• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารสุขภาพ...

อาหารสุขภาพ...

หมอชาวบ้านฉบับนี้ลงเรื่อง "กินตามสี" ของ ผศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ และ "สารต้านอนุมูลอิสระ" ของ ผศ.ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์  
ทั้ง ๒ เรื่องนี้ ล้วนกล่าวถึงประโยชน์ของพืชผักผลไม้ที่มีต่อสุขภาพของคนเรา ในเวลานี้มีกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับอาหารสุขภาพ และมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพออกมาจำหน่ายมากมาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอยู่หลายรูปแบบ บางชนิดก็เป็นอาหารเสริมพวกโปรตีนและเกลือแร่ บางชนิดก็เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และบางชนิดก็เป็นกากใยอาหาร

ผมมักจะได้รับคำถามจากประชาชนทั่วไปว่าจำเป็น ต้องซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาบริโภคหรือไม่
คำตอบก็คือ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่บริโภคสารอาหารพวกนี้ไม่ได้ครบถ้วน เช่น ผู้ที่เจ็บป่วย ผู้สูงอายุ เป็นต้น
สำหรับคนทั่วไปที่สามารถบริโภคอาหารได้ครบ ๕ หมู่ ก็สามารถรับสารอาหารพวกนี้ครบถ้วนอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องกินอาหารเสริมเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ บางคนเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ เนื่องเพราะอาจมีการเล่าลือปากต่อปากให้หลงเข้าใจผิดได้ จริงๆ แล้ว ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสามารถรักษาโรคได้ สำหรับผู้สนใจเรื่องอาหารสุขภาพ ขอแนะนำให้ยึดหลักปฏิบัติตามหนังสือชื่อ "ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย" ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำข้อปฏิบัติ ๙ ประการ ได้แก่

๑. กินอาหารครบ ๕ หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว

๒. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภท แป้งเป็นบางมื้อ

๓. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ

๔. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ

๕. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย

๖. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร

๗. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด

๘. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน

๙. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

สรุปเป็นหลักง่ายๆ ก็คือ แต่ละวันควรกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ โดยกินข้าวและเมล็ดธัญพืช (เช่น ถั่ว ข้าวโพด) เป็นพื้น กินผักและผลไม้ให้มากๆ กินอาหารพวกโปรตีนพอประมาณ โดยกินเป็นปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน (ลดหรืองดเนื้อสัตว์ใหญ่) ไข่ และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ ดื่มนมพอประมาณ และลดอาหารไขมัน ข้อสำคัญต้องหมั่นรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่าให้น้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมากมาย ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช รวมทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรจัดเป็นอาหารสุขภาพควรกินให้มากๆ ทุกวัน ตกวันละ ๔๐๐-๘๐๐ กรัมเป็นอย่างน้อย อาหารพวกนี้นอกจากมีวิตามิน เกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับคนเราแล้ว ยังมีกากใยอาหาร (ช่วยในการขับถ่าย ลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน) สารต้านอนุมูลอิสระ (ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งและมะเร็ง) รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่มีผลดีต่อสุขภาพ

สำหรับผู้ที่สนใจบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระ แนะนำให้กินจากอาหารธรรมชาติคือ พืชผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ไม่แนะนำให้กินในรูปของตัวยาสำเร็จรูป เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังไม่ทราบว่าควรกินมากน้อยขนาดไหนจึงจะได้ประโยชน์และปลอดภัย พืชผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช เครื่องเทศ และสมุนไพร ควรกินให้มีความหลากหลาย ให้มีสีต่างๆ ผสมปนเปกันไป และตัวชี้วัดว่ากินได้มากพอหรือยัง ก็สามารถสังเกตจากการขับถ่าย ถ้ากินมาก อุจจาระก็มีก้อนโตและยาว ลักษณะนุ่ม ขับถ่ายง่าย สีเหลืองนวล และมีกลิ่นน้อย แต่ถ้ากินน้อย อุจจาระจะมีก้อนเล็กแข็ง สีน้ำตาลคล้ำ และมีกลิ่นเหม็น ทุกๆ วันควรสังเกตลักษณะการขับถ่าย ซึ่งบ่งชี้ว่า กินพืชผักได้เพียงพอหรือยัง หรือจะบริโภคโดยใช้หลัก "ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่น ครึ่งหนึ่ง" ตามการโฆษณาทางโทรทัศน์ก็ได้ครับ

ข้อมูลสื่อ

316-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ