"การโฆษณาสรรพคุณรังนกและกินกันแบบผิดๆ นอกจากจะสูญเสียเงินทองและไม่เป็นประโยชน์แล้วบางครั้งอาจเป็นโทษได้"
คนจีนได้จัดอาหารที่มีรสชาติสุดยอดไว้ ๔ อย่าง ได้แก่ หูฉลาม รังนก อุ้งตีนหมี และเป๋าฮื้อ (鱼翅 燕窝、熊掌、鲍鱼)
รังนก ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพชั้นดีที่ใช้ในผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บำรุงปอด บำรุงพลัง เสริมภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ความเชื่อนี้ทำให้รังนกเป็นที่นิยมในหมู่คนที่มีฐานะ รวมถึงเวลาไปเยี่ยมเยือนผู้ป่วย มักจะซื้อรังนกไปฝาก เพราะเชื่อว่าเป็นของดี มีคุณค่า คุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีความเห็นที่แตกต่างจากความเชื่อดังกล่าว เช่น จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของรังนก ๑ ขวด ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า มีปริมาณโปรตีนน้อยมาก เมื่อเทียบกับไข่ไก่ ๑ ฟอง (มีโปรตีน ๖.๕ กรัม) หรือนมหนึ่งกล่อง (๘.๕ กรัม) จะพบว่าการกินรังนก ๑ ขวดจะได้ปริมาณโปรตีนเท่ากับการดื่มนม ๑/๖๔ กล่องเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าทั้งในแง่คุณภาพและราคาต่อการบำรุงสุขภาพ
ข้อถกเถียงดังกล่าวมาจากสาเหตุที่รังนกมีราคาแพงมาก มีการทุ่มการโฆษณาสูง ดังนั้น ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูง และต้องกินต่อเนื่องระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล จึงต้องลงทุนสูง ผู้บริโภคจะต้องนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ
อีกด้านหนึ่ง แพทย์แผนจีนก็มีมุมมองที่ต่างกับแพทย์แผนปัจจุบัน ในการมองสรรพคุณของรังนก หรือสมุนไพร อาหารต่างๆ ไม่ได้ยึดถือเอาเฉพาะส่วนประกอบทางโภชนาการของตัวอาหารหรือสมุนไพรมาชี้ขาดคุณสมบัติและประโยชน์เท่านั้น แต่ยังอธิบายตัวฤทธิ์ร้อน เย็น รสชาติ การเข้าสู่อวัยวะอะไร และสามารถปรับสมดุลกลไกและสมดุลยินหยางได้อย่างไร
รังนกคืออะไร
รังนก เป็นรังของนกแอ่น (นกนางแอ่น) ใช้เป็นที่วางไข่และเป็นที่อยู่ของลูกนกก่อนจะเริ่มหัดบิน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เป็นนกที่หากินในทะเลทางใต้แถบทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ ได้อาหารจากปลาเล็กๆ และสาหร่าย มันจะสร้างรังจากน้ำลายของพ่อและแม่ที่สำรอกออกมา โดยมีส่วนของน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารผสมมาด้วย น้ำลายและของเหลวที่สำรอกออกมาจะมีลักษณะเหนียว เมื่อกระทบลมทะเลที่โชยมาตลอดเวลา ทำให้จับตัวแข็งเป็นรูปร่างรังนก
นกนางแอ่นจะสร้างรังนก ๓ ครั้งต่อปี
ครั้งที่ ๑ รังนกที่มีคุณภาพดี หรือน้ำที่หนึ่ง เนื่องจากสภาพร่างกายของนกมีการสะสมอาหาร บำรุง ในช่วงเวลาที่ยาวนานมาก่อน น้ำลายที่สำรอกออกมา จึงมีสีขาว เหนียวข้น มักไม่มีขนเจือปน มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน เรียกว่า กวนเยี่ยน (官燕)
ครั้งที่ ๒ หลังจากคนเก็บรังนกไป ทำให้มันต้องรีบเร่งในการสร้างรังใหม่ สภาพร่างกายของนกก็ไม่สมบูรณ์เช่นรังแรก น้ำลายที่สำรอกออกมา ความเหนียวข้นจึงน้อยกว่าเดิม และยังมีขนอ่อนของนกปนเปื้อนเข้าไป รังนกจึงมีลักษณะหยาบและมีส่วนประกอบของขนอ่อน ซึ่งทำให้รังนกมีสีดำ หรือรังนกขน – เหมาเยี่ยน (毛燕)
ครั้งที่ ๓ รังนกสีแดง แต่เดิมเชื่อว่าเป็นการสำรอกเอาน้ำลายที่ยังมีอยู่ (หลังจากถูกเอารังนกไปแล้ว ๒ ครั้ง) จึงต้องสำรอกอย่างรุนแรงออกจากลำคอ ทำให้มีเลือดเจือปนออกมาด้วย เกิดเป็นรังนกสีแดง
ความเชื่อนี้ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะถ้าเป็นเลือดจริงมันจะถูกอากาศออกซิไดซ์โปรตีนให้เป็นรังนกสีดำมากกว่า สีแดงของรังนกที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากอาหารและสภาพแร่ธาตุของถิ่นที่อยู่มากกว่า เช่น สาหร่าย แมลง แร่ธาตุ ที่อาศัยอยู่ ดังนั้น รังนกบางรัง แม้น้ำแรก (รังแรก) ก็มีสีแดงได้ จึงเรียกรังนกสีแดงว่ารังนกแก่ (老燕) หรือหงเยี่ยน (红燕)
รังนกที่ ๓ จะเก็บภายหลังจากที่นกแอ่น ได้อพยพพาลูกน้อยบินออกจากรังไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงมรสุมซึ่งไม่สามารถสร้างรังได้
รังนกที่มีคุณภาพดี จะอยู่ในแถบทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ประเทศไทย สิงคโปร์ และทะเลแถบมณฑล เช่น ไห่นาน
ปัจจุบันมีการสร้างบ้านให้นกแอ่นมาทำรัง แทนที่จะต้องไปหารังนกสัมปทานตามเกาะต่างๆ ซึ่งยุ่งยากกว่ามาก ทำให้สามารถสร้างรายได้แก่ผู้คนจำนวนมาก
รังนกกับการบันทึกในตำราแพทย์แผนจีน
หนังสือ “สืออู้ยี่จี้” (食物宜忌) กล่าวถึงสรรพคุณรังนกไว้ว่า “เสริมพลัง กระตุ้นความอยากอาหาร เสริมจิง บำรุงไขกระดูก ให้ความชุ่มชื้นกับปอด รักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง ละลายเสมหะ”
หนังสือ “เปิ่นเฉ่ากังมู่สือยี่” (本草纲目拾遗) เขียนโดย จ้าวเสวี๊ยหมิ่น (赵学敏) สมัยราชวงศ์ชิง กล่าวถึงรังนกไว้ว่า
“รังนก สามารถใช้บำรุงยินของปอดได้ดีมาก (补肺养阴) สลายเสมหะ หยุดไอ ทั้งบำรุงและระบายร้อน เป็นอาหารและยาที่ดีเยี่ยมในการบำรุงร่างกายที่ทรุดโทรม โรคทั้งหลายที่เกิดจากพลังปอดพร่อง พลังปอดไม่ลงสู่ส่วนล่าง (清肃下行) สามารถรักษาด้วยรังนก”
แพทย์แผนจีนจัดรังนกมีฤทธิ์ไม่ร้อน ค่อนไปทางเย็น มีฤทธิ์กลางๆ รสหวาน เข้าเส้นลมปราณ ปอด ม้าม ไต มีสรรพคุณทั้งบำรุงพลังและขับระบายความร้อน (补而能清) ค่อนไปทางบำรุงยินทำให้ภายในไม่แห้ง เกิดความชุ่มชื่น และบำรุงพลังไปพร้อมกัน (补肺养阴, 滋阴补肾, 清肃下行, 补而能清)
เนื่องจาก การใช้อาหารและสมุนไพรจีน ไม่สามารถจะบอกเพียงแค่อาการ แล้วบอกตัวยาที่จะต้องใช้ หรืออาหารที่ควรกินเป็นสูตรตายตัว เพราะต้องวิเคราะห์สภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ คนที่เป็นโรคเดียวกันสภาพร่างกายอาจจะต่างกันหรือเหมือนกันก็ได้ การดูแลรักษาสุขภาพแบบแพทย์แผนจีนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรับสมดุล อาการที่แสดงออกของผู้ป่วยแต่ละคน อาจมีพื้นฐานความเสียสมดุลต่างกัน
ผู้ป่วยมะเร็งกินรังนกได้หรือไม่
เนื่องจากรังนกมีส่วนประกอบของกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโปรตีนในปริมาณสูง และรังนกยังช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ (Mitogenic stimulation factor) จึงมีปัญหาถามว่า การกินรังนกจะทำให้เซลล์มะเร็งได้รับอาหารโปรตีน และยังได้รับการกระตุ้นให้แบ่งตัวได้เร็วขึ้น เท่ากับไปทำให้มะเร็งรุนแรงขึ้นหรือไม่
แพทย์แผนจีนมีแนวคิดในการรักษาโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็งที่มีเอกลักษณ์ หรือจุดเด่นเฉพาะ คือการรักษาโรคที่เป็นปัญหาเฉพาะส่วน กับการรักษาร่างกายโดยองค์รวม การต่อสู้กับมะเร็ง ด้านหนึ่งต้องทำลายมะเร็ง อีกด้านหนึ่งต้องเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อควบคุมมะเร็งหรือที่เรียกว่า การพยุงเจิ้งชี่ขจัดเสียชี่ (扶正祛邪)
ผู้ป่วยมะเร็ง หรือระหว่างการรักษามะเร็ง ถ้ามีภาวะยินพร่อง เนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้ร่างกายมีศักยภาพในการต่อสู้กับโรคน้อยลง ดังนั้น ถ้าเราใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารที่มีลักษณะเสริมยินไปช่วยปรับสมดุล ก็จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งเหมือนกับคนที่มีหนี้สิน จะใช้ข้อสรุปตายตัวว่า ห้ามกู้หนี้ยืมสิน เพราะจะต้องเสียดอกเบี้ยหนี้จะเพิ่มมากขึ้นเพียงด้านเดียวไม่ได้ เพราะการกู้หนี้แล้วสามารถแก้พื้นฐานภายในระยะยาวได้ ถือว่ามีประโยชน์ มีคุณมากกว่ามีโทษ จึงต้องมองสภาพร่างกายโดยองค์รวมของผู้ป่วยเป็นหลักมากกว่าพิจารณาเฉพาะส่วน
คนประเภทไหนไม่ควรกินรังนก ควรกินอย่างไรจึงถูกวิธี
คนที่ภาวะหยางพร่อง ร่างกายภายในมีความเย็นมาก คนที่ท้องเสีย อาเจียน มีเสมหะมาก ระบบย่อยไม่ดี หรือคนมีภาวะร้อนชื้น ของเสียตกค้างในร่างกายมากจนเกิดความร้อน ไม่ควรกินรังนก
เนื่องจาก โปรตีนจากรังนกเป็นโปรตีนมีขนาดใหญ่และฤทธิ์กลางๆ การดูดซึมจะเป็นไปอย่างช้าๆ การกินต้องแบ่งกินสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๖ กรัม กินต่อเนื่องประมาณ ๑ เดือน แล้วหยุดกิน ๒-๓ เดือน แล้วเริ่มใหม่ การกินครั้งละมากๆ ไม่มีประโยชน์ เพราะดูดซึมไม่หมด ถือว่าสิ้นเปลือง คนที่มีฐานะดี กินได้ทุกวันปริมาณน้อยๆ และต่อเนื่อง
การกินรังนก ไม่ควรกินตอนท้องว่าง เพราะการดูดซึมในขณะที่กระเพาะอาหาร ลำไส้ยังไม่ค่อยทำงาน ทำให้การดูดซึมรังนกไม่สมบูรณ์
รังนกปลอมทำมาจากอะไร
เนื่องจากสินค้ารังนกมีราคา มีคนพยายามลอกเลียนแบบทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม โดยทำให้มีรูปร่างคล้ายรังนก รสชาติใกล้เคียง เช่น ทำจากวุ้นสาหร่าย เห็ดหูหนูขาว แป้ง ถั่ว หรือยางสน (松香)
ซึ่งแน่นอนย่อมไม่มีสรรพคุณเหมือนรังนกธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญรังนกสามารถแยกรังนกแท้กับรังนกเทียมออกจากกันได้
สรรพคุณและคุณค่าของรังนกในมุมมองที่ต่างกัน จะให้คุณค่าที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเทียบปริมาณโปรตีนเป็นเกณฑ์ โปรตีนในรังนกไปเทียบราคาโปรตีนจากแหล่งอื่น ก็อาจด้อยค่ากว่า แต่ถ้ามองในแง่คุณลักษณะการปรับสมดุล โปรตีนจากสัตว์ที่ต่างกัน ระหว่างเนื้อเป็ดกับเนื้อไก่ เนื้อหมูกับเนื้อวัว ทางแพทย์จีนยังต้องแยกสภาพ ยิน-หยางของโปรตีน เช่น เนื้อเป็ดฤทธิ์เย็น เนื้อหมูฤทธิ์กลาง เนื้อไก่ฤทธิ์ค่อนร้อน เนื้อวัวอุ่นร้อน ฤทธิ์ในการปรับสมดุลต่อร่างกายก็ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การโฆษณาสรรพคุณรังนกและกินกันแบบผิดๆ นอกจากจะสูญเสียเงินทอง และไม่เป็นประโยชน์แล้ว บางครั้งอาจเป็นโทษได้
การพิจารณาซื้อรังนก จึงต้องพิจารณาสภาพร่างกาย สภาพเศรษฐกิจ แล้วเลือกซื้อรังนกที่มีคุณภาพ การเลือกใช้ตัวยาสมุนไพรอื่นๆ ที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน ราคาถูกกว่า เสริมบำรุงยินของปอด เช่น ไป่ซาเซิน (北沙参) ม่ายตง (麦冬) ยวี่จู๋ (玉竹) ไป๋เหอ (百合) โดยการปรึกษาแพทย์จีนที่มีความรู้น่าจะเป็นประโยชน์กว่า อย่าคิดแต่ว่ามีเงินแล้วใช้จ่ายโดยไม่ประมาณตัว อาจจะถูกหลอกด้วยการจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อซื้อรังนกปลอมก็ได้
- อ่าน 88,261 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้