• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ขัดเบา

ยาแก้ขัดเบา


ขัดเบา
คำว่า "ขัดเบา" เป็นคำไทยแท้ มาจากคำว่า "ขัด" และ "เบา"  คำว่า "ขัด" ในที่นี้หมายถึงการติดขัด มีอุปสรรค ไม่สะดวกสบาย ส่วนคำว่า "เบา" หมายถึง การถ่ายเบา หรือฉี่ หรือการถ่ายปัสสาวะนั่นเอง ดังนั้นเมื่อนำทั้ง ๒ พยางค์มารวมกันเป็นคำว่า "ขัดเบา" จึงหมายถึง อาการปัสสาวะติดขัด มีอุปสรรค ไหลไม่สะดวกสบาย

ขัดเบา = กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคขัดเบาที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันนี้ ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกว่า "กระเพาะปัสสาวะอักเสบ" เพราะมีการอักเสบจากการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะจากเชื้อแบคทีเรีย
ซึ่งโดยปกติกระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เก็บน้ำปัสสาวะที่กรองมาจากไต เมื่อมีน้ำปัสสาวะไหลเข้ามาสะสมมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่ง จะมีการส่งสัญญาณประสาทให้รู้สึกว่ากำลังปวดปัสสาวะ เมื่อเราถ่ายเบากำจัดน้ำปัสสาวะที่สะสมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะทิ้งออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ เราก็หายปวดฉี่    ปลดทุกข์เบาเรียบร้อย การที่ร่างกายของเรามีการปัสสาวะเป็นครั้งเป็นคราว น้ำปัสสาวะที่หลั่งออกมาจะทำการล้างท่อปัสสาวะให้สะอาด ซึ่งเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งด้วย

ขัดเบามักเป็นในเพศหญิง
ในเพศหญิงท่อปัสสาวะจะสั้นกว่าในเพศ ชาย (ดังแสดงในรูป) และรูเปิดของท่อปัสสาวะจะอยู่ใกล้ช่องคลอดและรูทวารหนัก ทำให้บางครั้งเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในทวารหนักอาจเดินทางมาที่ช่องคลอดและขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเดินทางต่อมาที่ท่อปัสสาวะ และย้อนขึ้นไปที่กระเพาะปัสสาวะ แล้วขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น จนทำให้เกิดอาการติดเชื้อและอักเสบที่กระเพาะปัสสาวะได้ โรคนี้จึงพบได้บ่อยในสุภาพสตรี

สาเหตุของขัดเบา
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ในสภาวะปกติที่มีการรักษาสุขลักษณะที่ดี และมีการถ่ายปัสสาวะตามปกติ เชื้อโรคก็ไม่สามารถเดินทางไปขยายพันธุ์ และทำให้เกิดการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ แต่ถ้าไม่ดูแลสุขลักษณะที่ดี ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระเพาะปัสสาวะได้ สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การกลั้นปัสสาวะนานเกินไป การมีเพศสัมพันธ์ การดูแลสุขลักษณะที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

การกลั้นปัสสาวะนานเกินไป
เมื่อปวดปัสสาวะแล้วไม่ยอมไปถ่ายเบา แต่กลั้นปัสสาวะเอาไว้ก่อน เช่น ในระหว่างการเดินทางไกล หาห้องน้ำลำบาก ห้องน้ำไม่สะอาด อยู่ในระหว่างปฏิบัติงาน หรือตอนกลางคืน เป็นต้น

การมีเพศสัมพันธ์
พบได้บ่อยในผู้ที่เพิ่งแต่งงาน จนบางครั้งเรียกโรคขัดเบานี้ว่า โรคน้ำผึ้งพระจันทร์ เพราะเกิดขึ้นกับเจ้าสาวหลังงานแต่งงานในระหว่างฮันนีมูน


การดูแลสุขลักษณะที่ไม่เหมาะสม
เช่น การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระในทิศทางที่นำพาเชื้อโรคจากทวารหนักจากทางด้านหลังมาทางด้านหน้ามาหาช่องคลอดและรูเปิดของท่อปัสสาวะตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคมาที่ท่อปัสสาวะ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

อาการของขัดเบา
ส่วนใหญ่จะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได‰เหมือน ปกติ ปัสสาวะบ่อย และปวดปัสสาวะบ่อย อยากถ่ายเบาบ่อย หรือการปัสสาวะ "ขัดบ่อย และอั้นไม่อยู่" ในบางรายอาจมีไข่ขาวออกมาในน้ำปัสสาวะ หรือมีไข้ตัวร้อนได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามขึ้นไปตามท่อไตทำให้เกิดการติดเชื้อที่กรวยไตได้

ชนิดของการขัดเบา
แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดใหญ่ตามอัตราการเป็นโรค คือ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเฉียบพลัน เป็นการติดเชื้อครั้งแรก มีอาการหลัก คือ ขัดบ่อย และอั้นไม่อยู่ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่ดี พร้อมทั้งดูแลสุขอนามัยที่ดี ก็อาจไม่มีอาการอีกเลย แต่ถ้าได้รับการดูแลไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เป็นการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งชนิดหลังนี้มีขั้นตอนและระยะเวลาในการรักษาที่ยุ่งยาก ยาว นาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าชนิดแรกมาก

การดูแลโรคขัดเบา
การดูแลตนเอง เกี่ยวกับเรื่องขัดเบา มี ๓ ระยะ คือ ยังไม่เคยเป็น เมื่อเป็นครั้งแรก และเมื่อกลับมาเป็นใหม่

๑. ในกรณีที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้
ควรป้องกันดูแลสุขอนามัยของการถ่ายหนัก ถ่ายเบาที่ดี ไม่กลั้นปัสสาวะนานเกินไป เมื่อถ่ายอุจจาระก็ควรทำความสะอาด โดยให้เป็นไปในทิศทางจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง ไม่ควรทำความสะอาดย้อนจากด้านหลังมาทางด้านหน้า เพราะอาจพาเชื้อโรคจากอุจจาระมาที่ช่องคลอดและท่อทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ และถ่ายปัสสาวะตามปกติ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

๒. ในกรณีที่เพิ่งเริ่มเป็นโรคขัดเบา
ควรปฏิบัติตัวที่ดีพร้อมทั้งใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยานอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin) ขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม/เม็ด หรือโอฟล็อกซาซิน (ofloxacin) ขนาด ๒๐๐ มิลลิกรัม/เม็ด ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น และควร กินติดต่อกัน ๓-๕ วัน ถึงแม้ว่าจะหายดีแล้วก็ไม่ควรหยุดยา ควรกินติดต่อกันจนหมด
นอกจากยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว ในบางครั้งอาจใช้ยาช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง เช่น ยาพาราเซตามอล ยากรดมีเฟนามิก (mefenamic acid) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือไฮออสซีน (hyoscine) เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องได้ แต่ควรใช้เมื่อมีอาการปวดท้องเท่านั้น ถ้าไม่มีอาการปวดท้องแล้ว ก็ควรหยุดยาเสียเพราะไม่เกิดประโยชน์ อันใดในการรักษา

ยาอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กันแพร่หลายใน อดีต แต่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เช่น ยาไพรีเดียม (Pyridium) ยาเมไทลีนบลู (me-thylene blue) เป็นต้น
ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ในการเปลี่ยนสีของปัสสาวะ โดยยาไพรีเดียมจะเปลี่ยนสีของปัสสาวะให้เป็น สีแดง เมื่อผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะ ก็จะเกิดเป็นสีส้มแดงเมื่อมีการใช้ยานี้

ส่วนยาเมไทลีนบลูจะเป็นส่วนประกอบชนิด หนึ่งในตำรับยาเม็ดรักษาโรคไตที่มีจำหน่ายในร้านยา ยานี้จะเปลี่ยนสีของปัสสาวะไปเป็นสีน้ำเงิน เมื่อผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะ จะกลายเป็นสีเขียว ดังนั้นการที่สีของปัสสาวะเปลี่ยนสีไปเมื่อกินยาทั้งสองนั้น จากสีเหลืองจนสีชาน้ำตาลตามปกติ ไปเป็นสีส้มแดงหรือเขียวน้ำเงิน จึงเป็นเพราะ กินยาที่เป็นสีดังกล่าว โดยที่ยาทั้งสองนี้ไม่ได้ไปขับไล่เลือดเสียหรือเชื้อโรคออกจากร่างกายตามความเชื่อของบางคนที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนสีของปัสสาวะ และยาทั้งสองนี้ก็ทำให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรคนี้น้อยมาก ในปัจจุบันจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว

๓. ในกรณีที่กลับมาเป็นใหม่
ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคขัดเบาบ่อยๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาทั้งสองชนิดข้างต้น ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการรักษาโรคนี้

ข้อมูลสื่อ

313-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด