• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูแลสุขภาพตนเอง

 นพ.พินิจ กุลละวณิชย์์ กรรมการบริหารแพทยสภา
ดูแลสุขภาพตนเอง
                  การดูแลสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ มีความสำคัญมาก 
                  ขณะนี้พบว่าชาวโลกรวมทั้งชาวไทยมีอายุยืนยาว กว่าเดิม คือปี พ.ศ.๒๕๓๘ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ ร้อยละ ๘.๑ อีก ๑๐ ปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๕๔๘ มีผู้สูงอายุร้อยละ ๑๐.๑๗ และประเมินว่าปี พ.ศ.๒๕๕๓ จะมีผู้สูงอายุร้อยละ ๑๑.๓๖ ขณะนี้ ร้อยละ ๒๐ ของผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ที่สำคัญร้อยละ ๘๐ ของผู้สูงอายุต้องทำงานเพื่อตนเองหรือครอบครัว อีก ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๕) ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมาก กว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี 
                  ประเด็นมีอยู่ว่า ถ้ามีผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยทำงานจะมีปัญหาแก่สังคม เพราะคนกลุ่มน้อยจะต้องรับภาระดูแลคนกลุ่มใหญ่ 
      
อายุยืนขึ้น อัตราตายลดลง
                   ประชาชนอายุยืนยาวขึ้นเพราะความก้าวหน้าทาง การแพทย์ เช่น ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย ๗๓ ปี ผู้ชาย ๗๑ ปี และมีแนวโน้มจะมีอายุยืนยาวขึ้น แต่อัตราการเกิดลดลงเนื่องมาจากการคุมกำเนิด เด็กวัยรุ่นขณะนี้มีโอกาสอายุยืนถึง ๘๐ กว่าปี
                   ประเด็นมีอยู่ว่า ถ้ามีอายุยืนยาวถึง ๘๐-๙๐ ปี จะต้องสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ยังสามารถเดินเหินไปไหนมาไหนด้วยตนเองได้ ยังมีความสุขกับการกินอาหาร   ไปเที่ยวนอกบ้าน อาจไปตีกอล์ฟกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือกับลูกหลานได้ ต้องไม่สูงอายุอย่างมีปัญหาทางสุขภาพ คือเดินเหินไม่ได้ ต้องมีคนช่วยเข็น พยุง หรือต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
                    ร่างกายคนเรามีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กล่าวคือ หลอดเลือดทั่วร่างกายจะค่อยๆ ตีบทีละเล็กละน้อย จนเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่นเมื่ออายุ ๔๐-๕๐ ปี เป็นต้นไป หลอดเลือดอาจตีบมากถึงร้อยละ ๗๐-๘๐ ของเส้นผ่าศูนย์กลาง และหลอดเลือดที่ตีบนี้อาจปริและแตก ทำให้มีปฏิกิริยาจนเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งถ้าเป็นหลอดเลือดของหัวใจหรือสมองก็จะทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้
                   นอกจากนั้น เมื่อสูงอายุขึ้น เอ็น เอ็นข้อต่อ กล้ามเนื้อ กระดูกจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงตั้งแต่อายุประมาณ ๓๐ ปี อัตราการเผาผลาญของร่างกายลดน้อยลง ทำให้ปริมาณและสัดส่วนไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น ถ้ากินอาหารมากเท่าเดิม นั่นคืออายุ ๔๐ ปี ถ้ายังกินอาหารเท่าเดิม ออกกำลังกายเท่าเดิม โดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นปีละครึ่งกิโลกรัมต่อปี 
                   สายตา หู ฟัน เสื่อมลง ความทนต่อน้ำตาลกลูโคส ลดลง มีโอกาสเป็นเบาหวานเมื่อสูงอายุขึ้น ความดันเลือด และไขมันในเลือดจะสูงขึ้น เสี่ยงต่อกระดูกพรุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุภาพสตรีที่ประจำเดือนหมด กระดูกงอกบริเวณหัวกระดูกของข้อ ท้องผูก การทำงานของ    ไตลดลง กินอาหารน้อยลง มวลกล้ามเนื้อและกำลังกล้ามเนื้อลดลง สมองฝ่อ หลงลืม เป็นต้น
      
คนไทยตายจากโรคอะไร
                     โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ๓ อันดับแรกที่ผลัดกันเป็นสาเหตุนำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ต่อประชากร ๑ แสนคน คือโรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุและสารเป็นพิษ โรคมะเร็ง
                     นอกจากนี้ โรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือ อัมพาต ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน เบาหวาน สมองเสื่อม การหกล้มและกระดูกหัก เป็นต้น
เนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นกลุ่มโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ จึงขอพิจารณาดูโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งเป็นโรค ที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคหัวใจ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร 
                     ความจริงหลอดเลือดหัวใจค่อยๆ ตีบมาตั้งแต่เราเกิด! แต่เนื่องจากยังตีบไม่มากจึงยังไม่มีอาการ เพราะมักมีอาการเมื่อหลอดเลือดตีบมาก เช่น หลอดเลือดบางหลอดอาจต้องตีบถึงร้อยละ ๕๐-๘๐ ก่อนที่จะมีอาการ ฉะนั้น อย่ารอจนมีอาการ เพราะถึงไม่มีอาการหลอดเลือดก็ตีบบ้างแล้ว ควรเริ่มต้นปฏิบัติตนเอง หาช่องทางที่จะทำให้หลอดเลือดไม่ตีบเพิ่มขึ้น ทำให้หายตีบ หรือทำให้หัวใจสร้างหลอดเลือดใหม่ (สร้างทาง "เบี่ยง")  
                    ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือด (ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและสมอง) หัวใจตีบและอุดตันคือ กรรมพันธุ์ เพศชาย อายุ บุหรี่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง ความอ้วน ไม่ออกกำลังกาย อุปนิสัย
                   เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ช่วยไม่ได้ แต่สามารถหาทางป้องกันได้ไม่มากก็น้อย เพศชายจะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง แต่เฉพาะในช่วงที่เพศหญิงยังมีประจำเดือนเท่านั้น ส่วนโรคนี้จะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ  เพราะเรื่องของกรรมพันธุ์ เพศชายและอายุ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผ่อนหนักเป็นเบาได้ 
                   สำหรับ บุหรี่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง ความอ้วน ไม่ออกกำลังกาย อุปนิสัย สามารถป้องกันได้ทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ด้วยการกินอาหาร ออกกำลังกายที่ถูกต้อง อย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัยตนเองให้เหมาะสม
พบกันใหม่ฉบับหน้า
ด้วยความปรารถนาดี

ข้อมูลสื่อ

338-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
คนกับงาน
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์