• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๖)

บนเส้นทางหนังสือ (๖)

ตอนที่แล้วเราคุยกันจากหนังสือ "ศิลปะแห่งความสุข" ของท่านทะไล ลามะ ถึงตอนที่ว่าด้วยความสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์

ความสัมพันธ์ที่อยู่บนฐานของความเสน่หาและการแต่งงาน
หมอคัตเลอร์ว่ารู้สึกแปลกมากที่จะคุยเรื่องเพศและการแต่งงานกับคนที่เป็นพระและอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว แต่ท่านทะไล ลามะ ก็ไม่รังเกียจที่จะคุยถึงเรื่องนี้ เขาจึงถามท่านว่า
"ในวัฒนธรรมตะวันตก มันไม่ใช่แต่สัมพันธภาพทางเพศที่เป็นแต่ทางกายเท่านั้น แต่หมายถึงเรื่องความเสน่หาทั้งหมดทีเดียว ตั้งแต่การตกหลุมรัก ความรักอย่างลึกซึ้ง ระหว่างกันที่เป็นสิ่งพึงประสงค์ในภาพยนตร์ก็ดีในวรรณคดีก็ดี และในการแสดงที่เป็นที่นิยมกันในหมู่ประชาชน จะมีการเชิดชูถึงความรักทำนองนี้มากทีเดียว ท่านคิดว่าอย่างไร"

โดยไม่ลังเลใจ ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "อาตมาคิดว่า แม้ไม่คำนึงถึงว่าความหมกมุ่นในความเสน่หาจะกระทบกระเทือนความงอกงามทางจิตวิญญาณ แม้พูดถึงวิถีชีวิตของปุถุชน การยกย่องเชิดชูความรักเชิงเสน่หา ก็เป็นเรื่องสุดโต่ง ไม่เหมือนกับความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความอาทรและความรักที่แท้จริง คงจะไม่สามารถพูดทางบวกได้ถึงความรักแบบคลั่งไคล้ใหลหลง มันเป็นภาพลวงตาที่ไม่เป็นจริง และอาจทำให้ไม่สมหวัง จึงไม่อาจพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี"

ท่านพูดอย่างตัดสินเด็ดขาดไปแล้ว และดูไม่ประสงค์จะพูดเรื่องนี้ต่อไปอีก หมอคัตเลอร์คิดว่า เมื่อคำนึงถึงการให้ความสำคัญต่อความเสน่หาในสังคมตะวันตก เขาเห็นว่าท่านทะไล ลามะ ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างผิวเผินเกินไป เมื่อคำนึงถึงว่าท่านบวชมาตั้งแต่เด็กๆ ท่านจะไปรู้เรื่องอะไรกับความสุขทางเพศรส จะไปถามท่านต่อไปอีกก็ไม่มีประโยชน์ เขาจึงบันทึกลงไปด้วยความผิดหวัง แล้วก็คุยเรื่องอื่นต่อไป

อะไรที่ทำให้ความรักทางเพศมีเสน่ห์ดึงดูดใจ? เมื่อพิจารณาเรื่องนี้จะพบว่า กามเทพ ความเสน่หา เพศ ความรักอย่างดูดดื่มระหว่างหญิงชาย และในที่สุดความสุขสุดยอดเป็นเครื่องปรุงอันมีพลังยิ่ง ทั้งทางวัฒนธรรม ทางชีววิทยา และทางจิตวิทยาในวัฒนธรรมตะวันตก ความคิดเรื่องความรักเชิงเสน่หา เฟื่องฟูขึ้นใน ๒๐๐ ปีที่ผ่านไป ภายใต้อิทธิพลแห่งลัทธิเสน่หานิยม ลัทธิเสน่หานิยมปฏิเสธยุคแห่งการบรรลุทางปัญญาก่อนหน้านั้น ซึ่งเน้นที่ความมีเหตุมีผลของมนุษย์ แต่ลัทธิเสน่หานิยม เชิดชูอารมณ์ ความรู้สึก ความรักอย่างคลั่งไคล้ เน้นความสำคัญของโลกแห่งผัสสะประสบการณ์ส่วนตัว จินตนาการ ความฝันเฟื่อง ที่ไม่ใช่อุดมคติในอดีตหรือโลก พระศรีอารียเมตไตรยในอนาคต แนวคิดนี้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เฉพาะทางศิลปะและวรรณคดีเท่านั้น แต่รวมไปถึงทางการเมือง และพัฒนาการทั้งหมดในวัฒนธรรมตะวันตกร่วมสมัย

แรงผลักดันต่อความรักทางเพศ คือ ความรู้สึกว่าอยู่ในห้วงรัก มีแรงผลักดันที่จะให้ผู้คนต้องการความรู้สึกอันนี้ นักวิจัยจำนวนมากคิดว่าความต้องการความสุขจากความรักทางเพศถูกกำหนดมาในกรรมพันธุ์ ความรู้สึกว่าอยู่ในห้วงรักบวกความดึงดูดทางเพศ อาจเป็นสัญชาตญาณของพฤติกรรมผสมพันธุ์ ในแง่มุมของวิวัฒนาการแล้วหน้าที่อันดับหนึ่งของสิ่งมีชีวิตคือ เอาตัวรอด สืบพันธุ์ และทำให้สายพันธุ์ของตัวยืนยง เพื่อความดำรงอยู่ของสายพันธุ์ เราจึงถูกโปรแกรมมาให้มีความรัก ผสมพันธุ์ แล้วก็มีลูก ดังนั้นเราจึงมีกลไกในร่างกายที่จะทำให้มีความรัก สมองของเราจึงผลิตสารเคมีที่ทำให้เรามีความสุขเมื่อมีความรัก ขณะที่สมองของเราถูกกระตุ้นด้วยสารสุขทำให้เราลืมสิ่งอื่นๆ ไปทั้งหมด

หมอคัตเลอร์ยังกล่าวถึงความคิด ปรัชญา ปรัมปราและจิตวิทยาในโลกตะวันตกอีกยืดยาวที่เกี่ยวกับกามเทพและความรักอันเนื่องด้วยเพศ ซึ่งจะไม่นำมาแปลไว้ในที่นี้ ในเมื่อแรงขับเคลื่อนแห่งความรักระหว่างหญิงชายทรงพลังมาก ทำไมท่านทะไล ลามะ จึงว่าเป็นเรื่องทางลบ หมอคัตเลอร์เคยถือว่าเรื่องของความรักเป็นบ่อเกิดของความสุข เขามีคนไข้คนหนึ่งชื่อเดวิด เป็นสถาปนิกอายุ ๓๔ ปี มาหาแพทย์ด้วยโรคซึมเศร้าอย่างแรง เขาคิดว่ามันเกี่ยวกับความเครียดจากงาน ได้ให้ยาแก้ซึมเศร้า อาการดีขึ้นมาก แต่จากการพิจารณาประวัติอย่างละเอียด พบว่านอกจากอาการซึมเศร้าอย่างเฉียบพลันแล้ว เขายังมีอาการซึมเศร้าอ่อนๆ อย่างเรื้อรังเป็นเวลานานหลายปีแล้ว หมอคัตเลอร์พยายามค้นหาต้นเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง วันหนึ่งเดวิดเดินเข้ามาหาด้วยท่าทางมีความสุข "ผมรู้สึกดีมากเลย" เขาบอก "ผมไม่เคยรู้สึกดีอย่างนี้มาหลายปีแล้ว"

หมอคัตเลอร์สงสัยว่า หรือเขาจะย้ายขั้วไปเป็นอารมณ์เฟื่อง (อาการของโรคที่เรียกว่า manic-depressive หรือ "เฟื่องแฟบ" โดยผู้ป่วยจะสวิงไปมาระหว่าง ๒ ขั้ว   คือ ขั้วเฟื่องกับขั้วแฟบ) แต่ก็ปรากฏว่าไม่ใช่

"ผมกำลังมีความรัก" เดวิดว่า "ผมพบเธอสัปดาห์ที่แล้ว เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดที่ผมเคยพบ เราไปเดทกันทุกคืน รู้สึกจะเป็นวิญญาณคู่ที่เหมาะกันอย่างยิ่ง ไม่นึกไม่ฝันเลย ผมไม่มีคู่ควงมา ๒-๓ ปีแล้ว แล้วก็ไม่คิดว่าจะเจอใคร แล้วก็ปุบปับมาเจอเธอเข้า"
เดวิดใช้เวลาบรรยายถึงความวิเศษของหญิงคนรักเขาอยู่นาน หลังจากนั้น ๑ สัปดาห์ เขาก็บอกหยุดการรักษา เพราะรู้สึกว่าเขาปกติดีแล้ว

หลายเดือนต่อมา เดวิดกลับมาหาหมอคัตเลอร์
"ผมแย่ไปเลย" เขาคร่ำครวญ "เมื่อผมพบคุณหมอครั้งสุดท้าย ทุกอย่างดูดีไปหมด ผมคิดว่าได้พบคู่ในอุดมคติจริงๆ ผมถึงกับคุยกับเธอเรื่องการแต่งงาน แต่ดูเหมือนว่ายิ่งผมพยายามเข้าใกล้เธอ เธอยิ่งพยายามหนีห่าง ในที่สุดเธอก็บอกเลิกกับผม ผมจมลงไปในความซึมเศร้ามาก สัก ๒ สัปดาห์หลังจากนั้นก็พยายามโทรศัพท์ไปหาเพื่อจะได้ยินเสียง หรือขับรถไปที่ทำงานของเธอเพื่อดูว่ารถของเธอจอดอยู่ที่นั่นหรือเปล่า ผมทำอย่างนั้นอยู่สักเดือนก็รู้สึกเบื่อมาก ช่างบ้าบอคอแตกเสียจริง แต่อาการซึมเศร้าของผมก็ดีขึ้น กินได้ นอนได้ ทำงานได้ แต่ก็รู้สึกว่าส่วนหนึ่งของตัวผมมันหายไป กลับมามีอาการเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมาเป็นปีๆ"
 
เขาก็เริ่มการรักษาทางจิตเวชกันใหม่
ดูเหมือนว่าการที่จะเป็นบ่อเกิดของความสุขได้ สิ่งที่เรียกว่าโรมานซ์หรือความเสน่หายังต้องการอะไรๆ อีกมาก ท่านทะไล ลามะ อาจจะไม่พลาดจากความจริงไปนัก ที่ไม่ยอมรับว่าความเสน่หาเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดี มันเป็นเพียงความเพ้อฝันที่ไม่เป็นจริง ในพจนานุกรมเมื่ออธิบายความหมายของคำว่า romance หรือ romantic จึงมีวลีต่างๆ เช่น "เพ้อฝัน" "เกินเลย" "ปลอมแปลง" "แฟนซีหรือคิดฝัน" "ปฏิบัติไม่ได้" "ปราศจากพื้นฐานความจริง" ออสการ์ไวล์เคยกล่าวว่า "เมื่อคุณมีความรัก คุณเริ่มโดยหลอกตัวเอง แล้วก็ลงท้ายด้วยการหลอกผู้อื่น นั่นแหละสิ่งที่โลกเรียกว่า romance"

เราเริ่มเรื่องนี้โดยพิจารณาถึงบทบาทของความสนิทสนมและความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญของความสุข รากฐานของความสัมพันธ์มีความสัมพันธ์ ความดึงดูดทางเพศอาจจะมีบทบาทเริ่มต้นในการนำคน ๒ คนเข้ามาสัมพันธ์กัน แต่ความสัมพันธ์จะยั่งยืนต้องอาศัยคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ความรัก ความกรุณา ความเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งและทรงคุณค่า ไม่ใช่ระหว่างคู่รักเท่านั้น แต่ระหว่างเพื่อน คนรู้จัก หรือแม้กับคนแปลกหน้า หรือก็คือระหว่างมนุษย์ใดๆ ก็ตาม มันทำให้ผู้คนเข้ามาเชื่อมโยงกันได้

บทที่ ๗
คุณค่าและประโยชน์ของความกรุณา

นิยามของความกรุณา
หมอคัตเลอร์พบว่าเมื่อคุยกับท่านทะไล ลามะ หลายครั้งรู้สึกว่าความกรุณาเป็น เรื่องสำคัญมากในเนื้อในตัวแห่งพัฒนาการทางจิตวิญญาณของท่าน เขาจึงถามท่านว่า ความกรุณาหมายถึงอะไร ท่านทะไล ลามะ  ตอบว่า "ความกรุณาหมายถึงสภาวะของจิตที่ไม่รุนแรง ไม่ทำร้าย ไม่ก้าวร้าว หวังให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ทรมาน มีพันธะ มีความรับผิดชอบ มีความเคารพต่อคนอื่น"
"เวลาพูดถึงความกรุณาต้องระวังอย่าไปปะปนกับการยึดติด ความรักมี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งกอปรด้วยความยึดติด โดยหวังจะไปควบคุมคนอื่น หรือหวังว่าเขาจะทำอะไรตอบแทนเรา ความรักชนิดนี้มีอคติเจือปน ความสัมพันธ์ที่อยู่บนความรักชนิดนี้ไม่จีรัง ความสัมพันธ์ที่อาศัยความรักที่หวังตอบแทนแบบนี้ทำให้เกิดความยึดติด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น ความเห็นไม่ลงรอย ที่เรียกว่าเพื่อนก็ไม่ใช่อีกต่อไป อารมณ์ยึดติดก็ระเหิดไป ความรักก็กลายเป็นความเกลียด ฉะนั้นความรักที่อยู่บนความยึดติด เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความเกลียด

"แต่มีความรักอีกชนิดหนึ่งที่ปลอดจากความยึดติด เป็นความกรุณาที่แท้ มันไม่เกี่ยวกับว่าคนนั้นคนนี้เป็นที่รักของฉัน แต่มันขึ้นกับเหตุผลที่ว่า มนุษย์ทั้งหลายต้องการความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ เหมือนตัวเราเอง โดยที่เข้าใจพื้นฐานของความเหมือน และเท่าเทียมกันของเพื่อนมนุษย์ ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับคนอื่น โดยพื้นฐานอย่างนี้ เรามีความกรุณาต่อทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรู มันเป็นสิทธิของทุกๆ คนที่จะได้รับความกรุณา ไม่ใช่ว่าคุณจะเลือกรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ โดยพื้นฐานอย่างนี้คุณจะเกิดความรักและความกรุณาขึ้นในหัวใจเป็นความกรุณาอย่างแท้จริง

"ดังนั้น การที่เราจะต้องรู้จักแยกความรัก ๒ ชนิด และปลูกฝังให้เกิดความกรุณาที่แท้จริงขึ้นมาในหัวใจ ควรจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ตัวอย่างเช่น ในการแต่งงานจะมีความรักชนิดยึดติด แต่ถ้ามีความกรุณาอย่างแท้จริงด้วย โดยมีความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์ ๒ คน ชีวิตคู่ก็จะยืนยาว ในกรณีของการมีแต่ ความยึดติดทางอารมณ์โดยปราศจากความกรุณา ชีวิตแต่งงานสลายลงโดยรวดเร็ว"

ความคิดเรื่องการสร้างความรักสากล โดยไม่หวังผลตอบแทน ดูมันจะยากเกินไปสำหรับหมอคัตเลอร์ เมื่อนึกถึงจิตใจของตนเอง หมอคัตเลอร์จึงถามท่านทะไล   ลามะ ว่า "แต่ความรักหรือความกรุณาเป็นอารมณ์ความรู้สึก ความรู้สึกน่าจะเหมือนกัน ไม่ว่ามันจะระคนด้วยความยึดติด หรือปราศจากการยึดติด ดังนั้นเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งรู้สึกในอารมณ์อย่างเดียวกัน จะต้องแยกความรัก ๒ ชนิดไปทำไมกัน"

ท่านทะไล ลามะ ตอบอย่างหนักแน่น "ความรู้สึกรักโดยไม่มีเงื่อนไขกับรักแบบยึดติด มีคุณภาพต่างกัน ไม่ใช่ความรู้สึกเดียวกัน ความรักที่แท้จริงนั้นแรงกว่าและกว้างกว่า มีคุณสมบัติที่ลึกซึ้ง นอกจากนั้นมันยั่งยืน และเชื่อถือได้มากกว่า เช่น เมื่อคุณเห็นสัตว์กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน เช่น ปลาติดเบ็ด คุณจะรู้สึกทนไม่ได้ ความรู้สึกนี้ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์พิเศษระหว่างคุณกับสัตว์ตัวนั้น ว่า โอ้! สัตว์ตัวนี้มันเพื่อนฉัน แต่ความกรุณาในกรณีนี้เกิดจากว่าชีวิตนั้นๆ ก็มีความรู้สึก มีความเจ็บปวด และมีสิทธิที่จะไม่ต้องเจ็บปวดเช่นนั้น ความกรุณาเช่นนี้ที่ไม่ระคนกับความอยากหรือความยึดติด เป็นความรู้สึกที่ดีกว่าและยั่งยืนมากกว่า"

"ในตัวอย่างเรื่องปลาติดเบ็ดและเจ็บปวดอย่างยิ่ง ท่านได้ยกประเด็นที่สำคัญถึงความรู้สึกทนไม่ได้"
หมอคัตเลอร์ติดตามเรื่องนี้
"ใช่" ท่านทะไล ลามะ  ตอบ "ที่จริง ในความหมายหนึ่ง เราอาจนิยามความกรุณาว่า คือความทนไม่ได้ที่เห็นชีวิตอื่นได้รับความทุกข์ทรมาน การที่จะเกิดความรู้สึกอย่างนั้น เราจะต้องรับรู้ถึงความทรมานของผู้อื่น ยิ่งเราเข้าใจความทุกข์ทรมานชนิดต่างๆ มากเพียงใด เราก็ยิ่งเกิดความกรุณาอย่างลึกในหัวใจ
"ความกรุณาคือการเปิดรับความทุกข์ทรมานของคนอื่น เราทำเช่นนั้นทำไมในเมื่อตัวเราเองก็ไม่อยากจะรู้ความเจ็บปวดของตัวเอง ถึงกับกินยาระงับปวดก็มี แล้วทำไมจะไปเปิดรับความเจ็บปวดของคนอื่นเข้ามาในตัวเราทำไม"
หมอคัตเลอร์ถาม
โดยไม่ลังเลใจ ท่านทะไล ลามะ  ตอบว่า "มีความแตกต่างกันระหว่างความทุกข์ของคุณเอง กับความทุกข์ของคนอื่นที่คุณรับเข้ามา แตกต่างกันในด้านคุณภาพ ความทุกข์ของตัวเองคุณรู้สึกว่ามันท่วมตัว หนัก รู้สึกช่วยตัวเองไม่ได้ มึนชาไปหมด แต่ในความกรุณาที่ไปรับเอาความทุกข์ของคนอื่นเข้ามา จริงอยู่อาจจะรู้สึกอึดอัดทนไม่ไหวอยู่บ้างเมื่อเริ่มต้น แต่ความรู้สึกจะต่างกัน คือมีความตื่นตัวและตั้งใจที่จะช่วยเหลือ เพราะเราเข้ามาเองด้วยความสมัครใจที่จะรับรู้ความทุกข์ของคนอื่นด้วยความประสงค์อันสูงส่ง มีความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้รับทุกข์และความตั้งใจที่จะช่วยเป็นความรู้สึกตื่นตัวไม่ใช่มึนชา เหมือนนักกีฬา ขณะที่ฝึกซ้อมอย่างหนักอาจจะเหนื่อย เหงื่อออก ต้องใช้พลังมาก แต่นักกีฬาไม่ได้ถือว่าเป็นความเจ็บปวด แต่รู้สึกว่าเป็นความสำเร็จและปีติยินดี แต่ถ้าคนคนเดียวกันนั้นถูกบังคับให้ทำงานหนัก ที่รู้สึกว่าไม่ใช่การฝึกฝนทางกีฬา ก็จะมีความรู้สึกว่าทำไมฉันจะต้องมาทุกข์ทรมานอย่างนี้ด้วยนะ สภาวะจิตที่คิดแตกต่างกันมีความหมายอย่างยิ่ง"
คำพูดไม่กี่คำเหล่านี้ ที่พูดอย่างเชื่อมั่น ดึงหมอคัตเลอร์ขึ้นมาจากความรู้สึกหดหู่เกี่ยวกับการแก้ทุกข์ ไปสู่การผ่านเลยความทุกข์

"มีเทคนิคทางพุทธศาสนาอย่างใดหรือไม่ที่ช่วยเพิ่มพูนให้เกิดความกรุณา"   หมอคัตเลอร์ถาม
"มี เช่น ในทางมหายานมี ๒ วิธี คือหนึ่งที่เรียกว่า "วิธีแห่งเหตุและผล ๗ ประการ" กับสอง "การแลกเปลี่ยนอย่างสมานัตตา" ถึงตรงนี้หมดเวลาเสียก่อน โดยยังไม่ได้อธิบายว่า ๒ วิธีนี้คืออย่างไร

คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์
ในการสนทนาการครั้งต่อไป หมอคัตเลอร์เริ่มต้นขึ้นว่า "เราได้คุยกันถึงเรื่องความกรุณา เรื่องความเชื่อของท่านที่ว่า ความรัก ความมีน้ำใจ มิตรภาพ มีความจำเป็น สำหรับความสุข แต่สมมุติว่า มีนักธุรกิจผู้มั่งคั่งมาพูดกับท่านว่า พระคุณเจ้า ท่านกล่าวว่าความมีน้ำใจกับความกรุณาสำคัญมากต่อการมีความสุข แต่ธรรมชาติของผมไม่มีสิ่งเหล่านั้น โดยสัจจริง ผมไม่มีความกรุณาอะไรเท่าไร และไม่รู้สึกว่าต้องเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ผมถือความมีเหตุผล ปฏิบัตินิยม และปัญญานิยม ผมไม่มีอารมณ์เหล่านั้น แต่ผมก็มีความรู้สึกที่ดีต่อชีวิตของตัวเอง มีความสุขอย่างที่เป็นอยู่ มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีเพื่อน มีเงินทองให้ภรรยาและลูก และก็มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ไม่รู้สึกว่าขาดอะไร การสร้างความกรุณา การบำเพ็ญประโยชน์ การมีน้ำใจ อะไรเทือกนั้นฟังดูก็ดี แต่สำหรับผมแล้ว ทำไมจะต้องทำอย่างนั้น มันดูจะฝันเฟื่อง..."
"ก่อนอื่น"
ท่านทะไล ลามะ  ตอบ "ถ้าใครพูดอย่างนั้นจริง อาตมาก็สงสัยว่าลึกๆ แล้วเขามีความสุขจริงหรือ อาตมาเชื่อว่าความกรุณาเป็นพื้นฐานของการอยู่รอดของมนุษย์ คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ ถ้าขาดไปก็เท่ากับขาดรากฐานของชีวิตไปชิ้นหนึ่ง การรู้ร้อนรู้หนาวต่อความรู้สึกของคนอื่นเป็นมูลฐานของความเมตตากรุณา แต่ถ้าไม่มีเสียแล้ว อาตมาคิดว่าเขาต้องมีปัญหาในสัมพันธภาพกับภรรยาของเขา ถ้าเขาผู้นั้นมีท่าทีที่เฉยเมยต่อความรู้สึกและความทุกข์ของคนอื่น ถ้าแม้เขาจะเป็นมหาเศรษฐี มีการศึกษาที่ดี ไม่มีปัญหาครอบครัว ล้อมรอบด้วยเพื่อนเศรษฐี นักการเมือง ผู้นำของประเทศ อาตมาเชื่อว่าสิ่งดีๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งผิวเผิน
"แต่เขายังยืนยันว่าเขาไม่รู้สึกมีความกรุณา และไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดหายไป ก็คงจะยากที่จะช่วยให้เขาเข้าใจความกรุณา"
ท่านทะไล ลามะ หยุดพูดไปชั่วครู่ เพื่อตรึกตรอง ท่านจะหยุดพูดเช่นนี้เป็นพักๆ ที่หยุดพูดไปก็ไม่ใช่ความเงียบที่น่ารำคาญ แต่ว่ามันคล้ายๆ แรงโน้มถ่วงที่ทำให้มี    น้ำหนัก และความหมายมากขึ้นเมื่อท่านพูดต่อ

ในที่สุดท่านก็พูดต่อ "กระนั้นก็ตาม ถ้าเป็นอย่างที่ว่า ก็มีอีกหลายอย่างที่อาตมาอยากชี้ให้เห็น ประการแรก อาตมาอยากแนะให้เขาใคร่ครวญถึงประสบการณ์ของเขาเอง เขาจะพบว่าถ้าคนอื่นทำกับเขาด้วยความเมตตากรุณาจะทำให้เขามีความสุขโดยประสบการณ์อย่างนั้น จะช่วยให้เขาเข้าใจว่าคนอื่นก็มีความรู้สึกที่ดี  ถ้าเขาได้รับความอบอุ่นและความกรุณา โดยตระหนักถึงความจริงนี้ จะทำให้เขามีความเคารพความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น และทำให้เขาโน้มเอียงที่จะมีความกรุณาและความอบอุ่น ต่อผู้อื่น ในขณะเดียวกันเขาก็จะค้นพบว่าเมื่อเขาให้สิ่งดีๆ แก่คนอื่น สิ่งดีนั้นก็จะกลับมาที่ตัวเขาเอง..."
ท่านทะไล ลามะ ยังกล่าวถึงเรื่องนี้อีกยาว แต่ไม่ได้นำมาแปลไว้

"อย่างไรก็ตาม คนที่มีความกรุณา เขายังมีอะไรติดตัวไปแม้หากทรัพย์สมบัติของเขาจะมีอันปลาศไป" ท่านพูดต่อไปถึงประโยชน์ของความกรุณาต่อสุขภาพ การมีอายุยืนยาวและความสุข และว่าหมอคัตเลอร์น่าจะรู้ดี เพราะเป็นจิตแพทย์
"ใช่" หมอคัตเลอร์เห็นด้วย "มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนที่สนับสนุนว่าการมีความกรุณามีผลดีต่อร่างกายและอารมณ์" ดังนั้นอาตมาคิดว่า "ความจริงและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการให้การศึกษาให้คนบ่มเพาะความกรุณาในหัวใจ" ท่านทะไล ลามะ กล่าวต่อ "แต่ถึงแม้จะปราศจากการศึกษาทาง
วิทยาศาสตร์ คนเราก็สามารถจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองได้ เช่น ถ้าปราศจากความกรุณาจะนำไปสู่ความโหดร้าย และก็มีตัวอย่างมากมายที่บ่งว่าลึกๆ แล้วคนที่โหดร้ายขาดความสุขและความพึงพอใจในตัวเอง เช่น คนอย่างสตาลิน อย่างฮิตเลอร์คนเหล่านี้เป็นโรคขาดความมั่นคงในตัวเองและมีความกลัว แม้เวลาหลับ ก็ยังมีความกลัว เรื่องเหล่านี้ยากที่คนจะเข้าใจ แต่คุณก็อาจจะพูดว่าคนเหล่านี้ ขาดบางสิ่งบางอย่างที่มีในคนที่มีความกรุณาอยู่ในหัวใจ เช่น ความรู้สึกมีอิสรภาพ การปล่อยวางที่สามารถนอนหลับอย่างผ่อนคลายสบายใจ คนที่โหดร้ายไม่มีประสบการณ์เช่นนี้ เขารู้สึกว่ามีอะไรบีบรัดตัวเขาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอิสระ ไม่สามารถปล่อยวาง"

ท่านทะไล ลามะ หยุดพูด เกาศีรษะแกรกๆ แล้วพูดต่อ "อาตมาเพียงคาดคะเนเอาว่าถ้าคุณถามคนที่โหดร้ายเหล่านี้ว่า "เมื่อยามเด็กที่มีแม่ดูแลคุณ และมีความใกล้ชิด กับครอบครัว เทียบกับขณะนี้เมื่อคุณมีอำนาจ มีอิทธิพล และตำแหน่ง ตอนไหนคุณมีความสุขมากกว่ากัน" อาตมาเชื่อว่าเขาจะตอบว่าในวัยเด็กเขามีความสุขมากกว่า อาตมาเชื่อว่า แม้แต่สตาลินเมื่อวัยเด็กแม่เขาก็รักเขา"
"ในการพูดถึงสตาลิน"
หมอคัตเลอร์ตั้งข้อสังเกต "ท่านได้ยกตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องที่กำลังคุยกัน คือผลของการมีชีวิตที่ปราศจากความกรุณา เป็นที่รู้กันว่าบุคลักษณ์ของเขา ๒ อย่างคือ ความโหดร้ายและความสงสัยไม่ไว้ใจใคร เขาเห็นว่าความโหดร้ายเป็นคุณธรรม ที่จริงเขาได้เปลี่ยนชื่อตัวเองจาก Djugashvili มาเป็น Stalin ที่แปลว่า "บุรุษเหล็ก" เมื่อเขาอายุมากขึ้น ความโหดร้ายมากขึ้น ความสงสัยไม่ไว้วางใจคนอื่นก็มีมากขึ้น ความสงสัยไม่ไว้วางใจคนอื่นของเขาเป็นที่เลื่องลือ ความกลัวและความระแวงของเขาได้นำไปสู่การขับไล่ไสส่ง และรณรงค์ต่อต้านประชาชนกลุ่มต่างๆ ในประเทศของเขา นำไปสู่การจับกุมคุมขัง และการสังหารชีวิตผู้คนเป็นล้านๆ คน แต่เขาก็ยังเห็นศัตรูมีอยู่ทั่วไป ก่อนตายไม่นานเขาบอกแก่นิกิตา ครุสชอฟ ว่า "ผมไม่เชื่อใครเลย แม้แต่ตัวเอง" และในที่สุดเขาก็เล่นงานลูกน้องที่ใกล้ชิดของเขาเอง ยิ่งมีอำนาจและยิ่งโหดร้าย เขาก็ยิ่งไม่มีความสุข เพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่าในที่สุดสิ่งที่เกี่ยวกับความเป็นคนที่เขามีเหลืออยู่อย่างเดียวคือการไร้ความสุข ลูกสาวของสตาลินที่ชื่อสเวตาลานากล่าวว่า พ่อของเธอโดดเดี่ยวอ้างว้างอย่างยิ่ง ถึงขั้นไม่เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถมีความจริงใจและมีความเมตตาได้"

"อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะเข้าใจคนอย่างสตาลิน และการกระทำอันโหดร้ายอย่างที่เขาทำ แต่แม้คนที่สุดโต่งเหล่านี้ ถ้าหวนคิดถึงวัยเด็กก็จะพบความอบอุ่นที่    ได้รับจากความรักของแม่ นี่ยังขนาดนี้แล้วคนที่วัยเด็กไม่เคยมีความสุขจากความรักของแม่จะขนาดไหน เช่น เด็กที่ถูกทารุณกรรม ท่านคิดไหมว่า เด็กๆ ควรจะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือคนเลี้ยงที่มีความรักความเมตตา"
"ใช่ เรื่องนี้สำคัญมาก"
ท่านทะไล ลามะ ตอบ และขยับลูกประคำอย่างมีมนสิการ
(ยังมีต่อ)

ข้อมูลสื่อ

315-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี