• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น


ไข้กาฬหลังแอ่น (ไข้กาฬนกนางแอ่น) ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายว่า "ไข้ติดเชื้อเฉียบพลัน มีอาการไข้ซึม คอแข็ง มีอาการหลังแอ่น และมีผื่นชนิดตกเลือดใต้ผิวหนัง ต่อมาสีของผื่นจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ"  ทางการแพทย์ หมายถึง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเมนิงโกค็อกคัส (meningococcal meningitis)

ที่มาของชื่อ "ไข้กาฬหลังแอ่น"  เข้าใจว่าคงเรียกตามลักษณะอาการของโรค ซึ่งพบว่าถ้าหากเป็นรุนแรงจะมีไข้และผื่นขึ้นลักษณะเป็นจุดแดง จ้ำเขียว หรือดำคล้ำ (จึงเรียกว่า "ไข้กาฬ" ซึ่งแปลว่า ไข้ที่มีผื่นตามผิวหนัง) และผู้ป่วยจะมีอาการคอแข็ง คอแอ่น หลังแอ่น (จึงเรียกชื่อโรคตอนท้ายว่า "หลังแอ่น") และต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "ไข้กาฬนกนางแอ่น" โรคนี้จึงไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อจากนกแต่อย่างใด

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้พบได้น้อยในบ้านเรา แต่พบได้ประปรายทุกปีและบางครั้งอาจระบาดได้ จัดเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง หากรักษาไม่ทันกาลมีโอกาสตายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว

ชื่อภาษาไทย  ไข้กาฬหลังแอ่น, ไข้กาฬนกนางแอ่น, เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส
ชื่อภาษาอังกฤษ  meningococcal meningitis

สาเหตุ  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า ไนซีเรียเมนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) เชื้อนี้แบ่งเป็น ๑๓ ชนิด แต่มีอยู่ ๕ ชนิดที่สามารถก่อโรคในคน ได้แก่ ชนิด A, B, C, Y และ W๑๓๕ ซึ่งมีอยู่ในลำคอของเรา คนที่แข็งแรงเชื้อจะอาศัยอยู่ในลำคอ โดยไม่ก่อให้เกิดโรค เรียกว่า เป็นพาหะ (Carrier) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ (เคยมีการสำรวจพบว่า เด็กนักเรียนในบางท้องที่จะเป็นพาหะของโรคนี้ คือมีเชื้ออยู่ในลำคอโดยไม่ก่อโรคถึงร้อยละ ๑๔) เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน ใช้ของใช้ร่วมกัน (เช่น การดื่มน้ำจาก แก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน) จูบปากกัน หรือสัมผัสถูกน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือสุขภาพอ่อนแอ เมื่อรับเชื้อเข้าไปก็จะป่วยเป็นโรคนี้โดยเชื้อเข้าไปในลำคอก่อน แล้วเข้าไปในกระแสเลือด ไปที่เยื่อหุ้มสมองทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางคนเชื้อจะเข้าไปอยู่ในอวัยวะตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เกิดอาการผิดปกติต่างๆ และรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ภายในเวลาสั้นๆ

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงมีอาการแสดง) ๒-๑๐ วัน (เฉลี่ย ๓-๔ วัน)

อาการ  แรกเริ่มจะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวด เมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัด ต่อมาจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนบ่อย คอแข็ง (ก้มคอไม่ลง) คอแอ่นไปข้างหลัง หลังแอ่น ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว บางคนอาจมีอาการชักติดๆ กัน ในรายที่มีภาวะเชื้อเข้ากระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกายร่วมด้วยจะพบว่ามีผื่นตามผิวหนัง พบมากตามแขนขา ลักษณะเป็นจุดแดงจ้ำเขียว แบบเดียวกับไข้เลือดออก ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีเลือดออกตามผิวหนัง ลำไส้ และต่อมหมวกไต เกิดภาวะช็อก หมดสติ และอาจตายได้ภายใน ๑-๔ วัน ภาวะรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และคนหนุ่มสาว

การแยกโรค 

๑. อาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยในช่วงแรก ควรแยกออกจากสาเหตุ ต่อไปนี้

  • ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือคออักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ หรือเจ็บคอ
  • ไข้เลือดออก  ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง อาจมีอาการปวดท้องและอาเจียนร่วมด้วย มักพบมีการระบาดของโรคนี้ในละแวกบ้านผู้ป่วย
  • ไข้ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องเดิน มักมีไข้ติดต่อกันนานเกิน ๗ วัน
  • ไข้ไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ผิวหนังอาจตรวจพบ รอยแผลคล้ายบุหรี่จี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ผู้ป่วยมักมีอาชีพทำไร่ ทำสวน หรือมีประวัติเดินทางเข้าป่า
  • ไข้มาลาเรีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะมาก และมีประวัติเดินทางเข้าป่า
  • เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดน่อง ตาแดง ดีซ่าน มักพบมีการระบาดของโรคนี้ในละแวกบ้านผู้ป่วย

๒. อาการไข้ ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ ชัก ควรแยกออกจากสาเหตุ ต่อไปนี้

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออื่นๆ ผู้ป่วยจะ มีอาการแบบเดียวกับไข้กาฬหลังแอ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนบ่อย อาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)
  • ไข้สมองอักเสบ และมาลาเรียขึ้นสมอง มีอาการคล้ายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่มักไม่มีอาการคอแข็ง
  • โรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัข แมว หรือสัตว์ป่ากัดหรือข่วนมาก่อน ๑-๓ เดือน ต่อมามีอาการไข้ ปวดศีรษะ กลัวลม กลัวน้ำ กระสับกระส่าย ชักเกร็ง ซึม หมดสติ
  • บาดทะยัก ผู้ป่วยจะมีบาดแผลตามผิวหนัง ต่อมามีไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้ ทำท่าเหมือนยิ้ม แสยะ) ต่อมามีอาการชักกระตุกเป็นพักๆ เวลาสัมผัสถูก ได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงสว่าง ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกตัวดี
  • ชักจากไข้ พบมากในเด็กช่วงอายุ ๖ เดือน ถึง ๕ ขวบ เด็กจะมีไข้สูงจากโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด คออักเสบ เป็นบิด แล้วมีอาการชักเกร็งของแขนขา ตาค้าง น้ำลายฟูมปาก มักเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาที ส่วนน้อยอาจชักนานเกิน ๑๕ นาที หลังหยุดชักเด็กจะรู้สึกตัวดี

๓. อาการไข้และมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง อาจคล้ายอาการของไข้เลือดออก หรือโรคเลือดต่างๆ

การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด เพาะเชื้อจากเลือด เจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหาเชื้อและสารเคมีต่างๆ เพื่อแยกแยะสาเหตุ

การดูแลตัวเอง
หากสงสัยเป็นไข้กาฬหลังแอ่นควรรีบไปพบแพทย์ อาการที่ชวนให้สงสัย มีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ปวดศีรษะรุนแรง

๒. อาเจียนบ่อย

๓. คอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)

๔. ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว

๕. ชัก

๖. ไข้ร่วมกับมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง

๗. มีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น

การรักษา
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้กาฬหลังแอ่นจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากให้การรักษาตามอาการแล้ว ยาที่จำเป็นในการรักษาโรคนี้ ก็คือ ยาปฏิชีวนะ ใช้กำจัดเชื้อโรคต้นเหตุ เช่น เพนิซิลลิน  เซฟาโลสปอริน

ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อเข้ากระแสเลือด กระจายไปทั่วร่างกาย) และภาวะตกเลือดรุนแรงซึ่งมีอันตรายร้ายแรง นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรง โรคลมชัก ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus)

การดำเนินโรค
ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าไป มักจะเป็นรุนแรงถึงตายเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นชนิดที่มีเชื้อโรคกระจายไปทั่วร่างกาย ถ้าเป็นไม่รุนแรงและได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก็มักจะหายขาด บางคนหลังรักษาจนรอดชีวิตแล้ว อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองโดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาได้ทันกาลมีอัตราตายประมาณร้อยละ ๑๕-๒๐

การป้องกัน

๑. สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนี้  เช่น คนที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย นักเรียนที่อยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย ทหารที่อยู่ในค่ายพักเดียวกับผู้ป่วย ผู้ต้องขังที่อยู่ในห้องขังเดียวกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะให้ยาป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ไรแฟมพิซิน (rifampicin) ผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ ๖๐๐ มก. วันละ ๒ ครั้ง ติดต่อกัน ๒ วัน เด็กอายุต่ำกว่า ๑ เดือน ให้ขนาดครั้งละ ๕ มก. ต่อน้ำหนักตัว ๑ กก. อายุมากกว่า ๑ เดือน ให้ขนาดครั้งละ ๑๐ มก. ต่อน้ำหนักตัว ๑ กก.
(๒) ไซโพรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin) ผู้ใหญ่ให้ขนาด ๕๐๐ มก. กินครั้งเดียว อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี, หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตรไม่แนะนำให้ใช้ยานี้
(๓) เซฟไทรอาโซน (Ceftriaxone) สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยา ๒ ตัวข้างต้น ผู้ใหญ่ให้ ๒๕๐ มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว เด็กอายุน้อยกว่า ๑๕ ปี ให้   ๑๒๕ มก.

๒. สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ เช่น ไปทำงาน หรือประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศตะวันออกกลาง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งสามารถรับบริการได้ ณ สถานที่ต่อไปนี้

(๑) โรงพยาบาลบำราศนราดูร นนทบุรี
(๒) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยาน ดอนเมือง
(๓) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย
(๔) ฝ่ายควบคุมโรคระหว่างประเทศในบริเวณตรวจคนเข้าเมือง ถนนสาทรใต้
(๕) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ๑๔ จังหวัดภาคใต้

๓. สำหรับคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน เนื่องจากโรคนี้พบได้น้อย มีโอกาสเสี่ยงไม่มาก ถ้าบังเอิญมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็สามารถใช้ยาป้องกันได้ เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ วัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันป้องกันเชื้อชนิด A, C, Y, W๑๓๕ แต่ไม่ได้ป้องกันชนิด B ซึ่งเป็นเชื้อที่พบมากในบ้านเรา ดังนั้น ฉีดวัคซีนไปก็ไม่อาจป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อชนิด B

สำหรับคนทั่วไปแนะนำให้ปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรคติดต่อทางระบบหายใจ ดังนี้
(๑) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก
(๒) อย่าไอ จาม หายใจรดกัน
(๓) อย่าดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้อื่น หรือสูบบุหรี่มวนเดียวกับผู้อื่น
(๔) ล้างมือเมื่อสัมผัสถูกน้ำมูกและน้ำลายของผู้อื่น

ความชุก  มีรายงานการป่วยเป็นโรคนี้เป็นทางการประมาณปีละ ๒๐-๑๐๐ ราย และเสียชีวิตไม่ถึง ๑๐ รายต่อปี พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี 

ข้อมูลสื่อ

318-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ