• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณทำได้... ฟื้นฟูสมรรถภาพมือและแขน (ตอนที่ ๑)

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่มือและแขน เช่น กระดูกหัก เส้นเอ็นขาด หรือคนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้มือและแขนอ่อนแรง การฟื้นฟูเพื่อให้สามารถใช้มือและแขนในชีวิตประจำวันได้ มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้

หลักการฟื้นฟูสมรรถภาพทางมือและแขน

  1. เพื่อลดอาการบวม ควรยกแขนและมือสูงกว่าระดับหัวใจเสมอ
  2. เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ควรเริ่มบริหารมือและแขนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. ถ้ามือมีอาการชาหรือไม่มีความรู้สึก ให้ระวังการประคบร้อนหรือเย็นเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อไหม้หรือตายจากการขาดเลือด
  4. ควรบริหารมือ ข้อมือ ข้อศอก และข้อไหล่ ทุกวัน เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและข้อติด

หลักการบริหารมือและแขน

  1. เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อ ควรดัดหรือยืดกล้ามเนื้อ ค้างไว้ครั้งละ ๑๐-๓๐   วินาที
  2. เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควรเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ครั้งละ ๕-๑๐ วินาที
  3. เพื่อเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังซ้ำๆ ติดต่อกัน จนกล้ามเนื้อเมื่อยล้า

การใช้ผ้าคล้องแขน

ควรพาดปลายผ้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังไปที่บ่าด้านตรงข้ามกับแขนข้างที่บาดเจ็บ  เพื่อให้บ่ารับน้ำหนักท่อนแขนแทนคอ

          

  

การประคบร้อน

ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในกรณีข้อยึดติด ควรประคบร้อน (ถ้าไม่มีข้อห้าม) ก่อนการบริหาร

ไม่ควรประคบร้อน ถ้ามีการอักเสบบวมแดงร้อน ไม่ควรประคบร้อนหลังได้รับบาดเจ็บภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมงแรก

การประคบแผ่นร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อน

ควรใช้ผ้าขนหนู ชุบน้ำบิดให้แห้งหมาดๆ ห่อแผ่นร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อนก่อนประคบ

      

การประคบเย็น

การประคบเย็นทำให้หลอดเลือดหดตัว ลดอาการบวม ควรประคบเย็นเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บระยะแรกที่มีอาการบวมมาก

ควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดให้แห้งหมาดๆ ห่อแผ่นประคบเย็นก่อนประคบ

       

การประคบร้อนสลับการประคบเย็น

ใช้เพื่อการฟื้นฟู ลดอาการบวม แก้ไขข้อติดยึด  

แช่มือในอ่างน้ำอุ่น ๒ นาที แล้วแช่ในอ่างน้ำเย็น ๑ นาที สลับกัน ๕ รอบ รวม ๑๕ นาที ในระหว่างแช่มือให้บริหารเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อร่วมด้วย

   

ข้อมูลสื่อ

389-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 389
กันยายน 2554
เรื่องน่ารู้
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์