไม่ถนัด เนื้อครีมกันแดดยังทำให้ร่างกายหลั่งเหงื่อได้ลดลง  ซึ่งการหลั่งเหงื่อของร่างกายนั้นเป็นการระบายความร้อน ในร่างกายที่เกิดขณะออกกำลังกาย เมื่อระบายความร้อนไม่ได้ อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นและสมรรถภาพของร่างกายจะต่ำลง  สำหรับนักกีฬาจึงอาจจำเป็นต้องเลือกครีมกันแดด ที่มีเนื้อครีมซึมซาบผิวที่ดีซึ่งไม่ขัดขวางการหลั่งเหงื่อ

ผลเสียของครีมกันแดดต่อร่างกาย
บางรายอาจเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่บริเวณจุดที่ทาครีม กันแดด ได้แก่ ผิวแพ้สัมผัส ระคายเคือง และปฏิกิริยาแพ้ แสงแดด สารเคมีซึ่งทำให้เกิดข้อแทรกซ้อนได้บ่อย คือ PABA, เบนโซฟีโนน (benzophenones), ซินนาเมต (cinnamates) และเมโทรซีดีเบนซอยเมแทน (methoxydi-benzoylmethane)

ส่วนครีมกันแดดที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพ (physical sunscreen) มีเนื้อยาเหมือนแป้ง ซึ่งมีส่วนผสมของ titanium dioxide และ zinc oxide จะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ จึงเหมาะกับคนที่เคยแพ้ครีมกันแดดชนิดอื่นมาก่อน
 

ข้อมูลสื่อ

348-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 348
เมษายน 2551
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร