ฝึกจิตเหมือนเล่นฮูลาฮูป
ฝึกฝน
ปัญญาก่อฉันทะ วิริยะพาฝึกฝน
กลายเป็นนิสัยตน ยังยืนหยัดฝึกหัดไป
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓
มีคนกล่าวว่า “ความคิดเชิงลบหรืออกุศลจิตเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ความคิดเชิงบวกหรือกุศลจิตเกิดจากการตั้งใจและฝึกฝน”
สอดคล้องกับธรรมชาติของสมองมนุษย์ ที่โครงสร้างสมองและทางเดินของกระแสประสาท ทำให้คนเรารับรู้สิ่งกระทบจากภายนอกด้วยอารมณ์ (ที่ระบบลิมบิกหรือศูนย์อารมณ์ในสมองส่วนกลาง) ก่อนเหตุผล (ที่สมองส่วนหน้าหรือศูนย์เชาวน์ปัญญา) เสมอ จึงมักคิดในเชิงลบ เช่น วิตกกังวล หวาดระแวง เคืองแค้น อิจฉาริษยา ละโมบโลภมาก ดูถูกเหยียดหยาม ประมาท มัวเมา เป็นต้น ทำให้ชีวิตมีความยุ่งยากและความทุกข์
การคิดเชิงบวก เช่น รู้รักสามัคคี เมตตา เห็นอกเห็นใจ ให้อภัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เคารพ ให้เกียรติ มีสติตื่นรู้ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน อบรมบ่มเพาะ และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้เกิดขึ้น
เมื่อฝึกฝนต่อเนื่องก็จะทำให้สมองมีการพัฒนา เกิดวงจรใหม่ ทำให้เรารับรู้สิ่งกระทบจากภายนอกด้วยเหตุผลก่อนอารมณ์ กลายเป็นคนที่คิดถูก ทำถูก คิดดี ทำดี ทำให้ชีวิตมีความสำเร็จและความสุข
การฝึกจิตเป็นเรื่องของทักษะ (การกระทำ) เช่นเดียวกับทักษะในการทำงานและการเล่นต่างๆ
ทักษะทุกอย่างเกิดขึ้นจากการตั้งใจลงมือทำอย่างหนักหน่วงจริงจังและต่อเนื่อง ต่อให้ฟังมาก อ่านมาก คิดมากเท่าไรก็ทำไม่ได้ถ้าไม่ลงมือฝึก
เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีประสบการณ์ในการฝึกเล่นฮูลาฮูป
ในชีวิตนี้ผมไม่เคยเล่นฮูลาฮูปมาก่อน และก็ไม่คิดเล่น เพราะมีวิธีออกกำลังด้วยการวิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำอยู่แล้ว
วันหนึ่งผมไปดูงานที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง
ที่นั่นมีการส่งเสริมให้ประชาชนในหมู่บ้านออกกำลังกาย และฮูลาฮูปเป็นที่นิยมเล่นของคนทุกกลุ่มวัยจนมีการจัดแข่งขันเป็นประจำ
วันนั้นมีชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เล่นฮูลาฮูปโชว์ให้ดูอย่างคล่องแคล่ว และก็ชวนให้ลองเล่น
ผมจับห่วงฮูลาฮูป (ท่อยางบรรจุน้ำที่ชาวบ้านผลิตเองราคาถูก) ขึ้นเหวี่ยงรอบเอวทีไรก็ตกทุกที เจ้าภาพจึงมอบห่วงฮูลาฮูปเป็นของที่ระลึกกลับมา
เมื่อกลับมาบ้านก็ลองเล่นดู ตอนแรกเหวี่ยงห่วงทีไรก็ตกทุกที แต่ไม่ย่อท้อ พยายามเล่นต่อไป ก็เริ่มเล่นได้มากขึ้น เริ่มหมุนได้ ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ทีแรกก็รู้สึกเหนื่อยง่ายและเหงื่อออกพลั่ก เพราะใจที่ร้อนและแรงที่ออกเหวี่ยง เมื่อฝึกต่อมาอีกนับสัปดาห์ ก็ทำได้มากขึ้น หมุนได้ ๕๐, ๑๐๐, ๓๐๐, ๕๐๐, ๗๐๐ และ ๑,๐๐๐ ครั้ง คือ มีทักษะชำนาญขึ้นเป็นลำดับ จนผ่านไปหลายสัปดาห์ก็สามารถเหวี่ยงทีเดียวเล่นได้เป็นชั่วโมงๆ และเล่นได้เป็นธรรมชาติที่เบาสบาย ไม่ต้องใช้แรงมากและไม่เหนื่อยมากเหมือนตอนฝึกใหม่ๆ สามารถเล่นไป เดินไป ดูทีวี หรืออ่านหนังสือพร้อมๆ กันไปได้
ในเวลานี้จึงเล่นอยู่ประจำ ควบคู่กับการออกกำลังแบบอื่นๆ ที่เคยทำ ที่ชอบเล่นฮูลาฮูป เพราะรู้สึกว่าได้ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนมีคนทักว่าพุงยุบไปจากเดิม
แต่ที่ติดใจมากก็คือรู้สึกว่ามันเป็นการฝึกสติสมาธิที่สนุกแบบหนึ่ง เวลาเล่นฮูลาฮูป หากเผลอสตินิดเดียว ห่วงก็จะตกทันที เวลาเล่นจึงต้องเจริญสติสมาธิอย่างต่อเนื่อง เกิดการตื่นรู้และเบิกบาน
ฮูลาฮูปยังได้ให้บทเรียนแก่ผมในเรื่องสมองกับการฝึกทักษะ
แต่แรกผมเล่นโดยการเหวี่ยงห่วงในทิศทางแบบทวนเข็มนาฬิกาอยู่ทางเดียว ต่อมาลองเหวี่ยงตามเข็มนาฬิกาดูบ้าง ทีแรกนึกว่าง่ายเพราะเข้าใจว่ามีทักษะแล้ว แต่กลับพบว่าสภาพเหมือนคนหัดใหม่ คือเหวี่ยงทีไรก็ตกทุกที แต่เมื่อใช้ความพยายามฝึกต่อไปเป็นสัปดาห์ๆ ในที่สุดก็เกิดความชำนาญขึ้นเทียบเท่ากับการเหวี่ยงทวนเข็มนาฬิกา
แสดงว่าการฝึกทักษะ ก่อให้เกิดวงจรในสมอง เมื่อฝึกจนชำนาญหรือกลายเป็นนิสัยที่เป็นธรรมชาติแล้ว วงจรนั้นก็แข็งแรง แต่ถ้าเลิกฝึก วงจรนั้นก็อ่อนแอลงได้
และทักษะหนึ่งๆ ก็สร้างวงจรในสมองอย่างเป็นเฉพาะเจาะจงอันหนึ่งซึ่งใช้กับทักษะอื่นไม่ได้ เช่น การเล่นฮูลาฮูป เมี่อมีทักษะในการเหวี่ยงแบบทวนเข็มนาฬิกา ก็จะสร้างวงจรในสมองอันหนึ่ง แต่เมื่อเหวี่ยงไปอีกทิศทางหนึ่งก็ต้องฝึกใหม่จนเกิดวงจรในสมองอีกอันหนึ่งที่ไม่เหมือนกับอันแรก
การฝึกจิตก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ ต้องเริ่มจากเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง (ปัญญา) จึงเกิดแรงอยากฝึก (ฉันทะ) แล้วลงมือฝึก ในตอนแรกต้องไม่ย่อท้อ ใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วง (วิริยะ) จนกระทั่งเกิดวงจรในสมอง ก็จะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติที่เบาสบาย (กลายเป็นนิสัย) และจะต้องทำให้วงจรนั้นแข็งแรงต่อไปด้วยการทำอย่างต่อเนื่อง (ยืนหยัด)
ดังกาพย์ที่เขียนไว้ข้างต้นนั่นเอง
- อ่าน 3,957 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้