• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุนัขกัดตาย

 

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๘๗

นายมานะ เทศฤทธิ์ อายุ ๕๑ ปี เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วประเทศเมื่อวันที่ ๑๑-๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ เพราะถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ตามข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลายฉบับและจากข่าววิทยุโทรทัศน์ในประเทศ ปรากฏว่า หัวหน้าหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ ชลบุรี ได้รับแจ้งว่า มีคนถูกสุนัขกัดได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส จึงรีบไปยังที่เกิดเหตุ

พบนายมานะอยู่ในสภาพโชกเลือด ตามร่างกายมีบาดแผลเหวอะหวะหลายแห่ง เพราะถูกเจ้าปีเตอร์ ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์ วัย ๓ ปี เพศผู้ ที่เลี้ยงไว้ในบ้านกัด เพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้ช่วยกันจับและล่ามโซ่ไว้หน้าบ้านเพื่อความปลอดภัย
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยได้ช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บและนำตัวส่งรักษายังห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ

ภรรยาผู้ป่วยเล่าว่า ตนและสามีเลี้ยงเจ้าปีเตอร์มาได้ประมาณ ๓ ปี ก่อนเกิดเหตุสามีอยู่บ้านกับเจ้าปีเตอร์ตามลำพัง กระทั่งเพื่อนบ้านโทรศัพท์บอกว่า สามีถูกเจ้าปีเตอร์กัด จึงรีบกลับมาบ้าน พร้อมให้เพื่อนบ้านช่วยกันจับเจ้าปีเตอร์ล่ามโซ่ไว้ ก่อนจะแจ้งหน่วยกู้ภัยนำตัวส่งรักษายังโรงพยาบาล

ส่วนสาเหตุน่าจะเกิดจากที่ผ่านมา สามีชอบรังแกเจ้าปีเตอร์ ด้วยการใช้เท้าเตะอยู่เป็นประจำ ทำมาตั้งแต่เจ้าปีเตอร์อายุได้เพียง ๗-๘ เดือนเท่านั้น คาดว่าก่อนเกิดเหตุสามีคงไปเตะมันเหมือนที่ทำเป็นประจำ เจ้าปีเตอร์จึงเกิดความแค้นกระโดดกัด จนสามีได้รับบาดเจ็บ

หลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำสามีส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แพทย์ได้ทำบาดแผลเรียบร้อยแล้วบอกให้กลับบ้านได้ หลังจากกลับบ้าน สามีเข้าห้องน้ำและเกิดช็อกจนหมดสติในห้องน้ำ จึงต้องนำตัวส่งต่อยังโรงพยาบาลสัตหีบ ที่อยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ ๒ กิโลเมตร แต่อาการไม่สู้ดี จึงรีบนำตัวส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดชลบุรี จนสามีเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยทางโรงพยาบาลชลบุรีแจ้งสาเหตุว่า ผู้ตายติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเหตุให้เสียชีวิต สร้างความกังขาให้แก่เหล่าบรรดาญาติๆ อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ญาติได้นำศพนายมานะไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดสัตหีบ โดยจะมีพิธีสวดอภิธรรม ๔ คืน และฌาปนกิจในวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
นักข่าวได้สอบถามความเห็นจากสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งกล่าวว่า เท่าที่ติดตามข่าวและเห็นภาพในโทรทัศน์ เข้าใจว่าสุนัขตัวดังกล่าวเป็นลูกผสม ไม่ใช่พันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์แท้ ที่ปกติเป็นสุนัขใจดีมากและเชื่องกับทุกคน ใช้เป็นสุนัขนำทางคนตาบอดและใช้ช่วยเหลือคน แต่สุนัขพันธุ์ผสม ทำให้คาดเดานิสัยยาก

ภรรยาผู้เสียชีวิตบอกว่าสุนัขตัวนี้อาจฝังใจเรื่องที่ถูกรังแกอยู่เรื่อยๆ แต่การออกข่าวเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่จะไปโทษสุนัขก็คงไม่ได้

ข้อเตือนใจที่สำคัญคือ โปรดเลี้ยงสุนัขด้วยความรัก
จากภาพข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ สุนัขที่เห็นไม่แสดงปฏิกิริยาก้าวร้าวหรือท่าทางที่ไม่เป็นมิตร แม้แต่กับคนแปลกหน้า (ผู้สื่อข่าว) ที่เข้าไปถ่ายภาพจนใกล้ตัวมันและเจ้าของบ้าน อีกทั้งมันก็ไม่ได้กัดเพื่อนบ้านที่เข้าไปจับมันล่ามโซ่ด้วย

ข่าวทั้งหมดที่ผู้เขียนได้ฟัง ได้เห็น และได้อ่าน สรุปแล้วเป็นเรื่อง “หมากัดคน (จน) ตาย” และอาจจะเป็นความผิดของผู้ตายที่ไปรังแกสุนัขที่ตนเลี้ยงไว้ตั้งแต่เล็ก แต่ภรรยาก็กล่าวว่า ก่อนจะเสียชีวิต ผู้ตายสั่งให้ตนเลี้ยงดูเจ้าปีเตอร์ต่อไป อย่านำมันไปปล่อย (ทิ้ง) หรือไปให้คนอื่นเลี้ยง แสดงว่าผู้ตายรักและผูกพันกับเจ้าปีเตอร์อยู่

ผู้เขียนกังขาเรื่อง “การตาย” ของผู้ป่วย เช่นเดียวกับญาติๆ ของผู้ป่วย และคิดว่าแพทย์และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องน่าจะศึกษาหารายละเอียด เพื่อการป้องกันความผิดพลาดในการวินิจฉัยและรักษาผู้บาดเจ็บ (ถ้ามีในกรณีนี้) ไม่ให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

อีกทั้ง “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” (สพฉ.) ก็ควรจะศึกษาหารายละเอียดในกรณีนี้เช่นเดียวกันว่า
ทำไมผู้ป่วย (ผู้บาดเจ็บ) ฉุกเฉินไม่โทรศัพท์เรียก ๑๖๖๙ (กลับไปเรียกหน่วยกู้ภัยฯ) ทั้งที่โรงพยาบาลสัตหีบอยู่ห่างไปเพียง ๒ กิโลเมตร

ทำไมผู้ป่วยจึงถูกส่งไปโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในครั้งแรก มีแพทย์ฉุกเฉินหรือแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษาผู้บาดเจ็บในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลดังกล่าว ณ เวลานั้นหรือไม่ และทำไมจึงให้ผู้ป่วยกลับบ้าน จนผู้ป่วยไปช็อกหมดสติในห้องน้ำที่บ้านในอีกไม่นานต่อมา

ทำไมญาติผู้ป่วยจึงนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลสัตหีบ ในการไปโรงพยาบาลครั้งที่ ๒ ทำไมไม่กลับไปโรงพยาบาลเดิมที่ให้การรักษาครั้งแรก เพื่อจะได้รับการรักษาต่อเนื่องที่ถูกต้องกว่า เพราะการช็อกหมดสติในห้องน้ำหลังกลับจากโรงพยาบาลอาจเกิดจากพิษหรือการแพ้ยาฉีดหรือยากินที่ได้รับไปจากโรงพยาบาล หรือเกิดจากการเสียเลือดอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เสียเลือดไปมาก (สังเกตจากภาพข่าวโทรทัศน์ที่แสดงรอยเลือดจำนวนมากตามพื้นในบ้านนั้น) ในช่วงแรก แม้ผู้ป่วยยังลุกขึ้นใส่เสื้อผ้าและเดินไปขึ้นรถ “กู้ภัย” ได้เองก็ตาม

ทำไมโรงพยาบาลชลบุรีจึงบอกญาติว่า ผู้ป่วยตายเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด (ตามคำบอกเล่าของญาติ แต่โรงพยาบาลชลบุรีไม่ได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ และไม่ได้ผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงของ “การตายที่ผิดธรรมชาติ” นี้) เป็นต้น
ผู้ป่วยกรณีนี้ จึงเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งแสดงถึง “จุดอ่อน” ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการสาธารณสุขไทย
เพราะผู้ป่วยรายนี้ “ไม่น่าจะตาย” การกล่าวอ้างว่า “ตายเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด” นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะการติดเชื้อในกระแสเลือดจากบาดแผลสุนัขปกติกัดไม่มีพิษ และไม่มีเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เสียชีวิตได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง และผู้ป่วยก็ไม่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดมาก่อนการถูกสุนัขกัด
ถ้าใบมรณบัตรระบุสาเหตุการตายว่า “การติดเชื้อในกระแสเลือด” คงจะต้องมีการสังคายนาขนานใหญ่ในวงการแพทย์และในวงการสถิติสาธารณสุขและมหาดไทยเกี่ยวกับสาเหตุการตายของประชากรไทย

ผู้ป่วยกรณีนี้ “ไม่น่าจะตาย” เพราะบาดแผลที่ถูกกัด (เท่าที่เห็นในภาพข่าว) เป็นบาดแผลที่ไม่ได้ถูกอวัยวะสำคัญ หลังถูกกัด ผู้ป่วยยังช่วยตนเองได้ ยืนได้ เดินได้ ใส่เสื้อผ้าเองได้ (ดังในภาพ) และไม่แสดงอาการร้ายแรงใดๆ นอกจากรอยเลือดค่อนข้างมากตามพื้นบ้าน และหลังจากทำแผลที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์แล้ว แพทย์ยังสั่งให้กลับบ้านได้
แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ไม่มีการผ่าชันสูตรศพ เพื่อจะทราบสาเหตุตายที่แท้จริง จะได้ป้องกันไม่ให้เกิด “การตาย” ที่ไม่สมควรเช่นนี้อีก

ถ้าให้ผู้เขียน “เดา” หรืออนุมานจากภาพข่าวที่ได้เห็น ได้ฟังและได้อ่าน สาเหตุการตายในผู้ป่วยรายนี้ คือ

๑. การแพ้หรือเป็นพิษจากยาที่ได้รับจากการไปโรงพยาบาลครั้งแรก ซึ่งน่าจะรักษาได้ถ้าผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลเดิมที่มีบันทึกอยู่แล้วว่า ผู้ป่วยได้รับยาอะไรไปบ้าง และอาการที่เปลี่ยนไปเข้าได้กับการแพ้ยาหรือเป็นพิษจากยาหรือไม่ (การเปลี่ยนโรงพยาบาล ทำให้แพทย์คนใหม่ไม่มีข้อมูลเดิมไว้เปรียบเทียบ)

๒. การเสียเลือดมาก และแพทย์ (ถ้ามีแพทย์ในห้องฉุกเฉินในวันหยุดราชการในโรงพยาบาลนั้น) มองข้ามเรื่องการเสียเลือดมาก เพราะไม่ได้ไปเห็นกองเลือดที่จุดเกิดเหตุ และไม่มีประสบการณ์ในการรักษาผู้บาดเจ็บ (โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทย ใช้ “แพทย์จบใหม่” หรือ “มือใหม่หัดขับ” ในการตรวจรักษาผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะผู้บริหารโรงพยาบาลและรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้!)

น่าเสียดายที่ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวไม่สนใจกับ “การเสียชีวิตของคน” เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไข (คล้ายกับกรณี “๙๑ ศพ” ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓) แต่กลับไป “เล่นข่าว” เรื่อง “หมากัดคน” และรายละเอียดของ “หมาพันธุ์นั้นพันธุ์นี้” ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา “การขาดแคลนแพทย์” “ความรู้ความสามารถกับจรรยาแพทย์” และ “ระบบสาธารณสุข” รวมทั้งระบบอื่นๆ ที่มีความสำคัญแก่ชีวิตและความอยู่ดีมีสุขภาพของประชาชนทั่วไป ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนและสามารถ “ลอยนวล” ต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

390-048
นิตยสารหมอชาวบ้าน 390
ตุลาคม 2554
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์