• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ(๗)

บนเส้นทางหนังสือ(๗)

คราวที่แล้วเป็นการคุยกันระหว่างท่านทะไล ลามะ กับหมอคัตเลอร์ค้างอยู่ตรงที่คนที่ขาดความรักและโหดร้ายอย่างสตาลิน

"มีคนบางคนเริ่มต้นในชีวิตเลย มีชีวิตที่ขาดความรักจากผู้อื่นและไม่มีความสุข หลังจากนั้นเขาไม่มีความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ ไม่สามารถรักคนอื่นได้ กลายเป็นคนหยาบกระด้างและอำมหิต" ท่านทะไล ลามะ พูดแล้วก็หยุดไปนาน ครุ่นคิดอย่างจริงจัง ก้มลงหยิบถ้วยชาดื่ม ไม่มีทีท่าว่าจะพูดต่อ นั่งดื่มชากันอยู่อย่างเงียบๆ ในที่สุดก็ยักไหล่เหมือนจะบอกว่าท่านก็ไม่มีคำตอบสำหรับคนประเภทนี้

"ดังนั้น ท่านจึงคิดว่าเทคนิคที่จะเพิ่มความเห็นใจและพัฒนาความเมตตากรุณา คงจะไม่ช่วยคนที่มีภูมิหลังอันลำบากแบบนั้น" หมอคัตเลอร์ถาม
"มีประโยชน์เสมอไม่มากก็น้อย ถ้าปฏิบัติตามวิธีการต่างๆ (เพื่อส่งเสริมความเมตตากรุณา) ขึ้นกับสถานการณ์นั้นๆ" ท่านทะไล ลามะ อธิบาย "แต่ก็อาจเป็นได้เหมือนกัน ที่ในบางรายเทคนิคเหล่านี้ก็ไม่ได้ผลเลย..."

หมอคัตเลอร์ขัดจังหวะเพื่อความชัดเจน "แล้วเทคนิคที่จะส่งเสริมความเมตตากรุณาที่ท่านอ้างถึงนี้คือ...?"
"ก็ที่เราเพิ่งคุยกันไปแล้วไง ประการแรก โดยการเรียนรู้ให้เข้าใจคุณค่าของความเมตตากรุณา สิ่งนี้จะทำให้คุณเกิดความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่น หลังจากนั้น ใช้วิธีส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ เช่น จินตนาการ ความสร้างสรรค์ เห็นตัวเองอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่น ในสัปดาห์นี้ในการบรรยายสาธารณะเราจะคุยกันถึงการทดลอง ปฏิบัติ เช่น ที่เรียกว่า "ตอง-เล็น" ที่จะทำให้ความเมตตากรุณาของคุณแข็งแรงขึ้น เทคนิคเหล่านี้หวังจะช่วยคนจำนวนมาก แต่คงไม่ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จุดสำคัญก็คือต้องพยายามสร้างความสามารถในตัวเองให้เกิดความเมตตา กรุณา ความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง แต่ถ้าพยายามให้ดีที่สุดที่จะเป็นคนจิตใจอ่อนโยน ปลูกฝังความเมตตากรุณา และทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น แล้วในแต่ละวันเราก็จะสามารถพูดว่า "อย่างน้อยฉันได้ทำดีที่สุด" "

คุณประโยชน์ของความเมตตากรุณา
ในระยะหลังมีการศึกษามากมายที่สนับสนุนความคิดที่ว่าการมีความเมตตากรุณา และจิตใจที่ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นมีผลทางบวกต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในการทดลองที่รู้จักกันดี เดวิด แมคเคลแลนด์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เอาหนังให้นักศึกษาดูที่แสดงให้เห็นแม่ชีเทเรซาทำงานช่วยเหลือคนป่วยและคนจนในเมืองกัลกัตตา นักศึกษารายงานว่าหนังนั้นกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเมตตากรุณา หลังจากนั้นเขาตรวจน้ำลายของนักศึกษาพบว่ามีอิมมูโนโกลบูลิน-เอเพิ่มมากขึ้น สารนี้เป็นสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งโดยเจมส์ เฮาส์ ที่ศูนย์การวิจัยมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าการเป็นอาสาสมัครที่สัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างอบอุ่นและด้วยความเมตตากรุณาทำให้อายุขัยยืนยาวขึ้นมาก และเพิ่มความมีชีวิตชีวาทั้งหมดทีเดียว การวิจัยอื่นๆ เรื่องกาย-จิต ก็พบทำนองเดียวกันว่าจิตใจดีมีผลต่อสุขภาพทางกาย

นอกจากมีผลต่อสุขภาพทางกายแล้ว ก็มีหลักฐานว่าความเมตตากรุณาและความเอื้ออาทรมีผลต่อสุขภาพจิตด้วย เช่น ทำให้เกิดความสุข จิตใจสงบ และมีอาการซึมเศร้าน้อยลง ในการศึกษาติดตามนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นเวลา ๓๐ ปี พบว่าคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นจะมีสุขภาพจิตดี การสำรวจอีกชุดหนึ่ง โดยอัลลัน ลัคส์ ศึกษาในคนหลายพันคนพบว่า คนที่เป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นกว่าร้อยละ ๙๐ รายงาน ความรู้สึกที่ดี รู้สึกอบอุ่นใจ มีพลังมากขึ้น ปลาบปลื้มปีติ มีความรู้สึกสงบและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และหายจากโรคที่เกี่ยวกับความเครียด

ในขณะที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความเห็นของท่านทะไล ลามะ ถึงประโยชน์ของความเมตตากรุณา เราไม่จำเป็นต้องไปพึ่งการทดลองหรือการสำรวจต่างๆ ที่จะมายืนยันความจริงของทรรศนะนี้ เราสามารถค้นพบความจริงนี้จากชีวิตของเราเองและคนรอบๆ ตัว โจเซฟคนรับเหมาก่อสร้างอายุ ๖๐ ปี เป็นตัวอย่างที่ดี 
เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีที่โจเซฟได้ประโยชน์จากการ บูมของการก่อสร้างในแอริโซนา จนกระทั่งเป็นมหาเศรษฐีเงินล้าน แต่ในตอนปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐ เกิดการตกต่ำเรื่องอสังหาริมทรัพย์ครั้งร้ายแรงที่สุดในแอริโซนา โจเซฟแบนราบสูญเสียทุกอย่าง และถูกประกาศว่าเป็นบุคคลล้มละลาย และความเครียดนำไปสู่การหย่าร้างกับภรรยาซึ่งอยู่กินกันมา ๒๕ ปี   โจเซฟกลายเป็นคนดื่มจัด แต่โชคดีที่หยุดดื่มได้โดยโครงการที่เรียกว่า Alcohol Anonymus แล้วเลยกลายเป็นไปสนับสนุนโครงการนี้ช่วยให้ผู้ติดสุราหยุดการดื่มได้ เขามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น เลยไปเป็นอาสาสมัครในองค์กรอื่นๆ อีก เขานำความรู้ทางธุรกิจมาใช้ในการช่วยคนจน ในการพูดถึงชีวิตในปัจจุบัน โจเซฟกล่าวว่า "ผมมีธุรกิจที่ปรับใหม่ขนาดเล็กในขณะนี้ รายได้ก็ไม่มาก ผมรู้ว่าผมไม่มีทางร่ำรวยอย่างที่เคยเป็น แต่ที่ตลกก็คือ ผมไม่อยากมีเงินแบบนั้นอีกแล้ว ผมพอใจที่จะใช้เวลาเป็นอาสาสมัครสำหรับกลุ่มต่างๆ มากกว่า ทำงานโดยตรงกับผู้คน เพื่อช่วยเขาอย่างดีที่สุดที่ผมจะทำได้ ในเวลานี้ผมมีความสุขในวันหนึ่งๆ มากกว่าใน ๑ เดือนเมื่อครั้งผมทำงานได้มากๆ ผมมีความสุขยิ่งกว่าตอนไหนๆ ในชีวิต"

การภาวนาเพื่อให้เกิดความกรุณา
ดังที่ได้สัญญาไว้ ท่านทะไล ลามะ ปิดท้ายการบรรยายสาธารณะที่แอริโซนาของท่านด้วยการรจนาเพื่อความเมตตา เป็นบทฝึกหัดที่ง่าย แต่ก็เป็นวิธีที่ทรงพลังและงดงาม ใช้เวลา ๕ นาที
"ในการก่อให้เกิดความกรุณา ท่านเริ่มต้นโดยระลึกว่าตัวท่านเองไม่ต้องการความทุกข์ และท่านมีสิทธิที่จะมีความสุข เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ของตัวท่านเอง ต่อจากนั้นท่านระลึกถึงว่าคนอื่นๆ เช่นเดียวกับตัวท่าน ก็ไม่ต้องการความทุกข์และมีสิทธิที่จะมีความสุข นี้เป็นหลักการพื้นฐานของการภาวนาเพื่อความกรุณา ดังนั้นขอให้เราภาวนาเพื่อความกรุณากันในวันนี้ เริ่มโดยสร้างมโนภาพถึงคน คนหนึ่งที่กำลังทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส มีความเจ็บปวดหรือสถานการณ์ที่โชคร้ายอย่างยิ่ง ใน ๓ นาทีแรกของการภาวนา คิดถึงความทุกข์ทรมานของบุคคลดังกล่าวอย่างวิเคราะห์ คิดถึงความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัส และสภาวะโชคร้ายที่บุคคลนั้นกำลังดำรงอยู่ หลังจากคิดถึงความทุกข์ทรมานของเขาผู้นั้นอยู่ ๒-๓ นาที แล้วย้อนเข้ามาสัมพันธ์กับตัวเราเอง ว่าเขาก็เช่นเดียวกับเราที่อาจเจ็บปวด อาจสนุกสนาน อาจมีความสุข หรืออาจมีความทุกข์ แล้วก็ปล่อยให้ธรรมชาติของตัวคุณเองว่าจะตอบโต้อย่างไร ความรู้สึกโดยธรรมชาติที่มีความกรุณาต่อคนผู้นั้น พยายามที่จะมาถึงข้อสรุป โดยคิดว่าท่านปรารถนาเพียงใดที่จะให้เขาพ้นจากความทุกข์ทรมาน และตั้งใจว่าคุณจะช่วยให้เขาบรรเทาจากความทุกข์ทรมานนั้น ท้ายที่สุดเพ่งใจของคุณไปยังจุดเดียว
ที่ความตั้งใจนั้น และใน ๒-๓ นาทีสุดท้ายของการภาวนาเพ่งให้เกิดความกรุณาหรือความรักเพื่อนมนุษย์ขึ้นในดวงจิต"

เมื่อพูดดังนั้นแล้ว ท่านทะไล ลามะ ก็ลงนั่งขัดสมาธิพร้อมกับผู้ฟังทั้งหมดในห้องประชุมเงียบสนิท แต่ว่าก็มีอะไรที่ปรากฏขึ้นในการนั่งในเช้าวันนั้น หมอ คัตเลอร์คิดว่าต่อให้คนใจหินที่สุดก็ไม่สามารถทานแรงโน้มในหมู่คน ๑,๕๐๐ คน ที่ทุกคนกำลังคิดถึงเรื่องความกรุณา หลังจากนั้น ๒-๓ นาที ท่านทะไล ลามะ สวดเป็นภาษาทิเบตเบาๆ เสียงลึก เป็นจังหวะเพลง เป็นน้ำเสียงที่นำมาซึ่งความละมุนและอบอุ่นใจ

ตอน ๓ การแปรเปลี่ยนความทุกข์

บทที่ ๘ การเผชิญหน้ากับความทุกข์

ในสมัยพุทธกาล ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อกิสาโคตมี ลูกคนเดียวเกิดตายลง นางมีความทุกข์แสนสาหัส ยอมรับไม่ได้ วิ่งไปหาคนโน้นคนนี้เพื่อหายามารักษาให้ลูกฟื้น ผู้คนลือกันว่าพระพุทธองค์ทรงมียาเช่นที่ว่านี้
นางกิสาโคตมีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก้มลงกราบ และทูลขอยาไปชุบชีวิตบุตรของนาง
"มียาชนิดนี้อยู่" พระพุทธองค์ทรงตอบ "แต่ต้องการตัวยามาผสม"
นางดีใจทูลถามว่า "ส่วนผสมอะไรหรือเจ้าคะ"
"ไปนำเมล็ดมัสตาร์ดมาสัก ๑ กำมือ"
พระพุทธองค์ตรัส
นางก็รับคำที่จะไปหาตัวยา แต่ก่อนที่จะออกไป พระพุทธองค์ตรัสเพิ่มเติมว่า "แต่ต้องเอามาจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายเลย ไม่ว่าจะเป็นลูก สามีภรรยา พ่อแม่ หรือคนใช้"
นางกิสาโคตมีก็ไปวนหาเมล็ดมัสตาร์ดทุกบ้านเต็มใจให้ แต่ไม่มีบ้านใดเลยที่ไม่เคยมีคนตาย บ้านหนึ่งก็ลูกสาว อีกบ้านหนึ่งก็คนใช้ บ้านอื่นๆ ก็มีสามีบ้าง พ่อแม่บ้างที่ตาย นางกิสาโคตมีไม่สามารถจะหาสักบ้านหนึ่งที่ปลอดความทุกข์จากการตาย จึงระลึกได้ว่าไม่ใช่แต่เธอเท่านั้นที่มีความทุกข์โทมนัส นางจึงวางศพลูกลง และกลับไปเฝ้าพระพุทธองค์ ผู้ตรัสด้วยพระมหากรุณาว่า "น้องหญิงคิดว่าตัวคนเดียวเท่านั้นที่สูญเสียลูก แต่กฎแห่งความตายก็คือชีวิตของสรรพสัตว์ไม่มีเลยที่ยั่งยืน"
การแสวงหาของนางกิสาโคตมีสอนเธอว่า ไม่มีผู้ใดเลยที่มีชีวิตอยู่โดยไม่เกิดความทุกข์จากการสูญเสีย เธอไม่ใช่คนเดียวที่โชคร้าย การมีปัญญารู้เท่าทันเช่นนี้อาจจะไม่สามารถขจัดความทุกข์จากความสูญเสีย แต่มันลดความทุกข์จากการดิ้นรนต่อสู้กับความจริงของชีวิต

แม้ว่าความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน จะเป็นปรากฏการณ์สากลในชีวิตมนุษย์ แต่ก็ใช่ว่าเราจะยอมรับได้ง่ายๆ มนุษยชาติได้พยายามสร้างวิธีการอันมากมายที่จะหลบหลีกประสบการณ์แห่งความทุกข์ บางครั้งเราใช้วิธีนอกตัว เช่น ใช้สารเคมี คือยาหรือสุราที่จะระงับความรู้สึก และก็มีวิธีการภายในอันหลากหลายเช่นกัน เป็นต้นว่ากลไกลป้องกันตนทางจิตโดยจิตใต้สำนึกที่จะเป็นเบาะรองรับไม่ให้เราเจ็บปวดมากเกินเมื่อมีปัญหากลไกป้องกันตนเองเหล่านี้ บางอย่างก็ดึกดำบรรพ์มาก เช่น ปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามีปัญหา หรือบางครั้งรู้ว่ามีปัญหาแต่ก็หลบไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอื่นหรือความบันเทิง เพื่อจะไม่คิดถึงปัญหา หรือบางทีก็โยนไปให้เป็นความผิดของคนอื่น เช่นว่า "โอ้ใช่ มันแย่จริงๆ แต่ไม่ใช่ผมหรอกที่มีปัญหา เป็นคนอื่นต่างหากที่มีปัญหา ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะไอ้หัวหน้าบ้าๆ คนนั้นที่ทำให้ผมลำบาก หรือ...ผมก็จะสุขสบายดี"

อาจจะหลบหลีกความทุกข์ได้เป็นการชั่วคราว แต่ก็เหมือนเป็นโรคที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาครึ่งๆ กลางๆ ที่เพียงแต่กดอาการมันไว้ โดยไม่ได้รักษาโรคให้หายขาดตามสมุฏฐาน โรคก็จะยังอยู่หรือกลับรุนแรงกว่าเดิม การใช้ยาหรือสุราอาจระงับทุกข์ได้ชั่วคราวแต่เมื่อยังใช้ต่อไป ผลร้ายทางร่างกายและทางสังคมอาจร้ายแรงกว่าความทุกข์ที่ทำให้ใช้ยาหรือสุราเสียอีก กลไกป้องกันทางจิต เช่น การปฏิเสธหรือการเก็บกดอาจช่วยปกป้องเราจากความรู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว แต่ไม่สามารถทำให้ความทุกข์หายไปได้

แรนดอลล์สูญเสียพ่อไปจากโรคมะเร็งปีเศษๆ มาแล้ว เขาเป็นคนที่ใกล้ชิดพ่อมาก เมื่อพ่อตายผู้คนแปลกใจกันมากที่เขาสามารถเผชิญกับความทุกข์ได้ "แน่นอนผมเศร้ามาก" เขาอธิบาย "แต่จริงๆ แล้วผมก็ไม่เป็นไร ผมคิดถึงพ่อ แต่ชีวิตก็ดำเนิน ไป ผมไม่สามารถจะไปจดจ่ออยู่กับพ่อได้ในขณะนี้ ผมต้องจัดงานศพ และก็ดูแลทรัพย์สมบัติให้แม่ ผมก็คงจะไม่เป็นไร"  หนึ่งปีหลังจากนั้น ครบปีวันตายของพ่อไม่นาน แรนดอลล์ก็ดิ่งลงเหวแห่งความซึมเศร้า เขามาหาหมอคัตเลอร์และพูดว่า "ผมไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุให้ผมซึมเศร้า ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ไม่น่าจะเป็นความตายของพ่อ เพราะมันก็ล่วงเลยไปกว่าปีแล้ว และผมก็ยอมรับความตายของพ่อแล้ว"  หลังจากรักษาอยู่นิดหนึ่งก็เห็นได้ชัดว่า การที่เขาพยายามที่จะแสดงว่าเข้มแข็ง เขาไม่ได้จัดการกับความรู้สึกสูญเสียและความเศร้าอย่างจริงจัง ความรู้สึกเหล่านี้ยังอยู่และเติบโตขึ้นจนเกิดเป็นความซึมเศร้าที่รุนแรง

ในกรณีของแรนดอลล์ ความซึมเศร้าของเขาถูกยกออกได้เร็ว เมื่อเราจดจ่ออยู่กับความเจ็บปวดและความสูญเสีย เขาสามารถเผชิญกับประสบการณ์ของความเศร้า แต่บางครั้งวิธีการจิตใต้สำนึกที่จะไม่เผชิญกับปัญหาก็อยู่ลึกมาก ลึกอยู่ในกลไกเผชิญปัญหาของตัวเอง จนมันเข้าไปอยู่ในบุคลิกภาพและแกะไม่ออก เราก็มีคนรู้จักหรือเพื่อนที่ชอบโทษคนอื่น แต่จริงๆ แล้วเป็นความผิดของตัวเอง วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลในการขจัดปัญหา แต่คนเหล่านี้กับต้องทนทุกข์อยู่กับการไร้ความสุขอันยาวนานตราบเท่าที่ยังทำอย่างนี้อยู่

ท่านทะไล ลามะ อธิบายวิธีจัดการกับความทุกข์อย่างละเอียด เป็นวิธีที่เชื่อว่าอาจทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ในที่สุด แต่เริ่มจากการยอมรับความจริงว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิต และเผชิญกับมันอย่างตรงไปตรงมา ในชีวิตประจำวันของเรา ปัญหาต้องเกิดขึ้น ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น คือความแก่ ความเจ็บ และความตาย การหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้หรือพยายามไม่คิดถึงมัน อาจช่วยบรรเทาทุกข์ชั่วคราว แต่มีวิธีที่ดีกว่า ถ้าคุณเผชิญความทุกข์อย่างตรงไปตรงมา คุณจะอยู่ในฐานะที่จะเข้าใจธรรมชาติของปัญหาอย่างลึก เหมือนในการสู้รบ ถ้าคุณไม่รู้สถานะความสามารถในการสู้รบของศัตรู คุณก็ไม่มีความพร้อม และตกอยู่ในความหวาดกลัว แต่ถ้าคุณรู้ความสามารถในการต่อสู้ของคู่ต่อสู้ เช่นว่า เขามีอาวุธอะไร และอื่นๆ คุณก็จะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าในการสู้รบ ในทำนองเดียวกัน ถ้าคุณเผชิญกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมาแทนที่จะหลบ คุณย่อมอยู่ในฐานะที่ดีกว่าในการจัดการกับมัน

วิธีที่ว่านี้ก็มีเหตุผลชัดเจน แต่หมอคัตเลอร์ก็ต้องการรุกติดตามประเด็นให้ยิ่งไปกว่านั้น จึงถามท่านทะไล ลามะ ว่า "ใช่ครับ แต่ถ้าเผชิญปัญหาตรงไปตรงมา แล้วพบว่าไม่มีวิธีแก้ปัญหา มันก็เป็นการยากมากที่จะเผชิญหน้ากับมัน"
"แต่อาตมาคิดว่าก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะเผชิญมัน"
ท่านทะไล ลามะ ตอบด้วยจิตวิญญาณอย่างนักรบ "ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะคิดว่าความแก่และความตายเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ต้องการ และพยายามที่จะลืมมัน แต่ในที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะมาถึงตัว และถ้าคุณได้หลบหลีกที่จะคิดถึงสิ่งเหล่านี้ เมื่อมันมาถึงมันก็จะทำให้เกิดความสั่นสะเทือน อย่างมาก จนรู้สึกทนไม่ไหว แต่ถ้าได้ใช้เวลานึกถึงความแก่ ความตาย และความโชคร้ายอื่นๆ เมื่อมันมาจริงๆ จิตใจคุณก็จะมั่นคงมากกว่า เพราะคุณคุ้นเคยกับมันและคาดว่าความทุกข์เหล่านี้มันจะต้องมาถึง"

"นั่นจึงว่าทำไมอาตมาจึงเชื่อว่ามีประโยชน์ที่จะเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า โดยทำตัวให้คุ้นเคยกับความทุกข์ที่เราจะต้องเผชิญเหมือนกับการซ้อมรบ คนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องสงคราม ปืน การทิ้งระเบิด หรืออะไรเหล่านี้อาจจะเป็นลมเมื่อต้องไปสงคราม แต่จากการฝึกการซ้อมรบและเราคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อเกิดสงครามขึ้น เราก็จะไม่ทุกข์ยากมากเกิน"

"จริงอยู่ ผมเข้าใจว่าการทำตัวให้คุ้นเคยกับปัญหามีคุณค่าในการลดความกลัวของเรา แต่บางครั้งเราก็เผชิญกับปัญหาที่ไม่มีทางเลือกอะไรเลย นอกจากความทุกข์ทรมาน เราจะหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลในสถานการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร?"

"สถานการณ์เช่นอะไร?"

หมอคัตเลอร์หยุดคิดหาคำตอบ "ก็อย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ การตรวจด้วยการเจาะน้ำคร่ำหรืออัลตราซาวนด์พบว่ามีความพิการแต่กำเนิด เขาพบว่าเด็กจะมีความพิการทางจิตหรือทางกายอย่างรุนแรง ผู้หญิงคนนี้ก็จะวิตกกังวลอย่างมาก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร เธออาจจะเลือกทำแท้งเพื่อป้องกันเด็กที่จะต้องมีชีวิตที่ทุกข์ทรมาน แต่เธอก็จะรู้สึกสูญเสียและเจ็บปวด และอาจรู้สึกบาป หรือเธออาจจะเลือกให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปตามธรรมชาติและคลอดลูกออกมา แต่ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากไปทั้งชีวิตทุกข์ทรมานทั้งตัวเองและเด็ก"

ท่านทะไล ลามะ ฟังอย่างตั้งใจ และตอบ "ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบตะวันตก หรือตามวิถีพุทธต่อปัญหานี้ เรื่องนี้ยากมาก ยากจริงๆ สำหรับการตัดสินใจทำแท้ง เด็กในท้องที่พิการแต่กำเนิด ไม่มีใครรู้ว่าในระยะยาวแล้วอะไรจะดีกว่า ถ้าเด็กเกิดมาพิการในระยะยาวแล้วอาจจะดีสำหรับแม่หรือครอบครัวหรือเด็กก็ได้ แต่ว่าก็เป็นไปได้เมื่อคำนึงถึงผลที่จะตามมาในระยะยาวอาจจะดีกว่าที่ทำแท้ง แต่แล้วใครเป็นผู้ตัดสินล่ะ? ยากมาก แม้ในวิถีพุทธการตัดสินใจในเรื่องนี้ก็เกินความสามารถในการหาเหตุผล" ท่านหยุดครู่หนึ่ง แล้วกล่าวต่อ "แต่อาตมาก็คิดว่า ภูมิหลังและความเชื่อของแต่ละบุคคลจะมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์อันยากลำบาก"


คู่สนทนานั่งเงียบ

ในที่สุดท่านทะไล ลามะ กล่าวขึ้นว่า "เมื่อคำนึงถึงความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา เราสามารถเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ว่าเราจะต้องประสบกับอะไรบ้าง มันไม่ได้ช่วยขจัดปัญหา แต่ช่วยให้เราเผชิญกับมันได้และลดความกลัวลง เช่น ถ้าลูกที่พิการจะถือกำเนิด แม้จะเตรียมล่วงหน้าอย่างไร เราก็ต้องอยู่กับความพิการนั้น เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก"
น้ำเสียงท่านดูเศร้า แต่ว่าก็ไม่ใช่ความสิ้นหวัง ท่านหยุดพูดไปสัก ๑ นาที มองออกไปนอกหน้าต่างประดุจมองไปยังโลกทั้งหมด แล้วก็พูดต่อ "ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความจริงว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และก็เป็นธรรมดาที่เราจะไม่ชอบความทุกข์และปัญหา แต่อาตมาคิดว่าคนทั่วๆ ไป ไม่เห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์" ท่านหัวเราะขึ้น "ในวันเกิดของคุณ พรรคพวกก็พูดว่า "สุขสันต์วันเกิด" ในขณะที่ความจริงวันเกิดคือวันเกิดของความทุกข์ แต่ไม่มีใครพูดว่า "สุขสันต์วันเกิดความทุกข์"" ท่านพูดให้ตลก
 

ในการยอมรับว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คุณอาจจะเริ่มโดยพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุข โดยทั่วๆ ไป คุณมีความสุข เมื่อตัวคุณเองหรือ
คนใกล้ชิดได้รับการสรรเสริญ ชื่อเสียง โชคลาภ และสิ่งที่น่ายินดีอื่นๆ แต่คุณไม่มีความสุขเมื่อไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ หรือคู่แข่งขันได้รับสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อมองไปในชีวิตประจำวันตามปกติแล้ว จะพบว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์มากกว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสุข จะชอบหรือไม่ชอบมันก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่เนื่องจากมันเป็นความจริงของชีวิต ท่าทีของเราต่อความทุกข์น่าจะต้องปรับเปลี่ยน (ความทุกข์เป็นเรื่องหนีไม่พ้น แต่ขึ้นกับท่าทีของเราในการตอบสนองต่อความทุกข์) ท่าทีตามธรรมดาก็คือรังเกียจ และทนไม่ไหวต่อความเจ็บปวดและความทุกข์ แต่ถ้าเราเปลี่ยนท่าทีเป็นสามารถทนได้ จะลดความทุกข์ลงได้

"สำหรับอาตมาแล้ว วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ทำให้ทนต่อความทุกข์ได้ คือการเห็นและเข้าใจว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติธรรมดาของสังสาระ เมื่อคุณประสบความเจ็บปวด ทางกายหรือปัญหาอย่างอื่น ในขณะนั้นจะรู้สึกว่า "แหม ความทุกข์นี้ช่างเลวร้ายจริง" มีความรู้สึกไม่ยอมรับว่า "แหม มันไม่ควรจะเกิดกับฉันเลย" แต่ในขณะนั้นถ้าคุณสามารถมองจากอีกมุมหนึ่งว่าร่างกายของเรานี้มันเป็นมูลฐานแห่งความทุกข์จะลดความรู้สึกที่ไม่ยอมรับ คือความรู้สึกที่ว่าคุณไม่น่าจะต้องมีความทุกข์หรือว่าคุณตกเป็นเหยื่อ เมื่อคุณเข้าใจและยอมรับความเป็นจริง คุณก็จะรู้สึกว่าความทุกข์มันเป็นธรรมดา เช่น เมื่อคิดถึงความทุกข์ของชาวทิเบต (ที่บ้านแตกสาแหรกขาด) คุณอาจ   จะรู้สึกว่ามันช่างเลวร้ายจริงๆ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ในอีกแง่หนึ่ง ทิเบตก็อยู่ในสังสาระ" ท่านหัวเราะ "ก็เหมือนๆ กับโลกนี้และดาราจักรทั้งหมดนั่นแหละ" ท่านหัวเราะอีก

"ดังนั้น อาตมาคิดว่า คุณเห็นชีวิตว่าเป็นอย่างไร มีส่วนสำคัญต่อท่าทีต่อความทุกข์ของคุณ เช่น ถ้าทรรศนะของคุณเห็นว่าความทุกข์เป็นเรื่องไม่ดี ต้องหลีกหนีให้ได้ทุกวิถีทาง เป็นเครื่องหมายแห่งความล้มเหลว แบบนี้จะทำให้วิตกกังวล ทนไม่ไหว เมื่อประสบสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในทางตรงข้ามถ้าคุณมีทรรศนะยอมรับว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิต จะทำให้สามารถอดทนต่อสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ได้ดีกว่า ถ้าปราศจากความอดทนต่อความทุกข์เสียแล้วชีวิตจะรันทดยิ่ง เหมือนคืนอันฝันร้าย ฝันร้ายที่ไม่มีที่สิ้นสุด"

"เมื่อพูดว่าธรรมชาติเป็นความทุกข์ ไม่เป็นการมองในแง่ร้ายหรือ"
หมอคัตเลอร์ถาม

ท่านทะไล ลามะ อธิบายว่า "ต้องเข้าใจว่าเป็นการมองตามแนวพุทธ มิฉะนั้นจะเข้าใจผิดว่าเป็นการมองในแง่ร้าย ต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องอริยสัจ ๔ อริยสัจข้อที่ ๑  คือทุกขอริยสัจ ว่า ความทุกข์เป็นความจริงของชีวิต ถ้าเข้าใจความจริง ก็มีทางหลุดออกจากทุกข์..."

ข้อมูลสื่อ

316-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี