• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคภัยทางช่องปากของเด็กไทย

โรคภัยทางช่องปากของเด็กไทย


เด็กไทยกับพฤติกรรมการกิน
นมเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อฟันผุ ด้วยวิธีเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องทั้งการกินนมหวาน เลิกนมมื้อดึกช้ากว่า ๖ เดือน เลิกนมขวดช้ากว่าอายุ ๑๘ เดือน  และเด็กหลับคาขวดนม จากการประมวลผลการวิจัยพบว่า เด็กอายุ ๑ ขวบ กินนมรสหวานร้อยละ ๔๔.๔ และจะเพิ่มจำนวน มากขึ้นเมื่อเด็กอายุมากขึ้นคือ เด็กอายุ ๔ ขวบ กินนมรสหวาน ร้อยละ ๖๖.๕  และจากการสำรวจในพื้นที่ ๕ จังหวัด พบว่าเด็กกินน้ำตาลมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน ๖ ช้อนชาต่อวันและยังพบว่า เด็กอายุ  ๒-๕ ขวบ กินน้ำตาลเฉลี่ย ๑๐.๒ ช้อนชาต่อวัน ร้อยละ ๖๔.๐ กินน้ำตาลมากกว่า ๖ ช้อนชาต่อวัน ส่วนปริมาณน้ำตาลสูงสุดที่เด็กได้รับ เป็นผลมาจากการดื่มน้ำอัดลมและน้ำหวานเป็นหลัก

โรคฟันผุในเด็กไทย
เด็กไทยเป็นโรคฟันผุตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้นในช่วงขวบปีแรก อัตราการผุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงอายุ ๑-๓ ขวบ และมีการผุเฉลี่ยคนละหลายซี่  จากการศึกษาพบว่า เด็กเล็กที่ฟันเริ่มขึ้น อายุ ๖-๑๒ เดือน  มีฟันผุ ร้อยละ ๑.๔ และเมื่ออายุ ๒๕-๓๐ เดือนซึ่งมีฟันขึ้นครบ ๒๐ ซี่ เด็กเป็นโรคฟันผุเกือบครึ่ง คือ ร้อยละ ๔๕.๔ ประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการป้องกันโรคฟันผุในเด็ก คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดว่าฟันน้ำนมไม่ค่อยมีความสำคัญ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นฟันก็จะหลุดไปตามธรรมชาติและมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ นอกจากนี้จะเห็นว่าปัญหาฟันน้ำนมผุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน และยังกลัวว่าเด็กยังเล็กอยู่หากไปรักษาจะเกิดอันตราย

สำรวจกลไกควบคุม
มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการกิน อันดับแรกคือในระดับครอบครัว ประกอบด้วยผู้ปกครอง ตัวเด็ก และสภาพแวดล้อม ผู้ปกครองทุกคนมีทัศนคติว่าขนมเป็นสิ่งที่คู่กับเด็ก สภาพแวดล้อมที่มีผู้ใหญ่หลายคนในครอบครัว ทำให้การควบคุมการกินขนมของเด็กทำได้ยาก นอกจากนี้ร้านขายขนมยังตั้งอยู่ใกล้บ้านทำให้เด็กหาซื้อได้ง่าย 
ปัจจัยอันดับต่อมาคือ สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณารายการโทรทัศน์ของเด็กมากที่สุดคือสินค้าประเภทอาหารว่าง คือ ร้อยละ ๓๔.๙ ในวันธรรมดา เด็กดูโทรทัศน์เฉลี่ย ๑ ชั่วโมง ๕๓ นาที แต่ในวันหยุด เด็กดูโทรทัศน์เฉลี่ย ๕ ชั่วโมง ๔๓ นาที มีถึงร้อยละ ๔๕.๔ ที่ดูโทรทัศน์มากกว่า ๖ ชั่วโมง เด็กที่ดูโทรทัศน์นานที่สุดคือ ๑๔ ชั่วโมง ๘ นาที และในขณะดูโทรทัศน์นั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้เด็กดูกันเอง ผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อด้วยว่าโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมการกินของเด็ก

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพกุมารแพทย์และทันตแพทย์ โดยเฉพาะทันตแพทย์สำหรับเด็กถือเป็น ปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการควบคุมพฤติกรรมของเด็กในเรื่องของการให้คำแนะนำเรื่องการกิน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ในวิชาชีพเหล่านี้จะรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการกินน้ำตาลล้นเกินในเด็ก หากแต่ยังมีบุคลากรจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความเอาใจใส่เพียงพอในการให้คำแนะนำกับคนไข้

ปัจจัยสำคัญอันดับต่อมาคือ ศูนย์เด็กเล็กโดยเด็กในวัย ๓-๕ ขวบ ประมาณร้อยละ ๗๐ ที่ได้รับการดูแลตอนกลางวันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียน แต่จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนอาหารเสริมให้กับเด็ก มีผลสำรวจในปี ๒๕๔๖ พบว่ามีศูนย์เด็กเล็ก ประมาณร้อยละ ๓.๐ ที่ยังคงจัดซื้อนมหวานให้กับ เด็ก และในการกินขนมพี่เลี้ยงเด็กส่วนใหญ่มักอนุญาตให้นำขนมมาจากบ้าน โดยการกำหนดเวลาของการกิน สุดท้ายเพื่อให้ทันต่อผลกระทบที่เกิดแก่สุขภาพของเด็กในระดับกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ควรให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้แก่สังคมโดยเฉพาะ พ่อแม่ โรงเรียน ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ นอกจากนี้ ในการดำเนินการทางด้านนโยบายควรดำเนินนโยบายในระดับท้องถิ่น มีชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เช่น พระสงฆ์ และองค์กรเอกชนให้ความร่วมมือสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง

รัฐบาลจัดการปัญหาอย่างไร
คณะกรรมการนโยบายนมแห่งชาติของรัฐบาล กำหนดให้นมโรงเรียนไม่เติมน้ำตาล และโรงงานผลิตนมต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน มีผลทำให้การจัดหานมให้แก่เด็กในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กเปลี่ยนจากนมผสมน้ำตาลเป็นนมจืด โดยในศูนย์เด็กเล็ก นมผสมน้ำตาลลดลงจากร้อยละ ๘๓ ในปี ๒๕๔๔ เหลือร้อยละ ๒.๙ ในปี ๒๕๔๖ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๕๖-๑๕๗ ระบุด้วยว่า ห้ามเติมน้ำตาลในนมและอาหารเสริมในเด็ก น่าจะช่วยให้เด็กอายุ ๖-๑๒ เดือน ที่ดื่มนมสูตรต่อเนื่อง ลด ความเสี่ยงต่อการกินน้ำตาลที่มาทางนมได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่กรมอนามัยได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ โดยมีเกณฑ์ในเรื่องการจัดนมรสจืดให้แก่เด็ก และอาหารว่างที่ไม่หวานจัดและเป็นประโยชน์ต่อเด็ก รวมทั้งการจัดทำ "ธงโภชนาการ" ของกองโภชนาการ กรมอนามัย เพื่อให้คำแนะนำการกินอาหารของคนไทย โดยมีพื้นฐานมาจาก "ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย" หรือ โภชนบัญญัติ ๙ ประการ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่หวานจัด และเค็มจัด ส่วนน้ำมัน น้ำตาลและเกลือ ใช้แต่น้อยเท่าที่จำเป็น นโยบายของกรุงเทพมหานคร ยังสั่งการให้ทุกโรงเรียนในสังกัด งดจำหน่ายน้ำอัดลม น้ำหวาน นมรสหวาน ขนมขบเคี้ยว หรือลูกอม ในพื้นที่ของโรงเรียน พร้อมทั้งให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง นักเรียนเรื่องการสร้างสุขนิสัยการกินแบบอ่อนหวาน และประสานกับสำนักอนามัยเพื่อเฝ้าระวังโรคอ้วนโดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และเปรียบเทียบกับมาตรฐาน

ข้อเสนอสร้างอนาคต
ข้อเสนอแนะวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ  มีอยู่ ๓ แนวทาง คือ

๑. การดูแลตนเอง (Self-care) โดยการเสริมสร้างทักษะชีวิตของบุคคล พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้รู้จักเลือกอาหารเพื่อสุขภาพของตนเองและเด็กในครอบครัว นักส่งเสริมสุขภาพจึงต้องมีบทบาทในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ในเชิงการจัดการ (Know-how) ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนในสังคม  เพื่อนำไปสู่การสร้างทัศนคติและปรับพฤติกรรมการดูแลเด็กให้ถูกต้อง

๒. การรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน (Mutual aid) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่จะนำไปใช้จริงได้ รวมทั้งทำให้เกิดพลังในการต่อรอง  

๓. การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy enviroment) เป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับว่าน่าจะก่อให้เกิดผลมากที่สุด โดยการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่ควบคุมการกินน้ำตาล เช่น กฎหมายเกี่ยวกับอาหารสำเร็จรูปของเด็กเกี่ยวกับฉลาก หรือการกำหนดเป็นนโยบายองค์กร เพื่อให้เอื้อต่อการปรับพฤติกรรมกินให้เหมาะสม 

โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก จึงจัดเป็นองค์กรที่มีความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และจัดกิจกรรมฝึกอบรมบุคลากรในโรงเรียนเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโภชนาการ รวมทั้งการให้สุขศึกษาด้านโภชนาการในชั้นเรียนร่วมไปด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ การยอมรับ และการมีส่วนร่วมให้มาตรการเป็นจริงได้อย่างยั่งยืน

หมายเหตุ : โครงการการปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เป็นหนึ่งในชุดโครงการ การจัดทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาฟันผุในเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการ  วิชาการให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระดับต่างๆ ของประเทศ
 

ข้อมูลสื่อ

315-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
ทพญ.บุบผา ไตรโรจน์