“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (human dignity) เป็นคุณค่าที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่ถือกำเนิดบนโลกใบนี้ และยังดำรงอยู่แม้ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะเสียชีวิตไปแล้ว ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชน (hunan rights) ดังที่ปรากฏใน “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘” (the Universal Declaration of Human Rights)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๕๐) บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในหลายมาตรา ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๒ ซึ่งเป็นเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ หรือที่เรียกว่า Living Will (Advance Directives)
สิทธิตามมาตร ๑๒ ข้างต้นถือเป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่งที่แพทยสมาคมโลก (World Medical Association) ให้การรับรอง และมีหลายประเทศที่มีกฎหมายและแนวปฏิบัติในเรื่องนี้แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส แคนาดา แอฟริกาใต้ ฮ่องกง (จีน) จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่มีความก้าวหน้ามาก
ในขณะนี้มีการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ เพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือหรือผู้ป่วยที่ต้องการเลือกวิธีการรักษาเมื่อตนเองอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความทุกข์ทรมานต่างๆ การทำหนังสือตามมาตรา ๑๒ จึงมิใช่การทอดทิ้งไม่ดูแลผู้ป่วย มิใช่เป็นการทำ “การุณยฆาต” (mercy killing) ที่ขัดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ ดังที่แพทย์บางท่านมีความเข้าใจผิดเพี้ยนในเรื่องนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะมิได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง
- อ่าน 3,360 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้