โรคสุดฮิตกลุ่มคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบตามอวัยวะที่มีปัญหา ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบ เส้นประสาทอักเสบ เอ็นอักเสบ และข้ออักเสบ ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ จะมีโรคเส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบเป็นโรคสุดฮิต ที่มีการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ที่มีชื่อเรียกว่า carpal tunnel syndrome (CTS) และ guyon cannel syndrome (GCS) โดย CTS จะมีปัญหาการอักเสบของเส้นประสาทมีเดียน ขณะที่ GCS เป็นการอักเสบของเส้นประสาทอัลนาร์ ดังมีรายละเอียดดังนี้
อาการและอาการแสดง
เนื่องจากกลุ่มโรคนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อบางตัวของแขนส่วนล่างและมือ นอกจากนั้นยังนำกระแสประสาทจากตัวรับรู้สึกที่มือและแขนส่วนล่างไปยังไขสันหลังและต่อไปยังสมอง
ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติของเส้นประสาทเหล่านี้ ก็จะส่งผลต่ออาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทนี้ไปเลี้ยง และขณะเดียวกันอาจมีการสูญเสียความรู้สึกสัมผัสบริเวณมือ ขึ้นอยู่กับว่าเส้นประสาท ใดมีการอักเสบหรือถูกกดทับ และอาการจะถูกกระตุ้นเมื่อทำงานและอากาศที่เย็น
อาการของ CTS
- อาการชาทางด้านฝ่ามือของนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งซีกของนิ้วนาง (ทางด้านใกล้นิ้วโป้ง)
- ถ้าอาการมากขึ้นจะส่งผลต่ออาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งมือ และโคนนิ้วโป้ง
- มีอาการเจ็บเมื่อทำงานหรือเมื่อข้อมืออยู่ในลักษณะงอ พับ กระดกข้อมือ หรือมีแรงกดบริเวณข้อมือ
อาการของ GCS
- อาการชาทางด้านฝ่ามือและหลังมือของนิ้วก้อย และครึ่งซีกของนิ้วนาง (ทางด้านใกล้นิ้วก้อย)
- ถ้าอาการมากขึ้นจะส่งผลต่ออาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งมือ และกล้ามเนื้อโคนนิ้วก้อย
- มีอาการเจ็บเมื่อทำงานหรือเมื่อข้อมืออยู่ในลักษณะกระดกข้อมือ หรือมีแรงกดบริเวณข้อมือ (ทางด้านใกล้นิ้วก้อย)
สาเหตุ
พบว่าภายในข้อมือมีอุโมงค์เล็กๆ ที่มีผนัง ๒ ด้านเป็นกระดูกโคนฝ่ามือ มีหลังคาเป็นเอ็นเหนียวๆ ภายในอุโมงค์นี้มีเอ็นของกล้ามเนื้อ ๙ กล้ามเนื้อ มีหลอดเลือด และเส้นประสาทที่มีชื่อเรียกว่า เส้นประสาทมีเดียน (median nerve) เมื่อมีการงอข้อมือ หรือบิดข้อมือ ก็จะทำให้อุโมงค์ แคบลง และเมื่อใช้มือในการกำหรือเหยียด หรือขยับนิ้ว ในลักษณะพิมพ์ดีด จะมีผลทำให้เอ็นของกล้ามเนื้อขยับไปมาตลอดเวลา ถ้ามีการใช้แรงมือมากๆ ร่วมกับการงอของข้อมือ หรือมีการกดทับที่ข้อมือ ย่อมมีสิทธิ์ทำให้มีการบีบรัดต่อเส้นประสาทมีเดียน และหลอดเลือด บริเวณนั้นได้ ส่งผลต่ออาการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งไปรับความรู้สึกทางด้านฝ่ามือของนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งซีกของนิ้วนาง และเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งมือและโคนนิ้วโป้ง สามารถทำให้เกิดอาการชาบริเวณดังกล่าว และเกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทไปเลี้ยง
ในขณะที่ข้อมือทางด้านนิ้วก้อยจะมีปุ่มกระดูกของข้อมือที่มีเส้นประสาทอัลนาร์ (ulnar nerve) วิ่งโค้งผ่านมาข้างๆ ในลักษณะเหมือนคลองในช่วงโค้ง
เส้นประสาทนี้จะรับความรู้สึกจากนิ้วก้อยและครึ่งซีกของนิ้วนาง รวมทั้งเลี้ยงกล้ามเนื้อบางมัดในมือ หากการทำงานที่ต้องวางข้อมือบนโต๊ะและมีการขยับข้อมือไปมา เช่น การใช้เมาส์ หรือการเขียนหนังสือ อาจส่งผลต่อการกดของเส้นประสาทอัลนาร์ได้ และเมื่อเส้นประสาทนี้เกิดการอักเสบ ก็จะเกิดอาการชาที่นิ้วก้อยและครึ่งซีกของนิ้วนาง ทั้งด้านฝ่ามือและหลังมือ รวมทั้งอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางมัดในฝ่ามือ
กลุ่มโรคเหล่านี้ พบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย ประมาณ ๓ ต่อ ๑ อาจเป็นเพราะอุโมงค์ที่บริเวณข้อมือ ของผู้หญิงจะเล็กกว่าของผู้ชาย และพบในกลุ่มคนอายุประมาณ ๒๐ ถึง ๕๐ ปี ในผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้มือ มีแรงกดที่ข้อมือ
อย่างไรก็ตาม อาจสังเกตได้ว่า ในกลุ่มคนที่ทำงาน เหมือนๆ กัน แต่บางคนเป็นโรคนี้ บางคนไม่เป็น อาจ มีสาเหตุมาจากลักษณะโครงสร้างไม่เหมือนกัน ขนาดของอุโมงค์ไม่เท่ากัน และความแข็งแรงของร่างกายแตกต่างกัน หรือบางคนอาจมีมีโรคอื่นๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยโรคเหล่านี้เป็นโรคที่ทำให้มีผลต่อการบวม เช่น ผู้ที่มีปัญหาไฮโพไทรอยด์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคอ้วน และผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีปัญหาการอักเสบของปลายประสาท
การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติของการอักเสบของเส้นประสาททำได้ไม่ยาก โดยดูจากการทำงานของเส้นประสาท ซึ่งมีหน้าที่หลักคือสั่งการให้กล้ามเนื้อทำงาน และรับความรู้สึก บุคคลทั่วไปสามารถ ทำการตรวจได้ดังนี้
- สังเกตความรู้สึกบริเวณมือว่ามีความผิดปกติไปหรือไม่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจเป็นความรู้สึกชา หรือแปร่งๆ แปลกไปจากเดิมหรือไม่เท่ากันในแต่ละข้าง
- ใช้นิ้วโป้งไล่ถูวนที่ปลายนิ้วแต่ละนิ้ว ทั้ง ๒ ข้างพร้อมๆ กัน หากพบว่าความรู้สึกสัมผัสไม่เท่ากันในแต่ละนิ้วแสดงว่าอาจมีความผิดปกติ
- ทำการตรวจสอบที่ละเอียดไปกว่านั้นโดยใช้สำลีลูบหากพบว่าไม่สามารถรับรู้สึกได้หรือการรับรู้สึกเปลี่ยนไปหรือลดลงไป แสดงว่าอาจมีข้อบกพร่องในการทำงานของเส้นประสาท อย่างไรก็ตาม ควรเปรียบเทียบบริเวณเดียวกันของแขนทั้ง ๒ ข้าง เมื่อทำการเคาะตามเส้นประสาท (อาจทดลอง เคาะตามแขนส่วนล่าง) อาจพบว่าบางจุด บางบริเวณมี อาการแปล๊บๆ วิ่งไปปลายมือ
- อาจพบอาการอ่อนแรง เมื่อทดลองหนีบนิ้วเข้าหากัน หรือกางนิ้วออก บางคนอาจสังเกตจากแรงหยิบจับของลดลง
- สำหรับ CTS อาจทำการทดสอบด้วยท่างอข้อมือให้สุดแล้วค้างไว้ประมาณ ๑ นาที หากพบอาการชา บริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง และนาง ถือว่าผลเป็นบวก
นอกจากนั้น เป็นการตรวจพิเศษด้วยเครื่องมือ เช่น การตรวจการนำกระแสประสาท การตรวจคลื่นไฟฟ้า ดูการทำงานของกล้ามเนื้อ และการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ เพื่อดูการเคลื่อนไหวและขยับตัวของเส้นประสาท ซึ่งการตรวจเหล่านี้เป็นการตรวจโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เท่านั้น
การป้องกันและการดูแลรักษาด้วยตนเอง
การป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มอาการของโรคนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะหากปล่อยให้เกิดอาการขึ้น จะรักษาได้ยากและบางรายอาจมีความพิการหลงเหลืออยู่ ดังนั้น การรักษาควรทำตั้งแต่ระยะแรกๆ เมื่อพบอาการของโรค โดยให้สังเกตตามระยะของโรคคือ ถ้ามีอาการขณะทำงาน แล้วเมื่อนอนพัก ตื่นขึ้นมาไม่มีอาการคงค้างถือว่าเป็นในระยะเริ่มแรก ให้ทำการรักษาเองได้ แต่ต้องพยายามหาวิธีป้องกัน
วิธีป้องกันคือ การปรับสภาพงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีทางการยศาสตร์ดังที่กล่าวมาในหมอชาวบ้านฉบับก่อนๆ เช่น การจัดสถานที่ทำงาน การระมัดระวังเรื่องแรงกดที่ข้อมือ และการเปลี่ยนหมุนเวียนงาน หากมีอาการอยู่ในระยะที่ ๒ หรือ ๓ ซึ่งเป็นระยะที่เมื่อนอนพักค้างคืนแล้วยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อทำการรักษา และต้องทำการปรับเปลี่ยนเรื่องงานด้วย
การออกกำลังกายมีส่วนช่วยในการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรค เพราะร่างกายที่แข็งแรงย่อมทนต่องานที่หนักได้ และเมื่อเกิดอาการก็จะไม่รุนแรงมากเท่าคนที่ไม่แข็งแรง ดังนั้นจำเป็นต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับท่าออกกำลังกายที่ช่วยรักษาโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะที่ ๑ และช่วยป้องกันโรคนี้ผู้เขียนแนะนำดังนี้ ๑. ท่าออกกำลังกายโดยการยืดกล้ามเนื้อ โดยการยื่นมือและแขนของข้างที่ต้องการยืดไปข้างหน้า ใช้มืออีกข้างทำการช่วยกด งอข้อมือลง ค้างไว้ประมาณ ๑๐ วินาที ประมาณ ๕ ครั้ง โดยให้รู้สึกตึงประมาณ ๗/๑๐ โดย ๑๐ คือ ความรู้สึกที่ตึงมากที่สุดที่ทนไม่ไหว ดังนั้น จึงเป็นความรู้สึกที่ตึงแต่ไม่มากนัก
อีกท่าคือ การเหยียดแขนออกพร้อมกระดกข้อมือโดยใช้มืออีกข้างช่วยยืดให้ทำเหมือนกับท่าแรก ทั้ง ๒ ท่านี้ควรทำบ่อยๆ ไม่ควรทำครั้งละมากๆ และไม่ควรกระตุ้นอาการ โดยให้สังเกตว่าหากหยุดทำจะไม่มีอาการ คงค้างอยู่ หากมีอาการคงค้างอยู่ให้ลดแรง เวลา หรือจำนวนครั้งลง
๒. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการใช้น้ำหนัก โดยอาจใช้น้ำใส่ขวดหรือ ตุ้มน้ำหนักก็ได้ แล้วทำการออกกำลังกายในท่าหงายมือ ยกน้ำหนัก และท่าคว่ำมือยกน้ำหนัก เช่นกันท่านสามารถออกกำลังโดยใช้หลักการว่าเมื่อทำแล้วจะไม่กระตุ้นอาการที่มีอยู่
๓. จากประสบการณ์และการทำงานวิจัยของผู้เขียน พบว่า รำไทยมีท่าคล้ายคลึงกับท่าที่ใช้ในการยืดเส้นประสาท และพบว่าสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้ได้ เพียงแต่ต้องทำประมาณ ๕ นาทีสำหรับผู้ที่มีอาการ และมากกว่านั้นสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการและอยากป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตาม อาจประยุกต์ท่ารำไทยมาใช้ในการยืดเส้นประสาทโดทำท่าดังรูป
- อ่าน 61,830 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้