• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูสวัด... จากไวรัสอีสุกอีใส?

งูสวัด...เกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใส                                                                                 
งูสวัดเป็นโรคที่พบบ่อย เชื่อว่าหลายคนคงเคยเป็น หรือมีญาติพี่น้องที่เคยเป็นโรคนี้กันมาก่อน งูสวัดเกิดในผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้วเท่านั้น การติดเชื้อครั้งแรกไวรัสจะแพร่กระจายทำให้เกิดตุ่มน้ำใสตามผิวหนังทั่วร่างกาย อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดหลัง เจ็บคอ และไอร่วมด้วย เรียกการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ครั้งแรกว่าอีสุกอีใส (chickenpox) ซึ่งมักเป็นในช่วงวัยเด็ก

ในช่วงที่ไวรัสแพร่กระจาย ไวรัสจะไปฝังตัวในไขสันหลังและอยู่ในระยะสงบได้นานหลายปี วันร้ายคืนร้ายไวรัสจะถูกกระตุ้น และเจริญเติบโตตามเส้นประสาทที่ฝังตัวออกมาสู่ผิวหนังทำให้เกิดงูสวัดขึ้น

มักพบงูสวัดในผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ก็อาจพบในเด็กได้ งูสวัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการของการเป็นอีสุกอีใส (เพราะงูสวัดเกิดจากเชื้อในตัวเองของผู้เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน) การติดต่อของงูสวัดผ่านทางแผลจากการที่ตุ่มน้ำแตกที่ผิวหนัง และในบางกรณีเกิดผ่านทางจมูกและลำคอ

โรคงูสวัดพบได้บ่อยไหม     
งูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย คือพบได้  ๒-๓ รายต่อประชากร ๑,๐๐๐ คนต่อ ๑ ปี พบในหญิงและชายเท่าๆ กัน พบบ่อยในผู้สูงวัยและมักมีอาการรุนแรง โดยผู้ที่มีอายุเกิน ๘๐ ปี เกือบร้อยละ ๕๐ มีโอกาสเป็นงูสวัด ในเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นพบงูสวัดน้อย ส่วนผู้ที่เป็นเอดส์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งชนิดอื่นๆ ภาวะภูมิต้านทานต่ำ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และไขกระดูก มีโอกาสเป็นงูสวัดมากกว่าผู้ที่มีร่างกายปกติดี

อาการของงูสวัดเป็นอย่างไรบ้าง     
อาการของงูสวัดที่พบบ่อยคืออาการปวด ซึ่งอาจเป็นรุนแรงมาก เป็นเพียงจุดเดียว หรือปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท อาการเจ็บปวดที่นำมาก่อนเกิดผื่นของงูสวัดอาจคล้ายโรคหลายอย่างเช่น ปวดฟัน ปวดศีรษะ ปวดในหู ปวดหลัง ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายปวดหลังในผู้ป่วยโรคไต ตาอักเสบ ปวดหน้าอก ปวดท้อง บางรายมีอาการเหมือนไส้ติ่งอักเสบ หรือปวดร้าวลงขา

ผู้ป่วยมักรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ และปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่มีอาการเจ็บผิวมักโตและกดเจ็บ ภายใน ๑-๓ วัน หลังเริ่มมีอาการปวดจะพบตุ่มน้ำใสตามตำแหน่งผิวหนังที่มีอาการเจ็บนำมาก่อน ตุ่มน้ำมักอยู่เป็นหย่อมๆ บนผิวหนังที่อักเสบแดง

หย่อมของรอยโรคมักเรียงตัวตามแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงผิวหนัง (ภาพที่ ๑ และ ๒ แสดงผื่นงูสวัดเป็นที่ก้นและขาตามแนวเส้นประสาทในผู้ป่วยรายเดียวกัน) ซึ่งมักเป็นเส้นประสาทเพียงเส้นเดียว ลักษณะที่พบหย่อมตุ่มน้ำบนผิวหนังที่อักเสบแดงและมีอาการปวดมาก จึงเรียกกันว่า “เข็มขัดดอกกุหลาบจากนรก” หรือ “the belt of roses from hell” ต่อมาตุ่มน้ำจะกลายเป็นตุ่มหนอง แตกออก และตกสะเก็ด บางครั้งพบตุ่มน้ำในปาก หู และอวัยวะสืบพันธุ์ อาการเจ็บปวดและอาการทั่วไปค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อผื่นผิวหนังหายไป

ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
เด็ก งูสวัดจะหายสนิทใน ๒-๓ สัปดาห์
ผู้ใหญ่ มักหายใน ๓-๔ สัปดาห์

พบโรคงูสวัดบ่อยที่บริเวณหน้าอก ลำคอ หน้าผาก และก้น/ก้นกบ โดยพบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ แต่ในกรณีของงูสวัดที่บริเวณดวงตาจะมีโอกาสพบสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ซึ่งอาการปวดหลังอาจเป็นงูสวัดได้

โอกาสพบอาการปวดเพิ่มขึ้นตามอายุ อาการปวดอาจเป็นแบบต่อเนื่อง แบบแปลบๆ ปวดแสบปวดร้อน บางรายอาจเป็นในรูปอาการคัน หรือรู้สึกว่ามีตัวแมลงไต่ ผิวหนังที่เป็นมักชา แต่บางรายผิวจะไวมากเวลาสัมผัสอาจเจ็บแปลบจนทนไม่ไหว ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าหวีผมเพราะจะเจ็บหนังศีรษะมาก

วินิจฉัยและรักษางูสวัดได้อย่างไร   
ส่วนใหญ่แพทย์ให้การวินิจฉัยงูสวัดโดยลักษณะประวัติ และผื่นตุ่มน้ำเป็นแนวที่ผิวหนัง  
การรักษาโรคงูสวัดนั้นปัจจุบันพบว่ายาต้านไวรัสช่วยลดอาการปวดและระยะเวลาในการเป็นโรคลงได้มาก ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ กินยาแก้ปวดลดไข้โดยเริ่มจากพาราเซตามอล (paracetamol) พบว่ายาน้ำสมุนไพรเสลดพังพอนช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนและทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น  

แพทย์มักสั่งจ่ายยาต้านไวรัสชนิดกินในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดบริเวณใบหน้า กลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ และกลุ่มผู้สูงอายุ
ส่วนการรักษาอาการปวดหลังเป็นงูสวัดมักค่อนข้างยาก อาการปวดมักลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ถ้ายังมีอาการปวดมากควรปรึกษาแพทย์ ในแง่ของการป้องกันโรคงูสวัด ในกลุ่มผู้สูงอายุอาจพิจารณาการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัด

โรคงูสวัดติดต่อได้ ในช่วงที่ยังมีตุ่มน้ำและแผลยังไม่ตกสะเก็ดแห้งสนิท ผู้ป่วยยังมีโอกาสแพร่เชื้อ จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงวัย ผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ควรแกะเกาตุ่มน้ำและผื่น เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และอาจทำให้เกิดแผลเป็นมากขึ้นด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

391-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 391
พฤศจิกายน 2554
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร