• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัวบกสมองสดใสคืนสู่วัยหนุ่มสาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.)

ชื่อวงศ์ APIACEAE

ชื่ออื่นๆ บัวบก กะโต่ ผักแว่น ผักหนอก

ลักษณะทั่วไป พืชล้มลุกขนาดเล็ก อายุหลายปีเลื้อยตามดิน มีไหลเป็นปมเจริญขึ้นเป็นต้นใหม่ได้ ลำต้นยาวถึง ๒.๕ เมตร ใบเดี่ยวเป็นกระจกจากไหล แผ่นใบรูปโล่ เกือบกลม ขอบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อสีเขียว ผลค่อนข้างกลม

การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดและไหล

บัวบก บำรุงสมอง ป้องกันความชรา

บัวบก หรือผักหนอก เป็นสมุนไพรบำรุงสมองที่คนเฒ่าคนแก่รู้จักกันดี ในช่วงที่แปะก๊วยเริ่มดังไปทั่วโลกในฐานะยาบำรุงสมอง บ้านเราก็มีความพยายามที่จะพัฒนาการปลูกต้นแปะก๊วยเพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองตามกระแส ปรากฎการณ์นี้ทำให้ฉุกคิดและทบทวนว่า สมุนไพรที่หมอยาทุกภาคใช้บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท บำรุงควมจำ บำรุงสายตา บำรุงผม บำรุงเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ได้ทั้งเด็กและคนแก่

ตำราไทยกล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อนขมเย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องเสียและอาการเริ่มที่จะเป็นบิดแก้ลม แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ ในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียก็กล่าวถึง

บัวบก มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่าผักหนอก ผักแว่น และกะโต่

การใช้บัวบักบำรุงร่างกายว่า บัวบกทั้งต้นมีกลิ่นฉุน มีรสขมหวาน ย่อยได้ง่าย เป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ บำรุงเสียง ช่วยให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้อักเสบ ผิวหนังเป็นด่างขาว โลหิตจาง มีหนองออกจากปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ น้ำดีในร่างกายมากเกินไป ม้ามโต หืด กระหายน้ำ แก้คนเป็นบ้า โรคเกี่ยวกับเลือดและโรคที่มีสมุฎฐานจากเสมหะ คนบางแคว้นในอินเดียกินใบบัวบกกับนมทุกวันวันละ ๑-๒ ใบเชื่อว่าจะทำให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส ความจำดีขึ้น บำรุงร่างกาย บำรุงประสาทและโลหิต

ส่วนการแพทย์จีนถือว่าบัวบกคือ สมุนไพรของความเป็นหนุ่มสาว สรรพคุณในการคืนความเป็นหนุ่มสาวนี้ตรงกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านของไทยอย่าง ยายหมื่น ดวงอุปะ

แม่หมอยาเมืองเลย ที่ยืนยันว่า การกินผักหนอกจะทำให้หน้าตาแดงสดใสอย่างวัยรุ่น โดยให้เอาผักหนอกทั้งห้า มาตากให้แห้ง ตำให้ละเอียด แล้วเอาน้ำผึ้งเป็นกระสายปั้นเป็นลูกกลอนกิน สัปดาห์เดียวก็เห็นผล

บักบกกับการศึกษาวิจัยและการใช้สมัยใหม่

เมื่อไปสืบค้นงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบัวบกก็พบว่ามีฤทธิ์ในการบำรุงสมองเช่นเดียวกับแปะก๊วย กล่าวคือ เพิ่มความสามารถในการจดจำและการเรียนรู้ มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากบัวบกในคุณสมบัติช่วยเพิ่มความสามารถในการจำ

การทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า บัวบกทำให้ลูกหนูมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้นทำให้เซลล์สมองของหนูแรกเกิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดมีพัฒนาการดีกว่าหนูในกลุ่มควบคุม ทำให้ปฏิภาณไหวพริบในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางของหนูดีขึ้น บัวบกยังเพิ่มสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจเฉพาะหน้าในหนู

ส่วนการศึกษาในมนุษย์พบว่า บัวบกทำให้เด็กพิเศษที่กินบัวบกวันละ ๕๐๐ มิลลิกรัมติดต่อกัน ๓ เดือน มีความสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมนอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ โดยใช้สารสกัดบักบก ๗๕๐ มิลลิกรัมต่อวัน นาน ๒ เดือน พบว่า ความจำ การเรียนรู้ และอารมณ์ของคนสูงอายุดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้มีการวิจัยในผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๓๓ ปี โดยได้รับสารสกัดบัวบก ๕๐๐ มิลลิกรัม วันนละ ๒ ครั้ง พบว่าช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและการซึมเศร้า

ส่วนการศึกษาในระดับเซลล์ถึงกลไกการออกฤทธิ์บำรุงสมองพบว่า บัวบกทำให้การหายใจในระดับเซลล์สมองดีขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์สมอง คงสภาพปริมาณของสารสื่อประสาท ที่มีชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง เสริมฤทธิ์การทำงานของสารกาบา (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่รักษาสมดุลของจิตใจ ทำให้ผ่อนคลายและหลับได้ง่าย นอกจากนี้ บัวบกยังทำให้หลอดเลิอดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น

ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการใช้บัวบกเป็นอาหารเพิ่มไอคิว เพิ่มความฉลาด หรือเพิ่มความสามารถในการจำและการเรียนรู้ในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กพิเศษ รวมไปถึงเด็กสมาธิสั้น ส่วนในคนทั่วไปบัวบกจะช่วยชะลออาการของโรคสมองเสื่อมในวัยชราหรืออัลไซเมอร์ รวมทั้งช่วยคลายเครียดทำให้มีสมาธิในการทำงาน ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ มีบัวบกแคปซูลวางจำหน่ายในสรรพคุณบำรุงสมอง (brain tonic)

นอกจากนี้ บัวบกยังมีฤิทธิ์ต้านอักเสบ เพิ่มการสร้างคอลลาเจน ช่วยลดความดันเลือดจากการเพิ่มความยืดหยุ่นให้หลอดเลิอด เพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดดำขอดไว้ รวมทั้งช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ปัจจุบันครีมบัวบกถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในสรรพคุณรักษาแผล ป้องกันการเกิดแผลเป็น

บัวบกเป็นผักพื้นบ้านไทยที่กินใช้อยู่ทุกวัน มีคุณอนันต์กับสมอง แล้วเราจะรอช้าอยู่ใย รีบหาบัวบกมากินกันไวๆ กินให้ถูกวิธีตามวิถีแห่งภูมิปัญญา เพื่อคนไทยจะได้เฉลียวฉลาดและไม่เฒ่าชะแรแก่ชราเร็วเกินไป

เรื่องน่ารู้

  • ในตำราไทยบอกว่า การเก็บบัวบกมาใช้อย่าเอาเฉพาะใบ เพราะจะได้ตัวยาไม่ครบ ควรถอนเอาทั้งต้นและรากมาด้วย เพราะในรากมีตัวยาด้วย
  • ถ้าจะให้ได้สรรพคุณดีที่สุด ควรใช้ผักหนอกขมซึ่งมักจะขึ้นเองตามธรรมชาติ
  • การทำให้แห้ง ไม่ควรเอาบัวบกไปตากแดด เพราะจะทำให้สูญเสียตัวยาซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหย ควรผึ่งลมไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเท เมื่อยาแห้งแล้วใส่ขวด ปิดฝาให้สนิทกันชื้น

สูตรน้ำบัวบก (ดื่มแก้ช้ำในหรือร้อนใน)

๑. เลือกใช้บัวบกที่ใบแก่กว่ากินเป็นผักสด ใช้ทั้งรากทำความสะอาดอย่างดี

๒. ใบบัวบกจะเหนียวให้ตัดเป็น ๒-๓ ท่อน ก่อนบดหรือตำ

๓. คั้นน้ำแรกโดยผสมน้ำกับใบบัวบกที่บดหรือตำแล้วนำกากที่เหลือมาคั้นน้ำที่สองเพื่อให้ได้ตัวยาที่ยังเหลืออยู่ ใช้น้ำสะอาดในการคั้น แต่ห้ามใช้น้ำร้อน หรือนำน้ำที่คั้นไปต้ม

๔. กรองน้ำบัวบกโดยใช้ผ้าขาวบางห่างๆ แบบผ้ามุ้ง ถ้าผ้าถี่มากจะกรองไม่ออก

๕. หลังกรองจะมีกาก ซึ่งเศษใบให้ทิ้งไว้ให้นอนก้นและทิ้งไป รินเฉพาะส่วนใสมาดื่ม

๖. น้ำบัวบกต้องคั้นใหม่ๆ จากใบสดๆ จะดีที่สุด ไม่ควรเก็บน้ำบัวบกไว้นาน และต้องแช่เย็นไว้เสมอ

๗. น้ำเชื่อมถ้าทำจากน้ำต้มใบเตย จะทำให้น้ำบัวบกอร่อยยิ่งขึ้น

 

ข่างปองบัวบก

อุปกรณ์

๑. บัวบกสด

๒. แป้งที่ใช้ทอดกรอบ

๓. หอมแดงหั่นหยาบ

๔.  กระเทียมหั่นหยาบ

๕. เกลือ

๖.  พริกไทยป่น

๗.  ไข่ไก่

วิธีทำข่างปองบัวบก

๑.  ผสมแป้งที่ใช้ทอดกรอบกับพริกไทย กระเทียม หอมแดง ไข่ไก่ และเกลือผสมให้เข้ากัน

๒.  นำบัวบกที่ล้างสะอาดแล้วหั่นหยาบ หรือม้วนพอคำนำมาชุบกับแป้งที่ผสมเรียบร้อยแล้ว

๓.  จากนั้นตั้งกระทะ ใส่น้ำมันให้ร้อน แล้วจึงนำบัวบกที่ชุบแป้งแล้ว มาทอดให้พอเหลืองกรอบแล้วยกลงให้สะเด็ดน้ำมัน

๔.  จิ้มกับน้ำจิ้มไก่ตามใจชอบ

 

อาหารสมุนไพร ไข่เจียวบัวบก

บรรเทาอาการปวดศรีษะ วิงเวียนศรีษะ

ส่วนประกอบ

ไข่ ๒ ฟอง

บัวบกสด ๒๐ กรัม

น้ำมันหอย ๑ ช้อนโต๊ะ

น้ำปลาเล็กน้อย

น้ำมันพืชสำหรับทอด

วิธีทำ

๑.  นำบัวบกมาล้างให้สะอาดแล้วหั่นซอย

๒.  นำไข่มาตอกแล้วตีไข่ เติมเครื่องปรุงรส

๓.   ใส่บัวบกที่หั่นซอยลงไป คนให้เข้ากัน

๔.   ทอดในไฟอ่อนจนไข่สุก

 

น้ำมันบัวบก (สูตรอายุรเวท)

ส่วนประกอบ

๑.  บัวบก ๔ กิโลกรัม

๒.  น้ำมันมะพร้าว ๑ ลิตร

๓.  น้ำสะอาด ๗ ลิตร   

วิธีการทำ

๑.  ล้างบัวบกให้สะอาด

๒.  หั่นบัวบกเป็นชิ้นเล็กๆ

๓.  เติมน้ำลงไปในบัวบก นำไปปั่นให้ละเอียด

๔.  กรองเอาแต่น้ำบัวบก

๕.  นำน้ำบัวบกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ไฟอ่อนๆ ประมาณ ๘๐-๙๐ องศาเซลเซียส

๖.  เคี่ยวจนเหลือแต่น้ำมันมะพร้าว ให้สังเกตลักษณะกากของน้ำมัน กากจะมีลักษณะแห้งแบบเม็ดทราย เป็นอันใช้ได้ ยกลงจากเตา กรองเอาน้ำมัน

สรรพคุณ บำรุงผมและหนังศรีษะ ช่วยให้ผมดกดำมีส่วนช่วยแก้ผมร่วง และหงอกก่อนวัย

วิธีการใช้ ชโลมเส้นผม นวดให้ทั่วหนังศรีษะ หมักทิ้งไว้ ๓๐ นาที แล้วสระผมด้วยน้ำอุ่น (สระผมด้วยแชมพูตามปกติ)

 

คุกกี้ บัวบก

ส่วนผสม

๑. แป้งอเนกประสงค์ ๒ ถ้วยตวง

๒. เนยสด รสเค็ม ๒ ถ้วยตวง

๓. น้ำตาลทราย ๑.๑/๒ ถ้วยตวง

๔. ผงฟู ๒ ช้อนชา

๕. วนิลา (กลิ่น) ๑ ช้อนชา

๖. ไข่ไก่ ๑ ฟอง

๗. บัวบกหั่นละเอียด ๒ ถ้วยตวง

ขั้นตอนการทำ

๑. ล้างและหั่นใบบัวบกให้ละเอียด โดยให้ตัดก้านกับใบออกจากกัน ก้านจะหั่นเป็นท่อนเล็กๆ ส่วนใบนำมาเรียงซ้อนกัน แล้วหันตามขวางและกลับมาหั่นอีกข้าง พักไว้ก่อน

๒. นำแป้งและผงฟูมาร่อนผ่านตะแกรงประมาณ ๒ รอบ พักไว้ก่อน

๓. นำเนยสดมาตีให้เข้ากับน้ำตาล ตีด้วยความเร็วปานกลางจนขึ้นฟูประมาณ ๑ นาที

๔. ใส่ไข่ไก่และกลิ่นวนิลาลงไปตีให้เข้ากัน

๕. ค่อยๆ ใส่แป้งที่ร่อนแล้วลงไปทีละน้อย (ครั้งละ ๑/๓ ของแป้ง) ตีแป้งให้เข้ากับส่วนผสมทั้งหมด

๖. เมื่อส่วนผสมทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ค่อยใส่บัวบกหั่นละเอียดลงไปผสมแป้งให้เข้ากันอีกครั้ง

๗. นำไปอบ โดยวางใส่ถาดที่ทาเนย หรือกระดาษทนความร้อน ซึ่งจะต้องตักแป้งให้ได้ขนาดตามต้องการอบประมาณ ๖-๘ นาที (อุณหภูมิประมาณ ๒๕๐ องศาเซลเซียส) หรือดูว่าขอบเริ่มเหลืองเป็นอันใช้ได้

 

กินบัวบกอย่างไรให้พอเหมาะสม

การกินเป็นยาบำรุงต้องกินตามขนาดที่ระบุไว้ ถ้ากินใบบัวบกสดๆ ในปริมาณน้อย เช่น ๒-๓ ใบถึงแม้จะกินบ่อยๆ แทบทุกวัน ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรือกินน้ำคั้นบัวบกเพื่อแก้ช้ำในหรือร้อนติดต่อกัน ๕-๗ วันก็ยังได้

ถ้าจะกินน้ำบัวบกติดต่อกันทุกวันให้กินวันละประมาณ ๕๐-๖๐ มล.

ถ้ากินเป็นผักจิ้มทีละ ๑๐-๒๐ ใบ สัปดาห์ละครั้งก็ยังไม่เป็นไร แต่ถ้ากินทีละมากๆ เช่น กินน้ำคั้นบัวบกวันละ ๒-๓ แก้ว ต่อเนื่องเป็น ๑๐ วันหรือกินใบสดวันละ ๑๐-๒๐ ใบ ติดต่อกันเป็น ๑๐ วัน แบบนี้อาจเกิดพิษขึ้นได้

สรุปว่า บัวบกถ้ากินในขนาดพอดีแล้วไม่เป็นไร แต่ถ้ากินมากเกินไปให้ระวัง เพราะเป็นยาเย็นจัด จะทำให้ธาตุเสียสมดุล

ข้อมูลสื่อ

391-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 391
พฤศจิกายน 2554
ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร