• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ(๙)

บนเส้นทางหนังสือ(๙)


"ถ้าคุณรู้สึกว่าเจ้านายคุณในที่ทำงานทำกับคุณอย่างไม่ยุติธรรม มันอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นเพราะคุณเท่านั้น เช่น มีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ เขาไม่สบายใจ หรือว่าทะเลาะกับภรรยามาเมื่อเช้านี้หรืออื่นๆ พฤติกรรมของเขาอาจจะไม่เกี่ยวกับคุณโดยเฉพาะ แน่นอนว่าคุณก็ต้องเผชิญสถานการณ์ไปอย่างที่มันเป็น แต่อย่างน้อยโดยวิธีนี้ (คือรู้ว่าอาจมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวคุณเองอีก) คุณก็จะไม่วิตกกังวลมากเกินเหตุ"

"วิธีการทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ที่เราวิเคราะห์สถานการณ์โดยสภาวะวิสัย อาจจะช่วยให้เราค้นพบวิถีทางที่ตัวเราเองก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาได้ไหม? และมันอาจจะช่วยลดความรู้สึกว่า เราได้รับความไม่เป็นธรรมในปัญหาที่เกิดขึ้น"
หมอคัตเลอร์ถาม
"ใช่เลย!" ท่านทะไล ลามะ   ตอบอย่างกระตือรือร้น "วิธีนี้มีผลอย่างแน่นอน ถ้าเราพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีอคติและอย่างสุจริตใจ เราจะพบว่าตัวเราเองนั้นแหละมีส่วนต้อง รับผิดชอบในการที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนั้น"

"ตัวอย่างเช่น คนเป็นอันมากโทษสงครามอ่าวเปอร์เซียว่าเกิดจาก ซัดดัม ฮุสเซน อาตมามักจะกล่าวว่า "นั่น ไม่ยุติธรรม" อาตมารู้สึกเสียใจสำหรับซัดดัม ฮุสเซน แน่นอนว่าเขาเป็นผู้เผด็จการและแน่นอนว่าเขาทำไม่ดีหลายสิ่งหลายอย่าง และถ้ามองสภาพการณ์อย่างหยาบๆ ก็ไม่ยากเลยที่จะติเตียนเขา เขาเป็นผู้เผด็จการ เป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเบ็ดเสร็จ หรือแม้แต่สายตาก็ดูน่ากลัว" ท่านทะไล ลามะ กล่าวพร้อมกับหัวเราะ
แต่ถ้าไม่มีกองทัพ ความสามารถในการก่ออันตรายของเขาก็จำกัดมากและ ถ้าปราศจากอาวุธสงคราม กองทัพก็ไม่มีเขี้ยวเล็บ อาวุธสงครามทั้งหมดก็ไม่ได้มีขึ้นเอง หลายประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง (ในการผลิตอาวุธ)

ท่านทะไล ลามะ กล่าวต่อไป "ปกติเรามักโน้มเอียงที่จะโทษคนอื่น โทษปัจจัยภายนอก ยิ่งกว่านั้นเรามักจะมองหาสาเหตุเดี่ยวๆ และกันตัวเองออกจากความรับผิดชอบ เมื่อมีอารมณ์รุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องก็มักจะไม่มีปัญญาเห็นความจริง ในกรณีนี้ ถ้าคุณวิเคราะห์สถานการณ์อย่างระมัดระวัง ก็จะพบว่าซัดดัม ฮุสเซน เป็นส่วนหนึ่งของเหตุแห่งปัญหา เป็นส่วนเดียวของเหตุหลายๆ อย่าง ถ้าคุณตระหนักรู้อย่างนี้ ท่าทีแรกของคุณที่ว่าเขาเป็นเหตุเพียงอย่างเดียวก็จะตกไป และความเป็นจริงของสถานการณ์จะปรากฏขึ้น"

"วิธีปฏิบัติเช่นนี้ จะต้องมองให้เห็นทั้งหมด โดยเข้าใจว่ามีเหตุการณ์หลายอย่าง ที่นำไปสู่สถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ปัญหาของทิเบตกับจีน ไม่ใช่ว่าปัญหาจะเกิดจากจีนเท่านั้น แต่พวกเราชาวทิเบตก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาด้วย ไม่ยุติธรรมที่จะโทษแต่จีนเท่านั้น เหตุการณ์ต่างๆ มีหลายระดับ  เราชาวทิเบตมีส่วนก็จริง แต่จะโทษทิเบตฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เช่น ชาวทิเบตไม่เคยยอมก้มหัวให้กับการกดขี่ของจีน มีการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจีนจึงพัฒนานโยบายใหม่ขึ้นมาโดยอพยพคนจีนเข้าไปอยู่ ในทิเบตมากๆ เพื่อลดความสำคัญของคนทิเบตลง จะได้เคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพไม่ได้ผล ในกรณีนี้เราไม่อาจติเตียนการต่อต้านของชาวทิเบตว่าเป็นเหตุแห่งนโยบายของจีน"

"เมื่อเรามองว่าตัวเราเองก็มีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ แล้วสำหรับเหตุการณ์บางอย่างที่ชัดเจนว่าไม่ใช่ความผิดของเราเลย เราไม่ได้มีส่วนทำให้  
มันเกิดเลย แม้แต่เรื่องหยุมหยิมประจำวัน เช่น บางคนพูดเท็จกับเรา เราจะทำอย่างไร"
หมอคัตเลอร์ถาม

"แน่นอน เริ่มต้นอาตมาอาจจะรู้สึกผิดหวังเมื่อใครบางคนไม่จริงใจกับอาตมา แต่นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาดูให้ดีๆ อาตมาอาจพบว่าอาจไม่ได้เกิดจากเจตนาไม่ดี แต่อาจเกิดขึ้นเพราะเขาขาดความเชื่อมั่นในอาตมา ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แม้อาตมารู้สึกผิดหวัง อาตมาจะพยายามมองเหตุการณ์จากมุมมองอื่น เช่น อาจจะเป็นเพราะคนผู้นั้นไม่ไว้ใจว่าอาตมาจะเก็บสิ่งที่เขาพูดไว้เป็นความลับ เพราะอาตมามีธรรมชาติเป็นคนตรงไปตรงมา และเมื่อเป็นดังนี้ เขาผู้นั้นก็อาจจะลงความเห็นว่าอาตมาไม่ใช่คนที่เขาควรจะไว้วางใจ อีกนัยหนึ่ง ก็คือ อาตมาไม่คู่ควรแก่ความเชื่อถือของคนบางคน เพราะธรรมชาติของอาตมาเอง และเมื่อมองด้วยวิธีนี้ อาตมาก็จะพิจารณาว่าสาเหตุมันอยู่ที่ความผิดของอาตมาเอง"

แม้จะมาจากองค์ทะไล ลามะ เอง แต่การให้เหตุผลแบบนี้มันดูจะสุดโต่งเกินไป คือ มองหาความผิดที่ตัวเราเอง เมื่อคนอื่นไม่ซื่อสัตย์ แต่ว่าในน้ำเสียงของท่านก็มีความจริงใจอย่างแท้จริง ซึ่งแสดงว่าเป็นเทคนิคที่ท่านใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตส่วนตัวของ  ท่านที่ช่วยให้ท่านจัดการกับสถานการณ์อันไม่เป็นคุณ ในการใช้เทคนิคนี้ในชีวิตของเราเอง เราอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าท่านทะไล ลามะ ในการหาสาเหตุที่ตัวเราเองมีปัญหา แต่ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ความพยายามอย่างสุจริตใจที่จะมองสาเหตุแห่งปัญหาที่ตัวเราเอง ก็จะช่วยย้ายความฝังใจจากการคิดอย่างแคบๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี ไม่ยุติธรรม ที่ทำให้เราไม่พออกพอใจในสิ่งที่เกิดกับเราเป็นประจำ

ความรู้สึกผิด
อันเป็นผลจากโลกที่ไม่สมบูรณ์ เราทั้งหมดไม่มีความสมบูรณ์เลย เราทุกคนเคยทำผิด มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเสียอกเสียใจ  ที่ทำแล้วหรือไม่ได้ทำก็ตาม การยอมรับผิดอย่างจริงใจ ช่วยให้เราดำรงอยู่ในความถูกต้องและช่วยแก้สิ่งผิดให้ถูก แต่ถ้าเราไปทำให้ความเสียใจกลายเป็นความรู้สึกผิดมากเกินเลย ฝังใจอยู่ในความรู้สึกผิด โทษตัวเอง เกลียดตัวเองอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์ แต่จะเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ที่ตัวเองก่อและลงโทษตัวเอง

ในการสนทนากันคราวก่อนที่คุยกันถึงความตายของพี่ชายของท่านทะไล ลามะ หมอคัตเลอร์จำได้ว่า ท่านทะไล ลามะ พูดด้วยความรู้สึกเสียใจเกี่ยวกับการตายของพี่ชายของท่าน จึงอยากรู้ว่าท่านมีวิธีจัดการอย่างไรกับความรู้สึกเสียใจ จึงถามท่านว่า "เมื่อเราคุยกันถึงความตาย ของล็อบสาง ท่านพูดถึงความเสียใจ มีสถานการณ์อื่นๆ ในชีวิตของท่านอีกไหมที่ท่านมีความเสียใจ"

" มี มีทีเดียว เช่น มีพระอาวุโสรูปหนึ่งที่บำเพ็ญธรรม ท่านมักจะมาหาอาตมาเพื่อรับคำสอน แต่อาตมาคิดว่าท่านมีธรรมะสูงกว่า ที่มาก็เป็นพิธีกรรมทางการเท่านั้น วันหนึ่งพระรูปนี้ก็มาหาอาตมา เพื่อถามถึงการปฏิบัติธรรมขั้นสูง อาตมาก็พูดไปโดยไม่ได้คิดอะไรมากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยากและน่าจะเป็นเรื่องของคนอายุน้อยกว่านี้ เพราะว่าตามประเพณีการปฏิบัติอย่างนี้ก็จะเริ่มต้นกันตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบ ปรากฏว่าต่อมาท่านรูปนี้ไปฆ่าตัวตายเพื่อจะไปเกิดใหม่ในร่างที่หนุ่มกว่านี้ เพื่อจะได้ไปปฏิบัติธรรมดังกล่าว"

หมอคัตเลอร์ประหลาดใจมากในเรื่องข้างต้นจึงกล่าวว่า "โอ้แย่จริงๆ เรื่องนี้จะต้องก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีแก่ท่านอย่างยิ่ง" ท่านทะไล ลามะ พยักหน้ารับเศร้าๆ

"ท่านจัดการอย่างไรกับความเสียใจแบบนี้? ในที่สุดท่านขจัดความเสียใจนี้ออกไปได้หรือไม่?"

ท่านทะไล ลามะ นั่งพิจารณาเงียบๆ อยู่พักใหญ่ก่อนที่จะกล่าวว่า "อาตมาไม่ได้ขจัดมัน มันยังอยู่" พูดแล้วท่านก็หยุดไปอีกพักก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า "แต่แม้ว่าความรู้สึกเสียใจจะยังคงอยู่ แต่มันไม่ได้เป็นตุ้มถ่วง หรือเหนี่ยวรั้งอาตมาไว้ไม่ให้เคลื่อนไปข้างหน้า มันจะไม่มีประโยชน์กับใครเลยที่จะปล่อยให้ความรู้สึกเสียใจมาดึงให้เราตกต่ำลง เสียกำลังใจหรือซึมเศร้าโดยไม่ได้ประโยชน์ หรือมาขัดขวางไม่ให้ชีวิตดำเนินไปอย่างดีที่สุดที่จะทำได้"

ในชั่วกษณะนั้น หมอคัตเลอร์รู้สึกว่าได้เผชิญกับเรื่องของมนุษย์ที่ประสบโศกนาฏกรรม มีความเสียใจอย่างยิ่ง แต่ไม่จมเข้าไปสู่ความรู้สึกผิดมากเกินและโกรธตัวเอง เป็นเรื่องของคนที่ยอมรับว่าตัวเองมีข้อจำกัด ทำผิดได้ มีวิจารณญาณที่ผิดได้ ยอมรับว่ามีสถานการณ์อันเลวร้าย มีอารมณ์ความรู้สึก แต่ไม่มีปฏิกิริยาที่เกินเลย ท่านทะไล ลามะ มีความรู้สึกเสียใจอย่างจริงใจในเหตุการณ์ดังที่ท่านเล่า แต่ท่านก็แบกรับความเสียใจไว้อย่างมีศักดิ์ศรีและสง่างาม แม้จะแบกรับความเสียใจไว้ แต่ท่านก็ไม่ยอมให้ความรู้สึกนั้นทำให้ท่านทรุด แต่เลือกที่จะก้าวต่อไป จดจ่ออยู่กับการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้

หมอคัตเลอร์อดคิดไม่ได้ว่าความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่หมกมุ่นกับความรู้สึกผิดจนทำลายตัวเอง อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หมอคัตเลอร์คุยถึงการสนทนากับท่านทะไล ลามะ ในเรื่องความรู้สึกเสียใจให้เพื่อนชาวทิเบตคนหนึ่งฟัง เพื่อนชาวทิเบตบอกเขาว่าในภาษาทิเบต ไม่มีคำที่เทียบกับคำว่า guilt ในภาษาอังกฤษแม้จะมีคำที่ตรงกับคำว่า "เสียใจ" "สำนึกผิด" "เสียใจ" เพื่อจะแก้ไขไม่ให้ผิดอีก หมอคัตเลอร์คิดว่าไม่ว่าเรื่องนี้จะมีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเพียงใด การปรับเปลี่ยนวิธีคิด และปลูกฝังการมองอย่างใหม่ตามที่ท่านทะไล ลามะ  บรรยาย เราก็อาจจะเรียนรู้ที่จะไม่ตกอยู่ในความรู้สึกผิด จนสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง

ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นเมื่อเราฝังใจว่าเราได้ทำความผิดพลาดอย่างแก้ไขไม่ได้ ความทรมานจากความรู้สึกผิดเกิดจากการคิดว่าปัญหาคงอยู่ถาวรจริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นอนิจจัง คือ ล้วนเปลี่ยนแปลง ความเจ็บปวดก็ทุเลาไปได้ ปัญหาไม่คงตัวอยู่ได้ นี่คือด้านที่เป็นคุณของความเปลี่ยนแปลง ด้านที่เป็นโทษก็คือ เราพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทุกชนิด การที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้คือ การสืบสวนปฐมหาสาเหตุอย่างหนึ่งของทุกข์ นั่นคือ การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

ในการสาธยายถึงกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ท่านทะไล ลามะ อธิบายว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องสืบสาวหาสาเหตุต้นตอของความทุกข์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะต้องเริ่มจากการที่รู้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรอยู่คงที่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ลองพิจารณาถึงระบบไหลเวียนเลือด เลือดไหลเวียนตลอดเวลาไม่เคยอยู่นิ่ง ปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นกลไกธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาเอง เมื่อธรรมชาติของสรรพสิ่ง คือการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรคงทนโดยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ไม่มีอะไรที่จะคงอยู่แบบเดิมได้ ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ภายใต้อำนาจของเหตุปัจจัยอื่นๆ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งไม่ว่าประสบการณ์จะเป็นความรื่นรมย์เพียงใด ก็ไม่สามารถดำรงอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป เรื่องนี้เป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของทุกข์ ที่รู้กันในทางพุทธศาสนาว่า ทุกข์จากความเป็นอนิจจัง

แนวคิดเรื่องความเป็นอนิจจังเป็นศูนย์กลางแห่งความคิดทางพุทธ การกำหนดรู้ความเป็นอนิจจังเป็นกุญแจแห่งการปฏิบัติ การกำหนดรู้ความเป็นอนิจจังมีบทบาทสำคัญ ๒ อย่างในวิถีพุทธ ในระดับสามัญประจำวัน ผู้ปฏิบัติชาวพุทธกำหนดรู้ความเป็นอนิจจังของตนเอง ความจริงที่ว่าชีวิตเป็นของชั่วคราว เราไม่รู้ว่าเราจะตายลงเมื่อใด เมื่อคิดอยู่ดังนี้บวกกับความเป็นไปได้ที่จะบรรลุอิสรภาพทางจิตวิญญาณคือ การถึงที่สุดแห่งทุกข์และยุติการเวียนว่ายตายเกิด การกำหนดรู้ดังนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติตั้งใจมากขึ้นที่จะทำให้ดีที่สุดในการปลดปล่อยตนเองไปสู่อิสรภาพ ในระดับลึกการกำหนดรู้ความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ สลัดอวิชชาซึ่งเป็นบ่อเกิดของทุกข์ ในขณะที่การกำหนดรู้ความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในบริบทของชาวพุทธ ก็มีคำถามขึ้นว่า การกำหนดรู้ความเป็นอนิจจังมีประโยชน์อะไรในทางปฏิบัติสำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธหรือไม่? ถ้าเรามองความเป็นอนิจจังจากมุมมองของ "ความเปลี่ยนแปลง" คำตอบก็คือ "มี" อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองจากทัศนะแบบพุทธหรือแบบตะวันตก ความจริงก็คือ "ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง" และถ้าเราปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงนี้และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของชีวิตเราก็จะมีความทุกข์ไปเรื่อย

การยอมรับการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความทุกข์ที่ตัวเองสร้างขึ้น เช่นบ่อยๆ ทีเดียวที่เราก่อความทุกข์ให้ตัวเองโดยไม่ยอมปล่อยวางอดีต ถ้าเรายึดถือภาพของตัวเองว่ารูปร่างหน้าตาของเราเคยเป็นอย่างไรและเราเคยทำอะไรได้ ที่ขณะนี้ไม่สามารถทำได้เป็นการแน่นอนว่าจะไม่สามารถมีความสุขมากขึ้นขณะที่เราอายุมากขึ้น ยิ่งยึดถืออดีตไว้เท่าไร ชีวิตยิ่งบิดเบี้ยวและวิปลาสยิ่งขึ้น ในขณะที่การยอมรับธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ช่วยให้เราเผชิญปัญหาต่างๆ ได้ การเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตามปกติอาจช่วยป้องกันความวิตกกังวลในชีวิตวันต่อวัน

ผู้เป็นแม่รายใหม่คนหนึ่งเล่าให้หมอคัตเลอร์ฟังถึงการไปห้องแพทย์ฉุกเฉินเมื่อเวลาตี ๒ วันหนึ่งว่า "มีปัญหาอะไร" กุมารแพทย์ถามเธอ

"ลูกฉันมีอะไรบางอย่างผิดปกติไป" เธอร้องไห้โวยวาย "ฉันคิดว่าเขาหายใจไม่ออก ลิ้นแลบออกมาอยู่อย่างนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนจะบ้วนอะไรออกมา แต่ในปากก็ไม่มีอะไร"

หลังจากซักถามและตรวจร่างกาย หมอให้ความมั่นใจกับเธอว่า "ไม่มีอะไรที่ต้องวิตกกังวล เมื่อทารกเจริญวัยขึ้นเขาจะเริ่มรู้ร่างกายของตัวเอง และบังคับการเคลื่อนไหวของมันได้ ลูกของคุณกำลังค้นพบลิ้นของตัวเอง"

มากาเรต นักข่าววัย ๓๑ ปี แสดงให้เห็นความสำคัญของความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เธอมาหาหมอคัตเลอร์เรื่องความกังวลใจในการปรับตัวต่อสภาพเพิ่งหย่าร้าง

"ฉันคิดว่าน่าจะเป็นการดีที่จะคุยกับใครสักสองสามครั้ง" เธออธิบาย "ที่จะช่วยให้ฉันปล่อยวางอดีตและปรับตัวมาสู่สภาพตัวคนเดียว แต่โดยความสัตย์จริง ฉันหวั่นกลัวอยู่"

หมอคัตเลอร์ขอให้เธอเล่าเรื่องการหย่าร้างของเธอ "ฉันคิดว่าคงต้องพูดว่าเป็นไปด้วยดี ไม่มีการต่อสู้กันอย่างใหญ่โต อดีตสามีและ ฉันมีการงานที่ดี จึงไม่มีปัญหาในการตกลงกันเรื่องทรัพย์สิน เรามีลูกชายด้วยกันคนหนึ่ง เขาก็ดูเหมือนจะปรับตัวกับสภาพพ่อแม่หย่าร้างได้ดี เขากับฉันก็ตกลงช่วยกันเลี้ยงดูลูก"

"ผมหมายถึงว่า อะไรทำให้หย่าร้าง" หมอคัตเลอร์ถาม

"อึมม์...ฉันคิดว่าเราหมดรักกัน" เธอถอนใจ "ดูเหมือนว่าความสิเน่หาหายไป ไม่มีความสนิทชิดใกล้เหมือนเมื่อตอนแต่งงานใหม่ๆ เราต่างคนต่างยุ่งเรื่องงานของตัวและเรื่องลูก และเหินห่างจากกัน เราคุยกับที่ปรึกษาเรื่องชีวิตคู่ แต่ก็ไม่ช่วยอะไร เราก็ยังดีกันอยู่ แต่มันเหมือนพี่ชายกับน้องสาว ไม่มีความรู้สึกรักแบบคู่ผัวตัวเมีย อย่างไรก็ดี เราตกลงร่วมกันที่จะหย่าร้าง มันไม่เหมือนเก่าแล้ว"

หลังจากมาพบหมอคัตเลอร์ ๒ ครั้ง เพื่อเล่าปัญหาของเธอ เราตกลงกันว่าจะลองทำจิตบำบัดระยะสั้น เน้นที่การช่วยให้เธอลดความวิตกกังวลและปรับตัวกับชีวิตที่เพิ่งเปลี่ยนแปลง เธอเป็นคนฉลาดและปรับอารมณ์ได้ดี การรักษาได้ผลในระยะเวลาอันสั้น และเธอก็ปรับตัวได้กับชีวิตโสดอีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน แต่มากาเรตกับสามีของเธอไปแปลการเปลี่ยนแปลงของระดับความเสน่หาพิศวาสว่า ควรจะยุติการเป็นสามีภรรยากัน บ่อยครั้งทีเดียวเราไปแปลการลดลงของความรักใคร่ใหลหลงว่า เป็นสัญญาณของความเป็นสามีภรรยามีปัญหาวิกฤติ มีความตกใจในความเปลี่ยนแปลง คิดว่าอะไรจะต้องผิดไปอย่างมหันต์แล้ว หรือว่าเราไปเลือกคู่ที่ผิด คู่ครองของเราไม่เหมือนกับคนที่เราตกหลุมรักเลย ความไม่ลงรอยกันเริ่มเกิดขึ้น คนหนึ่งอาจจะต้องการมีเพศสัมพันธ์ แต่อีกคนหนึ่งเหนื่อย คนหนึ่งต้องการดูภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อีกคนไม่สนใจหรือมีธุระยุ่งอยู่เรื่อย เราเริ่มสังเกตความแตกต่างกันที่ไม่เคยสังเกตเห็น (เมื่อรักกันใหม่ๆ) มาก่อน แล้วเราก็สรุปว่าถึงเวลาจะต้องยุติชีวิตคู่ ต้องหย่ากัน

เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญชีวิตคู่ได้ผลิตตำรับตำราออกมามากมาย เป็นคู่มือบอกว่าควรทำอย่างไร เมื่อความเสน่หาพิศวาสลดลง เขาได้พยายามบอกวิธีการร้อยแปดที่จะจุดไฟเสน่หาขึ้นมาใหม่ ต้องให้เวลากับมันบ้างละ ต้องวางแผนการรับประทานอาหารเย็นที่มี บรรยากาศโรแมนติกบ้างล่ะ พูดจายกย่อง คู่ครอง มีการสนทนาที่ดี วิธีต่างๆ เหล่านี้ บางทีก็ได้ผล บางทีก็ไม่ได้ผล ก่อนที่จะลงความเห็นว่าชีวิตคู่ยุติแล้ว สิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งเมื่อสังเกตว่าความสัมพันธ์เริ่มเปลี่ยนแปลงก็คือ ถอยหลังมาหยุดนิ่งใคร่ครวญว่าอะไรเป็นอะไร หาความรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติวิสัยของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ลองดูชีวิตสิ ล้วนเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง จากทารกก็เป็นเด็กโตแล้วก็เป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นผู้สูงอายุ เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจมีความสนิทชิดใกล้กันทางกายและทางอารมณ์ด้วยดีกรีต่างๆ แปรผันไปได้ ใหม่ๆ อาจมีความรักใคร่ใหลหลง (passion) ในกันและกันอย่างรุนแรง แต่ต่อมามันจะต้องลดลงเป็นธรรมดาไม่ใช่ของแปลกอะไร อย่าไปวิตกกังวลหรือโกรธแค้น เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในรูปใหม่ได้ อาจดีกว่าเดิมอีก มีเพื่อน รักกันมากขึ้น ผูกพันกันมากขึ้น ถ้ารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นของธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งกับระดับของความรักใคร่สิเน่หาระหว่างสามีภรรยา ถ้าเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็จะได้ไม่วิตกกังวล โกรธแค้น และปรับตัวกับ สถานการณ์ใหม่ได้ หรืออาจค้นพบความรักที่แท้จริง และพบการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ในตัวเองและในชีวิตคู่

สองปีให้หลัง หมอคัตเลอร์พบมากาเรตอีก จึงถามเธอว่า

"คุณสบายดีหรือ"

"สบายดีมาก เดือนที่แล้วอดีตสามี และฉันแต่งงานกันใหม่"

"จริงหรือ"

"ใช่ ยอดเยี่ยมมาก คือว่าหลังจากหย่าร้าง เราก็ยังพบกันเสมอๆ เพราะต้องดูแลลูกร่วมกัน หลังจากหย่ากันแล้ว ความกดดันหายไป เราไปคาดหวังอะไรจากกันและกัน เราพบว่าที่จริงเราชอบกันและกัน แม้มันไม่เหมือนเมื่อเราแต่งงานกันใหม่ๆ แต่ก็ไม่เป็นไร เรามีความสุขในการอยู่ร่วมกัน"
 

ข้อมูลสื่อ

318-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี