• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รมต.พินิจ กับนโยบายการแพทย์แผนไทย

หมอชาวบ้านฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ มีเรื่อง " มังคุด " เป็นเรื่องเด่นขึ้นปก เขียนโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิตพร
แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะบุกเบิกเรื่องสมุนไพรมาอย่างเข้มแข็ง

คนไทยพากันไปนิยมยาแผนปัจจุบันกันเสียหมด ลืมฐานทางภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราเสีย จริงอยู่ยาฝรั่งที่ชะงัดๆ มีอยู่
แต่ไม่จำเป็นต้องนิยมไปเสียทั้งหมด ยาสมุนไพรไทยบางตัวก็มีสรรพคุณดีกว่ายาฝรั่ง เช่น ขมิ้นชันแก้ปวดท้องได้ดีกว่าอลั่มมิลค์
หรือครีมพญายอใช้ฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมและงูสวัดได้ดีกว่าอะไซโคลเวียร์ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อเริม เป็นต้น

ถ้าทุกบ้านใช้ยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีสรรพคุณดี สัก ๑๐-๒๐ ตัว จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรจะมีรายได้
ในกระบวนการทำพืชสมุนไพรให้เป็นยา กระบวนการตรวจสอบคุณภาพและกระบวนการทางธุรกิจ จะสร้างการมีงานทำและสร้างรายได้ขึ้นจำนวนมหาศาล

ทุกตำบลควรมีศูนย์การแพทย์แผนไทยที่เป็นของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน
เริ่มต้นทำ ๓ อย่างคือ ๑. นวดแผนไทย ๒. ประคบด้วยสมุนไพร ๓. ขายยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีสัก ๑๐-๒๐ ขนาน
นอกจากชาวบ้านจะได้รับบริการทางเลือกที่ใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลดังกล่าวข้างต้น
รวมทั้งรายได้จากการแพทย์แผนไทยก็จะเป็นของชุมชนด้วย

การแพทย์แผนไทยนี้ ถ้าพัฒนากันให้ดีๆ น่าจะประหยัดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

รมต.พินิจ จารุสมบัติ ฟิตๆอยู่ ถ้าจะลองผลักดันนโยบายการแพทย์แผนไทยดูบ้าง น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล ทั้งทางสุขภาพ และทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลสื่อ

323-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี