รูปของนายแพทย์แจ็ก เควอร์เคียน กับเครื่องมือง่ายๆ สำหรับให้ผู้ป่วยใช้ฆ่าตัวตายให้พ้นความทุกข์ทรมานจากการ
เจ็บป่วยในระยะสุดท้าย โดยนายแพทย์แจ็กเรียกเครื่องมือนี้ว่า “เครื่องการุณยฆาต” (Mercitron) (จากหนังสือพิมพ์
บางกอกโพสต์ วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔)
ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๘๘
นายแพทย์แจ็ก เควอร์เคียน (Dr.Jack Kevorkian) เป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อท่านเสียชีวิตในวัย ๘๓ ปี เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองดีทรอยต์ (Detroit) รัฐมิชิแกน (Michigan) ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยโรคไตและปอดบวม
ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓ เมื่อท่านช่วยให้คุณครูเจเน็ต แอ็ดกินส์ (Janet Adkins) จากรัฐโอเรกอน ที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จในรถตู้เก่าๆ ของนายแพทย์แจ็กที่จอดไว้ในที่ตั้งค่ายพักแรม (campground) ใกล้กับบ้านของนายแพทย์ผู้นี้
ทันทีที่ผู้ป่วยเสียชีวิต นายแพทย์แจ็กได้แจ้งตำรวจ ซึ่งได้ไปยังจุดเกิดเหตุและจับกุมนายแพทย์ผู้นี้
วันรุ่งขึ้น สามีของผู้ตาย คือนายรอย แอ็ดกินส์ (Mr.Roy Adkins) และลูกทั้ง ๒ คน ได้แถลงข่าวที่เมืองพอร์ตแลนด์ (Portland) รัฐโอเรกอน (Oregon) ว่า ผู้ป่วยต้องการฆ่าตัวตายเองเพื่อให้พ้นความทุกข์ทรมานจากโรคสมองเสื่อม และได้แสดงจดหมายฆ่าตัวตาย (suicide note) ที่ผู้ป่วยเขียนไว้เป็นหลักฐาน
นายแพทย์แจ็ก กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของผมคือ ต้องการให้ ‘การุณยฆาต’ (euthanasia) เป็นประสบการณ์ด้านบวก (ด้านดี) ผมต้องการให้วงการแพทย์มีความรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยตาย (อย่างสงบ) ด้วย”
เนื่องจากนายแพทย์แจ็กไม่ได้เป็นผู้ฆ่าผู้ป่วย ท่านเป็นเพียงผู้เตรียมยาและเครื่องมือให้ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยเป็นผู้ใช้ยาและเครื่องมือ (ถุงให้น้ำเกลือ สายให้น้ำเกลือ หลอดฉีดยา เป็นต้น ดังรูป) เหล่านั้นเอง จึงไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิดท่านได้
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๔๒ ท่านกล่าวว่า ท่านได้ช่วยให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของโรคสามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ ๑๓๐ คน โดยท่านไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ
ชาวอเมริกันจึงเรียกท่านว่า “Dr.Death” หรือแพทย์แห่งความตาย แต่ทั้งผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านและผู้ที่ชื่นชมท่านต่างก็ยอมรับว่า การที่ท่านออกมาป่าวร้องอย่างแข็งขันและแข็งกร้าวเรื่องสิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จะเลือกวิธีตายเองได้ ทำให้โครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice care) ในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้แพทย์ต่างๆ เริ่มเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น และยอมให้ยาระงับอาการทุกข์ทรมานต่างๆ เพิ่มขึ้น
และใน พ.ศ.๒๕๔๐ รัฐโอเรกอน ได้เป็นรัฐแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถสั่งยาเพื่อการฆ่าตัวตายให้แก่ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้ และใน พ.ศ.๒๕๔๙ ศาลสูงสุดของประเทศ (US Supreme Court) ได้ตัดสินให้ Oregon’s Death With Dignity Act (พ.ร.บ.ว่าด้วยการตายอย่างมีศักดิ์ศรีของรัฐโอเรกอน) เป็นกฎหมายที่ช่วยปกป้องแพทย์ในเวชปฏิบัติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๗ ถึง ๒๕๔๐ ท่านถูกดำเนินคดี ๔ ครั้ง สำหรับความตายของผู้ป่วย ๖ คน และด้วยความสามารถของทนายความหนุ่มที่มาช่วยเหลือท่าน ศาลยกฟ้องทั้งหมดเพราะเห็นว่าท่านช่วยผู้ป่วยด้วยความรักและเมตตาอย่างแท้จริง
อัยการที่ดำเนินการฟ้องท่าน กล่าวว่า “ท่านได้ท้าทายการบังคับใช้กฎหมาย เพราะท่านคิดว่ามีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนท่านอยู่” (กระบวนการพิจารณาคดีในศาลสหรัฐฯ ใช้ระบบลูกขุนซึ่งคัดเลือกมาจากประชาชนทั่วไป เป็นผู้พิจารณาความผิดหรือความถูก แล้วศาลจึงเป็นผู้ตัดสิน)
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒ หลังการพิจารณาคดีในศาลเพียง ๒ วัน ลูกขุนกลับลงมติให้ท่านมีความผิดฐานฆ่าคนตายในระดับ ๒ (second-degree murder) หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา เพราะเมื่อ ๖ เดือนก่อน ท่านได้ถ่ายวีดิทัศน์ตัวท่านขณะฉีดยาให้ผู้ป่วย นายโทมัสยูก (Thomas Youk) ซึ่งป่วยด้วยโรคระบบประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต (amyotrophic lateral sclerosis) เพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดจะขยับเขยื้อนและหายใจไม่ได้ แล้วเสียชีวิตอย่างทรมาน
ท่านได้ส่งวีดิทัศน์ที่ท่านฉีดยาให้นายโทมัสยูก ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ไปให้รายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงรายการหนึ่งในสหรัฐฯ และรายการโทรทัศน์นั้นได้เผยแพร่วีดิทัศน์ของท่านเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑ โดยท่านกล่าวว่า “พวกเขาจะต้องดำเนินคดีผม ถ้าผมไม่ผิด จะได้ไม่มีใครนำกฎหมายมาจ้องเอาเรื่องกับผมอีก”
การเผยแพร่วีดิทัศน์ในครั้งนั้น ทำให้ชาวอเมริกันทั้งประเทศไต่ถามถึงจรรยาบรรณของแพทย์และสื่อ และกลายเป็นหลักฐานสำคัญให้อัยการสั่งฟ้องท่านฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา (first-degree murder) ท่านได้ต่อสู้คดีด้วยตนเอง และยอมรับในเวลาต่อมาว่า การกระทำของท่านนั้นบุ่มบ่ามเกินไป และเสียใจที่ได้กระทำไปเช่นนั้น
ผู้พิพากษาได้กล่าวไว้ในคำตัดสินว่า “ท่านกล้าบ้าบิ่นเกินไปในการเผยแพร่การกระทำของท่านทางโทรทัศน์สู่สายตาของคนทั้งโลก เพื่อท้าทายกฎหมายให้หยุดท่าน บัดนี้กฎหมายได้หยุดท่านแล้ว”
นายแพทย์แจ็กถูกพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก ๑๐-๒๕ ปี ฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา (second-degree murder) เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒ แต่หลังถูกคุมขังอยู่ ๘ ปี ท่านก็ได้รับการปล่อยตัวในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ เพราะป่วยด้วยโรคเบาหวาน ตับอักเสบซี และอื่นๆ และท่านให้สัญญาว่าจะไม่ช่วยผู้ป่วยให้ฆ่าตัวตายอีก
นายแพทย์แจ็ก เกิดที่รัฐมิชิแกน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นบุตรคนที่ ๒ จาก ๓ คน ของบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยชาวอาร์เมเนีย ที่ประกอบธุรกิจเล็กๆ
เพื่อนวัยเด็กเล่าว่า แจ็กเป็นเด็กเก่ง ชอบดนตรีและศิลปะ เขาจบปริญญาตรีทางวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ก่อนจะเบนเข็มมาเรียนแพทย์และประกอบอาชีพเป็นพยาธิแพทย์ ต่อมาเกิดความสนใจเรื่องการตายและความตาย และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ๔ เล่ม เช่น “ยาสั่งตาย” (Preseription: Medicide, The Goodness of Planned Death)
ในประเทศไทย กฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.๒๕๕๓ ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
ผู้ที่สนใจ “การตายดี” อาจอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “การดูแลผู้ป่วยให้ตายดี” โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน โทร.๐ ๒๖๑๘ ๔๗๑๐ เว็บไซต์ http://publishing.doctor.or.th/
- อ่าน 5,121 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้