• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“โรงพยาบาลสนาม” โมเดล เจ็บป่วย ทุกข์ยาก... เราช่วยได้

“หนีร้อนมาพึ่งเย็น” เป็นคำกล่าวที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการมาพักอาศัยในศูนย์อพยพมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมแห่งนี้ เพราะนอกจากจะเย็นกายแล้วก็ยังสุขใจอีกด้วย อาหารการกินก็พร้อมเสร็จสรรพ ครั้นเจ็บป่วยก็มีหมอคอยดูแล คอยรักษาอยู่ไม่ห่าง...
ทว่าน้ำท่วมครั้งนี้เหมือนเป็นบทพิสูจน์จากฟ้า ที่ประทานความทุกข์ยากลงมาให้ได้รู้ว่ายังมีคนดีที่สามารถพึ่งพิงได้ คราบน้ำตาของผู้ประสบภัย เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้ถึงความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ณ ที่แห่งนี้จึงกลายเป็นที่พักพิงแก่ผู้ประสบภัยให้ผ่านคืนวันฝันร้ายนี้ไป

                                                          

ห้องพักผู้ป่วย โรงพยาบาลสนาม      เต้นที่พักพร้อมสัตว์เลี้ยง

น้ำใจเช็ดน้ำตา
ความสูญเสียของผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านทรัพย์สินเงินทองหรือด้านจิตใจ สิ่งเดียวที่จะช่วยเยียวยาเบื้องต้นได้คือ ทานน้ำใจที่จะช่วยเหลือ อย่างเช่นที่ศูนย์พักพิงในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่ได้ก้าวเข้ามาช่วยดูแลผู้อพยพที่ประสบอุทกภัย แล้วยังจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลชั่วคราวในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลรักษาผู้ป่วย และผู้อพยพภายในศูนย์ฯ ให้คลายความทุกข์ที่มีได้บ้าง

ชุมศรี เลียบเจริญ ผู้ป่วยสูงอายุรายหนึ่งเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกระดูกพรุน ได้เข้าไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนามภายในศูนย์พักพิงแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกที่เข้ามาอยู่ศูนย์ฯ ก็รู้สึกเครียดหนัก เพราะเป็นห่วงแมวที่เลี้ยงไว้ในกรง ๑๙ ตัว

“ตอนมาเราก็เป็นห่วงแมวมาก ไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร เพราะยายก็รีบออกมา เขาบอกว่าเขื่อนแตก หลานก็พาเราหนี ยายก็ไม่รู้ว่าแมวจะอยู่อย่างไร จะกินอะไร เป็นยังไงบ้าง กลัวมันอดตาย กลัวมีคนขโมยไป แต่ตอนนี้ก็รู้สึกดีขึ้นเพราะรู้ว่ามีคนไปรับมาเลี้ยงดูไว้ให้”

นี่เป็นความรู้สึกห่วงหาอาทรที่เอื้อนเอ่ยออกมาด้วยน้ำตาถึงสัตว์ที่รักของยายชุมศรี จนทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความเครียด จึงต้องมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลชั่วคราว

เมื่อถามถึงอาการเจ็บป่วยของยายชุมศรี กลับได้รับคำตอบว่า “ตอนนี้ไม่เจ็บอะไรแล้ว ก็เหลือแต่ความดันโลหิตที่ยังสูงอยู่ เพราะที่นี่ให้การดูแลเป็นอย่างดี ยายมาอยู่นี่ ได้กินข้าวอร่อย มีเด็กมาคุย เอาข้าว เอาอาหารมาให้ รู้สึกดีกว่าอยู่โรงพยาบาลใหญ่อีก เพราะอยู่ใกล้หมอ และหมอก็ดูแลผู้ป่วยไม่กี่คนเอง เราก็อุ่นใจ เขารักษาเราดี”

“เราเข้าใจอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่เวลามีชีวิตอยู่เราทำอะไรที่ดีให้กับสังคมบ้างล่ะตรงนี้สิสำคัญ” เป็นคำกล่าวส่งท้าย ซึ่งเตือนสติสอนใจคนไทยได้ในยามนี้

“จิตสาธารณะ” ใช้คำนี้ได้เช่นเดียวกับทัศนคติของ จินดาพร แก้วกล่ำ พยาบาลอาสาที่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บอกว่า รู้สึกดีที่ได้มาช่วยดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนาม

“เราอยากช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม เพราะนอกจากน้ำจะท่วมแล้วก็ยังป่วยอีกทำให้ลำบากยิ่งขึ้นเป็น ๒ เท่า ซึ่งการเข้ามาดูแลตรงนี้ก็ไม่ได้ลำบากหรือหนักกว่าแรงที่จะทำได้ เราเปลี่ยนเวรกันดูแล ช่วยวัดความดัน จัดยา แยกยา วัดการเต้นของหัวใจ ดูแลเรื่องอาหารการกินและพูดคุยเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วย ซึ่งเราคิดว่าการกระทำของเราช่วยคนอื่นได้ เราก็มีความสุขแล้ว”

อีกบุคคลที่เข้ามาเป็นจิตอาสาที่ศูนย์แห่งนี้เช่นเดียวกัน นพ.พนมพันธ์ ศิริวัฒนานุกูล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ฟังถึงความเจ็บป่วยของคนที่อาศัยอยู่ภายในศูนย์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินอาหาร และโรคเรื้อรัง

“คนที่เป็นโรคทางเดินอาหาร เพราะส่วนใหญ่คนที่พักอยู่ในศูนย์ฯ ออกไปทำงานข้างนอก ก็ไปกินอาหารที่ไม่ค่อยสะอาด ถ้าเป็นคนที่อยู่ในศูนย์ฯ ตลอด ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องโรคนี้แต่จะเป็นปัญหาเรื่องโรคเรื้อรังมากกว่าเพราะว่าคนที่มาพักอาศัยเป็นผู้สูงอายุ ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือเป็นน้ำกัดเท้า โรคเครียดก็มีมากเหมือนกันแต่พออยู่ในศูนย์ฯ ไปสักพัก เขาก็จะดีขึ้นและเครียดน้อยลง”

“ชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย เขาก็มาอยู่ศูนย์ฯ นี้ด้วย ตอนแรกที่เข้ามาเขาก็กังวล เครียดมาก เพราะข้าวของที่มีค่าตกน้ำหายหมด จึงเสียดายของ ความดันเขาขึ้นเป็น ๑๐๐-๒๐๐ พออยู่สักพัก เขาบอกว่าที่นี่กว้าง อาหารก็อร่อย แล้วก็มีคนคุยกับเขา อย่างเราก็เข้าไปคุยให้กำลังใจ อย่างเมื่อคืนก็ไปร้องเพลงให้ฟังบนเวที เราว่าถ้าตกงานเดี๋ยวจะเปลี่ยนไปเป็นนักร้องละ” นี่เป็นคำกล่าวแกมหยอกบอกอยากเป็นนักร้องของคุณหมออารมณ์ดีคนนี้

พร้อมกันนั้นยังกล่าวว่า การดูแลตรงนี้ต้องให้เครดิตกับทางมหาวิทยาลัยของที่นี่ เพราะเป็นคนบริหารเก่ง เงินมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีมากอะไร แต่เขาจัดการดูแลช่วยเหลือได้อย่างดี

 

     

ดร.หทัยชนก บัวเจริญ             ผศ.สมเดช นิลพันธุ์


ผู้นำดีชาติพ้นภัย
ในด้านการดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพและโรงพยาบาลสนาม ผศ.ดร.หทัยชนก บัวเจริญ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้รับหน้าที่ดูแลระบบบริการโรงพยาบาลสนาม กล่าวว่าเนื่องจากศูนย์ฯ มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงปรับระบบให้มีห้องตรวจ มีการประเมินสุขภาพจิต มีการทำแฟ้มครอบครัวเยี่ยมแต่ละครอบครัว เมื่อเยี่ยมแล้วก็ติดต่อกับทางโรงพยาบาลเพื่อจัดหมอมา จึงจัดให้เป็นระบบโดยให้ที่นี่เกิดโรงพยาบาลสนามขึ้น

“เดิมมีการจัดโรงพยาบาลสนาม ๑๐ เตียง เอาเตียงจากคณะพยาบาล แล้วอีกส่วนได้มาจากโรงพยาบาลที่น้ำท่วม ทางโรงพยาบาลต่างๆ จึงนำผู้ป่วยมาพักที่ศูนย์ฯ พอมาตรงนี้ก็เริ่มไม่เพียงพอ ก็เลยไปขอพื้นที่อธิการบดีเพิ่ม จึงได้ใช้ห้องสมุดอีกตึกหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ตึกนั้นกลายเป็นเหมือนโรงพยาบาลย่อยๆ เพราะนำพยาบาลที่ประสบอุทกภัยมาดูแลที่นี่ด้วย แล้วมีนักศึกษาคณะพยาบาลช่วยดูแล ตอนนี้สามารถรองรับได้ประมาณ ๓๐ เตียง”

ขณะนี้มีคนมาอยู่ศูนย์มากขึ้น จึงมีการแยกการรักษาออกเป็น ๒ ส่วน กรณีผู้ป่วยที่นอนติดเตียงต้องคอยให้สายน้ำเกลือหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะจัดให้มาอยู่ตึกรวมกัน ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ป่วยหนักก็จะใช้บริการในห้องตรวจ ร่วมกับการดูแลของระบบหมู่บ้าน ที่ทางศูนย์จัดขึ้น คือจะจัดให้ผู้ประสบภัยดูแลกันเองเป็นหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีแกนนำอยู่ ๕ ด้าน ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย การจัดการขยะ อาหาร และความสะอาด

นอกจากทีมแพทย์จากโรงพยาบาลที่เข้ามาดูแลตรวจโรครายวันในห้องตรวจโรคแล้ว ยังมีคนดูแลแบบอยู่เวร เช้า ดึก ให้บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมง ภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีระบบ ทำให้ศูนย์แห่งนี้กลายเป็นศูนย์ฯ ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เป็นอย่างดี

สิ่งสำคัญที่มีนั้นคือ “ทิศทางของผู้นำที่ดี” เช่นเดียวกับ แนวความคิดในการก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพนี้ โดย ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รวมถึงคณาอาจารย์ ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือกัน เนื่องจากเห็นถึงความเดือดร้อนของคนในชุมชน

เราสู้ด้วยข้าวหม้อแกงหม้อ
“เราเห็นว่าคนที่ตกทุกข์ได้ยาก คนที่เดือดร้อน เราคิดว่าจะช่วยเขาอย่างไร ก็ได้หาทางช่วยทุกทางที่ทำได้พอมีผู้เดือดร้อนมากขึ้น จึงได้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ซึ่งตอนนี้ อธิการบดี ก็เป็นผู้ประสบภัยรายหนึ่งที่เข้ามาอาศัยอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนี้เช่นกัน

“บ้านเราน้ำก็ท่วมตอนนี้มาอยู่มหาวิทยาลัยเลย แต่เราไม่เดือดร้อนมาก เราอยากจะช่วยคนที่เดือดร้อนที่มากกว่า เราเห็นใจเขาไม่ว่าจะคนในพื้นที่หรือคนที่มาทำงานในพื้นที่เรา เขาจะอพยพไปไหน ฉะนั้นเราก็ต้องช่วยเขา หรือแม้แต่แรงงานต่างชาติ ซึ่งเขาก็อพยพเข้ามาอยู่ที่นี่ เพราะว่าไม่มีที่พักพิง”

ส่วนด้านการดูแลหรือการจัดการแบ่งเป็น ๓ ประเด็นหลัก เรื่องที่พักพิง อาหารการกิน และสุขภาพ นี่คือปัจจัยที่จะต้องดูแล และอีกอย่างก็คือ การฟื้นฟูทางด้านจิตใจให้ผู้ประสบภัย นอกจากประเด็นสำคัญที่ทางศูนย์ประสบอุทกภัยยึดเป็นสิ่งสำคัญแล้ว ยังมีการบริหารจัดการที่แบ่งการปกครองย่อยในรูปแบบหมู่บ้านอีกด้วย

“เราวางระบบไว้แบ่งเป็น ๒๔ โซน โดยเรียกว่าผู้ใหญ่บ้าน มีหัวหน้าหมู่บ้าน ๒๔  หมู่บ้าน ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านจะมีหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในหมู่ของตัวเอง ในเรื่องความสะอาดบนที่พัก จัดคนให้มาช่วยเรื่องปรุงอาหาร ช่วยเก็บกวาดบริเวณโดยรอบ ซึ่งการทำอย่างนี้ทำให้ดูแลกันได้ทั่วถึง เราใช้การจัดการโดยให้ชุมชนดูแลกันเอง”

การดูแลคนจำนวนมากย่อมต้องมีกฎข้อบังคับ เช่นเดียวกับที่ศูนย์ที่ได้จัดให้มีกฎระเบียบในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และมีตำรวจเข้ามาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอด ๒๔  ชั่วโมง

“เรามั่นใจว่าที่นี่มีความพร้อมในการจัดการดูแลเขาเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เราคิดต่อไปในระยะยาวก็คือจะทำอย่างไร เพื่อให้เขาช่วยตัวเองให้ได้ ถ้าช่วยไม่ไหวจะติดต่อภาคราชการอย่างไร นี่คือความคิดที่เราคิดต่อยอดไปในภายภาคหน้า”
 

ข้อมูลสื่อ

392-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 392
ธันวาคม 2554
บทความพิเศษ
เนาวรัตน์ ชุมยวง