• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๕)

บนเส้นทางหนังสือ (๕)
 

ตอนที่แล้วเราคุยกันจากหนังสือ "ศิลปะแห่งความสุข"  ของท่านทะไล ลามะ ถึงตอนที่ว่า ความเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นทำให้เกิดความกรุณา
"วิธีทางพุทธอย่างหนึ่งในการทำให้เกิดความกรุณา" ท่านทะไล ลามะ ตรัสต่อไป "คือการคิดถึงผู้อื่นที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน เช่น คิดถึงแกะที่กำลังจะถูกคนฆ่าสัตว์ฆ่า"
"แต่วิธีนี้น่าจะไม่ได้ผลสำหรับคนที่จิตใจแข็งกระด้าง เช่น ไปบอกให้คนฆ่าสัตว์คิดสงสารสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่าคงไม่ได้ผล หรือว่าไปบอกคนตะวันตกที่คุ้นเคยกับการล่าสัตว์ตกปลาเพื่อความบันเทิงให้สงสารสัตว์ที่ทุกข์ทรมานจากความบันเทิง ของเขาก็คงจะไม่ได้ผล"
"ในกรณีเช่นนี้ คือผู้ล่าไม่มีความกรุณาต่อเหยื่อที่ถูกล่า แต่ถ้าลองวิธีนี้ล่ะ ลองกระตุ้นให้เขานึกถึงหมาล่าเนื้อที่เขารักมากไปติดบ่วงแล้วร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด..." หมอคัตเลอร์แนะขึ้น
"ใช่เลย..." ท่านทะไล ลามะ เห็นด้วย "คงต้องดัดแปลงเทคนิคไปตามสถานการณ์ สำหรับคนที่ไม่มีจิตใจสงสารสัตว์ก็อาจจะต้องชวนให้นึกถึงคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อจะให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ"
"อาตมาคิดว่า ความเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่นไม่ใช่เพียงเพิ่มความกรุณาเท่านั้น แต่ว่ายังมีประโยชน์อื่นอีกถ้าเราสมมติตัวเราเองเข้าไปอยู่ในฐานะของคนคนนั้น แล้วเราจะรู้สึกอย่างไร เทคนิคนี้ต้อง "แขวน" การตัดสินใจโดยใช้ทัศนะของตัวคุณเองไว้ก่อน แล้วจินตนาการว่าถ้าคุณอยู่ในฐานะของเขาบ้าง คุณจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยวิธีนี้จะทำให้คุณมีสำนึกและเคารพในความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาและความขัดแย้งกับคนอื่น"

การสัมภาษณ์ท่านทะไล ลามะ บ่ายวันนี้ใช้เวลาสั้น เพราะหมอคัตเลอร์ขอแทรกเข้ามาในรายการที่แน่นขนัดของท่านทะไล ลามะ แต่หมอคัตเลอร์ก็ยังอดถามคำถามสุดท้ายไม่ได้ "ท่านยังมีคำแนะนำอื่นอีกไหม ที่ท่านใช้ในการสร้างความเห็นใจคนอื่น"
"เมื่ออาตมาพบใคร อาตมาจะใช้จุดที่เรามีร่วมกันโดยพื้นฐานที่สุด เช่น เราเป็นคนเหมือนกันมีร่างกาย มีจิตใจ มีอารมณ์ เราเกิดเราตายเหมือนกัน เราต้องการ ความสุขและไม่ต้องการความทุกข์เช่นเดียวกัน เรามอง ณ จุดยืนพื้นฐานอย่างนี้มากกว่าไปมองสมมติที่ต่างกัน เช่น เป็นคนทิเบต สีผิว ศาสนา วัฒนธรรมต่างกัน โดยวิธีนี้ทำให้อาตมารู้สึกว่าอาตมากำลังพบใครที่ไหนก็คนเหมือนๆ กับอาตมานั่นเอง เมื่อเราทำให้อยู่ในระนาบเดียวกัน ก็ทำให้การแลกเปลี่ยนและสื่อสารกันเป็นไปอย่างง่าย"
ในเช้าวันรุ่งขึ้น หมอคัตเลอร์มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านทะไล ลามะ อีกที่กุฏิของท่าน
"ที่แอริโซนา เราคุยกันถึงความสำคัญของความกรุณาในสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ และเมื่อวานนี้ก็พูดถึงบทบาทของความเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น ในการพูดคุยกัน..." หมอคัตเลอร์เริ่มการสนทนา
"ใช่" ท่านทะไล ลามะ พยักหน้า
"นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ท่านยังมีวิธีการใดอันจำเพาะเจาะจงที่จะทำให้เราสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างได้ผล"
"ก็อย่างที่พูดไปแล้วเมื่อวาน ไม่มีทางที่จะมีวิธีง่ายวิธีหนึ่งหรือสองวิธีจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่จะช่วยสร้างทักษะในการสร้างสัมพันธภาพ หนึ่งคือต้องเข้าใจภูมิหลังของคนที่คุณกำลังคุยด้วย นอกจากนั้น การเปิดใจกว้างและความสุจริตใจ เป็นคุณสมบัติที่ช่วยในการสร้างสัมพันธภาพที่ดี"
หมอคัตเลอร์คอยฟังต่อ แต่ท่านก็ไม่พูดอะไรอีก
"ท่านจะแนะวิธีอื่นอีกไหมที่จะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดี" เขาพยายามถามอีก
"ไม่มี" ตรัสพร้อมทั้งหัวเราะ
หมอคัตเลอร์รู้สึกไม่พอใจในคำแนะนำ รู้สึกว่ามันดาษดื่นและง่ายเกิน แต่ก็ต้องหยุดเรื่องนี้ และหันไปหาเรื่องอื่น

ค่ำวันนั้นหมอคัตเลอร์ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านเพื่อนชาวทิเบต ที่ธรรมศาลา เป็นเย็นวันที่สนุก อาหารก็อร่อย มีกับข้าวอร่อยๆ หลายชนิด เริ่มด้วยขนมจีบรสจัดของทิเบตที่เรียกว่า "โมมอส" แล้วแขกก็สนุกแล้วก็เล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องอันน่าอับอายของตัวเองเวลาเมา มีสามีภรรยาผู้มีชื่อเสียงคู่หนึ่ง ภรรยาเป็นสถาปนิก สามีเป็นนักเขียน เขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม หมอคัตเลอร์สนใจเรื่องการเขียนหนังสือ จึงพยายามคุยกับสามีเรื่องการเขียนหนังสือ แต่พบว่าเขาตอบสั้นๆ พอเป็นพิธี กิริยาทื่อๆ ไม่เป็นกันเอง เขาคิดว่าคนคนนี้ไม่มีความเป็นมิตร วางภูมิ จึงรู้สึกไม่ชอบจึงหันไปคุยกับแขกคนอื่นๆ ที่ดูมีแก่จิตแก่ใจมากกว่า

วันรุ่งขึ้น หมอคัตเลอร์พบเพื่อนคนหนึ่งที่ร้านกาแฟในหมู่บ้านจึงเล่าเรื่องการไปงานเลี้ยงอาหารเย็นเมื่อวานให้เขาฟัง
"ผมมีความสุขกับการพูดคุยกับทุกคน นอกจากกับรอลฟ์ นักเขียนคนนั้นเขาเย่อหยิ่ง และไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย"
"ผมรู้จักคนคนนี้มาหลายปี" เพื่อนคนนั้นว่า "ผมรู้ว่าใครพบเขาครั้งแรกจะรู้สึกแบบนั้น เป็นเพราะว่าเขาเป็นคนขี้อาย แต่แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นคนดีมากเลย ถ้าคุณได้รู้จักเขาจริงๆ"
"แม้เขาจะประสบความสำเร็จสูงในการเรียน แต่ชีวิตเขามีความยากลำบากมาก รอลฟ์ประสบความทุกข์มามาก ครอบครัวของเขาได้รับพิษภัยแสนสาหัสจากพวกนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขามีลูก ๒ คน ที่เขารักมาก แต่ทั้ง ๒ ก็เป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้พิการทั้งทางกายและทางจิต แต่แทนที่จะจมอยู่กับความทุกข์ เขาพยายามไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นอาสาสมัครไปทำงานกับคนพิการมาหลายปีแล้ว เขาเป็นคนพิเศษจริงๆ ถ้าคุณรู้จักเขาดี"

แล้วปลายสัปดาห์นั้นเอง หมอคัตเลอร์ก็ได้พบรอลฟ์อีกที่สนามบินเล็กแถวนั้น เรื่องมีว่า เขานั่งเครื่องบินจากที่นั่นไปนิวเดลี แต่เที่ยวบินถูกยกเลิก และกว่าจะมีการบินอีกก็หลายวัน เลยชวนกันเดินทางโดยรถยนต์บนเส้นทางอันขรุขระและใช้เวลาถึง ๑๐ ชั่วโมง เมื่อได้ทราบภูมิหลังของรอลฟ์จากเพื่อน หมอคัตเลอร์มีความรู้สึกที่ดีขึ้นและอยากพูดคุยกับเขา และพยายามคุยกับเขานานๆ เมื่อเริ่มต้นเขาก็ยังชาเย็นเหมือนเดิม แต่ด้วยความรู้สึกที่ดีและอดทน หมอคัตเลอร์พบว่า เขาเป็นคนขี้อายมากกว่าเป็นคนเย่อหยิ่ง แต่หลังจากคุยกันไปนานๆ หมอคัตเลอร์พบว่า เขาเป็นคนที่มีความเป็นมิตร มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ดีอย่างยิ่ง กว่าจะถึงนิวเดลี หมอคัตเลอร์ก็ระลึกได้ถึงคำแนะนำของท่านทะไล ลามะ ที่ว่า "ทำความเข้าใจภูมิหลังของคนอื่น" นั้นไม่ใช่เรื่องผิวเผินเสียแล้ว ใช่ มันดูง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องโง่เง่าเลย บางทีคำแนะนำก็ดูธรรมดาๆ และตรงไปตรงมา ที่เรามักจะคิดว่า ไร้เดียงสา แต่กลายเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในการช่วยให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปด้วยดี

หมอคัตเลอร์ยังอยู่ในนิวเดลีอีกหลายวัน และพบว่าช่างแตกต่างจากความสงบที่ธรรมศาลามาก ทำให้เขาอารมณ์บ่จอย นอกจากร้อน ขี้ฝุ่น ผู้คนเบียดเสียดเยียดยัด แล้ว ตามถนนหนทางยังมีพวกล่าเหยื่อนานาชนิด เขาตกเป็นเหยื่อของคน ๒ คนที่มีแผนร่วม ขณะที่เผลอคนหนึ่งก็สาดสีแดงใส่รองเท้าของเขา เดินไปสักพัก ผู้ร่วมงานของ คนแรกซึ่งเป็นเด็กขัดรองเท้า ชี้ให้เขาดูว่ารองเท้าของเขาเปื้อนสี และรับอาสาจะขัดรองเท้าให้ด้วยราคาปกติ เขาก็ขัดรองเท้าให้มันภายในเวลา ๒-๓ นาที เมื่อเสร็จก็เรียกร้องค่าบริการ เป็นเงินมากทีเดียว ประมาณว่า ๒ เท่าของเงินเดือนของคนทั่วๆ ไป ในนิวเดลี เมื่อหมอคัตเลอร์ประท้วงเขาก็ยืนยันว่านั่นเป็นราคาที่ตกลงกันไว้ เมื่อเขาไม่ให้เด็กก็ตะโกนโหยหวนให้ฝูงชนเข้ามามุงดูคนที่ไม่ยอมจ่ายค่าบริการ ทั้งๆ ที่รับบริการไปแล้ว ต่อมาเขาได้เรียนรู้ว่านี่เป็นวิธีล่าเหยื่อที่ใช้กันบ่อย โดยร้องเรียกฝูงชนให้เข้ามากลุ้มรุมดู เพื่อทำให้เหยื่อยอมจ่ายเงิน เพื่อจะหลบหลีกออกไปจากสถานการณ์

บ่ายวันนั้นหมอคัตเลอร์รับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนในโรงแรม เขาเลยลืมเรื่องเช้าวันนั้น เพราะมัวตอบคำถามเพื่อนเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ท่านทะไล ลามะ โดยเฉพาะความคิดของท่านในเรื่องความเห็นใจในความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ และความสำคัญในการเข้าใจมุมมองของผู้อื่น หลังอาหารหมอคัตเลอร์กับเพื่อนผู้นั้นก็ขึ้นแท็กซี่ไปด้วยกันเพื่อไปเยี่ยมเพื่อนในรถ ความคิดของหมอคัตเลอร์กลับไปถึงเรื่องที่ถูกเด็กขัดรองเท้าหลอก พลันเหลือบไปเห็นที่มิเตอร์
"หยุดเดี๋ยวนี้" หมอคัตเลอร์ตะโกน เพื่อนสะดุ้งโหยงในการระเบิดอารมณ์ของ เขา คนขับแท็กซี่ร้องด่าเขามา แต่ไม่ยอมหยุด
"หยุดเดี๋ยวนี้" หมอคัตเลอร์ตะโกนด้วยความคลั่ง เพื่อนของเขารู้สึกช็อก แท็กซี่หยุด หมอคัตเลอร์ชี้ให้ดูที่มิเตอร์ ไคุณไม่ได้ตั้งมิเตอร์ เมื่อออกรถ ตัวเลขมันขึ้นกว่า ๒๐ รูปีแล้ว"
"ผมเสียใจครับ" คนขับพูดอย่างเฉยเมย "ผมลืมตั้ง ผมจะตั้งใหม่เดี๋ยวนี้"
"คุณไม่ได้ตั้งอะไรใหม่เลย" หมอคัตเลอร์พูดด้วยความเดือดดาล "ผมเบื่อพวก คุณเต็มที ที่คอยแต่จะเอาสตางค์คนอื่น ขับวกๆ วนๆ  บ้าง หรือทำอะไรก็ได้ที่จะเอาเงินคนอื่น กูเบื่อฉิบหาย"  เพื่อนหมอคัตเลอร์รู้สึกอับอาย คนขับแท็กซี่จ้องมองหมอคัตเลอร์ด้วยดวงตาเฉยเมย เหมือนสายตาของวัวที่เดินอยู่ตามถนนในนิวเดลี เขาหยุดรถโดยตั้งใจให้มันกีดขวางการจราจร แล้วก็มองหมอคัตเลอร์เหมือนจะบอกว่า การระเบิดอารมณ์ของเขาเป็นเพียงสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย หมอคัตเลอร์โยนเงิน ๒-๓ รูปีไปที่คนขับ แล้วก็เปิดประตูลงจากรถไปพร้อมกับเพื่อน

หลังจากนั้นก็เรียกรถแท็กซี่คันใหม่ แล้วก็คอยจ้องดูมิเตอร์ และบ่นเรื่องทุกๆ คนในนิวเดลีดูเหมือนจะคอยจ้องที่จะโกงนักท่องเที่ยว เพื่อนของหมอคัตเลอร์ฟังอย่าง เงียบๆ ขณะที่เขามีอารมณ์บ้าคลั่ง แต่ในที่สุดเธอก็พูดขึ้นว่า "ยี่สิบรูปีนั้นมันเท่ากับหนึ่งส่วนสี่ดอลลาร์แค่นั้นเอง ทำไมคุณจึงโกรธเกรี้ยวขนาดนั้น"
"แต่เรื่องหลักการนั้นสำคัญ" หมอคัตเลอร์ตอบ "ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคุณจึงนั่งสงบอยู่ได้ท่ามกลางความเลวร้าย ไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนบ้างหรือไง"
"ก็มีเหมือนกัน" เพื่อนว่า "แต่ฉันนึกถึงเรื่องที่เราคุยกันระหว่างอาหารกลางวันที่ท่านทะไล ลามะ พูดถึงความสำคัญของการมองเห็นความเป็นไปในมุมมองของคนอื่น"
ไระหว่างที่คุณกำลังโกรธเกรี้ยว ฉันพยายามคิดว่าฉันกับคนขับแท็กซี่มีอะไรร่วมกัน เราต้องการกินดีอยู่ดี รู้สึกเป็นสุข มีคนรักเรา...แล้วฉันก็พยายามจินตนาการว่าฉันเป็นคนขับแท็กซี่ นั่งตัวแข็งอยู่ในรถทั้งวันไม่มีแอร์ ฉันอาจจะโกรธและอิจฉาชาวต่างชาติที่ร่ำรวย สิ่งที่ฉันจะทำได้ดีที่สุดให้มันยุติธรรม เพื่อจะได้รู้สึกเป็นสุขบ้าง ก็คือหาทางหลอกเอาเงินเขา แต่ก็นึกไม่ออกว่ามันจะช่วยให้มีความสุขมากขึ้นอย่างไรโดยทำเช่นนั้น แต่เมื่อฉันจินตนาการว่าฉันเป็นคนขับแท็กซี่เสียเองเช่นนั้น ฉันก็โกรธเขาน้อยลง ชีวิตเขาดูน่าเศร้า ฉันไม่ได้หมายความว่าเขาถูกที่ทำเช่นนั้น แต่มันก็ไม่ทำให้ ฉันอารมณ์เสียถึงขั้นไปเกลียดเขาที่เขาทำเช่นนั้น..."

หมอคัตเลอร์นิ่งเงียบ รู้สึกตกใจที่ว่าตัวเองได้ดูดซับมาจากท่านทะไล ลามะ น้อยมาก ถึงตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่ท่านแนะนำ เช่น "เข้าใจภูมิหลังของคนอื่น" และพบว่าตัวอย่างที่ท่านทะไล ลามะ ปฏิบัติในชีวิตของท่านเองก่อให้เกิดความบันดาลใจในทางที่ดี เมื่อเขานึกย้อนกลับไปถึงการพูดคุยสัมภาษณ์ท่านตั้งแต่แอริโซนาต่อมาจนถึงอินเดีย เขาได้เพียงเหมือนร่างกายที่ไม่มีชีวิต แต่ในกรณีนี้มันเป็นเรื่องร่างกายที่มีชีวิตและจิตวิญญาณจริงๆ จนกระทั่งถึงขณะนั้นเขาไม่ได้คิดที่จะประยุกต์ใช้สิ่งที่เขาเรียนรู้จากท่านทะไล ลามะ ในชีวิตจริงๆ ของเขาเลย (เรามักเรียนอะไรๆ เป็นแค่ความรู้ แต่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและพฤติกรรมใหม่)

ตรวจสอบสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์
หมอคัตเลอร์ว่าการพูดคุยของเขากับท่านทะไล ลามะ เริ่มที่แอริโซนาถึงเรื่องบ่อเกิดของความสุข แม้ท่านจะเป็นพระ การศึกษาวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่าชีวิตคู่เป็นปัจจัยของความสุข การมีความใกล้ชิดและผูกพันกับใครบางคนทำให้สุขภาพดีและความพออกพอใจในชีวิต มีการสำรวจเป็นพันๆ ชิ้นในหมู่คนอเมริกันและยุโรปที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีคู่มีความสุขมากกว่าคนโสดและคนที่เป็นม่าย...โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับคนที่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่

ครั้งหนึ่งก่อนถึงเวลาสัมภาษณ์ท่านทะไล ลามะ เขานั่งอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งที่เฉลียงของโรงแรมในทูซอน สนทนากันถึงเรื่องความรักและการแต่งงาน และก็เกิดความเวทนาคนโสด ระหว่างนั้นก็มีหญิงชายคู่หนึ่งมานั่งโต๊ะใกล้ๆ ดูจะเป็นคู่แต่งงานเก่า ไม่ใช่คู่มาฮันนีมูน แต่ก็ยังดูหนุ่มสาวอยู่ พอลงนั่งก็เริ่มโต้เถียงกันทีเดียว
"ฉันบอกเธอแล้วว่าเราจะสาย" ผู้หญิงกล่าวโทษอย่างฉุนเฉียว "และนี่ก็ไม่มีเวลาจะกินแล้ว ฉันไม่สามารถจะกินอาหารอย่างมีความสุขได้เลย"
"...ก็ถ้าคุณไม่ใช้เวลานานเกินไปที่จะทำตัวให้พร้อม..." ผู้ชายตอบกลับมาด้วยเสียงเบากว่า แต่ทุกพยางค์อาบไปด้วยความรำคาญและอำมหิต
"ฉันพร้อมตั้งครึ่งชั่วโมงแล้ว คุณนั่นแหละที่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ให้จบเสียก่อน..."
แล้วก็เถียงกันไปอย่างนั้น โดยไม่หยุดเลย นักแต่งบทละครชาวกรีกชื่อยูริปิเดส กล่าวว่า "การแต่งงานอาจจะไปได้ดี แต่ถ้ามันล้มเหลว คนที่แต่งงานก็เหมือนตกนรก"
การโต้เถียงรุนแรงขึ้น ทำให้การคร่ำครวญถึงความเป็นโสดของหมอคัตเลอร์กับเพื่อนต้องยุติลง
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน หมอคัตเลอร์ตั้งใจจะถามความเห็นของท่านทะไล ลามะ ถึงความสุขและคุณค่าของความรักและการแต่งงาน เมื่อเข้าไปถึงห้องของท่านเลยเปลี่ยนคำถามเป็นว่า "ท่านคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ"
"เรื่องความขัดแย้งนั้นสลับซับซ้อน" ท่านทะไล ลามะ อธิบาย "อาจมีหลายเหตุปัจจัย ดังนั้นเกี่ยวกับความพยายามที่จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสัมพันธภาพ  ขั้นแรกจะต้องทบทวนถึงธรรมชาติพื้นฐานของสัมพันธภาพนั้นๆก่อน"
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าสัมพันธภาพมีหลายประเภท และมีความแตกต่างกันระหว่างประเภทต่างๆ ตัวอย่างเช่น อย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องสามีภรรยา พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนก่อน ในความเป็นเพื่อนธรรมดาๆ นี่ก็ยังมีหลายชนิด มิตรภาพบางชนิดขึ้นกับฐานะทางการเงิน อำนาจ ตำแหน่ง มิตรภาพชนิดนี้จะยืนยงอยู่ตราบเท่าที่ยังมีเงิน อำนาจและตำแหน่ง ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ มิตรภาพก็หายไป แต่มีมิตรภาพอีกชนิดหนึ่งไม่เกี่ยวกับเงิน อำนาจหรือตำแหน่ง แต่ว่าขึ้นกับหัวใจของความเป็นมนุษย์ ความสนิทสนม การมีส่วนร่วม และรู้สึกเชื่อมโยงกัน มิตรภาพแบบนี้เป็นมิตรภาพที่แท้ ไม่เกี่ยวกับเงิน อำนาจ ตำแหน่งว่ามันจะเพิ่มหรือลด ปัจจัยที่ประคับประคองมิตรภาพที่แท้คือความรัก ถ้าไม่มีความรักก็ไม่มีมิตรภาพที่แท้ เราเคยคุยเรื่องนี้กันมาก่อนแล้ว แต่ถ้ามีปัญหาเรื่อง สัมพันธภาพ ก็ควรจะถอยหลังกลับมาตั้งหลักพิจารณาถึงพื้นฐานของสัมพันธภาพนั้นๆ

"ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีปัญหาระหว่างสามีภรรยา ก็ควรจะพิจารณาถึงพื้นฐานของสัมพันธภาพ ยกตัวอย่าง มักจะพบว่าพื้นฐานของสัมพันธภาพคือความดึงดูดทางเพศ เมื่อทั้งคู่แรกพบอาจมีความดูดดื่ม และมีความสุขอย่างยิ่งในความรัก" ท่านทะไล ลามะ หัวเราะ "และถ้าตัดสินใจแต่งงานบนพื้นฐานอย่างนั้นละก็ ชีวิตคู่ก็ไม่ยั่งยืน ก็เหมือนกับที่ใครคนใดคนหนึ่งอาจจะเป็นบ้าไป เพราะความโกรธหรือความเกลียด คนก็อาจจะเป็นบ้าไปเพราะความรัก หรือราคจริตก็ได้ หรือในบางกรณี คุณอาจพบว่า บุคคลรู้ว่าคู่รักเป็นคนไม่ดี แต่ก็ยังรักอยู่ แบบนี้อยู่ไม่ยืด เพราะมันขึ้นกับปรากฏการณ์ ชั่วคราว ความรู้สึกแบบนั้นมีอายุสั้น มันหายไปได้เร็ว การแต่งงานชนิดนี้ไม่ยั่งยืน คุณคิดว่าอย่างไร?"
"ผมเห็นด้วย" หมอคัตเลอร์ตอบ ในสัมพันธภาพใดๆ แม้รายที่เร่าร้อนที่สุด ความคลั่งไคล้แรกๆ ก็จะเย็นลง การวิจัยพบว่าคนที่คิดว่าความคลั่งไคล้และปฏิพัทธ์สำคัญสำหรับสัมพันธภาพ มักจะจบลงด้วยตาสว่างและการหย่าร้าง

นักจิตวิทยาสังคม ชื่อเอลเลน เบอร์ชีด ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สรุปว่า ความไม่เข้าใจว่าความรัก     อย่างคลั่งไคล้หลงใหลมีอยู่ช่วงระยะเวลาอันสั้น จะทำให้สัมพันธภาพระหว่างสามีภรรยาล่มลงเร็ว เธอและคณะ รู้สึกว่าอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นมากในระยะ ๒๐ ปีหลังนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ความสำคัญกับอารมณ์รักมากขึ้น แต่มันไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน
"ดูจะจริงทีเดียว" ท่านทะไล ลามะ ว่า "ดังนั้นเมื่อมีปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล  ความเข้าใจถึงธรรมชาติเบื้องหลังของสัมพันธภาพจึงสำคัญมาก"
"ทีนี้ ในขณะที่สัมพันธภาพบางทีอยู่ที่ความดึงดูดทางเพศ แต่ก็มีสัมพันธภาพชนิดอื่นๆ อีกก็ได้ เช่น คนที่จิตใจสงบจะเข้าใจว่า แม้คู่ของเขาจะดูไม่สวยทางกาย แต่เป็นคนดี เป็นคนจิตใจดีและสุภาพ สัมพันธภาพประเภทหลังนี้จะอยู่ยืนนานกว่าประเภทคลั่งรัก เพราะมีหัวใจของความเป็นมนุษย์มากกว่า..."
ท่านทะไล ลามะ หยุดคิดชั่วครู่ แล้วกล่าวต่อ "อาตมาอยากจะให้เข้าใจว่า ความสัมพันธ์ที่ดีนั้น มีความดึงดูดทางเพศเป็นส่วนประกอบหนึ่งได้ด้วย ดังนั้นจึงมีความดึงดูดทางเพศได้ ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งขึ้นกับความต้องการทางเพศเท่านั้น ในกรณีนี้ แรงจูงใจของการเข้าหากัน เป็นเพียงความพึงพอใจสั้นๆ ในความสัมพันธ์ประเภทนี้ ทั้งคู่นึกถึงความเป็นวัตถุ (ที่ให้ความพึงพอใจ) มากกว่าความเป็นคน สัมพันธภาพชนิดนี้มักจะไม่ดี เป็นความใคร่ที่ปราศจากความเคารพซึ่งกันและกัน กลายเป็นประดุจโสเภณีกรรม ไม่มีใครเคารพใคร เหมือนสร้างบ้านอยู่บนน้ำแข็ง เมื่อน้ำแข็งละลายบ้านก็พัง"
"อย่างไรก็ตาม มีสัมพันธภาพอีกชนิดหนึ่ง แม้มีพื้นฐานอยู่ที่ความดึงดูดทางเพศ แต่ความดึงดูดทางเรือนกายไม่ใช่สำคัญเหนือสิ่งอื่น มีคุณค่าอื่นๆ เช่น ความดี ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนอื่น สัมพันธภาพที่มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์จะยั่งยืนกว่า และมีคุณภาพกว่าการที่จะสร้างสัมพันธภาพชนิดนี้ จะต้องใช้เวลาทำ  ความรู้สึกกันอย่างแท้จริง และรู้ถึงคุณลักษณะของแต่ละฝ่าย"
"ดังนั้น เมื่อมีคนถามอาตมาถึงชีวิตคู่ของเขา อาตมามักจะถามว่าเขารู้จักกันนานเท่าใด ถ้าเขาตอบว่า ๒-๓ เดือน อาตมาก็จะพูดว่ามันสั้นเกินไป ถ้าเขาว่ารู้จักมา ๒-๓ ปี อาตมาก็จะบอกว่านั่นค่อยยังชั่วหน่อย เขาต้องไม่รู้จักกันเพียงรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่รู้จักธรรมชาติของแต่ละฝ่ายอย่างลึกซึ้ง..."
"นี่มันก็คล้ายๆ กับที่มาร์ค ทเวน อ้างถึง หญิงชายจะไม่มีวันรู้ว่าความรักที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร จนกว่าจะแต่งงานอยู่กินกันไปแล้ว ๒๕ ปี..." หมอคัตเลอร์สนองขึ้น

ท่านทะไล ลามะ พยักหน้าและตรัสต่อ "ใช่ อาตมาว่าปัญหามันเกิดขึ้นจากไม่มีเวลารู้จักกันพอ อย่างไรก็ตาม อาตมาคิดว่าใครก็ตามที่อยากจะสร้างสัมพันธภาพที่ให้ ความพึงพอใจ วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดขึ้น คือศึกษาให้รู้ธรรมชาติที่ลึกซึ้งของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วก็สัมพันธ์กับเขาในระดับนั้น แทนที่จะเป็นระดับของลักษณะที่ผิวเผินของเขา ในสัมพันธภาพชนิดนี้ ความกรุณามีบทบาทสำคัญทีเดียว"

"อาตมาได้ยินว่า คนจำนวนมากอ้างว่าชีวิตคู่ของเขามีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าเพศสัมพันธ์ การแต่งงานหมายถึงคนสองคนผนึกชีวิตเข้าด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และมีความแนบสนิทกันเป็นพิเศษ ถ้าหมายจริงตามนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี สัมพันธภาพที่ดีต้องหมายถึงร่วมรับผิดชอบร่วมพันธกรณีต่อกัน แน่นอนว่ากายสัมผัส เพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างคนสองคน สามารถทำให้เกิดความพึงพอใจและจิตใจสงบได้ แต่พูดในแง่ชีววิทยา วัตถุประสงค์ของเพศสัมพันธ์คือการมีลูก การที่จะสำเร็จประโยชน์ต้องการความรับผิดชอบร่วมกันต่อลูก เพื่อลูกจะได้มีชีวิตรอดและเติบโตด้วยดี ดังนั้นการพัฒนาความสามารถที่จะรับผิดชอบและมีพันธกรณีจึงมีความสำคัญยิ่ง ถ้าขาดไปเสียแล้ว สัมพันธภาพก็เป็นเรื่องชั่วขณะและเพื่อความสนุกแค่นั้นเอง" ท่านทะไล ลามะหัวเราะเสียงดัง อันเป็นลักษณะวิสัยเฉพาะตัวของท่าน

ข้อมูลสื่อ

314-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 314
มิถุนายน 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี