• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นิยามของโรคในโยคะ และหลักการรักษาของโยคะ

นิยามของโรคในโยคะ และหลักการรักษาของโยคะ

โยคะเป็นเรื่องของใจและจิตวิญญาณ แต่จากการศึกษาโยคะสูตรของปตัญชลี อย่างพินิจพิเคราะห์ ก็จะพบว่าโยคะมองกายใจเป็นหนึ่งเดียว

เป้าหมายของโยคะ ก็เพื่อนำมาซึ่งหนทาง วิธีการในอันที่จะช่วยร่างกายและจิตใจให้คงความสมดุล หรือฟื้นฟูความสมดุลให้กลับคืนมาโดยเร็ว เมื่อเกิดการรบกวนขึ้น
ดังนั้น โยคะจึงผนวกรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงในการดูแลกาย เช่น อาสนะ ปราณยามะ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่การปฏิบัติในขั้นที่สูงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องของจิต
โยคะสูตรระบุว่า ทั้งหมดนี้นำไปสู่การผสานรวมของกระบวนการกาย-จิตสัมพันธ์ อันถือเป็นขั้นแรกของการเข้าสู่สมาธิ การฝึกเหล่านี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กลไกกาย-จิตสงบนิ่งลง เพื่อที่จะลดความไม่สมดุล อันเกิดจากการเผชิญกับสิ่งกระตุ้นเร้าต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายใน โยคะไม่ได้แบ่งแยกกายใจออกจากกัน แต่ยอมรับในความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างทั้งสองนี้

นิยามของโยคะต่อการทำงานของร่างกายและจิตใจ คือ มีกลไกโฮมีโอสเตซิสของทั้งสองสิ่ง ซึ่งทำหน้าที่รักษาสมดุล ทำให้เกิดการบูรณาการ หรือสมาธิ ทั้งในสถานการณ์ปกติ หรือสถานการณ์ที่มีการกระตุ้นจากภายนอกและภายใน (กิเลส) อันเป็นคุณสมบัติเพื่อการปรับตัวที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ในเวลาเดียวกัน แม้ร่างกายและจิตใจมีแนวโน้มที่จะคงความสมดุล แต่ในด้านหนึ่ง ทุกๆ การกระตุ้น ทุกๆ การรบกวน ไม่ว่าจากข้างนอกหรือข้างใน ไม่ว่าจะเป็นทางกลไกเคมี ไฟฟ้า ชีวะ หรือจิต ล้วนนำมาซึ่งการรบกวนทางกาย-ใจที่เฉพาะเจาะจง (วิกเสปะ) วิกเสปะนี้จะเกิดขึ้นนานแค่ไหน ขึ้นกับความแรงของตัวกระตุ้น และในอีกด้านหนึ่งก็คือ ความสามารถของโฮมีโอสเตซิสทั้งทางกายและทางใจ 

เป้าหมายของโยคะ ก็เพื่อนำมาซึ่งหนทางวิธีการในอันที่จะช่วยร่างกายและจิตใจให้คงความสมดุล หรือฟื้นฟูความสมดุลให้กลับคืนมาโดยเร็ว เมื่อเกิดการรบกวนขึ้น
โรคหรือพยาธิ ถือว่าเป็นการรบกวนทางกาย-จิต หรือวิกเสปะชนิดหนึ่ง เราได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า คำว่า  โยคะในความหมายของเป้าหมายนั้น หมายถึง บูรณาการหรือสมาธิ ซึ่งมาจาก สัม + อา + ธะ แปลว่า ผสานกันเป็นหนึ่งเดียว ส่วน พยาธิ มาจาก พิ + อา + ธะ แปลว่าแบ่งแยกออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิ พยาธิ คือสภาวะแห่งความไม่ปกติ ป่วย ทุกข์ โรค หรือที่คำภาษาอังกฤษใช้ว่า disease ซึ่งมาจากคำว่า dis + ease คือ ไม่ + สบาย เป็นสภาวะแห่งวิกเสปะ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยแบบฉับพลัน แม้มันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าบางส่วนของร่างกายล้มเหลวที่จะต่อสู้กับสิ่งที่บุกรุกเข้ามา แต่มันก็บ่งชี้ว่า ตัวเราโดยรวมยังคงประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อกำจัดหรือทำให้สิ่งที่โจมตีเข้ามาหมดพิษสง  ดังนั้นการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการรบกวนชั่วขณะ และในทัศนะของโยคะ น่าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของร่างกาย ที่มีความสามารถในการจัดการตัวของมันเอง สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดคือ ช่วยให้ร่างกายสู้กับสิ่งแปลกปลอมโดยไม่เพิ่มภาระให้กับร่างกาย ดังนั้นในแง่นี้ โยคะจะสอดคล้องกับนิยามของธรรมชาติบำบัด แต่โยคะก็ไม่ได้ต่อต้านวิธีการใดๆ ที่จะช่วยกำจัดสิ่งบุกรุก ตราบเท่าที่เรารู้จักวิธีทำ และรู้ว่ามันไม่ได้ทำอันตรายต่อกายหรือใจ 
ส่วนโรคหรืออาการป่วยเรื้อรังนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

โรคเรื้อรังคือสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง อาจจะปรับตัวไม่ได้ หรือปรับตัวผิดทิศทาง ในทัศนะของโยคะโรคเรื้อรังน่าจะประกอบด้วย

๑. ระบบไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่ผิดพลาด นำไปสู่การตีบตันชนิดเรื้อรัง และการหมักหมมของของเสียในส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย และมีผลต่อร่างกายทั้งหมดโดยรวม

๒. ระบบประสาทกล้ามเนื้อสัมพันธ์ที่ผิดพลาด และการตอบสนองของระบบประสาทของต่อมไร้ท่อ

ในการรักษาโรคมีอยู่ ๒ มุมมอง หนึ่งก็คือตรวจหาปัจจัยที่มาบุกรุก ช่วยกำจัดมัน และเมื่อปลอดภัยจากผู้บุกรุกแล้ว ก็ปล่อยให้ร่างกายฟื้นฟูตนเอง อีกวิธีหนึ่ง คือ ช่วยให้ตัวร่างกายเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะเอาชนะผู้บุกรุกได้ด้วยตนเอง ร่างกายมีพลังที่จะพัฒนาภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงต่อสิ่งบุกรุกแต่ละแบบ และมีความสามารถที่จะต้านทานการโจมตีจากผู้บุกรุกทั้งหลาย

เป้าหมายหนึ่งของโยคะคือ ส่งเสริมสุขภาพ สุขอนามัย
สุขภาพในที่นี้ มิใช่เพียงแค่ไม่เป็นโรค แต่คือความร่าเริง กระปรี้กระเปร่า มีสุขภาวะ สามารถป้องกันได้อย่างเพียงพอ และมีศักยภาพที่จะสร้างภูมิต้านทานสิ่งบุกรุก  สุขภาพไม่ได้หมายความเพียงแค่สามารถทำงานได้ แต่หมายถึงไม่เกียจคร้านหรือเซื่องซึม  สตยานะ (ความเฉื่อยเนือย) อลาสยะ (ความขี้เกียจ) ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้ต้องการจะตำหนิคุณค่าของระบบสาธารณสุข แต่เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นถึงผลอีกด้านที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการกำจัดสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ณ ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาที่จำเป็นมากในการให้ความสำคัญกับสุขอนามัย วิธีในการเสริมสร้าง การขยายขอบเขตของศักยภาพภายในที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีอยู่ภายในตัวมนุษย์ ในอันที่จะทำให้คนมีความสุข ไม่ใช่แค่ไม่ป่วย

คุณค่าของโยคะที่ควรได้รับความสนใจอย่างมากคือ ศาสตร์นี้ว่าด้วยการสร้างความสุข ๓ ประการ

๑. เสริมสร้างและปรับทัศนคติทางจิตใจ

๒. ฟื้นฟูระบบประสาท กล้ามเนื้อและระบบประสาทต่อมไร้ท่อ รวมถึงร่างกายทั้งหมดโดยรวม ทำให้สามารถทนทานต่อความเครียดต่างๆ จากภายนอก

๓. เน้นที่โภชนาการ และส่งเสริมกระบวนการขับของเสียตามธรรมชาติ การขับของเสียในเวลาจำเป็น โดยเทคนิควิธีที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นมาตรการ ๓ ข้อของโยคะบำบัด

ข้อมูลสื่อ

317-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์