• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรับสภาพกลไก กาย-ใจ

ปรับสภาพกลไก กาย-ใจ


โครงสร้างพื้นฐานจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมมนุษย์ทั้งภายในและภายนอก เมื่อมนุษย์อยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ เป็นเวลานาน กลไกการรับรู้ภายในจะก่อตัว และพัฒนาเป็นรูปแบบที่แน่นอนจนเป็นความเคยชิน ในครั้งที่แล้วได้มีการแสดงให้เห็นถึงทัศนะของโยคะที่มองว่า อังกะเมจะยัตวา แปลตรงตัวคือ สภาพแขนขาสั่นเทิ้ม หรือการรบกวนต่อสภาพปกติของร่างกายนั้น คือจุดเริ่มต้นของปฏิกิริยาลูกโซ่ และทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายโดยรวมลดลง นำไปสู่การทำงานที่ไม่ปกติ  และแสดงให้เห็นว่าโยคะคือเทคนิคที่จัดการปัญหาได้ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ เคยกล่าวอย่างละเอียดในครั้งก่อนๆ ว่าปัญหาทางด้านจิตใจ จัดการได้ด้วย ยมะ (ศีล) นิยมะ (วินัย) และไมตรีอธิภาวนา (การมีจิตใจที่เป็นไมตรี) อันเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะนำไปสู่ความเครียด ครั้งนี้มาพิจารณาทางด้านกายภาพมาพิจารณา ในกรณีที่ความเครียดนั้นได้เกิดขึ้นมาแล้ว หรือในกรณีที่ความเครียดเกิดมาจากจิตใต้สำนึกที่เราไม่รู้ตัว เมื่อสาเหตุมาจากส่วนที่พ้นไปจากสำนึกของเรา การเอาชนะมันก็ต้องใช้เวลานานเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราจะป้องกันไม่ให้มันมาทำร้ายกาย-ใจเราได้อย่างไร

โยคะพยายามที่จะจัดการมันด้วย ธยานะ (ฝึกการเพ่งจ้อง หรือบ้างแปลว่า concentration) ซึ่งใช้เวลานาน ในขณะเดียวกันก็จัดการกับปัญหาด้วยเทคนิคที่ศาสตร์ทางด้านกาย-จิตยุคใหม่เรียกว่า "โครงสร้างพื้นฐาน"

โครงสร้างพื้นฐานในที่นี้หมายถึงความเป็นปกติในการดำเนินกิจกรรมทั่วๆ ไปที่ใช้ร่างกายเป็นเวลานาน ซึ่งประกอบไปด้วยระบบพื้นฐาน คือ ประสาท ต่อมไร้ท่อ และกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการดำเนินกิจกรรมหนึ่งๆ ตลอดเวลา โครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจนักโครงสร้างพื้นฐานที่คนรู้จักมากที่สุดคือ สภาวะเกร็งตึงของกล้ามเนื้อกระดูก ที่รู้จักรองลงมาคือ สภาวะของอวัยวะภายในที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา และการหลั่งฮอร์โมนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ความเกร็งตึงที่เฉพาะเจาะจงจะเกิดขึ้นจากระบบเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นกลไกพื้นฐานเดียวกันกับที่ทำให้เรามีพฤติกรรมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ปฏิกิริยาตอบสนองทุกชนิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายในก็ตาม

โดยปกติโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับสภาพของของเหลวและมีรูปแบบที่แน่นอนอยู่ไม่กี่รูปแบบ อย่างไรก็ตามถ้าถูกรบกวนด้วยความเครียดที่เกิดขึ้นนานและต่อเนื่อง เช่น โรคที่ลุกลามมากขึ้นๆ ความกดดันทางจิตใจเป็นเวลานาน เราก็จะค่อยๆ กระด้าง และตอบสนองไปแบบไร้วิจารณญาณ ตอบสนองไปด้วยความเคยชิน พอถึงจุดหนึ่งเราก็จะเป็นอย่างที่ ดร.ฟรีแมนเขียนไว้ในหนังสือ Physiological Psychology คือกลายเป็นนิสัยที่ถาวร โดยเฉพาะเมื่อตัวกระตุ้นอื่นๆ ที่จะมาช่วยให้เกิดการคลี่คลายถูกขวาง กรณีเช่นนี้เองที่ ดร.ฟรีแมน อธิบายคนไข้โรคจิตจำนวนมากที่ปฏิเสธจะเผชิญหน้ากับความจริง ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมมนุษย์ทั้งภายในและภายนอก เมื่อมนุษย์อยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ เป็นเวลานาน กลไกการรับรู้ภายในจะก่อตัวและพัฒนาเป็นรูปแบบที่แน่นอนจนเป็นความเคยชิน ขณะที่ปัจจัยภายนอกจะลดอิทธิพลลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดปัจจัยจากภายนอกก็จะไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อบุคลิกภาพของคนนั้นเลย (ด้านชา)

เราจะมาพิจารณากลไกการรับรู้ภายใน interoceptive - tonic กับปัจจัยจากภายนอก exteroceptive - phasic กันต่อไป กลไกประสาท-กล้ามเนื้อของเรานั้นมีธรรมชาติอยู่ ๒ แบบดังเป็นที่ทราบกันดี กล่าวคือ สามารถตอบสนองได้ 2 ลักษณะ ทั้งเป็นกรณีๆ ไป และเป็นแบบต่อเนื่อง การตอบสนองแบบเป็นกรณีก็คือ การที่เราเคลื่อนไหวได้ ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รับรู้ได้ง่ายกว่าการตอบสนอง แบบที่ 2 แบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพื้นฐานของแบบแรก การตอบสนองแบบต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับอิริยาบถเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกกันว่า การตอบสนองเชิงอิริยาบถ (postural reactions) แต่อิริยาบถของมนุษย์ก็ไม่ได้ขึ้นกับการตอบสนองแบบต่อเนื่องหรือการตอบสนองเชิงอิริยาบถเพียงอย่างเดียว ยังมีกลไกอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การตอบสนองแบบเป็นกรณีนั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว และเกิดในพื้นที่เป็นส่วนๆ เฉพาะ เกิดขึ้นแล้วก็คลายไป เกิดเป็นครั้งคราว เกิดเป็นห้วงขณะ ส่วนการตอบสนองแบบต่อเนื่องนั้นทนนานกว่า ผสมผสานกันไปเพื่อคงความต่อเนื่องในการทำงานของร่างกายโดยรวม ทั้งเป็นรากฐานของการตอบสนองแบบเป็นกรณี ณ ปัจจุบัน เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทั้ง 2 แบบนี้ เป็นปฏิกิริยาที่แยกขาดออกจากกัน หรือมันเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องของระบบเดียวกัน เราเพียงรู้ว่ามันเป็นการตอบสนองที่ไม่เหมือนกัน แต่ละชนิดก็มีตัวรับสัญญาณ (receptor) ตัวจัดปรับ (adjustor) และตัวกระทำ (effector) ของตนเอง เป็นที่รับรู้กันแล้วถึงอวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับกลไกตอบสนองแบบต่อเนื่อง ได้แก่ สมองเล็ก tegmentum  ทาลามัส  และ corpus striatum ซึ่งเป็นตัวกำกับอิริยาบถของเรา ตัวรับสัญญาณของทั้ง ๒ แบบนั้นแตกต่างกัน  เชอริงตันและบอนเนียได้จัดแบ่งเป็นระดับชั้นตามตำแหน่งและต้นตอของการกระตุ้นโดยกว้างๆ แบ่งออก เป็นตัวรับภายนอกและตัวรับภายใน

ตัวรับภายนอกคือส่วนที่อยู่ตามผิวหนัง และรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก รวมไปถึงอวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ปาก และผิวหนัง ตัวรับภายในอยู่ในเนื้อเยื่อที่ลึกลง และรับรู้การกระตุ้นจากกิจกรรมของเนื้อเยื่อเหล่านั้นจากสิ่งแวดล้อมภายใน ได้แก่ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ อวัยวะภายใน ตัวรับแต่ละตัว ตัวกระทำแต่ละตัวจะมีตำแหน่งพื้นที่เฉพาะเจาะจงในสมอง ซึ่งล้อมรอบด้วยพื้นที่เชื่อมโยง (association area) โดยทั่วไป ตัวรับภายนอกจะกระตุ้นการตอบสนอง แบบกรณี ขณะที่ตัวรับภายในจะจัดการกับสภาวะและอิริยาบถ วิธีที่ทั้ง ๒ ส่วนทำงานประสานกันเพื่อกระทำการร่วมกันนั้นน่าสนใจมาก ตัวรับภายในจะจัดปรับก่อน ตัวรับภายนอก ทั้งมันยังคอยสนับสนุนตัวรับภายนอกอีกด้วย สัญญาณจากตัวรับภายนอกจะส่งไปยังอวัยวะ (motor unit) ซึ่งก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของสัญญาณจากตัว รับภายใน และไปยังกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง เนื้อเยื่อของตัวรับภายในนั้นสัมผัสกับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อ ดังนั้น หากเราพูดถึงพฤติกรรมของกล้ามเนื้อ สัญญาณจากตัวรับสัญญาณภายนอกเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อที่เปิดเผยชัดเจน ขณะที่ตัวรับสัญญาณภายในจะคอยดูแลสภาวะของกล้ามเนื้อนั้นตลอดเวลา กล่าวโดยสรุปการตอบสนองของกล้ามเนื้อนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นกับพื้นฐานที่เป็นผลมาจากสัญญาณแบบต่อเนื่องนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

325-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 325
พฤษภาคม 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์