• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ(๘)

บนเส้นทางหนังสือ(๘)


"การเข้าใจเรื่องทุกข์มีความสำคัญ" ท่านทะไล ลามะ อธิบาย

"เพราะมีทางที่จะเป็นอิสระจากทุกข์ โดยขจัดเหตุแห่งทุกข์ มนุษย์สามารถประสบอิสรภาพได้ สภาวะที่ไม่มีทุกข์ หลักทางพุทธนั้นสาเหตุของทุกข์คือ โลภ โกรธ หลง เป็นยาพิษทางจิตใจทั้งสาม คำว่า โง่ หรืออวิชชาในทางพุทธนั้น มีความหมายจำเพาะ ไม่ได้หมายถึงการขาดข้อความรู้ แต่หมายถึงการเห็นผิดในธรรมชาติของตัวเอง และสรรพสิ่ง โดยการเกิดปัญญาเข้าใจธรรมชาติ และขจัดยาพิษทางจิตใจ เช่น ความโลภและความโกรธออกไป บุคคลสามารถทำจิตให้ผ่องใสเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ ในวิถีทางพุทธถ้าเราหมั่นพิจารณาว่าความทุกข์เกิดขึ้นทุกวันเป็นธรรมดา จะได้ทำให้เราหาทางปฏิบัติที่ขจัดเหตุแห่งทุกข์ ถ้าไม่คิดขจัดเหตุแห่งทุกข์ เพียงแต่คิดว่าทุกข์ๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ทำให้แย่สุดๆ"

ขณะที่ท่านทะไล ลามะ กำลังพูด หมอคัตเลอร์เกิดความรู้สึกว่า การคิดทบทวนเรื่องทุกข์ จะทำให้เรายอมรับว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในชีวิต  และเป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการจับวางความทุกข์ในชีวิตประจำวันไว้ให้ถูกที่ถูกทาง และเขาก็เริ่มจะเห็นว่า อาจจะมองเรื่องความทุกข์ในวิสัยที่กว้างขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของยานใหญ่แห่งการพัฒนาจิต โดยเฉพาะในกระบวนทัศน์ทางพุทธที่รับรองว่ามีทางทำจิตให้บริสุทธิ์ และบรรลุสภาวะนิรทุกข์ แต่หมอคัตเลอร์ก็ยังอยากรู้ว่า ท่านทะไล ลามะ มีวิธีที่จะจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเองอย่างไร เช่น ทำอย่างไรเมื่อพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก

เมื่อเขาไปเยี่ยมธรรมศาลาครั้งแรกหลายปีมาแล้ว เขารู้จักกับพี่ชายของท่านทะไล ลามะ ชื่อ ล็อบซาง แซมเด็น และชอบเขามาก เมื่อไม่กี่ปีหลังจากนั้น ล็อบซาง ตายอย่างกะทันหัน ทำให้เขาเศร้ามาก หมอคัตเลอร์รู้ว่าท่านทะไล ลามะ กับพี่ชายคนนี้สนิทกันมาก
"ผมคาดว่าการตายของล็อบซาง เป็นเรื่องหนักมากสำหรับท่าน"
"ใช่"
"แล้วท่านทำอย่างไร"
"แน่นอน อาตมาเศร้ามากเมื่อรู้ว่าเขาตาย" ท่านพูดเบาๆ
"แล้วท่านทำอย่างไรกับความเศร้า ผมหมายความว่ามีอะไรเป็นพิเศษไหม ที่ช่วยให้ท่านเอาชนะความเศร้าได้"
"อาตมาไม่รู้"
ท่านทะไล ลามะ ตอบ "อาตมามีความรู้สึกเศร้าอยู่หลายสัปดาห์ แล้วมันค่อยๆ บรรเทาลง แต่ก็ยังมีความรู้สึกเสียใจ"
"เสียใจ?"

"ใช่ ตอนที่เขาตายอาตมาไม่อยู่ แล้วรู้สึกว่าถ้าอาตมาอยู่อาจจะช่วยเขาได้บ้าง ฉะนั้นจึงมีความรู้สึกเสียใจอยู่"

การภาวนาถึงการมีความตายเป็นธรรมดาจะหลีกเลี่ยงจากความตายไปไม่ได้ อาจช่วยให้ท่านทะไล ลามะ ยอมรับความสูญเสีย แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนไม่มีอารมณ์ หลบลี้หนีหน้าไปจากการเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้าในน้ำเสียงของท่าน ทำให้รู้ว่าท่านเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกในความเป็นมนุษย์อยู่ลึกๆ ในขณะเดียวกัน ความเป็นคนจริงใจไม่เสแสร้งก็ทำให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่ยอมรับความสูญเสีย

หมอคัตเลอร์ต้องการจะถามท่านต่อไปอีกว่า ท่านมีวิธีเอาชนะความสูญเสีย คนที่เป็นที่รักได้อย่างไร นอกเหนือจากการยอมรับถึงการหนีไม่พ้น แต่ดูท่านเหนื่อย เลขานุการของท่านเดินเข้ามาในห้อง และส่งสายตาว่าน่าจะหยุดได้แล้ว
"ใช่" ท่านพูดเชิงขออภัย "เราควรจะยุติ อาตมารู้สึกเหนื่อย"

วันรุ่งขึ้น ก่อนที่หมอคัตเลอร์จะมีโอกาสถามเรื่องที่ค้างอยู่ ท่านทะไล ลามะ กลับเป็นผู้กล่าวถึงเรื่องนี้เสียเองในการปาฐกถาของท่าน มีผู้ฟังคนหนึ่งซึ่งอยู่ในความทุกข์ถามท่านขึ้นว่า "ท่านมีคำแนะนำถึงวิธีที่จะต่อสู้กับความสูญเสีย เช่น ลูกตายอย่างไรบ้าง"
ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความกรุณา ท่านตอบว่า "จะทำอย่างไรขึ้นกับความเชื่อส่วนตัว สำหรับคนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด ก็มีทางที่จะลดความเศร้าเสียใจ และความกังวลใจ โดยมีเครื่องปลอบใจว่าผู้ตายจะไปเกิดใหม่ สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด ก็อาจจะมีวิธีง่ายๆ ที่จะเอาชนะความสูญเสีย ถ้าเขาทำใจไม่ได้ มีความเศร้าเสียใจมากและนานเกินไป นอกจากทำลายสุขภาพของตัวเองแล้ว ยังไม่มีประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว"

"ในกรณีของอาตมาเอง อาตมาสูญเสียครูผู้เป็นที่เคารพที่สุด, โยมแม่ แล้วก็พี่ชายคนหนึ่ง อาตมาก็คิดว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะวิตกกังวลมากเกินไป ถ้าอาตมารักคนเหล่านี้ อาตมาก็ควรเติมเต็มในสิ่งที่บุคคลเหล่านี้ปรารถนาด้วยจิตใจที่สงบ อาตมาพยายามทำดังนั้นให้ดีที่สุด ฉะนั้นเมื่อท่านสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป นั่นก็เป็นวิธีที่เหมาะที่ท่านอาจจะทำ วิธีที่จะจดจำบุคคลที่จากไปก็คือ ทำความดีที่เขาปรารถนา

"เมื่อเริ่มต้น ก็แน่นอนที่คนเราจะรู้สึกเศร้าและกังวลใจเมื่อสูญเสีย แต่ถ้ารู้สึกอย่างนั้นนานเกินไปก็มีอันตราย ถ้าไม่ระงับความรู้สึกเช่นนี้ มันก็จะกัดกิน ทำให้ขังตัวอยู่ในความทุกข์ของตัวเอง รู้สึกว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่มีความทุกข์ แล้วความซึมเศร้าก็จะคืบคลานเข้ามาจริงๆ แล้วคนอื่นก็มีความทุกข์จากความสูญเสียควรนึกถึงคนอื่นๆ ที่มีความทุกข์อย่างเดียวกันหรือยิ่งกว่า เมื่อคิดได้ดังนี้ว่าไม่ใช่ตัวเองเท่านั้นที่มีทุกข์อย่างนี้ ไม่ใช่คุณคนเดียวที่โชคร้าย ถ้าคิดได้ดังนี้ก็จะมีเครื่องปลอบใจ"
แม้ความเจ็บปวดและความทุกข์จะเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง แต่หมอคัตเลอร์รู้สึกว่าคนที่เติบโตมาในวัฒนธรรมตะวันออกจะยอมรับและทนทานต่อความทุกข์ได้มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวกับความเชื่อ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความทุกข์เห็นได้เตะตาทั่วไปในประเทศที่ยากจน เช่น อินเดีย มากกว่าที่เห็นในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ความอดอยาก ความจน ความเจ็บ ความตาย เห็นกันอย่างจะจะ เมื่อคนใดคนหนึ่งแก่และเจ็บลงก็ไม่ถูกทอดทิ้งโดยส่งตัวไปอยู่บ้านพักคนชราให้เป็นหน้าที่ของบุคลากรทางสาธารณสุขที่จะดูแล เขายังคงอยู่ในชุมชนนั่นเอง และได้รับการดูแลจากครอบครัว คนที่มีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคนเราเกิดมามีความทุกข์เป็นธรรมดา จะล่วงความทุกข์ไปไม่ได้

สังคมตะวันตกสามารถกำจัดความทุกข์ที่เกิดจากความขาดแคลนไปได้ แต่ก็เลยสูญเสียความสามารถที่จะเผชิญกับความทุกข์ที่เหลือ การศึกษาโดยนักสังคมศาสตร์เน้นว่า คนตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อว่าโลกน่าอยู่  ชีวิตมีความเป็นธรรม และคิดว่าเขาเป็นคนดีควรจะได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิต คนเหล่านี้อาจมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี ยิ่งขึ้น แต่เมื่อความทุกข์อันหลีกเลี่ยงไม่พ้นเกิดขึ้นได้ไปสั่นคลอนความเชื่อที่ทำให้ยากที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข ความกระทบกระเทือนเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจมีผลกระทบต่อจิตใจมาก เมื่อเขาหมดความเชื่อว่าโลกนี้ดีทำให้มีความทุกข์มากกว่าความเป็นจริง แน่นอนว่า เทคโนโลยีต่างๆได้นำมาซึ่งความสะดวกสบายทางกายต่อผู้คนมากมายในสังคมตะวันตก ตรงนี้เองที่ความคิดเห็นเปลี่ยนไป เมื่อความทุกข์เห็นได้น้อยลง จึงไม่เห็นว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ คิดว่าความทุกข์คือความผิดปกติ (แทนที่จะคิดว่าเป็นปกติ เหมือนที่ชาวพุทธเตือนตนเองว่า คนเราเกิดมามีความทุกข์เป็นธรรมดา จะล่วงความทุกข์ไปไม่ได้) เมื่อคิดว่า ความทุกข์คือความผิดปกติ ก็คิดต่อไปว่าอะไรในระบบมันจะต้องผิดไปแล้ว จะต้องมีความล้มเหลวแล้ว มาทำลายสิทธิแห่งการมีความสุขของเรา!

การคิดแบบนี้มีอันตรายที่ซ่อนเร้นอยู่ เมื่อคิดว่าเราไม่ควรมีความทุกข์ แต่เมื่อทุกข์มันเกิดก็มองหาใครที่จะโทษ เมื่อฉันไม่มีความสุขก็แปลว่าฉันตกเป็นเหยื่อของใครบางคน หรือของอะไรบางอย่าง คิดกันอย่างนี้มากในสังคมตะวันตก คนที่มาทำให้เราเป็นเหยื่ออาจเป็นรัฐบาล ระบบการศึกษา พ่อแม่ ครอบครัวที่แย่ คนเพศอื่น หรือคู่ครองของเรา หรือหันเข้ามาโทษตัวเอง ต้องมีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับตัวฉัน เป็นโรคบางอย่าง ยีนมันไม่ดีแต่การที่คิดโทษนั่นโทษนี่อยู่ยิ่งทำให้ความทุกข์อยู่นานขึ้น ทำให้รู้สึกโกรธ หงุดหงิด ไม่พออกพอใจอยู่เป็นนิตย์ การที่คิดว่าไม่ควรมีทุกข์เป็นเป้าประสงค์ที่ชอบธรรมของชีวิต เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะหาสาเหตุที่ทำให้เราไม่มีความสุข และพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นทุกๆระดับ ทั้งระดับโลก ระดับสังคม ระดับครอบครัว และระดับปัจเจกบุคคล แต่ตราบใด ที่เรายังคิดว่าความทุกข์ไม่ใช่ธรรมดาของชีวิต เป็นสภาวะผิดปกติที่เรากลัว หลีกเลี่ยง และปฏิเสธ เราจะไม่มีวันถอนรากถอนโคนสาเหตุของทุกข์ และมีชีวิตที่เป็นสุขได้


บทที่ ๙
ความทุกข์ที่เราสร้างขึ้นเอง (Self-Created Suffering)

หมอคัตเลอร์เป็นจิตแพทย์ วันหนึ่งมีผู้ป่วยมาหา เป็นสุภาพบุรุษวัยกลางคน แต่งตัวดี ท่าทางสุภาพ หมอคัตเลอร์ถามเรื่องราวความเป็นมาอย่างที่แพทย์พึงถามผู้ป่วย
"อีนางแพศยาคนนั้น!" เขาระเบิดขึ้นด้วยความโกรธ
"นังเมียนรก เดี๋ยวนี้เป็นอดีตเมียแล้ว มันสวมเขาให้ผม ทั้งๆ ที่ผมประเคนให้มันทุกอย่าง นังหญิงโสมมคนนั้น" เสียงเขายิ่งดังแสดงความโกรธมากขึ้น พ่นพิษมากขึ้น สาธยายถึงความทุกข์โทมนัสอย่างแล้วอย่างเล่าอันได้จากอดีตภรรยาผู้นั้น

เวลาแห่งการตรวจก็ใกล้จะหมดลง แต่ผู้ป่วยผู้นี้ก็เพิ่งจะอุ่นเครื่อง แล้วก็อาจจะสาธยายความทุกข์ยากของเขาต่อไปอีกเป็นชั่วโมง หมอคัตเลอร์จึงพยายามเบี่ยงเบนเขาให้ไปสู่การเยียวยา โดยกล่าวว่า "คนเกือบทั้งหมดพบว่ายังปรับตัวไม่ได้ เมื่อหย่าร้างกันใหม่ๆ คราวหน้าเราจะคุยกันว่าจะทำอย่างไร" เขาพยายามพูดจาให้อ่อนนุ่มลง "แล้วก็คุณหย่าร้างกันมานานเท่าไรแล้ว"
"สิบเจ็ดปี!"

ในบทที่แล้วเราคุยกันถึงการยอมรับว่าความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต ในขณะที่ความทุกข์บางอย่างมันต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความทุกข์บางอย่างมนุษย์ก็สร้างมันขึ้นมาเอง การปฏิเสธไม่ยอมรับว่าความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต ทำให้มองว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อและโทษว่าผู้อื่นเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ของเราคิดแบบนี้ ชีวิตอันรันทดต้องเป็นของแน่นอน แต่เราก็เพิ่มความทุกข์ให้ตัวเองโดยวิธีอื่นๆ อีก บ่อยๆ ครั้งเราไปเก็บความเจ็บปวดไว้ ทำให้มันมีชีวิตชีวาโดยนำมาคิดแล้วคิดอีก และก็เพิ่มความรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับเราเลย เราตอกย้ำความเจ็บปวดในความทรงจำของเราโดยปรารถนาในจิตใต้สำนึกว่ามันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น  จริงอยู่บางครั้งการตอกย้ำความเจ็บปวดอาจจะมีความมุ่งหมายบางประการอยู่ คือมันอาจจะเพิ่มสีสันและความตื่นเต้นให้แก่ชีวิต หรือเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น แต่มันไม่คุ้มเลยกับการที่จะต้องมีความทุกข์ต่อไปชั่วกาลนานเช่นนั้น

ในการพูดถึงว่า เราเป็นผู้เพิ่มทุกข์ให้กับตัวเราเอง ท่านทะไล ลามะ อธิบายว่า "เราอาจเห็นได้ว่ามีหลายวิธีทีเดียวที่เราเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเราเอง แม้ว่าความทุกข์ จะเป็นธรรมชาติธรรมดา แต่เรานั่นแหละไปทำให้มันเลวร้ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราโกรธและเกลียดใครคนหนึ่ง ถ้าเราไม่ไปสนใจมัน มันก็จะไม่เพิ่มความโกรธนั้นขึ้นมาอีก แต่ถ้าไปคิดว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย ทำไมถึงทำกับเราอย่างนี้ แล้วก็เก็บมาคิดแล้วคิดอีกอยู่อย่างนั้น เหมือนเติมเชื้อเพลิงแห่งความเกลียดชังเข้าไป ทำให้ความ เกลียดชังมีพลังแรงขึ้น ในทางตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราไปรักใคร่ผูกพันใครคนใด คนหนึ่งแล้วก็ไปคิดเสริมเติมแต่งว่า เขาหรือเธอช่างสวยงามหรือดีอะไรอย่างนั้น อารมณ์ผูกพันก็ยิ่งรุนแรงขึ้นนี้เพื่อแสดงว่าโดยการคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำๆ ทำให้อารมณ์ในเรื่องนั้นเข้มข้นรุนแรงขึ้น บ่อยๆ ครั้ง เราเพิ่มความเจ็บปวดและความทุกข์ให้ตัวเอง โดยมีความไวต่อความรู้สึกมากเกิน มีปฏิกิริยาต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มากเกิน แล้วก็ไปดึงเรื่องเข้าตัวมากเกิน เราโน้มเอียงที่จะไปเครียดมากเกินกับสิ่งเล็กๆ แล้วก็ไปทำให้มันใหญ่โตเกินสัดส่วนของมันไป ขณะเดียวกันก็ไม่สนใจไยดีกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ ซึ่งมีผลมหาศาล ต่อชีวิตของเรา และสิ่งที่จะตามมาอีกเป็นพรวนในระยะยาว ดังนั้น อาตมาคิดว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะมีความทุกข์หรือไม่ขึ้นกับการตอบโต้ของเราต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อพบว่าใครพูดถึงคุณไม่ดีลับหลังคุณ ถ้าคุณมีปฏิกิริยาว่าเขาพูดไม่ดีเกี่ยวกับคุณในทางเจ็บปวดและโกรธ ก็เป็นเพราะตัวคุณเองนั่นแหละที่ทำลายความสงบในจิตใจของตนเอง ความเจ็บปวดของคุณเกิดจากคุณสร้างขึ้นมาเอง ในทางตรงข้ามถ้าคุณไม่ไปมีปฏิกิริยาทางลบ ปล่อยให้มันผ่านไปเหมือนลมอันสงบที่ผ่านหลังใบหู คุณก็ปกป้องตัวเองจากความรู้สึกเจ็บปวด ดังนั้นแม้คุณจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา แต่คุณสามารถจะลดทอนความทุกข์ได้จากปฏิกิริยาท่าทีของคุณต่อเรื่องนั้นๆ

"เราไปเพิ่มความเจ็บปวดและความทุกข์โดยมีความรู้สึกไวเกินในเรื่องนั้นๆ มีปฏิกิริยามากเกินต่อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และดึงเรื่องเข้าหาตัวเองมากเกิน..." ท่านทะไล ลามะ มีคำพูดดังกล่าวถึงความทุกข์ประจำวันของมนุษย์ นักจิตบำบัดเรียกกระบวนการเพิ่มทุกข์ให้ตัวเองนี้ว่า "ทำความเจ็บปวดให้เป็นเรื่องของตนเอง" ได้แก่ ความโน้มเอียงที่จะมองอะไรอย่างแคบๆ แล้วก็ไปแปลผิดๆ ดึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ให้มาก่อความเจ็บปวดให้ตัวเอง

หมอคัตเลอร์เล่าว่า วันหนึ่งเขาไปรับประทานอาหารเย็นกับเพื่อนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บริการที่นั้นช้ามาก เพื่อนก็เริ่มบ่น "ดูนั่นสิ บริกรคนนั้นช้าบรรลัยเลย มันไปไหนเสียล่ะ ผมคิดว่าเขาตั้งใจที่จะไม่สนใจเรา"
แม้ว่าทั้งคู่จะไม่มีเรื่องจะต้องรีบไป คำบ่นของเพื่อนในเรื่องบริการช้าได้เข้ามา สู่ความรู้สึกตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร แล้วเลยลามไปถึงเรื่องคุณภาพอาหารของใช้บนโต๊ะ แล้วก็อะไรอื่นๆ อีกที่เขาไม่ชอบ เมื่อรับประทานอาหารจบ บริกรมอบของหวานให้ฟรี โดยอธิบายว่า "ผมขอโทษที่บริการช้าในคืนนี้ พ่อครัวคนหนึ่งญาติของเขาตาย และหยุดงานไป แล้วก็คนเสิร์ฟคนหนึ่งก็ลาป่วยในนาทีสุดท้าย ผมหวังว่าคงไม่ทำให้คุณเดือดร้อนมาก..."
"ผมจะไม่มาที่นี่อีกเลย"
เพื่อนคนนั้นกล่าวอย่างขมขื่นขณะที่บริกรคนนั้นเดินจากไป

นี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการที่เราไปเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง โดยนำเรื่องขุ่นข้องเล็กๆ น้อยๆ เข้าหาตัวเสมือนมีคนเขาตั้งใจแกล้งเราโดยเฉพาะในกรณีนี้ผลของมันก็คือทำลายความสุขของการกินอาหารมื้อนั้นลงโดยสิ้นเชิง แล้วก็อารมณ์เสียตั้งชั่วโมง แต่ถ้าวิธีคิดแบบนี้กลายเป็นพฤติกรรมประจำสำหรับทุกเรื่อง มันก็จะกลายเป็นบ่อเกิดของชีวิตที่ทุกข์ระทม ในการอธิบายถึงผลกระทบในทางกว้างของวิธีคิดแคบๆ แบบนี้ จ๊าค ลูสเซแรน เคยตั้งข้อสังเกตอย่างเฉียบแหลม ลูสเซแรนเป็นคนตาบอดมาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาถูกทหารเยอรมันจับและถูกคุมขังที่ค่ายกักกัน บูเชนวาลด์ เขาเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในค่ายกักกันว่า "...ความทุกข์ที่ผมเห็นขณะนั้นเกิดขึ้นกับเราทุกคน เพราะเราคิดว่าเราเป็นศูนย์กลางของโลก เพราะเราคิดว่ามีแต่เราเท่านั้นที่มีความทุกข์ถึงจุดที่ไม่สามารถทานได้ ความทุกข์เกิดขึ้นจากการที่เราจองจำตัวเองไว้ในตัวของตัวเอง ในสมองของตัวเอง"

"แต่มันไม่ยุติธรรมเลย"
ในชีวิตตามปกติของเรามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นเสมอ แต่ปัญหาโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น ถ้าเรามุ่งใช้พลังงานของเราไปหาวิธีแก้ปัญหา ปัญหาก็จะกลายเป็นความท้าทายสำหรับเรา แต่ถ้าเราไปคิดว่าปัญหามันไม่ยุติธรรมกับเราเลย เราก็จะไปเติมเชื้อเพลิงให้เกิดทุกข์ เราเลยกลายเป็นมี ๒ ปัญหาไม่ใช่ปัญหาเดียว แล้วพลังงานของเราก็หมดไปกับความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม แทนที่จะได้ทุ่มเทพลังไปแก้ปัญหาแรกแต่ปัญหาเดียว

เช้าวันหนึ่งหมอคัตเลอร์ยกปัญหานี้ขึ้นถามท่านทะไล ลามะ "เราจะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมได้อย่างไรเมื่อเกิดปัญหาขึ้น?"
ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "มีหลายวิธีที่จะใช้กับความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม อาตมาได้พูดไปแล้วถึงการยอมรับว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิต อาตมาคิดว่าชาวทิเบตอาจอยู่ในฐานะที่ดีกว่าในการยอมรับความเป็นจริงของชีวิต เพราะเขาจะพูดว่า "คงจะเป็นเพราะกรรมในอดีตของเราเอง" เขาเชื่อว่าเป็นเพราะตนทำไม่ดีไว้ในชาตินี้หรือชาติก่อน จึงยอมรับผลของกรรมได้ดีกว่า อาตมาเคยเห็นครอบครัวทิเบตอพยพที่มาอยู่ในอินเดียที่มีความลำบากมาก ยากจนแล้วยังมีลูกตาบอดก็มี ปัญญาอ่อนก็มี แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็สามารถดูแลลูกได้ โดยกล่าวว่า "นี่เป็นกรรมของเขา เป็นกรรมลิขิต"

"ในการพูดถึงเรื่องกรรม บางครั้งมีความเข้าใจผิดในเรื่องกฎแห่งกรรม มีความโน้มเอียงที่จะโทษทุกสิ่งทุกอย่างที่กรรม แล้วก็เอาตัวเองออกจากความรับผิดชอบที่จะต้องทำอะไร เช่น บางคนอาจพูดง่ายๆ ว่า "มันเป็นกรรมในอดีตของฉัน กรรมที่เลวร้ายในอดีต ฉันจะไปทำอะไรได้ ฉันช่วยอะไรไม่ได้เลย" นี่เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับกรรม แม้ว่าประสบการณ์ปัจจุบันเป็นผลของการกระทำในอดีต แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีทางที่จะริเริ่มอะไรใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดสิ่งที่ดี เป็นเรื่องเดียวกันในด้านต่างๆ ของชีวิต เราไม่ควรยอมจำนนอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร โดยคิดเสียว่าทุกอย่างเกิดจากกรรม ถ้าเราเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับกรรมอย่างถูกต้อง กรรมแปลว่ากระทำ กรรมเป็นกระบวนการที่แข็งขัน เมื่อเราพูดถึงกรรม หรือการกระทำ หมายถึงการกระทำของเราในอดีต อนาคตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากระทำการชนิดใดในปัจจุบัน ดังนั้น ไม่ควรเข้าใจกรรมว่าเป็นเรื่องยอมจำนนอยู่เฉยๆ แต่กรรมเป็นกระบวนการที่แข็งขัน ทุกคนมีบทบาทที่จะกำหนดทิศทางของกรรม ตัวอย่าง แม้เรื่องง่ายๆ เช่น ความต้องการอาหาร เราต้องมีการกระทำ เราต้องหาอาหาร ต้องกิน นี่แสดงว่าแม้เรื่องเล็กๆ เราก็ต้องลงมือกระทำ"

หมอคัตเลอร์ขัดจังหวะขึ้นว่า "การลดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมโดยเชื่อเรื่องกรรมอาจจะได้ผลสำหรับชาวพุทธ แต่สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เช่น ชาวตะวันตกล่ะ"

"คนที่เชื่อในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าอาจจะยอมรับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีกว่า โดยคิดว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เขาอาจจะรู้สึกว่าแม้ยากลำบากเพียงใด พระผู้เป็นเจ้าทรงมีอำนาจ และมีพระมหากรุณา ฉะนั้นคงจะมีความหมาย หรือความสำคัญอะไรซ่อนเร้นอยู่ ที่เขาไม่รู้ แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้ อาตมาเชื่อว่า ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเช่นนี้จะช่วยเขาได้ยามยากลำบาก"

"แล้วสำหรับคนที่ไม่เชื่อทั้งกฎแห่งกรรม และทั้งพระผู้เป็นเจ้าล่ะ" หมอคัตเลอร์ถาม

"สำหรับคนที่ไม่เชื่อ..." ท่านทะไล ลามะ ครุ่นคิดอยู่ชั่วครู่

"...การปฏิบัติตามหลักวิทยาศาสตร์อาจช่วยได้ อาตมาคิดว่านักวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมองปัญหาตามภววิสัย ศึกษาโดยพยายามไม่ให้มีอารมณ์ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยวิธีนี้คุณอาจจะมองปัญหาด้วยท่าทีอย่างนี้ว่า "ถ้ามีวิธีต่อสู้กับปัญหา ก็ต้องสู้ แม้จะต้องไปสู่ศาล"" ท่านหัวเราะ "แล้วเมื่อคุณพบว่าไม่มีทางชนะ คุณก็ลืมมันเสีย"

"การวิเคราะห์ปัญหาอย่างตรงไปตรงมามีความสำคัญมาก เพราะบ่อยๆ ครั้งคุณจะพบว่า มีปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ อีกที่เราไม่รู้ เช่น...."

ข้อมูลสื่อ

317-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี