• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (ตอนที่ ๒)

ปัญหาการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการควบคุมยาสูบของภาครัฐในหลายประเทศ มีสถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะรัฐบาลของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบน้อย หรือประเทศที่ภาคประชาสังคมขาดความเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๘ ที่ประชุมภาคี FCTC เห็นชอบต่อแนวทางปฏิบัติตาม มาตรา ๕.๓ แห่ง FCTC เพื่อป้องกันมิให้นโยบายควบคุมยาสูบถูกผู้ประกอบการในธุรกิจยาสูบเข้าแทรกแซง ซึ่งอาจส่งผลให้การผลักดันนโยบายและมาตรการควบคุมยาสูบไม่ประสบผลสำเร็จ เนื้อหาสำคัญของแนวทางปฏิบัติ มาตรา ๕.๓ มี ๘ ประการ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย คือ     

๑) การจำกัดการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับอุตสาหกรรมยาสูบ หรือการติดต่อต้องทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส เช่น กรณีที่ตัวแทนบริษัทบุหรี่มักจะหาทางสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานที่มีประโยชน์ได้เสียกับบริษัทบุหรี่ หรือการให้สินบนหรือเงินบริจาคแก่นักการเมือง พรรคการเมือง สิ่งเหล่านี้จะทำให้การปฏิบัติตามนโยบายหรือมาตรการควบคุมยาสูบไม่สัมฤทธิ์ผล  
ขณะนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบปฏิบัติเรื่องการติดต่อกับอุตสาหกรรมยาสูบแล้ว แต่รัฐบาลควรออกระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับกับส่วนราชการทุกแห่งด้วย  
๒) การออกกฎเกณฑ์กำกับควบคุมกิจกรรมของอุตสาหกรรมยาสูบด้าน CSR หรือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ” (corporate social responsibility) เช่น บริษัทบุหรี่มอบเงินหรือสิ่งของบริจาคให้แก่โรงเรียน สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการต่างๆ หรือให้เงินสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง

หากพิจารณาโดยผิวเผินแล้วอาจเห็นว่า CSR เป็นสิ่งที่ดี แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือ การสร้างอิทธิพลครอบงำผู้ที่รับผลประโยชน์จากบริษัทบุหรี่ หรือทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือบุหรี่มีลักษณะเหมือนสินค้าทั่วไป ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ      

การป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบตาม FCTC เป็นเรื่องที่ท้าทายของไทย รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เร่งรัดในการออกกฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ (ข้าราชการการเมือง) และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการอย่างใกล้ชิด            
 

ข้อมูลสื่อ

390-037
นิตยสารหมอชาวบ้าน 390
ตุลาคม 2554
ไพศาล ลิ้มสถิตย์