ปกป้องครอบครัวจาก "ภัยอัมพาต"
อัมพาตเป็นภาวะอ่อนแรงของร่างกายด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจาก "โรคหลอดเลือดสมอง" ที่เกิดความผิดปกติขึ้นอย่างกะทันหันและไม่สามารถคาดเดาก่อนได้ ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตันหรือแตก
ปัจจุบันพบว่าทั่วโลกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบมากที่สุดในโรคทางระบบประสาท เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรไทยเป็นอันดับที่ ๓ รองจากโรคหัวใจและมะเร็ง และเป็นโรคที่เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากรอดชีวิตและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นแทนที่จะเสียชีวิตดังที่ผ่านมาในอดีต แต่ผลกระทบของการมีชีวิตอยู่กับภาวะอัมพาตนั้นไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น เพราะครอบครัวที่ดูแลผู้รอดชีวิตจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกๆ ด้านของชีวิตร่วมกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น จะเกิดผลดีอย่างเต็มที่ในเวลา ๖ เดือน ถึง ๑ ปี หลังเกิดโรค แต่หลังจากนั้นแล้ว ความสามารถในการฟื้นฟูสภาพร่างกายจะเป็นไปอย่างช้าๆ หรืออาจจะไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้เลย ดังนั้นผู้รอดชีวิตนานเกิน ๑ ปี จึงต้องพยายามเรียนรู้และปรับชีวิตอยู่กับความพิการที่เกิดขึ้นไปจนตลอดชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น ครอบครัวที่ดูแลผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองนานกว่า ๑ ปี จำเป็นต้องพยายามเรียนรู้และปรับชีวิตอยู่กับผลของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิตด้วยเช่นกัน "ครอบครัว" จึงเป็นแหล่งสนับสนุนที่สำคัญยิ่งของผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองระยะยาว
จากการศึกษาบทบาทของครอบครัวที่ดูแลผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองระยะยาวนั้นพบว่า สมาชิกครอบครัวมุ่งเน้นให้การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้รอดชีวิต ทั้งเรื่องกิจวัตรประจำวันและการดูแลที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง แสวงหาการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ มามากมาย รวมถึงเรียนรู้การดูแลให้เหมาะสมกับครอบครัวของตนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนการดูแลสุขภาพของสมาชิกครอบครัวนั้นพบว่า ผู้ดูแลหลักเป็นกลุ่มบุคคลที่ประสบกับปัญหาสุขภาพกายและจิตมากกว่าสมาชิกครอบครัวคนอื่น เนื่องจากปฏิบัติกิจกรรมการดูแลติดต่อกันมาเป็นเวลานานและอายุที่มากขึ้น ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านมาเป็นปีจึงทำให้สมาชิกครอบครัวหันกลับมาให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจของผู้ดูแลหลักมากขึ้น
บางคนที่ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมองจากการเรียนรู้จากผู้รอดชีวิต จึงพยายามดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองกับตนเองในอนาคต ซึ่งเป็นการดูแลตนเองตามความรู้ความเข้าใจที่ตนมี เช่น พยายามออกกำลังกายมากขึ้น เลือกกินอาหารมากขึ้น หรือพบแพทย์เร็วขึ้นเมื่อตนเองไม่สบาย เป็นต้น สมาชิกครอบครัวบางคนตระหนักถึงผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมองและตระหนักว่าตนเองมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคต แต่ตนเองก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพียงแต่หวังว่าในอนาคตข้างหน้า โรคหลอดเลือดสมองคงจะไม่เกิดขึ้นกับตนเอง หลายคนถึงกับบอกว่า "ขอตายดีกว่าที่จะต้องเป็นอัมพาต"
ในขณะเดียวกัน สมาชิกครอบครัวอีกจำนวนมาก ไม่ได้คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อายุยังน้อยแต่ผู้รอดชีวิตอายุมากแล้วจากความเชื่อที่ว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคของผู้มีอายุมาก บางคนคิดว่าตนเองเล่นกีฬาเป็นประจำ ในขณะที่ผู้รอดชีวิตไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือผู้รอดชีวิตเป็นคนเครียดและโมโหง่ายซึ่งตรงข้ามกับตนเอง เป็นต้น
โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันก่อนได้
บุคลากรทางสุขภาพควรสร้างความตระหนักด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุและอาการของโรคหลอดเลือดสมอง สร้างรูปแบบหรือการรณรงค์เพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพโดยการลดพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหลายประการ เช่น สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริโภคอาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เครียดง่ายและไม่สามารถจัดการความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น การประเมินภาวะสุขภาพของสมาชิกครอบครัวทุกคน เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น หากพบว่าสมาชิกครอบครัวคนใดมีภาวะโรคดังกล่าว ควรดูแลให้ได้รับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่องร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามความเหมาะสม
พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ยังนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคปอดเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นการปรับพฤติกรรมเสี่ยงจึงสามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังได้หลายโรค นอกจากนี้ควรสร้างความตระหนักดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับชุมชนและสังคม แนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพได้ ควรมีการกำหนดอย่างชัดเจนเป็นนโยบายสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะรูปแบบการให้บริการสุขภาพที่บ้านเพื่อให้การดูแลสุขภาพเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ให้กับครอบครัวที่ดูแลผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือด สมองระยะยาวที่บ้าน หรือการสร้าง "ทีมสหสาขา" เพื่อดูแลสุขภาพครอบครัวทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม
การมีพฤติกรรมสุขภาพดี ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ เป็นไปตามหลักกฎแห่งกรรม การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นการปกป้องครอบครัวจากโรคหลอดเลือดสมอง และย่อมดีกว่าที่จะให้การดูแลเมื่อกลายเป็นผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันในชีวิต
คอลัมน์นี้นำเสนอทิศทางการวิจัยและผลงานการวิจัยปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในบ้านเรา เพื่อให้ผู้อ่านรู้เท่าทันปัญหาและนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ทั้งนี้ โดยความเอื้อเฟื้อจาก "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย" (สกว.) และ "มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ"
- อ่าน 5,069 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้