ยาเบาหวาน...หยุดกินไม่ได้หรือ?
ผมมักจะได้รับคำถามทำนองนี้เป็นประจำ เมื่อไปบรรยายให้คนทั่วไปฟังเกี่ยวกับการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง
ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมักไม่เข้าใจว่า เมื่อรักษาโรคเหล่านี้ได้ผลแล้วทำไมแพทย์จึงยังกำชับให้กินยาต่อไปเรื่อยๆ
บางคนถึงกับแอบหยุดยาเอง หรือเลิกไปหาหมอเลย เมื่อรู้สึกว่าได้ยารักษามาระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายรู้สึกสุขสบาย
ในการตอบข้อกังขานี้ ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคเรื้อรังกลุ่มนี้ ว่ามีความแตกต่างจากโรคเฉียบพลันที่เราคุ้นเคยกันอย่างไรเสียก่อน
ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ
ประการที่ ๑ โรคเฉียบพลันจะมีอาการปรากฏชัดเจน เช่น ไข้หวัด คออักเสบ จะมีอาการตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ปอดอักเสบ จะมีอาการตัวร้อน ไอ หายใจหอบ ถ้าให้การรักษาแล้วได้ผล อาการไม่สบายต่างๆ ก็จะหายไปจนเป็นปกติ (สุขสบาย) การที่จะบอก (ตัดสิน) ว่ารักษาได้ผลหรือไม่ จึงสามารถดูจากอาการแสดงของโรคได้ ส่วนโรคเรื้อรังกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในขั้นรุนแรงไม่มาก เช่น
เบาหวาน ถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่เกิน ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร ผู้ป่วยมักจะรู้สึกสุขสบาย จะมีอาการชัดเจน เช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ต่อเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดเกิน ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร ขึ้นไป ความดันเลือดสูงเล็กน้อยถึงปานกลาง มักจะรู้สึกสบายดี จะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ต่อเมื่อความดันสูงมากๆ เช่น มากกว่า ๑๘๐/๑๑๐ มิลลิเมตรปรอท สำหรับโรคเรื้อรังกลุ่มนี้ แม้ว่าจะอยู่ในขั้นรุนแรงไม่มาก (และไม่มีอาการแสดง) แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ เข้า อาจเป็นเวลา ๕-๑๐ ปีขึ้นไป ก็อาจก่อเกิดโรคแทรกซ้อนอันตรายได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจ) โรคหลอดเลือดสมองตีบ (อัมพาต อัมพฤกษ์) โรคหลอดเลือดไตตีบ (ไตวาย) โรคแทรกซ้อนเหล่านี้มักค่อยๆ ก่อเกิดขึ้นทีละน้อย โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว สะสมจนถึงจุดที่โรคระเบิดออกมา ก็จะปรากฏอาการที่น่าตกใจ และยุ่งยากในการเยียวยาต่อไป วงการแพทย์จึงเรียกขานโรคเรื้อรังกลุ่มนี้ว่า silent killer ซึ่งแปลว่า "นักฆ่าเงียบ" ("ฆาตกรมืด" หรือ "มัจจุราชมืด") ดังนั้นการที่จะบอก (ตัดสิน) ว่าโรคเรื้อรังกลุ่มนี้รักษาได้ผลหรือยัง จึงไม่สามารถดูจากอาการแสดงของโรคได้ แต่ต้องมีการตรวจความดัน (สำหรับโรคความดันเลือดสูง) และระดับน้ำตาลในเลือด (สำหรับเบาหวาน) เป็นระยะๆ จึงจะทราบผลแน่นอน
ประการที่ ๒ โรคเฉียบพลันเมื่อรักษา (ด้วยยาหรือการผ่าตัด) จนอาการหาย ก็ถือว่าหายขาด และสิ้นสุดการรักษา (ไม่ต้องคอยหาหมออยู่เรื่อยๆ) แต่โรคเรื้อรังกลุ่มนี้ เนื่องจากร่างกายมีความบกพร่องบางอย่าง (มักจะเป็นผลจากความผิดปกติทางพันธุกรรม) จึงทำให้ค่าความดันหรือน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติทั่วไปอย่างถาวร (เป็นโรคประจำตัว) จึงจำเป็นต้องปรับพฤติกรรม (ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว) ควบคู่กับการใช้ยา เพื่อควบคุมให้ค่าต่างๆ ลงสู่ระดับปกติ เรียกว่าคอยควบคุมให้อยู่ในสมดุลไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัย ลดการเกิดโรคแทรกซ้อนระยะยาวลงได้ สามารถมีชีวิตที่เป็นปกติสุขและยืนยาวเฉกเช่นคนทั่วไปได้ แต่ถ้าประมาทเลินเล่อไม่ยอมปรับพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องเพราะรู้สึกสบายดี (นึกว่าโรคหายแล้ว) หรือเพราะความเบื่อหน่ายหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ปล่อยให้ความดันหรือน้ำตาลสูงอยู่นานๆ ก็จะเกิดการระเบิดของโรคแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาในที่สุด
เมื่อได้อธิบายธรรมชาติอันซับซ้อนของโรคเรื้อรังกลุ่มนี้แล้ว ก็ขอวกกลับมาตอบคำถามข้างต้น ดังนี้
๑. ที่ว่ากินยาเบาหวานแล้วรู้สึกสบายดีแล้วนั้น ได้มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือยัง ถ้ายังก็ควรตรวจดูเสียก่อน ถ้าตรวจแล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ถือว่าอยู่ในขั้นที่ควบคุมโรคให้อยู่ในสมดุลได้ ถ้ายังสูงอยู่ก็ต้องดูแลตัวเองให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น
๒. แม้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติแล้ว ก็ไม่ควรหยุดยาเอง ควรปฏิบัติตัวและกินยาอย่างเดิม เพื่อรักษาสมดุลต่อไป หากหยุดยาเลย อาจเสียสมดุล น้ำตาลกลับสูงขึ้นมาได้อีก แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือควรติดตามผลการรักษากับแพทย์ประจำอย่างต่อเนื่อง แล้วปรึกษาหารือกับแพทย์ว่าควรดูแลกันต่อไปอย่างไร อย่าปรับยาเองหรือหยุดไปหาหมอเป็นอันขาด
๓. บางครั้งเมื่อปรับพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด น้ำตาลอาจลดมาก จะมีอาการใจหวิว เป็นลมบ่อย แพทย์ก็อาจพิจารณาปรับลดยาเบาหวานลงได้ แต่ก็ต้องคอยติดตามว่า ควบคุมสมดุลได้หรือไม่ต่อไปเช่นกัน
- อ่าน 42,008 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้