• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๖)

บนเส้นทางหนังสือ (๑๖)


"ผลร้ายของความเกลียดปรากฏชัดเจนและทันที เช่น เมื่อความเกลียดอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในตัวคุณทันทีนั้นเลย มันท่วมทับคุณและทำลายความสงบทางจิตใจของคุณ สติของคุณจะหายไป เมื่อความโกรธและความเกลียดอย่างรุนแรงเกิดขึ้น มันจะบดบังสมองส่วนที่ดีที่สุดของคุณ นั่นคือความสามารถที่จะตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก และการคำนึงถึงผลที่ตามมาของการกระทำของคุณ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว  พลังแห่งวิจารณญาณจะใช้ไม่ได้เลย ดังนั้น ความโกรธและความเกลียดจะโยนตัวคุณเข้าไปสู่สภาวะสับสน ทำให้ปัญหาและความยากลำบากของคุณเพิ่มมากขึ้นไปอีก แม้แต่ในระดับร่างกาย ความเกลียดก็จะนำมาซึ่งความน่าเกลียด ทันทีที่ความรู้สึกโกรธหรือเกลียดอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าเจ้าตัวจะพยายามกลบเกลื่อนมันอย่างไร หน้าตาก็จะบูดเบี้ยวและน่าเกลียด การแสดงออกจะไม่น่าอภิรมย์ มีกระแสแห่งความโหดร้ายแผ่ออกไปจากตัวที่คนอื่นๆ รู้สึกได้ เหมือนกับว่ามีไออะไรพวยพุ่งออกมาจากเขาผู้นั้น ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถรับรู้กระแสความรู้สึกเช่นนี้ สัตว์หรือสัตว์เลี้ยงก็รู้สึกได้เช่นเดียวกัน และจะพยายามหนีห่างจากเขา และเมื่อบุคคลมีความคิดที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง จะมีผลภายในตัว เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เครียด เพราะเหตุดังนี้แหละ จึงมีผู้เปรียบเทียบว่าความเกลียดเหมือนศัตรูของเรา เป็นศัตรูภายในตัวเราเอง ศัตรูภายในนี้ไม่มีหน้าที่อื่นเลย นอกจากทำร้ายเรา มันเป็นศัตรูตัวจริงและศัตรูอย่างที่สุดของเราที่ทำหน้าที่ทำลายเราทั้งระยะใกล้และระยะไกล

"ศัตรูภายในนี้จะแตกต่างจากศัตรูภายนอก ศัตรูภายนอก เช่น คนใดคนหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นศัตรู อาจจะทำอะไรบางอย่างที่ทำร้ายเรา แต่เขาก็มีเรื่องอื่นๆ ต้องทำอีกเป็นอันมาก เช่น เขาต้องกิน เขาต้องนอน เขาไม่สามารถจะมาทำร้ายเราได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง แต่ความเกลียดมันไม่มีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์อื่นเลยนอกจากทำร้ายเรา โดยตระหนักรู้อย่างนี้เราต้องไม่ให้โอกาสแก่ศัตรูตัวนี้ นั่นคือความเกลียด ให้เกิดขึ้นในตัวของเรา"

"ในการจัดการกับความโกรธ ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับวิธีการทำจิตบำบัดของตะวันตก ที่ส่งเสริมให้แสดงความโกรธออกมา"  หมอคัตเลอร์ถาม

"ตรงนี้แหละ อาตมาคิดว่าเราต้องเข้าใจว่าอาจมีสถานการณ์ที่ต่างกัน"  ท่านทะไล ลามะอธิบาย

"ในบางราย บางคนมีความรู้สึกโกรธหรือเกลียดอย่างรุนแรง เพราะบางสิ่งบางอย่างกระทำต่อเขาในอดีต แต่ว่าความรู้สึกนี้มันคอยผุดขึ้นมาเรื่อยๆ มีภาษิตทิเบตที่ว่าถ้าในรูของแตรสังข์มันไม่ดี คุณอาจจะขจัดมันไปโดยการเป่าแรงๆ อีกนัยหนึ่งถ้ามีอะไรมาอุดตันแตรสังข์ คุณก็เป่ามันออกไปเสีย ในทำนองเดียวกัน ถ้าอารมณ์อะไรมันอุดตัน เช่น ความโกรธ คุณอาจจะระเบิดมันออกมา
"อย่างไรก็ดี อาตมาเชื่อว่าโดยทั่วไปความโกรธและความเกลียดเป็นอารมณ์ที่ถ้าทิ้งไว้โดยไม่สกัดหรือไม่สนใจ มันจะเพิ่มขึ้น ถ้าคุณเพียงแต่คุ้นเคยกับการระเบิดมันออกมา มันก็จะเพิ่มขึ้นไม่ลดลง ดังนั้นอาตมารู้สึกว่าถ้าคุณพยายามลดกำลังของมันน่าจะดีกว่า"

"ถ้าท่านไม่คิดว่าการแสดงออกหรือปลดปล่อยความโกรธออกมา ไม่ใช่คำตอบ  คำตอบคืออะไร" หมอคัตเลอร์ถาม

"ก่อนอื่น ความรู้สึกโกรธและเกลียดเกิดขึ้นจากจิตใจที่ถูกรบกวนด้วยความไม่พอใจ ดังนั้นคุณจึงเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าโดยสร้างความพอเพียงในใจ และบ่มเพาะความเมตตาปรานี สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตใจสงบ และช่วยป้องกันความโกรธไม่ให้เกิดขึ้น และแล้วเมื่อมีเรื่องที่ทำให้โกรธก็ควรเผชิญกับมันซึ่งๆ หน้าและทำการวิเคราะห์  พยายามตรวจสอบดูว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ความโกรธหรือความเกลียดเกิดขึ้น แล้ววิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปอีกว่าที่ความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นมันเหมาะสมหรือไม่ มันสร้างสรรค์หรือทำลาย และต้องออกแรงที่จะทำให้เกิดวินัยในตัวเองและความยับยั้งพยายามใช้ยาถอนพิษอารมณ์เป็นลบนี้ด้วยการคิดถึง ความอดทน และความทนได้"

ท่านทะไล ลามะ หยุดสักครู่ และก็ด้วยนิสัยแบบปฏิบัตินิยมอันเคยชินของท่าน ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า "แน่นอนทีเดียว ในการพยายามเอาชนะความโกรธและความเกลียด ในช่วงต้น คุณยังมีอารมณ์อันเป็นลบอยู่ แต่มันก็มีหลายระดับ ถ้ามันเป็นความโกรธระดับอ่อนๆ ในช่วงขณะนั้นคุณอาจจะเลือกที่จะเผชิญกับมันโดยตรง และสู้กับมัน แต่ถ้ามันเป็นอารมณ์ลบที่รุนแรง ในขณะนั้นอาจจะเป็นการยากที่จะเผชิญและสู้กับมัน ในกรณีเช่นนี้ อาจจะดีที่สุดที่พยายามลืมมันเสีย นึกถึงเรื่องอื่นๆ และเมื่ออารมณ์สงบลงบ้างแล้ว จึงทำการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล" ถึงตอนนี้หมอคัตเลอร์คิดในใจว่าท่านกำลังพูดว่า "ใช้เวลานอก"

ท่านทะไล ลามะ กล่าวต่อไปว่า "ในการพยายามขจัดความโกรธและความเกลียด ความตั้งใจบ่มเพาะความอดทนและความทนได้จะขาดเสียมิได้ คุณอาจคิดถึงคุณค่าและความสำคัญของความอดทน และความทนได้ในช่วงทำนองดังนี้ ผลร้ายของความโกรธและความเกลียด คุณไม่อาจป้องกันได้เลยด้วยความมั่งคั่ง แม้คุณจะเป็นเศรษฐี คุณก็ยังถูกทำลายได้ด้วยความโกรธและความเกลียด การศึกษาเดี่ยวๆ ก็ยังช่วยป้องกันคุณไม่ได้ กฎหมายก็ปกป้องคุณจากความโกรธและความเกลียดไม่ได้  อาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่าจะวิเศษมหัศจรรย์เพียงใด ก็ไม่สามารถคุ้มครองคุณให้ปลอดภัยจากความเกลียดและความโกรธได้เลย..."

ท่านทะไล ลามะ หยุดชั่วครู่ แล้วสรุปด้วยเสียงที่แจ่มใสและมั่นคง "ปัจจัยอย่างเดียวที่จะช่วยปกป้องและคุ้มครองคุณจากผลร้ายของความโกรธและความเกลียด คือ การฝึกฝนความอดทนและความทนได้"

ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันที่ปัญญาแบบจารีตของท่านทะไล ลามะ ตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ดร.ดอลฟ์ ซิลล์แมนน์ แห่งมหาวิทยาลัยอลาบามาได้ทำการทดลองที่ แสดงให้เห็นว่า ความโกรธทำให้เกิดการกระตุ้นทางสรีระที่ทำให้เราโกรธมากขึ้น ความโกรธก่อให้เกิดความโกรธ และเมื่อจิตลุกโพลนขึ้น ทำให้เราโกรธได้ต่อขึ้นเมื่อกระทบสิ่งที่ไม่พอใจ ถ้าไม่สกัดไว้ ความโกรธจะถีบตัวสูงขึ้น ดังนั้น เราจะตีมันให้กระจายได้อย่างไร  ดังที่ท่านทะไล ลามะ แนะนำ การระบายความโกรธมีประโยชน์น้อย การบำบัดความโกรธโดยการระบายมันออกเกิดจากทฤษฎีเกี่ยวกับอารมณ์ของฟรอยด์ ที่เขามองเหมือนเครื่องจักรไอน้ำ ถ้าความดันภายในสูงขึ้นก็ควรระบายออก ความคิดที่จะขจัดความโกรธโดยระบายออกอาจดูมีเสน่ห์และสนุก แต่ปัญหาของวิธีนี้คือมันไม่ได้ผล การศึกษาจำนวนมากใน ๔ ทศวรรษที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างตรงกันว่า การระบายความโกรธทางกายและวาจาไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลยแต่กลับทำให้เลวลง ดร.อารอน ซีกแมน นักจิตวิทยาและนักวิจัยความโกรธแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เชื่อว่า การแสดงออกซึ่งความโกรธอย่างซ้ำๆ นี้จะไปกระตุ้นระบบชีวเคมีที่ทำให้ทำลายหลอดเลือดแดง

ในขณะที่การระบายความโกรธไม่ใช่คำตอบ การเพิกเฉยหรือแสร้งทำว่าไม่มีความโกรธก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ดังที่พูดมาก่อนในตอนที่ ๓ การหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ทำให้ปัญหาหมดไป ดังนั้น วิธีดีที่สุดคืออะไรเล่า? น่าสนใจที่มีความพ้องกันระหว่างนักวิจัยความโกรธ เช่น ดร.ซิลแมนน์ และดร.วิลเลียมส์ กับวิธีของท่านทะไล ลามะ เนื่องจากความเครียดทำให้โกรธง่าย ขั้นแรกคือการป้องกัน การปลูกฝังความรู้สึกที่พอเพียง และความสงบทางจิตใจ ดังที่ท่านทะไล ลามะ แนะนำ ช่วยได้มากและเมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว การเผชิญกับมัน วิเคราะห์หาเหตุผล ทบทวนความคิดที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้น สามารถช่วยขจัดความโกรธได้ มีหลักฐานจากการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า เทคนิคที่เราพูดถึงมาก่อน เช่น การเปลี่ยนโลกทัศน์และย้ายมุมมอง มีผลดีอย่างมาก แน่นอนว่าวิธีเหล่านี้ไม่ยากนัก ถ้าระดับความโกรธไม่สูงมาก ดังนั้น การฝึกฝนที่จะเข้าจัดการกับความโกรธและความเกลียดเสียก่อนที่มันจะพุ่งขึ้นสูงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากความสำคัญอย่างกว้างใหญ่ต่อการเอาชนะความโกรธและความเกลียด  ท่านทะไล ลามะ จึงกล่าวถึงความหมายและคุณค่าของความอดทนและความทนได้อย่างละเอียด

"ในประสบการณ์ชีวิตประจำวันของเรา ความอดทนและความทนได้มีประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ เช่น มันทำให้เราดำรงสติไว้ได้ ดังนั้นถ้าบุคคลมีความสามารถอดทน  และทนได้ แม้จะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขมึงทึงที่บ้าคลั่งและเครียด ตราบใดที่บุคคลมีความอดทนและทนได้ เขายังมีความสงบและสันติในจิตใจได้ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยความอดทนมากกว่าความโกรธ ก็คือการป้องกันตนเองจากผลอันไม่พึงประสงค์ที่มากับความโกรธ ถ้าคุณตอบโต้ต่อสถานการณ์ด้วยความโกรธหรือความเกลียด ไม่เพียงแต่ว่ามันไม่ปกป้องคุณจากอันตรายที่เกิดขึ้นแล้วจากความโกรธและความเกลียด นอกเหนือไปจากนั้นคุณยังจะสร้างเหตุแห่งความทุกข์สำหรับอนาคตเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ถ้าหากคุณตอบโต้ต่ออันตรายด้วยความอดทนและความทนได้ คุณอาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวดชั่วขณะ แต่คุณอาจหลีกเลี่ยงอันตรายที่เป็นผลระยะยาวได้ โดยเสียสละสิ่งเล็กๆ น้อยๆ โดยอดทนต่อปัญหาหรือความยากลำบากเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้คุณไม่ต้องประสบกับความทุกข์ใหญ่ๆ ในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น  ถ้านักโทษประหารจะรักษาชีวิตได้โดยยอมเสียแขนข้างหนึ่งจะไม่ดีกว่าหรือ โดยอดทนต่อความเจ็บปวดจากการตัดแขน เขาสามารถรอดพ้นจากความตายซึ่งเป็นความทุกข์ที่ใหญ่กว่า"

"สำหรับคนตะวันตก" หมอคัตเลอร์กล่าว "ความอดทนและความทนได้มีคุณค่าแน่นอน แต่เมื่อคุณถูกทำร้ายโดยคนอื่น เขากำลังทำร้ายคุณอยู่ การโต้ตอบด้วยความอดทนหรือความทนได้ดูจะเป็นความอ่อนแอและความแหย"

ท่านทะไล ลามะ สั่นศีรษะอย่างไม่เห็นด้วย และกล่าวว่า "เนื่องจากความอดทนและความทนได้มาจากความสามารถที่จะดำรงความเข้มแข็งโดยไม่ถูกสถานการณ์ที่เลวร้ายท่วมทับเอา เราไม่ควรมองว่าความอดทนและความทนได้เป็นเครื่องหมายแห่งความอ่อนแอ หรือการยอมแพ้ แต่ว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความแข็งแรง เกิดจากความสามารถที่จะดำรงความหนักแน่น การตอบโต้สถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยความอดทน แทนที่จะมีปฏิกิริยาด้วยความโกรธและความเกลียด ต้องการการเหนี่ยวรั้งตนเองอย่างแข็งขัน ซึ่งมาจากจิตใจที่เข้มแข็งและมีวินัยในตนเอง แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงความอดทน มีความอดทนที่ดีกับความอดทนที่ไม่ดี ความไม่อดทนใช่จะเลวเสมอไป เช่น มันช่วยให้คุณทำอะไรได้สำเร็จ แม้แต่งานประจำวัน เช่น ทำความสะอาดห้อง ถ้าคุณมีความอดทนมากเกินไป คุณอาจจะทำช้าเกินไปและทำได้น้อย หรือความไม่อดทนที่จะแสวงหาสันติภาพของโลก นี้แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี  แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและท้าทาย ความอดทนช่วยให้คุณดำรงจิตที่เข้มแข็ง"

ท่านทะไล ลามะ มีชีวิตชีวามากขึ้น เมื่อพยายามอธิบายความหมายของความอดทน ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า "อาตมาคิดว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความอดทนกับความถ่อมตัว ความถ่อมตัวเกี่ยวข้องกับว่าบุคคลมีความสามารถที่จะต่อสู้หรือแก้แค้น แต่จงใจเลือกที่จะไม่ทำ นั่นแหละที่อาตมาเรียกว่าความถ่อมตัวขนานแท้ ความอดทนหรือความทนได้มีองค์ประกอบของการมีวินัยและความยับยั้งชั่งใจ นั่นคือ รู้อยู่แก่ใจว่าเราอาจทำอย่างอื่น เช่น อาจใช้วิธีตอบโต้ที่กร้าวได้ แต่จงใจที่จะไม่ทำ ตรงกันข้ามหากว่าถูกบังคับให้ไม่ทำอะไรเพราะไม่สามารถที่จะทำได้ อย่างนั้นอาตมาไม่เรียกว่าความถ่อมตัวที่แท้จริง นั่นอาจจะเป็นความอ่อนแอแต่ไม่ใช่ความอดทน

"ทีนี้เมื่อเราพูดถึงว่าเราควรสร้างความทนได้ต่อผู้ที่ทำร้ายเรา เราไม่ควรเข้าใจผิดว่านี่คือการยอมรับอะไรก็ตามที่ทำร้ายเรา" ท่านทะไล  ลามะ  หยุดพูดและหัวเราะก่อนที่จะพูดต่อว่า "ทว่า ถ้าจำเป็นดีที่สุด ฉลาดที่สุด คือวิ่งหนี หนีห่างเป็นไมล์ๆ เลย"

"เราไม่อาจหลบหลีกการถูกทำร้ายเสมอไปโดยการวิ่งหนีไปเสีย..."

"ใช่ เป็นความจริง" 
ท่านทะไล ลามะ ตอบ "บางครั้ง ท่านอาจจะพบสถานการณ์ที่ต้องโต้กลับอย่างแรง แต่อาตมาเชื่อว่าท่านอาจจะยืนหยัดหรือตอบโต้อย่างเข้มแข็งจากความรู้สึกเมตตากรุณาและด้วยการนึกถึงผู้อื่น ไม่ใช่จากความโกรธ เหตุผลหนึ่งที่จำเป็นต้องตอบโต้อย่างเข้มแข็งต่อคนใดคนหนึ่ง ก็คือ ถ้าคุณปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายหรืออาชญากรรมที่เขาก่อให้แก่คุณ ก็คือ มันจะเกิดเป็นนิสัยของเขาในการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวเขาเองในระยะยาว ดังนั้นการตอบโต้อย่างรุนแรงจึงจำเป็น แต่ด้วยความเมตตากรุณาและการคำนึงถึงประโยชน์ของเขาผู้ทำร้ายคุณ ตัวอย่างเช่นกรณีของเราต่อประเทศจีน แม้ว่าจะมีความรู้สึกเกลียดชังเกิดขึ้น เราก็ต้องตั้งใจที่จะควบคุมตัวเองและลดความเกลียดชัง และพยายามสร้างความรู้สึกเมตตากรุณาต่อคนจีน อาตมาคิดว่าการตอบโต้อย่างนี้ จะได้ผลดีกว่าทำด้วยความโกรธและความเกลียด

"เราได้สำรวจวิธีสร้างความอดทนและความทนได้ และการขจัดความโกรธ และความเกลียดออกไปจากตัว เช่นโดยวิเคราะห์สถานการณ์โดยเหตุผล การมีโลกทัศน์ที่กว้างและการเปลี่ยนมุมมอง ผลสุดท้ายของความอดทนและความทนได้คือการให้อภัย เมื่อคุณมีความอดทนและความทนได้อย่างแท้จริง การให้อภัยก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  

"แม้ว่าคุณจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาในอดีต การสร้างความอดทนและความทนได้ ก็สามารถขจัดความโกรธและความขุ่นเคืองออกไปได้ เมื่อคุณวิเคราะห์สถานการณ์  คุณก็จะตระหนักว่าอดีตก็คืออดีต ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะยังมีความรู้สึกโกรธและเกลียด ซึ่งไม่ช่วยเปลี่ยนสิ่งที่ล่วงไปแล้ว แต่จะรบกวนจิตใจของคุณและทำให้ไม่มีความสุขแน่นอน คุณจะยังทรงจำเหตุการณ์ที่ไม่ดี การลืมกับการให้อภัย (Forgetting and Forgiving) ไม่เหมือนกัน การจำสิ่งที่เลวร้ายได้ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าคุณปัญญาดีคุณก็จะจำได้เสมอ"
  พูดถึงตรงนี้ท่านหัวเราะ "อาตมาเชื่อว่าพระพุทธองค์จำทุกสิ่งทุกอย่างได้  แต่ด้วยการสร้างความอดทนและการทนได้ เป็นไปได้ว่าจะขจัดความรู้สึกที่ไม่ดี ออกไปจากเหตุการณ์อันเลวร้าย"

จิตตภาวนาความโกรธ
ในการพูดคุยกันเป็นอันมาก วิธีการของท่านทะไล ลามะ ในการเอาชนะความโกรธและความเกลียด ก็คือ การใช้เหตุผลและการวิเคราะห์สาเหตุของความโกรธและต่อสู้กับสภาวะจิตอันเลวร้ายด้วยความเข้าใจโดยความหมายก็คือ วิธีนี้ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลดับความโกรธและความเกลียด และสร้างความอดทนและความทนได้ขึ้นมา แต่ว่านั่นไม่ใช่เทคนิคเดียว ท่านยังพูดถึงจิตตภาวนาในการเอาชนะความโกรธอีก ๒ วิธี

จิตตภาวนาขจัดความโกรธแบบฝึกหัดที่ ๑
"ลองจินตนาการถึงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ว่ามีใครคนใดคนหนึ่งที่คุณรู้จักอย่างดี  หรือใกล้ชิด หรือเป็นที่รัก และเขากำลังโกรธจัดอยู่ อาจจะเป็นความฉุนเฉียว หรือมีเรื่องกระทบตัวอันไม่น่าพึงพอใจ บุคคลผู้นั้นกำลังโกรธจัดจนควบคุมตนเองไม่ได้ ตัวสั่นไปหมด ทุบตีตนเองหรือทุบตีข้าวของ แล้วก็ลองนึกถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากความโกรธเกรี้ยวของเขาผู้นั้น คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายที่เกิดขึ้นกับเขา เขาผู้นั้นสนิทชิดใกล้กับคุณ คุณชอบเขา เมื่อก่อนเวลาเห็นเขาทีไรจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข แต่เดี๋ยวนี้เขากลายเป็นคนน่าเกลียดไปเสียแล้ว การที่อาตมาแนะให้จินตนาการถึงคนอื่น เราเห็นความผิดของคนอื่นง่ายกว่าของตัวเอง ลองจินตนาการภาพดังกล่าวสักครู่ แล้วลองวิเคราะห์สถานการณ์และโยงมาสู่ตัวเอง ว่าคุณก็เคยเป็นเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว ตั้งใจว่าจะไม่ปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่โกรธเกลียดจัด เช่นนั้น เพราะจะทำให้เราเหมือนบุคคลในจินตนาการ เราจะต้องได้รับผลร้ายต่างๆ เสียความสงบทางจิตใจ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีความน่าเกลียดและอะไรอื่นๆ อีก เมื่อตัดสินใจได้ดังนี้แล้วเพ่งจิตไปที่ข้อสรุปนั้น ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรต่อไป วางจิตไว้ที่ความตั้งใจที่จะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความโกรธและความเกลียด"

จิตตภาวนาขจัดความโกรธ แบบฝึกหัดที่ ๒
"ขอให้เราทำจิตตภาวนาอีกหนึ่งอย่างโดยการสร้างมโนภาพนึกถึงใครบางคนที่คุณไม่ชอบ ที่ทำให้คุณรำคาญ ก่อปัญหาให้คุณหรือทำให้คุณโกรธ แล้วจินตนาการว่าเขาทำให้คุณไม่พอใจ รุกราน หรือทำให้คุณรำคาญ ในจินตนาการนี้ปล่อยตัวคุณเองฟรีโดยไม่ต้องตั้งใจว่าจะต้องทำอะไร แล้วดูว่าคุณรู้สึกอย่างไร มันทำให้หัวใจคุณเต้นเร็วหรือไม่ ดูตัวคุณเองว่าคุณรู้สึกสบายดีหรือไม่สบาย ดูว่าจิตใจคุณสงบมากขึ้นหรือรู้สึกไม่ดี ดูตัวเอง ทำดูสักสองสามนาที หรือสามสี่นาที ดูความรู้สึกแล้วก็ทดลองอีก และถ้าในที่สุดคุณพบว่า "ใช่แล้วไม่มีประโยชน์เลยที่จะทำให้ความหงุดหงิดรำคาญเกิดขึ้น  ทำให้ฉันขาดความสงบทางใจ" คุณต้องพูดกับตัวเองว่า  "ในอนาคตฉันจะไม่ทำอย่างนี้อีก" ตั้งใจให้แน่วแน่ ท้ายที่สุดในสองสามนาทีสุดท้ายของแบบฝึกหัด ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่อยู่กับข้อสรุปและความตั้งใจจริง นั่นแหละคือจิตตภาวนา"

ท่านทะไล ลามะ หยุดชั่วคราว แล้วมองไปรอบๆ ห้องที่มีนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวจะทำจิตตภาวนา ท่านหัวเราะและกล่าวเพิ่มเติมว่า "ถ้าอาตมามีความสามารถพิเศษที่จะอ่านใจคนอื่นได้ คงจะเห็นภาพที่น่าดูที่นี่เดี๋ยวนี้เทียว" มีเสียงหัวเราะครืนในห้อง แล้วก็สงบเงียบลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ฟังเริ่มทำจิตตภาวนา เริ่มทำสงครามอย่างจริงจังเพื่อต่อสู้กับความโกรธ
 

ข้อมูลสื่อ

325-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 325
พฤษภาคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี