• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หยุดใช้ยา... พร่ำเพรื่อ

สมัยนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมาก บริษัทยาก็เกิดขึ้นมากมายผลิตยาขึ้นมาแข่งกัน แพทย์รุ่นใหม่ส่วนใหญ่ใช้ยากันมากเกินความจำเป็น เมื่อกล่าวเช่นนี้อาจมีทั้งคนที่คัดค้านและคนที่เห็นด้วยอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ในทรรศนะของผู้เขียนที่เป็นแพทย์อาวุโสเกษียณแล้วคนหนึ่งซึ่งผ่านยุคสมัยต่างๆ มานาน ก็พอที่จะบอกได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เมื่อครั้งอดีตที่ผู้เขียนเริ่มทำงานเป็นแพทย์ใหม่ๆ ทางรัฐบาลมีงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยเฉพาะงบประมาณด้านยาที่จัดหาให้โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยจะมีน้อยมากจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเพียงพอ แพทย์ชนบทสมัยนั้นแทบไม่มีโอกาสใช้ยาราคาแพงใดๆ ทั้งสิ้นโดยเฉพาะกลุ่มยาที่รักษาโรคเรื้อรังต่างๆ  

ยาที่มีให้ใช้ก็มักจะเป็นยาสำหรับโรคที่พอจะรักษาและควบคุมได้ (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง)

ส่วนโรคที่เกิดจากความเสื่อม เช่น ข้อเสื่อม สมองเสื่อม ไตพิการ ตับแข็ง ถุงลมโป่งพอง รวมทั้งโรคมะเร็งและโรคที่ผลการรักษาไม่แน่ชัด (เช่น อัมพาต) โรคเหล่านี้สมัยนั้นจะไม่มียารักษานอกจากให้ยาบรรเทาอาการ และใช้วิธีส่งเสริมสุขภาพร่วมด้วยนั่นก็คือการให้วิตามินที่ราคาถูกมากๆ เพราะแม้แต่โรคอันตรายอย่างโรคเบาหวานก็ยังใช้ยายอดนิยมคือ คลอโพรพราไมด์เป็นหลัก ยาชนิดนี้จะมีราคาถูกมาก ส่วนโรคความดันโลหิตสูงก็มักจะใช้ยารีเซอร์พีน หรือเมทิลโดพา ซึ่งล้วนแล้วแต่ราคาไม่แพงเช่นกัน

สมัยก่อนนั้นนอกจากจะใช้ยาราคาถูกแล้วยังใช้ได้ในจำนวนที่จำกัด โดยต้องตัดยาประเภทเพ้อฝันสรรพคุณไม่แน่นอนออกให้หมดไม่มีโอกาสได้ใช้ และจำนวนผู้ป่วยก็ยังมีมากเกินกว่าที่งบประมาณอันน้อยนิดจะเพียงพอ สถานพยาบาลหลายแห่งจึงมีหนี้สินจำนวนมากกับบริษัทยา

ทว่าสมัยนี้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นหลายเท่า เพราะนอกจากประชากรของประเทศจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการให้หลักประกันสุขภาพเพิ่มเติมคือประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยาที่มีให้ใช้ก็ขาดการควบคุมที่ดี มีการใช้ยามากเกินจำเป็น จ่ายยาแบบไร้การควบคุมและตรวจสอบ เรียกได้ว่าถ้าแพทย์ที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีแบบผู้เขียน หรืออาจารย์ของผู้เขียนซึ่งอายุเกิน ๘๐ ปี เห็นแล้วแทบช็อก เมื่อพิจารณาดูจะพบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกรายไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรเมื่อไปใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ ส่วนใหญ่จะได้ยามาหลายขนานมาก แต่ละคนถือยาถุงใหญ่ๆ กลับบ้านทั้งนั้น

ยาที่ใช้กันบ่อยมาก แต่ไม่รู้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ชัดเจนหรือไม่ มีอยู่หลายอย่าง เช่น ยากลุ่มที่ช่วยลดไขมันซิมวาสแตติน ยาลดกรดโอมีพราโซล ยาบำรุงเข่ากลูโคซามีน หรือยาลดความดันอีนาลาพริล เป็นต้น

ยาลดกรดโอมีพราโซล
ผู้เขียนอยากจะขอยกตัวอย่างยาลดกรดโอมีพราโซล ซึ่งจะชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียและเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการใช้ยานี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ
ยากลุ่มนี้มีสรรพคุณลดกรดอย่างแรงราคาค่อนข้างแพงและเป็นยาที่ไม่ควรใช้เป็นเวลานาน เพราะกรดในกระเพาะอาหารนั้นนอกจากจะช่วยให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเป็นไป

ตามปกติแล้ว ยังมีสรรพคุณอีกมากได้แก่ การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนบางอย่างจากลำไส้เล็กซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ฆ่าเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย และช่วยทำลายสารพิษต่างๆ

ดังนั้น การใช้ยาลดกรดอย่างแรงติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้กรดในกระเพาะมีน้อยเกินไป ส่งผลต่อกลไกการย่อยอาหารตามปกติ และยังเป็นการทำลายป้อมปราการสำคัญในการกำจัดเชื้อโรคและสารพิษต่างๆ ที่ผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหารอีกด้วย

น่าเสียดายที่ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่า ถ้าทำให้ไม่มีกรดในกระเพาะอาหารเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่น ติดเชื้อง่ายขึ้น เป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น หรืออวัยวะเสื่อมเร็วขึ้น เพราะมีหลักฐานแน่ชัดว่าสารบางอย่างถ้าไม่ถูกกรดในกระเพาะอาหารทำลายและปล่อยให้เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดโรคได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคไขสันหลังพิการ โรคเหน็บชา และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

ในทรรศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ยาประเภทนี้กับผู้ป่วยทุกรายที่ต้องใช้ยาซึ่งอาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่เดี๋ยวนี้มักจะนิยมให้คู่กันไป เช่น ให้ยาลดกรดอย่างแรงคู่กับยาแก้ปวดแก้อักเสบที่อาจระคายกระเพาะอาหาร หรือให้ยาลดกรดอย่างแรงคู่กับยาแอสไพรินขนาดต่ำๆ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็น ควรใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่บ่งบอกว่าเกิดปัญหาจริงๆ

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น คือการใช้ยาลดกรดอย่างแรงกันอย่างพร่ำเพรื่อ ยังไม่รวมถึงยาประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้กันมากเกินความจำเป็น ซึ่งคงจะได้นำมาพูดคุยกันในโอกาสต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

392-042
นิตยสารหมอชาวบ้าน 392
ธันวาคม 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์