• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาระบายเพื่อลดความอ้วน

ยาระบายเพื่อลดความอ้วน


ยาระบายหรือยาถ่าย คือ กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย หรือถ่ายท้อง หรือถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายหนัก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการท้องผูก และมีบางคนใช้เพื่อลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน

ชนิดของยาระบาย
ยาระบายมีหลายชนิดตามกลไกการออกฤทธิ์ เช่น ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (stimulant laxatives) ยาเพิ่มความเหลวของอุจจาระ (saline laxatives) ยาเพิ่มกากใยไฟเบอร์ของอุจจาระ (bulk forming   laxatives) ยาสวนทวารหนัก (fleet enema) ยาเหน็บ ทวารหนัก (suppositories) เป็นต้น ยาเหล่านี้ล้วนมีผลให้เกิดการระบายบรรเทาอาการท้องผูกได้ผลดี แต่แตกต่างกันที่กลไกการออกฤทธิ์ วิธีใช้ และระยะเวลาการออกฤทธิ์

ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่
ในบรรดายาระบายที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ ยาระบายชนิดที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก และใช้เพื่อลดความอ้วน ตัวอย่างยาระบายที่มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ เช่น ยาเม็ดเคลือบสีเหลืองเล็กๆ ที่มีชื่อสามัญ ทางยา "บิสโคดิล" (bisacodyl) ยาระบายที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรมะขามแขกที่มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดชง เป็นต้น

ยาระบายช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?
ปกติแล้วเราจะสามารถลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก หรือลดไขมันหน้าท้องได้ ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก คือ การลดการกินอาหาร และการเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย เมื่อใดก็ตามถ้าการรับเข้าร่างกายมากกว่าการใช้ออกไป ร่างกายก็จะมีปริมาณสารอาหารหลงเหลือเกินการใช้ และถูกนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะที่เอวหรือหน้าท้อง ทำให้ท้องดูโป่งไป ร่างกายก็จะไปนำไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมาใช้เป็นพลังงานทดแทนการกิน ทำให้ความอ้วนลดลง ร่างกายก็จะดูผอมลง

นอกจากนี้ อาหารที่เรากินเข้าไปส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึมจากสำไส้เล็กส่วนต้นแล้วเหลือแต่กากใย อาหารส่งต่อมาสะสมที่ลำไส้ใหญ่ รอการระบายหรือถ่ายออกจากร่างกายไป ส่วนลำไส้ใหญ่นี้จะมีการดูดซึมน้ำออกจากกากอาหารจนเป็นก้อนอุจจาระ ดังนั้น ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่บีบตัวไล่อุจจาระที่สะสมอยู่ออกทิ้งไป จึงมีฤทธิ์ช่วยการระบายอุจจาระเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการลดการดูดซึมอาหารหรือลดความอ้วนหรือลดไขมันที่สะสมบริเวณท้องหรือพุงของเราเลย แต่อาจจะส่งผลบ้างเล็กน้อยต่อน้ำหนักตัวที่ลดลงตามน้ำหนักของอุจจาระที่ถ่ายทิ้งออกไปจากร่างกายเราเท่านั้น

ข้อควรระวังในการใช้ยาระบาย

๑. ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม
ในการใช้ยาระบายประเภทนี้ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการขนาดของยาที่แตกต่างกันตามความรุนแรงของอาการท้องผูกและความคุ้นเคยหรือความเคยชินที่ผู้ใช้ยาที่ชาวบ้านเรียกว่า ธาตุแข็ง ธาตุหนัก หรือธาตุเบา เพราะถ้าธาตุเบาก็ควรเริ่มต้น ด้วยขนาดต่ำ คือ ครั้งละ ๑ เม็ด ก่อนนอนก็เพียงพอ แต่ถ้าธาตุหนัก อาจต้องใช้วันละ ๒-๔ เม็ด จึงจะออกฤทธิ์ได้ดี ในบางรายที่มีการใช้ยาในขนาดที่น้อยเกินไป ยาก็จะไม่แสดงฤทธิ์หรือถ่ายไม่ออก แต่ถ้ามีการใช้ยานี้มากเกินไปหรือเกินขนาด ก็จะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่มากเกินไป จนทำให้เกิดปวดมวนท้อง และอ่อนเพลีย เนื่องจากเสียน้ำและเกลือแร่ออกมากับอุจจาระมากเกินไปได้

ขนาดปกติสำหรับยาบิสโคดิลคือ ครั้งละ ๑-๒ เม็ด ก่อนนอน ยานี้จะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์หลังจากกินไปแล้ว ๘ ชั่วโมง ถ้ากินก่อนนอน ก็พอดีกับเวลาที่เราพักผ่อนตอนกลางคืน พอตื่นนอนขึ้นมา ยาก็เริ่มแสดงฤทธิ์เริ่มปวดท้องถ่ายอุจจาระพอดี นอกจากนี้ ในการใช้ยานี้ "ห้ามเคี้ยว" ทั้งนี้เพราะยาบิสโคดิลเป็นยาเม็ดที่ถูกออกแบบให้ภายนอกเคลือบน้ำตาลเป็นเกราะป้องกันกรดของกระเพาะอาหาร ยาชนิดนี้จึงไม่แตกตัวและออกฤทธิ์ในลำไส้ส่วนต้น และจะเริ่มแตกตัวไปออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วนปลายเท่านั้น

๒. ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็น
เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ร่างกายของเราจะเริ่มทนต่อยา และจะทนต่อยามากขึ้นๆ เรื่อยๆ ตามความถี่และปริมาณการใช้ยา การทนต่อยา คือ การใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่จะให้ผลในการรักษาลดน้อยลงกว่าเดิม ถ้าต้องการให้ยาออกฤทธิ์ให้ผลเช่นเดิม ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยพบผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาระบายบิสโคดิลนี้ถึงครั้งละ ๒๕ เม็ด จึงจะระบายได้ ครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้ารายนี้ยังใช้ยาอย่างต่อเนื่องต่อไป ผู้เขียนยังสงสัยอยู่ว่าจะต้องใช้ยานี้มากถึงเพียงใดจึงจะเพียงพอให้ระบายสักครั้งหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ควรกินยาระบายติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ เพราะจะทำให้ร่างกายเราทนต่อยาต้องเพิ่มขนาดของยาจึงจะได้ผลดีเท่าเดิม

๓. ไม่ควรใช้ในการลดความอ้วน
อีกประเด็นที่ควรคำนึงถึงในการใช้ยาระบาย คือ ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้หรือเมื่อท้องผูกและต้องการระบายอุจจาระจริงๆ ไม่ควรใช้ในการลดความอ้วน เพราะไม่มีผลต่อการลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักเลย และถ้าใช้พร่ำเพรื่ออาจทนต่อยาเพิ่มขนาดของยา เกิดผลเสียทั้งต่อสุขภาพและทรัพย์สินเงินทอง

การลดความอ้วนอย่างง่ายๆ
เป็นความจริงที่ในปัจจุบัน ความอ้วนจัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาของสังคมโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีประชากรจำนวนมากที่เป็นคนอ้วนหรือมี น้ำหนักตัวเกิน ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นจึงควรช่วยกันรณรงค์ลดความอ้วน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่สำคัญ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

  • ลดปริมาณอาหารและการเลือกชนิดอาหาร

การลดปริมาณอาหารที่เหลือใช้ คือ การลดปริมาณอาหารลงให้ใกล้เคียงกับความต้องการในการใช้พลังงานของร่างกาย โดยเฉพาะขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำหวาน ของทอด การกินเฉพาะอาหารมื้อหลักเท่านั้น และลดอาหารหรือของขบเคี้ยวระหว่างมื้อลง การเลือกชนิดของอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีกากเส้นใย เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ เป็นต้น และลดอาหารที่มีไขมัน ของทอด และแป้ง เพราะเป็นสารที่ปริมาณพลังงานสูง และสะสมได้ง่าย

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการลดความอ้วน พร้อมกับการสร้างเสริมคุณภาพของสุขภาพกายและใจ เพราะการออกกำลังกายนอกจากจะช่วยลด ความอ้วนแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง ทั้งช่วยลดความตึงเครียด เป็นการผ่อนคลายที่ดีอย่างหนึ่ง หลายคนออกกำลังกายแล้วมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการทำงานให้ผลงานดียิ่งขึ้น

  • ใช้ยาลดความอ้วน

การใช้ยาลดความอ้วน ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหา เฉพาะหน้า ได้ผลระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วมักไม่ได้ผล ทั้งยาบางชนิดที่นำมาใช้ในการลดความอ้วนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอาการอันไม่พึงประสงค์มากมาย ทั้งชนิดที่รุนแรง เฉียบพลัน และเรื้อรัง บางคนอาจเกิดอาการผิดปกติจากการใช้ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อศูนย์หิวในสมอง เป็นต้น

สุดท้ายนี้คงได้คำตอบแล้วว่า ยาระบายไม่มีผลต่อการลดความอ้วนโดยตรง จึงไม่ควรใช้เพื่อการนี้ จึงควรใช้ยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น และควรใช้ให้ถูกขนาดและเมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนวิธีการในการลดความอ้วนที่ได้ผลดีปลอดภัยและประหยัด คือ ลดปริมาณการกินอาหารและเลือกชนิดของอาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งให้ผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของพวกเรา

หากมีข้อสงสัยในเรื่องเหล่านี้ อาจปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร โดยเฉพาะเภสัชกรชุมชนหรือเภสัชกรร้านยาที่พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องยาและสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคุณครับ

ข้อมูลสื่อ

316-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด